Tuesday, March 20, 2007

Architects People

สถาปนิกคำนึงถึงใคร?….ในการออกแบบสถาปัตยกรรม


เผอิญผมหยิบหนังสือที่เพื่อนซี้คนหนึ่งซื้อให้...มาทบทวนอ่านอีกครั้ง… ชื่อ Architects' People เป็นงานค้นคว้าเพื่อทราบว่า สถาปนิกให้ความสำคัญกับผู้ใช้อาคารมากน้อยเพียงไร เป็นหนังสือที่รวมข้อเขียนกันหลายคน ..มีอยู่เรื่องหนึ่งเขียนในมุมมองของนักสังคมวิทยา….. Robert Gutman กล่าวว่า สถาปนิกมักออกแบบเพื่อเอาใจตัวเองและคนในอาชีพสถาปนิกด้วยกันมากกว่าผู้ใช้อาคาร อาคารที่ออกแบบ อาคารหลายหลังเห็นแล้วเป็นที่ฮือฮาสำหรับสถาปนิกและนักเรียนสถาปัตยกรรม แต่สำหรับผู้ใช้อาคารแล้วเป็นความล้มเหลวที่แสนสาหัส ตัวอย่างอาคารที่ผู้เขียนยกมาสับจนเละ คือ อาคารปฏิบัติการ Richard's Laboratory ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ออกแบบโดย Louis I. Kahn ตามความคิดฝันของสถาปนิกที่อยากให้ห้องปฏิบัติการของนักวิทยาศาสตร์เป็นเสมือนห้องเขียนภาพของศิลปิน หรือ open studio concept คล้ายกับ Miesian space concept (หรือ universal space for utmost flexibility..ที่ว่างที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้สูงสุด) ต่างกันตรงที่มีอัตราที่สามารถปรับเปลี่ยนแตกต่างกันมาก จึงเกิดข้อขัดแย้งและต้องปรับแต่งแก้ไขอย่างมากมาย จนถึงขณะนี้ก็ยังใช้งานแบบทุลักทุเล เอาเป็นว่าคนใช้อาคารนี้ทีไร ก็สวดด่าสถาปนิกกันบ่อยๆ คงเหมือนบางอาคารในจุฬาฯที่เพื่อนอาจารย์ต่างคณะมาบ่นด่าให้ฟังเช่นกัน

Richard’s Laboratory Building, Pa
by Louis I Kahn
ผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่ามีสาระควรรับฟังในเรื่องนี้อยู่มากเคยมีโอกาสแอบไปชื่นชมอาคารหลังนี้เช่นกัน เพราะอาจารย์ที่นี่ (คณะสถาปัตย์ฯจุฬาฯ)สอนว่าดีแท้ ถือว่าท่านเป็นสถาปนิกผู้นำหรืออยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุค post-modernism (ในแง่การออกแบบสนองความเป็นองค์รวมของชุมชน) เลยทีเดียว ผมเดาว่ายังมีอีกหลายหลังที่โด่งดังในภาพของแมกกาซีนราคาแพงต่างๆ หรือแม้แต่ในสไลด์คอลเล็คชั่นของท่านอาจารย์คณะเราแต่ละท่าน ที่อาจฮ่วยแตกสำหรับผู้คนอื่นที่ไม่ใช่สถาปนิกเพียงแต่ว่าเราจะสนใจยอมรับฟังการก่นด่า ยอมตรวจสอบสิ่งเหล่านี้กันบ้างหรือเปล่าเท่านั้นเอง....
ประเด็นหลักของปัญหานี้ คือการออกแบบของสถาปนิกที่ให้ทางเลือกน้อย หรือคำนึงถึงปัญหาของความผันผวนในความต้องการของผู้ใช้และจินตนาการของสถาปนิกที่นำเสนอให้ไม่ตรงกัน แล้วสถาปนิกมักออกแบบโดยการกำหนดให้เป็นการออกแบบเจาะจง เป็นเอกภาพชนิดปิด (Close Unity) มากกว่าเอกภาพชนิดเปิด (Open Unity) ซึ่งชนิดหลังจะสนองการเปลี่ยนแปลงที่ควรเกิดขึ้นได้นั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ House VI สถาปัตยกรรมชนิดหวือหวาฮือฮา ออกแบบโดย Peter Eisenman ในหนังสือ “The Client’s Response” เขียนโดยนายและนาง Frank เจ้าของบ้าน ผมอ่านแล้วเห็นใจเจ้าของซึ่งได้บรรยายความชื่นชมไว้อย่างขมขื่น ในความประหลาดความมีสติเฟื่องในจินตนาการของสถาปนิก ที่ต้องการเสนอภาษาการออกแบบในลักษณะของคณิตศาสตร์หรือเรขาคณิต ที่อ้างว่าเป็นภาษาสากล เข้าใจได้โดยมนุษย์ทั่วไปแม้แต่ชาวโลกพระอังคาร แต่ทว่าบ้านหลังนี้ หามีความเหมาะสมในแง่ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ธรรมดาในโลกใบนี้ของเราๆไม่ งานออกแบบนี้มีการโฆษณาแสดงสรรพคุณกันขนานใหญ่ในกลุ่ม

Book Cover
Exterior, East facade
Dining area with red&green stairs
Exterior, South facade
Architect people (ไม่มี s’ ผมหมายถึงสถาปนิกพวกเดียวกัน) แต่สำหรับคนธรรมดา คือเจ้าของและผู้ใช้ (Architects' people) จำเป็นต้องมีการปรับรื้อแก้ไขกันใหม่ในภายหลัง เพื่อให้สนองตามธรรมชาติของการมีชีวิตที่จะดำรงอยู่ในบ้านหลังนี้ได้อีกต่อไป ค่าใช้จ่ายเลยบานปลายไปจนเจ้าของแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

View of dining & living areas
Bedroom before renovation
Stairwell
Kitchen area
มีอย่างที่ไหน..เจ้าของระบุความต้องการชัดเจน คือเพื่ออยู่อาศัยและมีเพศสัมพันธ์กันอย่างมีความสุข สถาปนิกดันออกแบบให้สามีภรรยาต้องแยกเตียงกันนอนเสียนิ..(ด้วยการเจาะช่องแสงแคบตรงผนังหัวเตียงและที่พื้นห้องต่อเนื่องกัน) ผมอ่านไปแรกๆก็เกิดความอึดอัดใจในความอหังการของผู้ออกแบบ ที่อาจฟุ้งซ่านเกินไปในความคิดและหลงผิดในอัตตา หรือไม่ก็ไม่ยอมรับรู้ในความเข้าใจมนุษย์ในมิติธรรมดาอย่างสามัญทั่วๆไป..หรือเผอิญเข้าใจ แต่เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ไม่ได้ตอบสนองคุณค่าของปัจเจกชนทั่วๆไปเท่าทีควรละมัง?..ถึงตรงนี้ก็ต้องตรวจสอบความคิดเห็นส่วนตัวของผมเหมือนกัน เพราะในทรรศนะของสถาปนิกอาจมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่ากันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตรงกันหรือถูกต้องในทรรศนะของคนอื่นก็ได้…ในประเด็นของเรื่องนี้ Eisenman พูดอ้างถึงประตู..ว่า “นี่เป็นประตูบานหนึ่ง ถ้าเราไม่เปิดเราก็เข้าไปไม่ได้ ขณะนี้มันเหมือนเสา ดังนั้นเมื่อประตูกลับกลายเป็นเสา แต่มันยอมให้เราผ่านเข้าไปได้… เห็นไหม? ขณะที่เสาเป็นประตู ดังนั้นพื้นที่เจาะเป็นช่องระหว่างเตียงนอนก็ทำให้เสาอันตธานไปเลย”…(ต่อมาเจ้าของบ้านแก้ปัญหาโดยเชื่อมเตียงนอนที่แยก รวมเป็นเตียงเดียวกันและคลุมซ่อนช่องพื้นเปิดดังกล่าวไว้ใต้เตียงใหม่)
ยังมีต่ออีกสำหรับการเสนอทรรศนะในแง่ความคิดของสถาปนิก…นี่เป็นบางส่วนในภาพยนต์สารคดีทางโทรทัศน์เรื่อง Beyond Utopia: Changing Attitudes in American Architecture ผลิตและกำกับโดย Michael Blackwood ในราวปี1983.. Eisenman กล่าวตอนหนึ่งเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ว่า… “หากผมต้องบอกคนที่มาเยี่ยมเยียนว่าอะไรที่พวกเขาควรมองหาในบ้านหลังนี้..เหนือสิ่งอื่นใด ข้อแรกคือ บ้านหลังนี้แปลก ความคิดพื้นฐานของบ้านนั้นคือ ต้องการ “เว้นระยะ” ระหว่างผู้ใช้, สถาปนิก, และผู้สังเกตุการณ์ ให้ห่างออกจากองค์ประกอบต่างๆในตัวบ้านนั่นเอง จุดแรกคือช่องบันไดสีแดงและเขียว จริงๆแล้วบันไดสีแดงอยู่ที่นั่น (เหนือบริเวณรับประทานอาหารชั้นล่าง) แต่มันไม่ใช่บันไดทั่วไป มันเป็นเพียงแค่สิ่งชี้บอก (sign) เท่านั้น อุปมาเช่นรถยนต์ฟอร์ดที่ไม่มีเครื่องยนต์ ก็นับว่าไม่ใช่รถยนต์ฟอร์ดทำนองนั้น มันจึงเป็นบันได (สีแดง) ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอย ยังมีประตูบานหนึ่งบนนั้น ปิด-เปิดเพื่อให้ผู้คนเคลื่อนไหวและเคลื่อนย้ายเครื่องเรือนได้โดยที่ไม่ปิดช่องเปิด ประตูทั่วไปปิดช่องเปิด ดังนั้นในความรู้สึกมันจึงเป็นแค่เครื่องชี้บอกประตู เพราะมันไม่มีประโยชน์ในการป้องกันเสียง แสงสว่าง และความเป็นส่วนตัว คุณมักอยู่ใกล้บางสิ่งเสมอ มีทั้งเลี่ยงและมีทั้งจับต้องมัน คุณเคยชินกับการมีอยู่ของเสาและคานที่ไม่เคยปรากฏ ที่นี่คุณสัมผัสเสาเมื่อคุณนั่งลงรับประทานอาหารที่โต๊ะ แสงสว่างกระทบตัวคุณผ่านมาจากที่ซึ่งมีคานและเสาปรากฏให้เห็น ด้วยเหตุนี้คุณจึงเกี่ยวข้องอยู่กับความรู้สึกสัมผัสกับสถาปัตยกรรมได้มากมายทีเดียว……ผมไม่สนใจจะทำอะไรต่อไปสำหรับบ้านหลังนี้อีก ผมมาถึงทางตันแล้ว ผมพูมใจในการออกแบบและทำให้บ้านหลังนี้สำเร็จลงได้ ดำรงอยู่เป็นผลงานของผม และก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ขณะนั้นเป็นช่วงรอยต่อในการทำงานของผม—เป็นช่วงเวลาที่เหือดแห้งไประหว่างอะไรที่ฝันเฟื่อง ที่ผมเรียกว่า “ช่วงเวลาโคเคน” กับที่ซึ่งผม (คาดหวัง) กำลังจะดำเนินต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้านับจากวันนี้”….
ในแง่ของ Dream Houses ซึ่ง Eisenman มักแทนชื่อบ้านทุกหลังที่เขาออกแบบเป็นตัวเลข เช่นบ้านเบอร์หกหลังนี้ บ้านที่สร้างในปี 1976 หลังนี้…Robert A.M. Stern ถามถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกันระหว่างวัฒนธรรมกับสถาปัตยกรรม.. Eisenman พูดถึงสิ่งนี้ว่า….”ดี! ผมคิดว่าสถาปนิกทั่วไปเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมค่อนข้างช้ามาก บางทีก็ทำมันกลับหัวกลับหางกันเอาเลย ในภาพยนต์เกี่ยวกับนิยายวิทยาศาสตร์ เมื่อมนุษย์โลกอังคารลงมาบนโลกมนุษย์ พวกเขาพูดภาษาคณิตศาสตร์ เพราะมันเป็นภาษาสากลของจักรวาล บ้านหลังนี้ ในความคิดคำนึงแสดงออกถึงภาษาทางคณิตศาสตร์ ดังนั้นมนุษย์โลกอังคารจึงเข้าใจมันได้ดี… คุณไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มเฉพาะอาชีพขึ้นในสังคม คุณไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม คุณเพียงใช้ประสบการณ์ของคุณสำหรับบ้านหลังนี้ก็พอ นี่เป็นบ้านที่ใครๆก็สามารถเข้าใจและมีความรู้สึกกับมันได้ เพราะว่ามันพูดภาษาสากลของจักรวาล… โดยทางทฤษฎีแล้วมันเป็นบ้านที่เรียบง่ายและธรรมดา คุณสามารถเห็นได้จากหุ่นจำลอง ที่เกิดจากชิ้นส่วนที่โดนตัดออก แสงสว่างไม่ได้สาดส่องเข้ามาทางหน้าต่างทั่วๆไป มันผ่านทางส่วนตัดแยกเป็นชิ้นย่อยในแต่ละห้อง ซึ่งในแต่ละห้องเราสามารถมองเห็นจากที่นี่ มองขึ้นไปข้างบน หรือมองเห็นได้จากห้องนอน เรายังสามารถมองจากห้องนอนผ่านลงไปถึงห้องพักผ่อนข้างล่าง หรือมองจากห้องนอนไปยังห้องครัว…. นี่ไม่ใช่การมองแบบเดิมๆ เหมือนขณะที่คุณอยู่ในห้อง กำลังมองออกไปจากห้อง ราวกับว่าอยูข้างนอกของอีกห้อง และอยู่ภายในของอีกห้อง การปิดล้อมที่ว่างแบบเดิมๆทำให้เกิดการแยกย่อยแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (ไม่ต่อเนื่องกันเลย)…แล้วก้อ..อีกอย่างคือ การแยกออกเป็นชิ้นๆนี้ทำให้ความรู้สึกของการปิดล้อมที่ว่างไม่มั่นคง และทำให้ความรู้สึกของพื้นราบเป็นไปทำนองเดียวกันด้วย ถ้าคุณเห็นบันไดสีแดงและบันไดสีเขียวที่นี่ มันเป็นเพียงการกลับหัวกลับหางกัน ..คือบันไดสีแดงนำขึ้นไปสู่ทางตัน ขณะที่ปันไดสีเขียวนำลงมาสู่ทางตันที่พื้นล่างเช่นกัน จริงๆแล้วไม่มีบันไดสีแดง มันจึงเป็นแค่การแย้งกับคำกล่าวที่ว่าบ้านไม่สามารถกลับหัวลงได้ง่ายๆ และมันก็ไม่มีมูลฐานแท้จริงในเรื่องของความสัมพันธ์กันระหว่างบ้านกับพื้นดิน เพราะ(บ้านหลังนี้) มันไม่มีฐานตั้งรองรับ มันไม่นั่งอยู่บนชั้นใดๆของวัสดุที่แน่นอนเหมือนสถาปัตยกรรมอื่นทั่วๆไป..นี่เป็นสิ่งที่ผมต้องการจะพูดถึง ผมไม่พูดในแง่ธรรมดาที่เราเพียงเข้าใจกันในเฉพาะกลุ่มคน ..นี่เป็นบ้านสำหรับคนทุกคน และนี่เป็นสิ่งที่ผมอยากกล่าวให้ชัดเจนสำหรับคนอเมริกันในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่บ้านสำหรับพวกผู้ดีอเมริกันในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านเลยมาแล้ว
ในบทสัมภาษณ์สถาปนิกเกี่ยวกับการคำนึงถึงลูกค้า, ผู้ใช้อาคาร หรือผู้ดู ที่ซึ่งเรียกรวมๆกันว่า Architects’ People ในการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไรบ้างนั้น.. Peter Eisenman เริ่มต้นในการสนทนาไว้ดังนี้ “มีอยู่เพียงสี่อย่างที่เป็นเรื่องสำคัญแท้จริงในชีวิต(ของผม) คือ ไวน์ อาหาร เซ็กซ์ และโคลงกลอน สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งเรื่องพื้นฐานและมีสาระสำคัญ สำหรับเพื่อนนักเขียนของผมคนหนึ่งชื่อ… William Gass เขาไม่เขียนหนังสือเพื่อผู้อ่าน แต่เขาเขียนสำหรับตนเอง สถาปัตยกรรมสร้างสรรค์โดยสถาปนิก ก็เพื่อสถาปนิกแต่ละคน.. ผมก็ทำมันเพื่อตัวผมเองเช่นกัน ไม่มี “คนอื่น” สำหรับสถาปนิก”
นี่เป็นอีกแว็ปหนึ่งที่สะท้อนความคิดของ Eisenman ออกมาชัดเจนและตรงไปตรงมาดี แต่นั่นแหละ..ผมอยากให้ตั้งข้อสังเกตุไว้ด้วยว่า สิ่งที่สถาปนิกพูดหรือเขียน บางครั้งก็ไม่ตรงกับใจทุกเรื่อง บางคนพูดเพื่อผลการโฆษณาชวนเชื่อทางอาชีพก็มี กระนั้นก็ตามเราอาจใช้เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถตีความในเรื่องความคิดของเขาเหล่านั้นได้ เพราะอีกนัยหนึ่งนั้น แม้คำพูดของสถาปนิกไม่ตรงกับอาคารที่เป็นจริงก็ตาม แต่มันก็อุปมาเหมือนหน้าต่างที่เปิดไปสู่ความคิด และจินตนาการของสถาปนิกได้เหมือนกัน ..ลองฟังคำสนทนาของ Eisenman (ซึ่งน่าสะท้อนความคิดหนึ่งของเขา) ในประเด็นนี้ต่อ..นะครับ
“เมื่อคุณบอกว่าจะพูดเกี่ยวกับ Architects’ People ทีแรกผมนึกว่าจะให้พูดเกี่ยวกับ “ตัวผม” ในฐานะของสถาปนิก… สำหรับผมสิ่งที่สำคัญ คือผมดำเนินการกระทำผ่านงานสถาปัตยกรรม ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกแล้วที่จะบ่งชี้ว่าผม “อยู่“ ที่นี่ (เป็นสถาปนิก..แหม..เหมือนปรัชญาที่ Descartes เคยกล่าวว่า ..I think…therefore I am..ผมเปรียบเอง) คนส่วนมากดำเนินชีวิตเหมือนการใช้บริการรถไฟเพื่อเดินทางไปในที่บางแห่ง ต้องการความเร็ว พยายามเลือกที่นั่งที่ดี เข้าคิวรอขึ้น.. แต่ผม ไม่ได้อยู่บนรถไฟคันนั้น ผมอาศัยอยู่ที่สถานี อยู่ระหว่างรถไฟที่แล่นไปมา การใช้บริการรถไฟไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ เราทุกคนมีตั๋วสำหรับรถไฟเที่ยวสุดท้าย (คือไปสู่ความตาย) ปัญหาคือ คุณจะทำอะไรระหว่างรอ? สำหรับผม กำลังขุดพื้นของสถานี การขุดนี้คือชีวิตและงานสถาปัตยกรรม (ของผม) เป็นการกระทำที่นับเนื่องถึงการสำรวจและขุดค้นหาความคิดต่างๆ คุณอาศัยความรู้สึกที่เกิดในใจเองเท่านั้นที่จะบอกว่าคุณจะขุดพื้นที่ตรงไหนในสถานี ขณะที่ผมกำลังขุด ผมรู้ว่าอะไรที่ไร้ค่า แต่ผมไม่แน่ใจ แม้ผมรู้จักทองคำ แต่แล้วผมก็ไม่ได้มองหา “มัน” ผมไม่ได้ขุดเพื่อความมุ่งหมายใด ผมขุดก็เพื่อให้ได้ขุดเท่านั้นเอง เพื่อพิสูจน์ว่าผมยังมีตัวตนอยู่ สิ่งที่ผมสนใจคือได้พบเห็นอะไรที่เกิดขึ้นในขณะที่ผมขุดมันด้วยมือและที่สำหรับตักของผม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการขุดด้วยเครื่องจักรหรือดินระเบิด ผมชอบการแยกย่อยสิ่งต่างๆ Nietzsche (นักปรัชญาชาวเยอรมัน) เคยกล่าว่า การทำลายและการสร้างสรรค์มีส่วนของการกระทำในลักษณะเดียวกัน แท้จริงแล้วอาคารก็ถูกทำให้ปรากฏขึ้นด้วยขบวนการนี้ (ทำลายและสร้างสรรค์) เช่นกัน
ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังงานของผม นอกจากตัวผมเองเท่านั้น ผมไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวหรือไร้คุณธรรม…ผมเพียงต้องการเป็นมากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกๆวัน ในชีวิตผมทั้งหมด ผมต้องการค้นพบความเป็นตัวเอง เหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องการให้คนอื่นๆรักผม ชอบงานของผม แต่ผมไม่สามารถคาดหวังมันได้ นอกจากเพียงคิดว่าเขาเหล่านั้นรู้ว่างานของผมคือสถาปัตยกรรม…เขาอาจไม่ชอบ แต่เขารู้ว่ามันเป็นสถาปัตยกรรมก็พอแล้ว โดยไม่คำนึงถึงคนที่อาจจะเข้าใจมันเป็นเชิงนามธรรมหรือมีคุณภาพที่ยุ่งยาก หรือแม้กระทั่งคนที่เข้าใจอาคารของผมอย่างดีก็ตาม ยังมีอีกหลายคนอาจจะชอบงานของผมในแง่ปฏิมากรรม…เพราะงานผมเป็นสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยความร้อนรนใจ ไม่มีปรากฏของสัญลักษณ์และการแต่งรูปใดๆ ซึ่งผมคิดว่า ..ทำไมไปโยนทิ้งจารีตประเพณีร่วม ๕๐๐ ปี โดยปราศจากการสรรสร้างความร้อนรนใจมาทดแทนกัน?
เมื่อคุณถามผมถึงสถาปัตยกรรมในความหมายของชีวิตภายในอาคาร มันเป็นหนึ่งในหลายคำถามที่ทำให้ผมพรั่นพรึง ผมไม่เคยรู้ว่าบ้านที่ผมออกแบบมีความหมายอะไรกับการดำเนินชีวิต ..William Gass (เพื่อนนักเขียนคนเดิม) เคยกล่าวเกี่ยวกับบ้านเบอร์หก (ที่อ้างแล้วข้างต้น) ที่ผมออกแบบว่า เขาสามารถเขียนโคลงและร้อยกรองได้อย่างเพราะพริ้ง ถึงความเลิศเลอของความรัก หรือการทำครัวที่จะได้เสพอาหารที่เลอรสในบ้านหลังนี้ ขณะที่นักสังคมวิทยาอย่าง Robert Gutman อาจแย้งว่ามันอาจเป็นสถานที่ๆซึ่งหมิ่นเหม่ในแง่สังคมวิทยา ..นี่เป็นการมองในคนละมุมกัน แต่ผมเชื่อว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์โลกที่ปรับตัวได้ง่าย ดังตัวอย่างเช่น มีคนยอมจ่ายเงินหลายพันดอลล่าร์อเมริกัน เพื่อที่จะยอมอยู่ในห้องแคบๆในเรือเดินสมุทร ยอมรับประทาอาหารในห้องอาหารสาธารณะ อะไรคือความหมายในการดำเนินชีวิตล่ะ? ผมยังไม่ได้อ้างรวมถึงความสะดวกที่ไม่ใส่ใจ..เครื่องล้างจานควรอยู่ถัดจากอ่างล้างมือหรือไม่?..ห้องน้ำควรอยู่ถัดจากห้องนอนไหม? งานของผมไม่เกี่ยวกับความสะดวก—มันเกี่ยวกับศิลปะ—ผมไม่แนะนำให้คนทั้งหลายดำเนินชีวิตในสถาปัตยกรรมของผม เหมือนที่ Loos (Adolf Loos 1870-1933) เคยกล่าว “สถาปัตยกรรมคือบทบัญญัติของอนุสาวรีย์และหลุมศพ” (สำนวนที่ไม่ตั้งใจ)..ผมสามารถทำงานโดยปราศจากความมุ่งหมาย…งานที่ดีที่สุดของผมคืองานที่ไร้ความมุ่งหมาย ผมจะสร้างความมุ่งหมายขึ้นมาภายหลัง ..ลองมองไปที่ พิพิธภัณฑ์ Frick ซิ !.. มันไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์เลย สถาปัตยกรรมถูกเติมประโยชน์เช่นเดียวกับการใช้คำคุณศัพท์ เป็นปัญหาหนึ่งในหลายๆปัญหา อุปมาเช่น คุณอ่านงานเขียนของเช็คสเปียร์ไม่ใช่เพราะเรื่องราว—ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณรู้เรื่องมาก่อนแล้ว คุณอ่านเพราะการสรรหาคำที่เอามาร้อยเรียงกัน เสียงที่เกิดจากคำเหล่านั้น และรสชาดของคำที่คุณลิ้มรสมันต่างหาก ใครเล่าจะสนใจเรื่องราว? ใครเล่าจะเอาใจใส่กับประโยชน์? นี่คือการลดทอนสถาปัตยกรรมสู่ความสะดวกที่ไม่ใส่ใจ
ผมสร้างสิ่งที่เกินล้นจากประโยชน์ใช้สอย ความคิดทั้งหมดของประโยชน์ที่เพิ่มความล้นเหลือนั้น คืออะไรที่ทำให้สถาปัตยกรรมยุ่งยากมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ Valéry กล่าวเมื่อแต่งกลอน….”เป็นความเกินล้นในความหมาย” เมื่อคุณหยิบหนังสือพิมพ์อ่านในตอนเช้า คุณอ่านเสร็จแล้ว ก็โยนทิ้งมันไป ใช่ไหม? แต่ทำไมบางคนยังอ่านมันอีก ไม่ใช่เพราะอะไรที่อยากรู้ แต่เพราะอยากสะท้อนเสียงของคำที่เขียนไว้? คนส่วนมากซื้อบ้านเพราะมันสนองความมุ่งหมายพวกเขาได้ ทำยังไงถึงจะสร้างบ้านให้เขาเหล่านั้นได้สิ่งอื่นนอกเหนือที่เขาต้องการ? การรบเร้าเพื่อเอาชนะเหนือประโยชน์ใช้สอยนั้น เป็นพลังที่เริ่มให้เกิดแรงกระตุ้นความรู้สึกทันทีของสถาปัตยกรรม ตัวอย่างเช่น การเอาชนะเหนือสัดส่วน (human scale) ที่กำหนดทางสถาปัตยกรรม สร้างมันด้วยสัดส่วนที่ไม่มีการกำหนด โดยเอาชนะเหนืออาคารที่มีความจำเป็นต้องสัมพันธ์กับสัดส่วนของมนุษย์ กิจกรรมที่ผมทำไม่เกี่ยวกับมานุษย์วิทยา แต่เหมือนที่ Daniel Liebiskind (สถาปนิกนักสร้างทฤษฎีสังคมร่วมสมัยชาวเยอรมัน) ได้กล่าวว่า บางทีเป็นมานุษย์วิทยาแบบพิเศษ เช่นในความพยายามหนึ่งที่นอกเหนือวาทกรรมของผู้ศึกษาเรื่องมนุษย์เคยแสดงไว้ อยู่นอกเหนือของความเป็นสองขั้วตรงกันข้ามของ ช่องทึบ-ช่องโล่ง ดำ-ขาว ถูก-ผิด บน-ล่าง ซ้าย-ขวา ชาย-หญิง แต่ในประเด็นนี้ผมไม่กระทำเพื่อให้บรรลุผลด้วยการสนับสนุนของความคิดเหล่านี้ แม้คุณไม่เคยทำสำเร็จ…คุณก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป มันเป็นการกระทำสำหรับเพื่อสถาปัตยกรรมเท่านั้นที่ผมถือเป็นสิ่งสำคัญ
ปกติแล้ว ผมมองหา “นักอ่านใหม่ๆ” เช่นนักอ่านใหม่ของ Foucault (นักปรัชญาร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส, 1926-1984) ผมไม่เชื่อว่าคุณสามารถอ่านสถาปัตยกรรมของผมได้ในลักษณะแบบคนอ่านเดิมๆ.. เพราะดีไม่ดีบางคนอาจกำลังอ่านสิ่งผิดๆก็ได้ เราอ่านสถาปัตยกรรมเดี๋ยวนี้เช่นเดียวกับการฟังการกล่าวสุนทรพจน์ (speech) ผมไม่ได้มองหาคนที่อ่านสถาปัตยกรรมของผมในแง่ของการจัดลำดับของจินตภาพ แต่ในแง่ใหม่ของเหตุการณ์ (events) ในแง่ของเนื้อหาหรือสาระของข้อเขียนเช่นในตำรา มโนทัศน์ของสถาปัตยกรรมคือเนื้อหาทางบัญญัติ สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องการชี้ขาดโดยปราศจากการถือเอารูปแบบเดิมใดๆ หรือแม้แต่ธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งต้นกำเนิดของสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย สถาปัตยกรรมหนึ่งเมื่อถูกดัดแปลง เป็นไปได้ในความคิดที่ว่ามันเป็นเพียงการแปรสภาพโดยการดัดแปลงในส่วนโครงสร้างของมันเท่านั้นเอง เป็นเพียงการเร่งเร้าภายในเพื่อยังผลในระดับหนึ่ง แล้วจึงต้องเริ่มมีการดัดแปลงอีกต่อไปในคราวหน้า… ไม่เป็นไปเพื่อการไปถึงที่ไหนๆ (หรือให้สัมบูรณ์)… แค่เป็นเพียงการเป็นไปเท่านั้นเอง
ผมไม่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมได้ ผมเชื่อว่ามันเป็นเท่าที่เป็น เมื่อทำมันขึ้นมามันก็ “เป็น” แค่ที่ทำ งานออกแบบบ้านสามหรือสี่หลังแรกของผมมันสะท้อนชีวิตในจิตใจ เดี๋ยวนี้ผมสนใจสิ่งที่เป็นอยู่ของมัน ผมไม่สนใจความก้าวหน้า ผมต้องการทำงานที่ดีตามความพอใจของผม สิ่งนี้ต้องการสติปัญญาไม่ใช่แค่ความรู้ ดังนั้นผมต้องการเพาะปลูกสติปัญญาให้เจริญงอกงาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากประสบการณ์ ที่มีความสัมพันธ์กับอดีตของผม และมันต้องกระทำด้วยความสามารถในการคิดค้นขึ้นมา
สำหรับทุกคนที่กังวลกับการทำโลกให้เป็นสถานที่น่าอยู่และดีกว่านั้น ผมอยากเสริมว่า “ทำไมไม่ทำสถาปัตยกรรมให้ดีกว่าล่ะ? ทำไมไม่แต่งกวีนิพนธ์ที่ดีกว่า? ถ้าเขาหยุดกังวลกับคนอื่นแล้วหันมากังวลเรื่องของพวกเขาเองแล้วโลกก็จะงดงามเอง มันเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่สามารถออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีได้ จึงต้องมากังวัลใจกับคนอื่นๆในโลก ..ในศตวรรษนี้ ความกลัวในความกลัว เพราะเคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์สองครั้งที่เกิดขึ้นในปี 1945 (การสังหารชาวยิวและทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น) มันทำให้ผมเชื่อว่า ไม่ใช่ทั้งวิทยาศาสตร์และไม่ใช่สังคมศาสตร์ ที่จะทำให้โลกเป็นสถานที่ๆดีกว่าได้ ในเมื่อมนุษย์ (ในปัจจุบัน) สามารถทำลายความเป็นมนุษย์ได้มากกว่าแต่ก่อน แต่สิ่งที่ดีคือ กวีไม่เคยเลยที่จะคิดถึงสิ่งเหล่านั้น เขาเพียงแค่เขียนกวีนิพนธ์ของเขา เขาอาจคิดที่จะขยายจิตมีสำนึกบ้าง… อาจจะ… เพราะถ้ามันทำให้ความเป็นอยู่ (ของเขา) ดีขึ้น ผมก็ต้องการการเป็นอยู่ (ของผม) ดีขึ้นทุกๆวัน และมันก็เป็นสิ่งพอเพียงแล้ว ถ้างานของผมเพียงทำให้ผมหรือคนอื่นอีกสักคนเป็นอยู่ดีขึ้น บางคนซึ่งสามารถพูดได้ว่า “ผมได้มันแล้ว” ผมคิดว่าผมต้องการคนๆนั้น
นี่เป็นสิ่งที่ผมพยายามสอนนักเรียน ผมพยายามเปิดเผย… อะไรคือสิ่งที่ดำรงอยู่ นั่นคือ… อะไรคือความแตกต่างระหว่างสติปัญญาและความรู้ มากไปกว่านั้น คือวิธีการเรียนเป็นเหมือนกลุ่มคนที่ช่วยกันบำบัดรักษา ผมพยายามช่วยเหลือพวกเขาทำสถาปัตยกรรมสำหรับพวกเขาเองแต่ละคน และให้มีขนาดพอบรรจุความพอใจของตนเองลงได้ เพื่อเขาจะได้ไม่ระเบิดสมองตนเองเมื่อมีอายุถึง ๓๕ ปี ซึ่งในเวลานั้นอาจพบว่าโรงจอดรถสองคัน, รถยนต์นั่งสำหรับครอบครัว, เรือ, เด็กๆ, สุนัข, ภรรยา ไม่มีความหมายอะไรเลย เราไม่ได้เป็นพวกคนเสนอสินค้า… ไม่ใช่ผู้พิพากษา… ผมเป็น… ในบางอย่างคือคนทำโปรแกรมใหม่.. ขอร้องให้เขาละทิ้งกระเป๋าเดินทางเสีย (เลิกร่อนเร่ไปกับรถไฟ) หันมาขุดพื้นกับผมในสถานี คุณจะเห็นว่าสิ่งดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งทีเดียว
ในการปลดเปลื้องตนเองออกจากกระเป๋าของวัฒนธรรมนั้น คุณต้องรักษาความมีอีโก้ (ความเชื่อมั่นในตนเองสูง) ของคุณไว้ ต้องรักษาคุณค่าของตนเอง แต่ต้องไม่ยอมให้มันโดนเหยียบย่ำทำลายโดยความเห็นแก่ตัว เพราะความเห็นแก่ตัวนั้นเปรียบเหมือนความชั่วร้ายที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึก ไม่มีใครสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยจิตไร้สำนึก หรือโดนกำหนดโดยความเห็นแก่ตัว แม้ผมสามารถปลดปล่อยความอิสระให้จิตไร้สำนึกเกิดขึ้นได้ แม้ผมสามารถขุดพื้น (ในสถานี) โดยจิตไร้สำนึกได้ก็ตาม ผมก็ยังคงรักษาความเป็นผมและรู้ตัวว่าผมเป็นใคร แต่แล้วเมื่อผมมองหาบางสิ่งเช่น กระเป๋า(ของวัฒนธรรม)เดินทางนี้ ผมไม่คิดว่าสถาปนิกอย่างผมควรเดินทางไปพร้อมกับกระเป๋าเดินทางเช่นนั้น
ผมจะเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้คุณฟัง ผมเคยหมกมุ่น เพราะว่าผมกำลังจะจากไปทำธุระกรรมบางอย่าง เพื่อนถามผมว่าธุระกรรมอะไรอยู่ในใจผมหรือ? ผมตอบว่า “รองเท้า”
“รองเท้า?”
“รองเท้า..ผมมีรองเท้าสองคู่ แต่ทั้งหมดต้องเอาไปซ่อม”
“เพียงสองคู่หรือ? ทำไมไม่ซื้อคู่ใหม่เสียล่ะ?”
“อ๋อ..คุณไม่เห็นหรือ มันเป็นรองเท้าที่ทำด้วยมือล้วนๆ และต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมราวหกอาฑิตย์ ผมส่งมันไปให้ช่างซ่อมรองเท้าพิเศษที่เมืองเวอร์จิเนีย”
“โอ้..พระเจ้า ปีเตอร์, ช่างเลวร้ายสิ้นดี นั่นไม่ใข่คุณ นั้นเป็นจินตภาพ (ที่คิดเอาเองว่าเป็น) ของคุณ เอาอย่างนี้ซิ..พรุ่งนี้..คุณแค่ออกไปที่ร้านรองเท้าใกล้ๆที่สุด และพูดว่า “ขอซื้อคู่นั้น”
ผมไม่เคยคิดว่าผมสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่ผมก็ทำ มันเป็นสิ่งที่ยากอย่างไม่น่าเชื่อ ..ผมพยายามแยกตัวเองออกจากจินตภาพของผม.. นี่เป็นขบวนการเดียวกันในงานสถาปัตยกรรมของผม….. (จบบันทึกการสัมภาษณ์)
เหมือนที่ผู้สัมภาษณ์สรุปไว้ในหนังสือนี้ว่า สำหรับสถาปนิก Peter Eisenman นั้น ลูกค้าหรือผู้ใช้อาคาร (Architects’ People) ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่เขาใส่ใจในงานออกแบบนัก “ทำอย่างไรที่จะพิสูจน์ว่า ฉันอยู่ที่นี่” นี่เป็นคำตอบที่ Eisenman ตอบในเชิงอุปมากับการขุดพื้น การเนรมิต และการสร้าง (รูปร่างอาคาร) เป็นลักษณะโต้แย้งกับ “กระเป๋าของวัฒนธรรม” (หลายคนเชื่อว่าสถาปัตยกรรมเป็นที่รวมของวัฒนธรรม) ความคาดหวังทางสังคม ซึ่งเขาต้องทำงานหนักเพื่อให้ความลุ่มลึกในความคิดของเขาปรากฏขึ้นมา อีกทั้งการกระทำด้วยความฉลาดเฉลียวในสองสิ่ง... อยู่เหนือความมุ่งหมาย ออกแบบอาคารที่ไม่อ้างถึงสัดส่วนมนุษย์ และการกระทำทุกๆวันให้สติปัญญาเจริญงอกงาม (อุปมาดังการขุดพื้นและการซื้อรองเท้า) เหมือนที่เขาแนะนำว่า “ผมมองความเป็นตัวเองในกระจกของคุณ… ไม่ใช่ในกระจกของผม ไม่งั้นก็จะเป็นอย่างเทพยดานาซีซัส ที่หลงเงาตัวเองจนซูปผอมตาย”
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผมคือคำกล่าวของ Eisenman เกี่ยวกับการสอนสถาปัตยกรรม คือ ความเหมาะสมในบริบทของมนุษย์ (ของครูและกลุ่มร่วมกันบำบัดรักษา) ที่ยอมให้เกิดการค้นหาเอกลัษณ์ของตนเอง ความเป็นตัวเอง อันเป็นรากเหง้าของทุกคนที่ต้องเอาใจใส่อย่างจริงจัง และนี่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างแสนลำบากทีเดียว…อ่านคำสนทนาที่สะท้อนความคิดของ Eisenman (แม้คำพูดใครๆอาจไม่จริงตรงใจคนๆนั้นทั้งหมดก็ตาม) นี้แล้ว ก็อาจเข้าใจเจตนาของสถาปนิกที่ออกแบบสำหรับผู้ใช้อาคารหรือคนอื่นๆอย่างไร และน่าจะทำให้เข้าใจประเด็นโต้แย้งที่คนอื่นวิจารณ์งานสถาปัตยกรรมในมุมมองที่ไม่เหมือนกันด้วย เป็นสองทิศทางที่ต้องไตร่ตรองว่า ความถูกต้องชอบทำในความคิดของสถาปนิกสำหรับสถาปัตยกรรมนั้นควรอยู่ที่ระนาบไหนกันแน่… ซึ่งอาจไม่ง่ายเลยที่จะค้นหาเจอ… นะครับ

Axonometric drawings
ในแวดวงสถาปัตยกรรมยังมีทัศนะคติของ “ความไม่เท่าเทียมกันของความโง่” (Asymmetry Ignorance) สถาปนิกมักอุปโลกตัวเองเป็นผู้รู้แท้จริง มีความเป็นฮีโรอิกอีโก้ค่อนข้างสูง เชื่อว่าตนเองรู้รอบในสิ่งที่คนอื่น เช่น ผู้ใช้อาคารต้องการ…หรือไม่ใส่ใจใครอื่นนอกจากตนเอง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมกลับชอบอีกทัศนะหนึ่งของพวกสถาปนิก “หลังสมัยใหม่” เช่น Robert Venturi ในบริบทความคิดที่ว่า เรานั้นมี “ความโง่เท่าเทียมกัน” (Symmetry Ignorance) ไม่มีใครเก่งเกินกว่ากัน ไม่มีใครเป็นพระเจ้าเหนือคนธรรมดา งานออกแบบสถาปัตยกรรมในแนวทางนี้ จึงเป็นเรื่องของความเอื้ออาทรและอ่อนน้อมถ่อมตนของสถาปนิก ซึ่งในพุทธศาสนาถือว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนและเมตตาธรรมนั้น เป็นบ่อเกิดของการเพิ่มภูมิปัญญาให้กับตนเอง การนำใจเขามาใส่ใจเรา เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวตะวันออก ความอหังการของเราเป็นไปเพื่อสร้างคุณค่าความดีงามให้กับคนอื่น ไม่ใช่เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมตนเองและหมู่คณะในอาชีพเดียวกัน หรือเพื่อสืบการทอดความหลงผิดให้ดำเนินกันต่อๆไปโดยไม่รู้ตัว…

1961, Venturi House at Chesnut Hill Pa. By Venturi and Rauch
ก่อนที่ผู้อ่านจะตัดสินใจอย่างไรนั้น ผมใคร่ขอเพิ่มเติมในหลักกาลามสูตรของพุทธศาสนาที่ว่า เราควรสร้างความสงสัยไว้เสมอ อย่าหลงเชื่อในสิ่งที่ใครๆอวดอ้าง หรือบอกให้เชื่อตามกันมา หรือแม้กระทั่งความรู้ความเข้าใจที่ตัวเองมีอยู่ สถาปนิกนั้น ก็ต้องมีการไตร่ตรอง คอยทบทวน เพื่อแสวงหาความจริงแท้ เช่นด้วยการ “ภาวนา” คือ...โยนิโสมนัสสิการ… การพิจารณาตามความเป็นจริง… ภายใน… ในเรื่องของตนเอง และต้องกระทำด้วยจิตที่มีเมตตาธรรมและมีความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย เพราะนั่นจะเป็นแนวทางของการเสริมสร้างภูมิปัญญาให้กับตนเองเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้อื่นในที่สุด

Architecture as Place

สถาปัตยกรรมในแง่ปรากฏการณ์ของสถานที่
(Architecture as a Phenomenon of Places)

สถาปัตยกรรมในลักษณะขององค์รวม..Synergetic ที่เกิดจากส่วนย่อยรวมกันในลักษณะเป็นทวีคูณ..synergy หรืออีกนัยหนึ่ง คือกำหนดแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมในแง่สถานที่ …Architecture as Place

มองกันในแง่คุณค่าทางสังคมวิทยา ความใส่ใจต่อเพื่อนบ้านและชุมชนโดยรวมนั้น ผมรู้สึกว่าการออกแบบของพวกเราเอาใจใส่เรื่องนี้กันไม่เต็มที่นัก นับวันยิ่งแทบ ไม่สนใจใยดีเอาเลยก็ว่าได้ จนการพูดคุยในห้องเรียนดูจะเป็นเรื่องประหลาดเอาเลยขณะนี้ น่าจะเป็นอีกเรื่องเดียวกันกับความเห็นแก่ตัวของผม ที่เบื่อหน่ายกับการปรึกษาแบบในสตูดิโอก็ได้ ลองการทดสอบกันง่ายๆ คือ ……ถามนิสิตให้ลองเล่าความประทับใจอะไรกับเพื่อนบ้านในชีวิตประจำวัน หรือความมีคุณภาพของการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านหรือสังคมก่อนจะส่งแบบมาปรึกษากัน ซึ่งแทบไม่ได้ยินคำตอบ ที่จริงผมว่าส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีเพื่อนบ้านเป็นตัวตนอยู่เคียงกันหรือเปล่า? ..ปรากฏความเงียบเกิดขึ้นตลอดเมื่อเอ่ยถามถึงเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเลิกพูดเลิกวิจารณ์แบบในปัญหาทางสังคมวิทยา ..social contact กันโดยปริยาย เพราะพูดไปก็คอแห้งกันเปล่าๆ

View from the castle at Etruria



Vault. S. Cataldo, Palermo

Classical architecture,The arcropolis, Athens

Old house in Omdurman, courtyard

เรื่องของขั้นตอนการวิเคราะห์ที่ตั้ง ถ้ามีการคำนึงเรื่องนี้กันเราก็จะได้เรียนรู้อะไรกันสนุกสนานในทุกที่ตั้งโครงการฯ ทำให้ได้เรียนรู้สภาพสังคมเมือง ชุมชน และประเทศของเราโดยรวมอย่างทะลุปรุโปร่ง อาชีพสถาปนิกก็จะเกิดประโยชน์กับสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่วิเคราะห์ที่ตั้งแค่ทราบพระอาทิตย์ขึ้นตกกันทางไหน หรืออะไรอื่นอีกที่เราพอจะเอาเปรียบจากชุมชนมาเป็นส่วนตนได้ บำเรอความสะดวกให้กับอาคารเราได้บ้าง เช่นการพยายามเจาะหาทางเข้าออกที่ถนนหลักกันอุตหลุด โดยไม่คำนึงถึงการเพิ่มปัญหาการจราจรอีกเท่าไร ฯลฯ

ผมเลยสรุปสาเหตุกันแบบห้วนๆว่า การเรียนรู้การออกแบบมันถึงไม่สนุก สตูดิโอกลายเป็นห้องร้าง ถ้าอาจารย์ไม่ใส่หมวกผู้คุมคุกมา ก็จะไม่มีใครอยากเอาแบบมาคุย อ้ายที่คุยกันอย่างเฝื่อนๆ ก็เกี่ยวกับว่าฉันจะเอาอย่างโน้นอย่างนี้ ให้มันดูคล้ายกันตามรูปในหนังสือ เอาเหมือนๆในสไลด์ที่อาจารย์ผู้นั้นเคยฉายกันให้ดูจนแทบจะขึ้นรา จนดูไม่ค่อยจะชัดเสียแล้ว ลอกเลียนกันมาอย่างผิวเผิน.....ซ.ต.พ.
หวังว่าคงเข้าใจ ทำไมผมจึงไม่ค่อยสนุกและมีอารมณ์กับโครงการออกแบบ (..โครงการ city hotel) มากนัก..ก็เพราะอยากให้เล่นกันเรื่องนี้ แต่ไม่มีนิสิตเล่นด้วย เล่นอยู่คนเดียวก็เพี้ยน เล่นกันแบบเดิมๆก็เลี่ยน อ่านหนังสืออะไรที่ตรงใจตัวเอง ก็เกิดอารมณ์ “อิน” กับคนเขียน เลยบ่นมา..ครับ
มีหนังสือที่โปรดปราณของผมสองเล่ม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในแง่องค์รวมของสถานที่ คือ Genus of Loci:Towards A Phenomenology of Architecture และ A Psychology of Places เล่มแรกเขียนโดยสถาปนิกชื่อ Christian Norberg-Schulz พิมพ์ในปี 1980 เล่มหลังเขียนโดยนักจิตวิทยาสภาพแวดล้อม ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนชื่อ David Canter พิมพ์ในปี1977 โดยสำนักพิมพ์ Architectural Press, London (คิดว่าน่าจะมีในห้องสมุดคณะเรา) แต่เล่มแรกอยากแนะนำ และผมเคยทำสำเนาไว้ในห้องสมุดคณะเราเหมือนกัน เนื้อหาที่สำคัญกล่าวพรรณาถึง Genus of Loci ซึ่งแปลว่า Spirit of Place และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมอย่างแยกกันไม่ได้เลย แนวคิดในการมองสถาปัตยกรรมเป็นองค์รวมของชุมชน และปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ เป็นสิ่งที่นักคิด “หลังทันสมัย” ให้ความสำคัญอย่างมากต่องานสถาปัตยกรรม และผมเห็นด้วย โดยคาดเดาว่าจะเป็นบริบทที่สำคัญสำหรับการสร้างชุมชนน่าอยู่และเมืองยั่งยืน อันตรงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ สำหรับเมืองไทยปัจจุบัน
ถ้า..สถาปัตยกรรมจัดอยู่ในลักษณะของ “สิ่งที่มี” ในแง่คิดทางปรัชญา ตามข้อเขียนของ คุณ สมัคร บุราวาส…ท่านหมายถึงสิ่งที่ปรากฏแก่เราทางประสาททั้งห้า

คือหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ มีลักษณะ ๓ ประการ คือ รูปธรรม อันได้แก่สิ่งที่มีรูปสัมผัสได้โดยตรงทางประสาทสัมผัสทั้งห้า
การเคลื่อนไหว การดำเนินไปหรือการเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม อันเรียกว่า ปรากฏการณ์..และ นามธรรม คือความสัมพันธ์ระหว่างรูปธรรม (๑) และระหว่างปรากฏการณ์ (๒) อันเป็นนามธรรมของ “สิ่งที่มี” ล้วนๆ……
ตัวอย่าง… แมว เป็นรูปธรรม การเติบโตและเคลื่อนไหวของมัน เป็นปรากฏการณ์ และทางนามธรรม มันถูกจัดไว้ในสัตว์ตระกูล Felis
ในทำนองเดียวกัน สถาปัตยกรรม, สถานที่, หรือสภาพแวดล้อมนั้นเป็นนามธรรม อาคาร สิ่งปลูกสร้างอื่น ต้นไม้ ฯลฯ เป็นรูปธรรม ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือความสัมพันธ์กับ “สิ่งที่มี” อื่นโดยรอบคือ ปรากฏการณ์ การแยกสภาพแวดล้อมออกมาเป็นส่วนย่อยเป็นแห่งๆ ในความหมายของนามธรรมแต่ละแห่ง คือ สถานที่ ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์เสมอกันและกัน รวมทั้งสิ่งปรากฏของสถาปัตยกรรมนั้นเสมอ ซึ่งมีความหมาย คือปรากฏการณ์ นั่นเอง…ไม่มี “สิ่งที่มี” ใดๆ ในโลกที่ตั้งอยู่เป็นเอกเทศ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และสัมพันธ์ต่อกันและกัน และกับ “สิ่งที่มี” อื่นๆเสมอ ดำรงลักษณะทั้งสามประการตลอดเวลา คือ รูปธรรม ปรากฏการณ์ และนามธรรม…ทั้งนั้น
ความประจักษ์ของรูปธรรม คือ “ลักษณะภายนอก” หรือ “อาการปรากฏภายนอก” เช่น สีสัน รูปร่าง ขนาด น้ำหนัก อุณหภูมิ ฯลฯ แต่เราไม่เห็นอะไรที่อยู่เบื้องหลังลักษณะภายนอก ที่เป็นผลและปัจจัยหรือต้นเหตุของมันเสมอ เป็น “ตัวของสิ่งนั้นเอง”…เป็นรูปธรรมและปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน รวมเป็น “สิ่งโดยตัวเอง” ปรัชญาทางพุทธเถรวาท ไม่เชื่อว่าทุกๆสิ่งเป็นลักษณะตายตัวชั่วนิรันดร (เหมือนความเชื่อของคานท์และเพลโต้ที่แย้งว่า เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งนั้นคงที่เป็นนิรันดรอยู่เสมอ..เพราะด้วยอำนาจศักดิ์สิทธ์..ในความหมายของพระเจ้า) หากเชื่อในสิ่งที่มีอยู่อย่างเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ไม่เชื่อเรื่องความเป็นเอก-โดดเดี่ยวของสรรพสิ่ง แต่เชื่อความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ควบคุมไม้ได้..จึงมักนิยามกันว่า “ความว่าง” ไม่มีตัวตน หรือเป็น “อนัตตา” สิ่งโดยตัวเองนั้นจึงถูกแปลงเป็น “สิ่งที่อยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง” หากอยู่ได้ด้วยการพึงพากับสิ่งอื่น ทั้งมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะฉนั้น สถาปัตยกรรมในบริบทของสถานที่ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
คำว่า “สถานที่” Christian Norberg-Schulz เจาะจงถึง “ที่ว่าง” ที่สิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นในโลกใบนี้ ดำรงชีพอยู่มากกว่าเป็นแค่ที่พำนักพักพิง หากรวมกันเป็นหน่วยของสิ่งที่มีชีวิต… เป็นที่ว่างที่มีลักษณะที่หลากหลายในความแตกต่างกัน จิตวิญญานของสถานที่เป็นผลรวมของจิตใจมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งมวลในชีวิตประจำวัน สถาปัตยกรรมไม่เพียงแค่เป็นที่พำนักพักพิง แต่ต้องรวมเป็นทั้งจิตวิญญานของสถานที่ ที่ซึ่งช่วยสนับสนุนการดำรงชีวิตมนุษย์ ในลักษณะของ “สิ่งที่มี” ซึ่ง Heidegger นิยามในความหมาย “การร่วมกัน” Le Corbusier กล่าวไว้ในหนังสือ Ver une architecture ว่า “จุดมุ่งหมายของสถาปัตยกรรม เพื่อการเคลื่อนไหวของเรา ให้การรับรู้ทางอารมณ์เกิดขึ้นกับเรา ภายใต้กฏเกณฑ์ของจักรวาลที่ต้องเคารพเชื่อฟัง” ในขณะที่ Louis I. Kahn เสนอคำถามที่สำคัญเพื่อการครุ่นคิดว่า.. อะไรเป็นสิ่งที่อาคารต้องการเป็น..(สิ่งที่มี).. ?”
ปรากฏการณ์ของ..สถานที่ รวมเรื่องราวของความสัมพันธ์ในหลายสิ่งหลายอย่างที่ซับซ้อน ยากที่จะแยกแยะจากกันได้ เช่น ความรู้สึกทั้งหลาย “อาการภายนอก” ที่ตอบสนองมัน ประกอบกันเป็นเนื้อหาของ “สิ่งโดยตัวเอง” ที่ปรากฏของเรา ในความเป็นนามธรรมทั้งหลายแห่งบัญญัติที่ว่า.. ที่นี่ บ้าน สะพาน น้ำตก ประตู เหยือก ผลไม้ ต้นไม้ หน้าต่าง ฯลฯ รวมถึงอื่นๆ เช่น อะตอม โมเลกุล จำนวน ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเราในสภาพแวดล้อมที่เจาะจงว่า ..สถานที่ ที่ซึ่งการกระทำทั้งหลายเกิดขึ้น และจะไร้ความหมายหากไม่อ้างถึงแหล่งที่เกิดของการกระทำนั้นๆว่าเป็นสถานที่ใด สถานที่จึงเป็นที่เป็นองค์รวมของการอุบัติการณ์ในทุกสรรพสิ่งในโลกนี้
ปรากฏการณ์ศาสตร์ เป็นเรื่องของการย้อนรำลึกถึง ที่เราเคยรับรู้มาก่อนในแง่การสัมผัสทั้งหลายของประสาททั้งห้า เช่น เห็นแมว รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตจำพวกหนึ่ง ที่ต้อง กิน นอน เคลื่อนไหว ฯลฯ ทั้งที่การกระทำยังไม่ได้เกิดขึ้นขณะนั้นก็ตาม นักปรากฏการณ์ศาสตร์ มักสนใจการศึกษาในด้านศาสนาวิทยา จิตวิทยา และจริยศาสตร์ (รายละเอียดอ่าน..วศิน อินทสระ.. “จริยศาสตร์” …ศาสตร์ที่ว่าด้วยคุณความดีและศิลปะในการตัดสินใจ, ๒๕๑๘) บางคนขยายไปถึงสุนทรียศาสตร์ แต่..มีน้อยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของปรากฏการณ์ของชีวิตประจำวันกับสิ่งแวดล้อม หรือสถาปัตยกรรมโดยตรง…Christian Norberg-Schulz ได้พรรณาไว้มากมายใน Genus of Loci.. Towards A Phenomenology of Architecture ในความหมายที่ผมเข้าใจเองว่า...สถาปัตยกรรมในอีกความหมายคือ ปรากฏการณ์ของสถานที่ นั่นเอง
กล่าวโดยอีกนัยหนึ่ง… ปรากฏการณ์ศาสตร์ เน้นว่าโลกของชุมชนหรือสังคมนั้น สามารถสร้างความเข้าใจโดยการค้นหาว่า แต่ละคนเข้าใจกิจกรรมของตนและในเรื่องความหมายของมันอย่างไรบ้าง ในแง่ขบวนการออกแบบ (Design Process) ถือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่สถาปนิกพึงมีกับลูกค้าอย่างไรด้วย ไม่ใช่แค่เพียงคำนึงถึงทฤษฎีการออกแบบเพียงลำพังของสถาปนิกเองเท่านั้น แต่จะต้องเกี่ยวข้องกับคุณค่า ความเชื่อ การตีความ สิ่งเร้า และสำนึกส่วนตัว ของลูกค้าหรือผู้ใช้อาคารด้วย แม้สิ่งดังกล่าวจะเป็นเรื่องเชิงนามธรรมก็ตาม แต่เป็นการป้องกันอคติที่อาจเกิดกับสถาปนิกเองได้ ปรากฏการณ์ศาสตร์ จึงเป็นแขนงวิชาศึกษาที่ดึงคุณค่าของมนุษย์กลับมาสู่วิทยาศาสตร์สังคม เป็นอีกวิธีการออกแบบในเชิงความคิดของงานสถาปัตยกรรม

ยังมีงานศึกษาอื่นมากมายที่เน้นถึงคุณค่ารวมของอาคาร เกี่ยวกับที่ว่างระหว่างอาคาร หรือที่ว่างภายนอก ในแง่ความเป็นเรื่อง ปรากฏการณ์ของสถานที่ นอกจากหนังสือสองเล่มที่กล่าวมาแล้ว เช่น งานศึกษาของ Jan Gehl ในหนังสือเรื่อง Life Between Building: Using Public Space (มีในห้องสมุดคณะฯเราด้วย)

การศึกษาของเขาเป็นการสำรวจที่เน้นเรื่องปรากฏการณ์ของกิจกรรมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แยกหัวข้อศึกษา ๕ ลักษณะซึ่งเกี่ยวข้องกันและกัน คือ -ถนนและทางเดินเท้า (a street scene) -กิจกรรมนอกบ้านที่เกิดขึ้นในที่ว่างอื่น (ที่ว่างสาธารณะภายนอก) ใน ๓ ลักษณะ คือ กิจกรรมที่จำเป็น (necessary activities) กิจกรรมทางเลือก (optional activities) และกิจกรรมทางสังคม (social activities) และ -คุณภาพทางกายภาพของที่ว่างภายนอกที่มีผลกระทบกับกิจกรรมมนุษย์เหล่านี้

Contact at a modest level






Information about the social environment

กิจกรรมจำเป็น เป็นสิ่งบังคับที่ต้องเกิดขึ้นเป็นส่วนมาก เช่นภาระกิจที่ต้องเดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียน หรือไปจ่ายตลาด เป็นต้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นทั้งใช้การเดินทางด้วยรถยนต์และเดินเท้าไปตามถนน เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นเดือนเป็นปี แม้การสำรวจพบว่าอิทธิพลทางกายภาพของสภาพแวดล้อมไม่มีผลมากน้อยก็ตาม กิจกรรมนี้ก็ต้องเกิดขึ้น เพราะไม่มีทางเลือกอื่น
กิจกรรมทางเลือก จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเวลาและสถานที่สนับสนุนอย่างเพียงพอ เช่นการออกไปเดินเล่นเพื่อผ่อนคลาย หรือไปรับประทานอาหารกลางวันระหว่างพักเที่ยงวัน นั่งพักผ่อนตามที่ว่างสาธารณะภายนอกอาคาร เป็นต้น กิจกรรมเหล่าเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งอำนวย เช่น ขณะอากาศแจ่มใส สถานที่มีผลทางกายภาพเป็นที่รื่นรมและพึงพอใจของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยเฉพาะคุณลักษณะของที่ว่างนั้น มีการออกแบบได้อย่างเหมาะสมสูงสุดกับพฤติกรรมมนุษย์ในแต่ละลักษณะนั่นเอง กิจกรรมชนิดนี้มีผลโดยตรงและอย่างมากกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพภายนอก
Walking routes:Acepptable waliking distance
Something happens cz’ something happens


กิจกรรมทางสังคม หรือกิจกรรมที่เกิดความเกี่ยวข้องกับผู้อื่นโดยไม่ได้คาดหวังไว้ล่วงหน้า เช่น การได้พบเพื่อนใหม่ พูดคุยกับคนแปลกหน้า การเล่นด้วยกันของเด็กๆ การออกกำลังกายด้วยกัน หรือกิจกรรมสังคมโดยทางอ้อม เช่น ได้พบเห็นคนอื่น ได้ยินคนอื่นคุยกัน และอื่นๆ เป็นต้น กิจกรรมทางสังคมแต่ละชนิดจะเกิดขึ้นในสถานที่แต่ละแห่งที่มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันไป กิจกรรมทางสังคมนี้อาจถือว่าเป็นผลของกิจกรรมที่ตามมา (resultant activities) หรืออาจเกิดต่อเนื่องจากกิจกรรมทั้งสองดังกล่าวแล้วข้างต้น กิจกรรมทางสังคมเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยทางอ้อมในขณะที่แต่ละคนดำเนินชีวิตขณะนั้นในที่ว่างเดียวกัน ลักษณะของกิจกรรมทางสังคมที่ต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันด้วย เช่น ในถนนของหมู่บ้านพักอาศัย สถานที่ใกล้โรงเรียน หรือใกล้ที่ทำงาน กิจกรรมทางสังคมจะขึ้นอยู่กับจำนวนที่จำกัดของผู้คนอื่นที่มาเกี่ยวข้องกัน และที่มีความสนใจและมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ยกเว้นในที่สาธารณะกลางอื่น เช่น บนถนนธุระกิจในเมือง สถานที่ในลานเมือง ในสวนสาธารณะ ณ ที่นี้ กิจกรรมทางสังคมที่หลากหลายย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากมาย ซึ่งแน่นอนก็ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยของสถานที่นั้น จะมีคุณภาพทางกายภาพมากน้อยเพียงไรด้วย กิจกรรมทางสังคมย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกโอกาสเมื่อมีการดำนินชีวิตประจำวันภายนอกเคหะสถานของแต่ละคนเกิดขึ้น

Quality improvement in the city of Copenhagen
After improvement: Increasing no. of activities

ที่ว่างภายนอก และความคำนึงถึงความเป็นชุมชนโดยรวม หรือนัยของสถาปัตยกรรมที่เป็นองค์รวมของสถานที่ ไม่ใช่อาคารเดียวโดดๆ (ซึ่งไม่มีในปรากฏการณ์จริง) จึงเป็นสิ่งที่สถาปนิกหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะไม่คำนึงถึงบริบทของสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพทางกายภาพและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ที่ย่อมเกิดขึ้นและมีความผูกพันกันอยู่เสมอ คุณภาพของสถาปัตยกรรมในแง่สถานที่ จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพในการออกแบบของสถาปนิกว่าจะเอาใจใส่หรือไม่? โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคม หรือกิจกรรมทางเลือกอื่น นอกเหนือกิจกรรมที่จำเป็น ให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงไร? คุณภาพของความเป็นมนุษย์นั้นส่วนหนึ่งย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้….คือ คุณภาพของสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนต่อกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ในที่ว่างภายนอก ไม่เฉพาะแต่ที่ว่างภายในอาคารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

จากการสำรวจในสถานที่หลายแห่ง Gehl เสนอข้อสันนิษฐานหลายอย่างในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อโอกาสการเกิดกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคม บทสำคัญในรายงานศึกษาของเขา คือ กิจกรรมภายนอกอาคารและคุณภาพของสภาพแวดล้อม Gehl ตั้งข้อสังเกตว่าในสองประเด็นใหญ่คือ เมืองหรือชุมชนที่ประกอบด้วยกลุ่มอาคารสูง ที่มีที่จอดรถใต้อาคารมากมาย เน้นการสัญจรโดยรถยนต์เป็นสำคัญ และมีระยะห่างระหว่างแต่ละอาคารมากๆ เมืองหรือชุมชนลักษณะนี้ เกิดจากอิทธิพลทางความคิดในการออกแบบแนว “ทันสมัย” เป็นส่วนมาก...

ลองหันมาพิจารณาชุมชนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็อาจนับได้ว่าเป็นชุมชนที่สะท้อนความคิดในทำนองนี้ ที่ว่างภายนอกเน้นหนักไปที่ทางสัญจรสำหรับรถยนต์ ปริมาณและบริเวณทางเท้ามีน้อย พื้นที่ว่างทั่วไปเป็นสนามหญ้า กลุ่มพืชไม้ดอก ต้นไม้ เพื่อผลการตกแต่งอาคาร เราจึงมองเห็นผู้คนสัญจรไปมาเพื่อกิจกรรมจำเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมทางเลือกและกิจกรรมทางสังคมอื่นที่เกิดขึ้นมีจำนวนน้อยมาก อาจเพียงเกิดขึ้นตามปริมาณที่ว่างที่ออกแบบสนองตอบแบบอื่น เช่น ลานที่วางม้านั่ง หรือลานเล่นกีฬาขนาดย่อมๆ เป็นต้น หากมีการปรับปรุง ให้คุณลักษณะของที่ว่างระหว่างอาคารแตกต่างไปจากที่ว่างเพื่อการตกแต่งพียงอย่างเดียวแล้ว แน่นอนว่ากิจกรรมภายนอกอื่นที่หลากหลาย ก็ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นเป็นทางเลือกได้อีกมากมาย ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างนิสิตต่างคณะฯ ก็ย่อมมีปริมาณมากขึ้นด้วย มิฉนั้นนิสิตจะเก็บตัวอยู่กันในอาคารของตน ไม่มีการกระตุ้นให้ใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมภายนอก นั่นหมายความว่าที่ว่างภายนอกจะว่างเปล่า มีเฉพาะการสัญจรเพื่อกิจกรรมที่จำเป็นเท่านั้น
ในอีกประเด็นที่ต่างกันสำหรับเมืองหรือชุมชนที่มีระยะห่างของอาคารแคบลง เน้นทางสัญจรทางเท้าเป็นสำคัญ ปริมาณและพื้นที่ทางเท้ามากขึ้น เคียงข้างอาคารด้วยที่ว่างของลานที่สร้างโอกาสของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งแต่ละที่ว่างเกี่ยวข้องโดยตรงหรือต่อเนื่องกันในแต่ละอาคาร โอกาสที่ผู้คนจะออกมาใช้บริเวณเหล่านี้ ก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เมืองหรือชุมชนที่มีลักษณะนี้ก็จะเป็นชุมชนที่มีชีวิตชีวา เป็นสถานที่แห่งความทรงจำและพึงพอใจสำหรับผู้คนได้มากทีเดียว ส่งผลด้านบวกให้กับที่ว่างภายในอาคารด้วยในเวลาเดียวกัน ความต่อเนื่องและแปรเปลี่ยนของกิจกรรมในแต่ละบุคลก็ดำเนินไปโดยธรรมชาติของความปรารถนาในแต่ละบุคคลด้วย
เราอาจพบเห็นกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นหลากหลายในบางสถานที่ของเมืองไทย ในบางชุมชน หรือบริเวณเมืองที่มีทางเท้ากว้างขวาง เช่นบนถนนสีลม ที่อาคารวางเรียงรายใกล้เคียงกัน หรือมีความหนาแน่นสูง ยิ่งในบางเทศกาลที่ลดปริมาณความหนาแน่นของรถยนต์ให้น้อย หรือบางวันหยุดที่มีการปิดถนนสำหรับการสัญจรทางรถยนต์ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ และเป็นที่พึงพอใจของผู้คนมากขึ้น ตรงข้ามในบางสถานที่ๆสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่างไป ความว่างเปล่าของผู้คนก็จะเกิดขึ้นแทนที่ กิจกรรมต่างๆไปรวมตัวภายในอาคาร แยกการขาดความสัมพันธ์ในอาคารแต่ละหลัง หรือแม้แต่ที่ว่างภายในอาคารเองของแต่ละอาคารก็เป็นเช่นเดียวกัน กรณีตัวอย่างของใจกลางเมืองโคเปนเฮเก็นที่ Gehl ยกมาอ้างว่าเมื่อมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เหมาะสมเกิดขึ้น ก็พบว่าบนทางเดินเท้าหลายแห่ง เกิดกิจกรรมต่างๆของผู้คนในเมือง เพิ่มมากถึงสามเท่าจากปริมาณก่อนมีการปรับปรุงเสียอีก และก็ป็นที่พึงพอใจของชาวเมืองปัจจุบันอย่างมาก สาระที่จะงดกล่าวแย้งไม่ได้ คือว่า ความล้มเหลวของความคิด “ทันสมัย” ที่การเน้นการสัญจรโดยรถยนต์ในเมืองและชุมชน เพราะเป็นเท็คโนโลยีที่ทำให้มนุษย์เพิ่มการเคลื่อนไหวที่เร็วขึ้นนั้น มีผลกระทบที่เน้นกิจกรรมจำเป็นอย่างสถานเดียว กิจกรรมทางเลือก และทางสังคมจึงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในชุมชนเมือง การค้นพบที่แน่นอนก็คือ คุณภาพของกิจกรรมต่างๆของมนุษย์จะเป็นปฏิภาคส่วนกลับกันกับความหนาแน่นของการสัญจรโดยรถยนต์ นั่นคือ ชุมชนใดมีการสัญจรของรถยนต์หนาแน่น กิจกรรมทางเลือกและกิจกรรมทางสังคมจะมีโอกาสและปริมาณเกิดขึ้นน้อย …ยังมีกรณีของชุมชนอื่นอีกมากที่ Gehl นำมาเป็นบันทึกเปรียบเทียบสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้….
Compare with degrees of traffic in the street

Frequency of outdoor occurrence in City
ข้อสังเกตหนึ่ง เมื่อมองย้อนกลับไปในเรื่องการออกแบบอาคารหรือเมืองในอดีต การออกแบบเป็นเรื่องของการบรูณาการในเชิงความสัมพันธ์กัน คือ ผ่านการลองผิดลองถูกสืบเนื่องกันมานานตลอดช่วงเวลา เป็นการออกแบบเชิงประจักษ์และสัมผัสกันที่สถานที่จริง ไม่ใช่การออกแบบกันในกระดาษแล้วจึงนำไปปฏิบัติในภายหลัง ดังเช่นวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ดำเนินกันในปัจจุบัน จินตนาการและความนึกคิดเชิงนามธรรมเปรียบเทียบ ย่อมมีโอกาสสร้างความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง (โดยเฉพาะเรื่องปรากฏการณ์ของสถานที่) ได้ง่ายดาย..ต้องไม่ลืมว่าอิทธิพลทางความคิดและการศึกษาของยุคทันสมัย หรือสถาบันเบาวเฮาส์มีผลการครอบงำความคิดอย่างยิ่งในคณะฯศึกษาสถาปัตยกรรมในเมืองไทยของเรา และยังดำรงอยู่จนถึงขณะนี้ ยังยอมรับแนวคิดแบบนามธรรมทางศิลปะที่สะท้อนในรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไม่เสื่อมคลาย การให้ความสำคัญกับบริบททางสภาพแวดล้อมของสถานที่ของยุค "“หลังทันสมัย" ก็ยังมีการตอบสนองไม่เข็มแข็งเท่าที่ควร แม้ว่าความคิดเดิมในเรื่องการออกแบบเมืองใหม่ของสถาปนิกตามลำพัง จะไม่เป็นที่ยอมรับกันอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งในวงการศึกษาการวางผังเมืองและผังภาค ที่กลับมาเน้นความเป็นสหวิชาการ--ศึกษาร่วมกันในหลากหลายสาขาวิชาขณะนี้
ข้อวิจารณ์ของ Jan Jacob ในหนังสือเรื่อง The Death and Life of Great American Cities ในปี 1961 สะท้อนให้เห็นแนวคิดการออกแบบ อาคาร ชุมชนหรือเมือง ตามแนวคิด “ทันสมัย” ประสบความล้มเหลวเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะในแง่คุณภาพของความเป็นมนุษย์ที่ถูกกีดกันและแบ่งแยก การเน้นประโยชน์ใช้สอยนิยมที่เคร่งครัด ไม่ตรงธรรมชาติแท้จริงในความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสถาปนิกนั่นเอง ความชำนาญการและเอกสิทธ์ในการตัดสินใจของสถาปนิกกำลังถูกทัดทานและทบทวนกัน รวมทั้งผลิตผลการออกแบบของยุคทันสมัย ที่เริ่มกันตั้งแต่ราวปี 1930 กำลังส่งผลกระทบอย่างแท้จริงออกมาแล้ว ปัญหาเด่นชัดของลักษณะสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่จำเป็นต้องตรวจสอบกันใหม่ ในเรื่องการสร้างสรรค์โอกาสเพื่อตอบสนองกิจกรรมทางเลือกหรือทางสังคม ต้องมีการทบทวนและหาทางปรับปรุงกัน เช่นการแบ่งแยกอาคารจนมีระยะห่างเกินไป ไม่มีการควบคุมและลดทอนปริมาณการเคลื่อนที่ของรถยนต์ การวางอาคารเรียงขนานแนวเดียวกันเพื่อเน้นการรับอากาศและแสงสว่าง เน้นประโยชน์นิยมในแง่มาตรฐานของสาธารณะสุขเชิงอุตสาหกรรม (medical knowledge or hygienic standard) ไม่อ้างถึงหลักจิตวิทยาและความเป็นสังคมของมนุษย์โดยรวม ไม่คำนึงถึงที่ว่างและความพึงพอใจของชีวิตที่เกิดขึ้นระหว่างอาคาร ลักษณะซ้ำๆซากที่ไม่สร้างความหลากลายชนิดของที่ว่างภายนอก การเน้นย้ำของการใช้ที่ว่างตามกิจกรรมจำเป็นภายในอาคารอย่างเดียวเป็นเอกเทศ จึงไม่น่าพอเพียงสำหรับแนวคิดของสถาปนิก ที่มักละเลยคุณภาพชีวิตอย่างอื่นๆของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคมในที่ว่างภายนอก การรวมตัวของชีวิตกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างอาคาร ซึ่งจะแยกออกจากการดำเนินชีวิตประจำวันในทุกชีวิตแทบไม่ได้เลย
ฉะนั้น สถาปัตยกรรมในแง่คิดเพียงอาคารอย่างเอกเทศ โดยไม่คำนึงถึงกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในบริเวณโดยรอบ หรือการไม่คำนึงถึงอาคารข้างเคียง ก็ไม่น่าทำให้บริบทของชุมชนน่าอยู่ ยั่งยืน หรือ “สวยงาม” มากขึ้นได้ การคำนึงเพียงแค่ความสอดคล้องกันของกิจกรรมและที่ว่างภายในอาคารลำพังอย่างเดียวนั้นไม่น่าพอเพียง ความสุนทรีย์ภายนอกเชิง “ความแปลกใหม่” หรือทันสมัยเพียงอาคารเดียว (ซึ่งแปลกแยกจากความเรียบง่ายและกลมกลืนกันแบบยุคสมัยเดิมๆ อีกทั้งยังด้อยคุณภาพของที่ว่างภายนอกกว่าสภาพแวดล้อมเดิมของชุมชนโบราณ) ไม่น่าเป็นความสุนทรีย์ทางสถาปัตยกรรมที่แท้จริงนัก ในแง่ทางกระบวนระบบของชีวิต…Systems Biology ถ้าเปรียบอาคารเป็น “หน่วยหนึ่งของชีวิต” ก็จะยืนยงดำรงอยู่ด้วยตัวมันเองไม่ได้ หากไม่มีความสัมพันธ์กับ “จักรวาล” ที่ห่อหุ้มและหลอมรวมชีวิตหน่วยนั้นไว้ Emmanuel Kant นักปรัชญาชาวเยอรมัน เสนอว่าเราไม่อาจรับรู้ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง แต่เราสามารถเข้าใกล้ความจริงด้วยมโนภาพในใจที่เข้ากันได้กับสิ่งที่มันเป็น …คำว่า “ปรากฏการณ์” มาจาก Kant (ในแง่หนึ่ง) หมายถึง สาระสำคัญของ “การใกล้ชิดกับความเป็นจริง”
ในเรื่องภววิทยา (Ontology) ว่าด้วยสิ่งที่มีอยู่ (Existence) เสนอว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีการเคลื่อนไหว ความเกี่ยวข้องและพึ่งพากันและกันและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง เพราะเป็นหลักที่ได้จากการสังเกต (ทางวิทยาศาสตร์) ไม่ใช่จากหลักเพียงการคิดของ Kant ที่ยังลังเลกับเรื่องนี้... ด้วยเหตุสสารมีการเคลื่อนไหวทั้งภายนอกและภายในด้วย จึงมีความเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง การเคลื่อนไหวภายในของสสารคือการเปลี่ยนแปลง (Change) ในขณะที่เปลี่ยนจึงเป็นทั้งของตัวเองและไม่ใช่ของตัวเอง จึงมีการพัฒนา มีการขัดแย้งภายในเกิดขึ้น คือมีการเป็นอย่างเดียวกับตัวเองและแย้งกับการไม่เป็นอย่างเดียวกับตัวเอง ซึ่งจากเหตุนี้ทำให้เกิดผลเป็นอย่างอื่น …การคิดไปเป็นการอย่างเดียว (Self Identity) จึงเป็นตรรกวิทยาที่ผิด การคิดเรื่องสถาปัตยกรรมหรืออาคารให้เป็นเอกเทศ โดดเดี่ยว เป็นอิสระจึงเป็นเรื่องของสิ่งไม่มี (Non-Existence) ไม่เป็นจริงตามหลักภววิทยาและวิทยาศาสตร์ของสสาร ..ฉะนั้นในการศึกษาสิ่งใดเพื่อความมีจริง ต้องศึกษามันเป็นฐานที่เกี่ยวพันกับสิ่งอื่นหรือสิ่งแวดล้อม เราไม่อาจศึกษาสถาปัตยกรรมเป็นตัวตนแท้ของมันได้เลย เพราะมันไม่มี จะมีตัวตนก็ในความเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นเท่านั้น

แนวคิดของ Modernism

อิทธิพลของ Bauhaus และแนวคิดทันสมัย

Sigfried Giedion เขียนหนังสือสถาปัตยกรรม Space, Time and Architecture พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ ปี ค.ศ. 1941 ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ดีเล่มหนึ่งก็ว่าได้ Bauhaus เป็นชื่อ โรงเรียนสอนสถาปัตยกรรม (the school of design) ในเยอรมัน เป็นสถาบันการศึกษาที่รวมสองโรงเรียนเดิม ที่ Weimar คือ โรงเรียนออกแบบ และโรงเรียนศิลปะประยุกต์ เข้าเป็น the Bauhaus โดย สถาปนิก Walter Gropius ในปี ค.ศ. 1919-1930 มีครูศิลปะและสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงหลายคนมารวมกัน เน้นการรวมศิลปะและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน เป็นหลักสูตรของวิชาศิลปะและศิลปะอุตสาหกรรมในชีวิตประจำวัน โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นตัวเชื่อมประสาน มาสิ้นสุดเมื่อพรรคนาซีปกครองเยอรมันและช่วงที่กลุ่มนี้รวมทั้ง Gropius อพยพหนีไปอยู่อเมริกา

ความคิดในทางการออกแบบสถาปัตยกรรม และการศึกษาก็มาขยาย ผลต่อในระบบการศึกษาของอเมริกา แทนระบบการศึกษาสถาปัตยกรรมเดิม คือ Beaux-Arts โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาดนำโดย Walter Gropius และมหาวิทยาลัย IIT (Illinois Institute of Technology) นำโดย Ludwig Mies Van de Rohe เป็นต้น ถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดแบบทันสมัย.. Modernism สำหรับสถาปัตยกรรมจนถึง ยุค late 60's ก็ว่าได้
แล้วระบบการศึกษาของ Bauhaus นี้ก็ข้ามน้ำข้ามทะเลแผ่ขยายมากับท่านอาจารย์เก่าๆของเรามาสิ่งสถิตอยู่คณะนี้ต่อจากที่การศึกษาแบบ Beaux-Arts ที่นำมาโดยท่านอาจารย์นารถ โพธิประสาท ผู้ก่อตั้งคณะนี้ซึ่งโดนดับรัศมีไปตามกาลเวลา
ก็เล่ามาเป็นสังเขป ลองไปตรวจสอบกันเองในหนังสือดังกล่าว ตั้งแต่หน้า 477 แล้วกันนะครับ หรืออ่านหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ตะวันตก ทั้งของท่านอาจารย์ ดร. วิจิตร เจริญภักดิ์ และ ท่านอาจารย์ มล. ประทีป มาลากุล เรียบเรียงเป็นภาษาไทย ก็น่าจะมีกล่าวเรื่องนี้เหมือนกัน
ข้อความข้างต้นนี้..เป็นการพูดคุยกันในเว็บบอร์ดที่นิสิตถามถึง Bauhaus เอากันพอรู้และพอไปสืบค้นกันต่อได้…. แต่ผมเห็นว่ายังไม่จุใจนัก เห็นควรย้อนรำลึกไปถึงแนวคิดสถาปัตยกรรมของยุค “ทันสมัย” ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดเรื่องสถาปัตยกรรมของผมแต่เริ่มแรก และจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยัง “ติดกับ” ทางความคิดนี้อยู่ เช่นเดียวกันกับท่านอื่นที่มีอายุในรุ่นราวคราวเดียวกันกับผม และเชื่อว่ายังคงยึดความคิดนี้อย่างมั่นคงโดยเฉพาะในการเรียนการสอนของคณะฯนี้อย่างไม่ยอมเสื่อมคลาย..ในด้านผลงานทางวิชาชีพที่ปรากฎปัจจุบันก็ยังหลีกเลี่ยงไม่พ้น หรือยังไม่ริเริ่มขยับไปสู่การปฏิเสธและเปลี่ยนแปลงกันเลย ความคิดของยุค “ทันสมัย” นี้ครอบคลุมไปทั่ว ไม่เฉพาะในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปะที่คุ้นเคยกัน แต่ยังแผ่ไปถึงทัศนะคติและความคิดในด้านการเมือง การปกครอง การบริหารจัดการ และที่สำคัญคือในด้านการศึกษา ที่ยังให้ความสำคัญกฎเกณฑ์เดียวที่เคร่งครัดในทุกๆสถาบันที่เกี่ยวข้อง แม้มีลักษณะสาขาวิชาที่แตกต่างกัน แต่ก็ถือเอาความชำนาญการของผู้สอนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าการยอมรับประสบการณ์และความรู้เดิมเฉพาะของผู้เรียน การศึกษาในคณะเราฯยังเป็นลักษณะ “เบ้าหลอม” ให้ผู้เรียน มากกว่าการฝึกฝนเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เกิดได้เองในแต่ละผู้เรียนด้วยตนเอง…นี่ยังเป็นปัญหาในการศึกษาที่ต้องมีการตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความสมดุลป์ในโอกาสต่อๆไป

ภาพปก the first Bauhaus manifesto,1919 โดย L.Feininger

ผังบริเวณของ The Bauhaus building, Dessau,1926 ออกแบบโดย Walter Gropius สะท้อนความคิดของ Bauhaus
จะว่าไปแล้ว Bauhaus ยังถือเป็นก้าวหนึ่งของประวัติศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาสถาปัตยกรรมและทัศนศิลป์ในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะเป็นช่วงหลังสงครามครั้งแรก แนวคิดอิสระและความต้องการประชาธิปไตยได้เริ่มขึ้น ประจวบกับการเริ่มยุคอุตสาหกรรมด้วย ศิลปะแต่เดิมซึ่งไม่สอดคล้องก็จะต้องเปลี่ยนแปลงกันตามยุคสมัย อีกทั้งวิธีการสอนสถาปัตยกรรม ก็เน้นเรื่องการปฏิบัติในด้านทักษะฝีมือ ลักษณะห้องเรียนแบบห้องปฏิบัติการเกิดขึ้นอย่างจริงจัง การปรึกษาพูดคุยระหว่างศิษย์อาจารย์มีความใกล้ชิดมากขึ้น และเน้นเป็นเรื่องสำคัญ อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ แล้วก็หวังว่าเขาเหล่านั้นจะนำไปสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเองต่อไป ไม่เน้นแค่ความรู้ด้านทฤษฎีเท่านั้น หากยังต้องสามารถตอบสนองในทางปฏิบัติด้วย ตามความหมายของ Bauhaus คือ การสร้างบ้าน หรือการก่อสร้างอาคาร วิชาหลักทางสถาปัตยกรรม ก็คือการออกแบบและการก่อสร้าง ซึ่งคล้ายๆกับหลักสูตรที่เราเรียนกันในคณะฯนี้… ส่วนในเรื่องวิธีการและเจตนารมณ์เพื่อการบรรลุจุดมุ่งหมายแท้จริงของ Bauhaus ได้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาทบทวนกันเอาเอง

P. Mondrian, Composition in Blue, 1917

A Private House, 1920 by T.Van Doesburg






กระนั้นก็ตาม..ต้องยอมรับว่า ท่าน Walter Gropius เป็นนักปฏิรูปการศึกษาสถาปัตยกรรมที่สำคัญคนหนึ่งแห่งยุคทันสมัย โดยเฉพาะการเน้นให้นิสิตเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นทางรูปทรงทางศิลปะและอาคารใหม่ๆ ให้ความคิดที่อิสระต่อนักเรียน โดยมีอาจารย์คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด มุ่งความก้าวหน้าและการพัฒนาทางด้านธุระกิจและสังคม โดยไม่ติดยึดกับขนบประเพณีที่เคร่งครัดจนเกินไป สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องการศึกษาที่หมายรวมทัศนะศิลป์อื่น เช่นจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์หรืองานกราพฟิกเข้าด้วยกันของ สาขาสถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ และศิลปะอุตสาหกรรม จะรวมกันอยู่ในสถาบันเดียวกัน แม้ว่า Bauhaus จะถูกปิดตัวเองในเยอรมันอย่างเด็ดขาดโดยพรรคนาซีในราว 1933 แต่บทเรียนและวิธีการสอนได้ขยายอิทธิพลต่อโรงเรียนสถาปัตยกรรมทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เช่นที่มหาวิทยาลับฮาร์วาร์ด ในเมืองบอสตัน และที่มหาวิทยาลัยไอไอที ในเมืองชิกาโก ฯลฯ และสำคัญที่สุดคือที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมของเมืองไทยทั้งหลายในปัจจุบัน
สำหรับหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมทันสมัย… เช่น History of Modern arfchitecture..vol.2 .. The modern movement เขียนโดย Leonardo Benevolo ในปี 1977 รวมทั้งเรื่อง Moderne Architecture ของ J. Joedicke เขียนในปี 1969 (มีในห้องสมุดคณะฯเราเช่นกัน) ฯลฯ ก็ได้กล่าวถึงอิทธิพลทางความคิดของ Bauhaus ด้วย และสะท้อนแนวคิดสถาปัตยกรรมทันสมัยได้อย่างชัดเจน

แนวความคิด “ทันสมัย” -Modernism
หนังสือดังกล่าวข้างต้นนี้ ถือเป็นคัมภีร์ร่วมสมัยแห่งยุค “ทันสมัยนิยม”…Modern Architecture ตรงกับยุคแห่งความก้าวหน้าแห่งอุตสาหกรรม แนะนำการออกแบบด้วยระบบก่อสร้างสำเร็จรูป การเน้นความสำคัญของกระจกและเหล็กอันเป็นวัสดุก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม เน้นความประหยัดตรงไปตรงมาในเรื่องการใช้สอย ตัดความฟุ่มเฟือยหรูหราทางอารมณ์หรือการเอาใจใส่ในรายละเอียดปลีกย่อยของสถาปัตยกรรมทิ้งไป คิดกันตามยุคสมัยของ Machine Age คิดเป็นเหตุเป็นผล คิดเป็นเชิงเส้นตรงทางคณิตศาสตร์ เช่น สองบวกสองต้องเป็นสี่ สถาปนิกถือเป็นผู้รู้ ผู้นำทางความคิดทางสถาปัตยกรรม กลุ่มสถาปนิก Bauhaus ถือเป็นผู้นำทางวิชาการหนึ่งของสถาปัตยกรรม สร้างอิทธิพล

The Aubette dance hall in Strasbourg,1926 by T. Van Doesburg and J. Arp

Composiion with planes of light color&grey lines,1919 by P. Mondrian





ทางด้านการศึกษาสถาปัตยกรรมแพร่หลายไปทุกประเทศ ทฤษฎีทางจิตวิทยา Gestalt เป็นบริบทสำคัญในการเรียนรู้ด้าน Visual art หรือศิลปะนิยมเบื้องต้นของโรงเรียนสถาปัตยกรรมรวมทั้งในเมืองไทย ศิลปะแบบนามธรรม เน้นความรู้สึกทางเส้นตั้ง เส้นนอน เส้นทะแยง และสีสรรค์ที่สื่อความหมายง่ายๆทางอารมณ์ความรูสึก อาคารสถาปัตยกรรมส่อไปทางศิลปะแบบนามธรรมตามความเข้าใจเฉพาะของกลุ่มวิชาชีพสถาปนิกและศิลปินนำสมัย หลายงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากผู้ใช้ในกาลต่อมา ที่แสดงความจริงที่ล้มเหลวสำหรับบุคคลทั่วไป เช่นเดียวกับกระบวนความคิดได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค “หลังทันสมัย” ต่อมา…ผมเคยโดนตอกย้ำให้มีความคิดออกแบบที่ตามยุคทันสมัย ตั้งต้นกันตั้งแต่การจัดผังบริเวณ หรือแผนผังของอาคารต้องกระทำเสมือนภาพศิลปะนามธรรมที่มีสัดส่วน และเป็นโครงร่างของการจัดเรียงเป็นองค์ประกอบรวม … composition ที่สวยงามเหมือนเช่นงานออกแบบของท่าน Walter Gropius ในสมัยนั้น..คือสนองกันให้เห็นแม้กระทั่งนกที่บินผ่าน ว่าศิลปะแบบนามธรรมนั้นสำคัญไฉน ศาสตร์แห่งศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคนั้นจะรับรู้กันได้ดีต้องฝึกฝนกัน หลายคนวิจารณ์กันว่า คุณค่าของรสนิยมทางศิลปะและสถาปัตยกรรมถูกผูกขาดโดยกลุ่มคนประเภท elite group หรือ Architect People เท่านั้น และสถาปนิกปูชนียบุคคล ที่เหล่าสถาปนิกทันสมัยเคารพในความคิด และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการศึกษาสถาปัตยกรรมในเมืองไทย ก็ได้แก่สี่ท่านนี้ (อย่างน้อย) คือ Walter Gropius, Mies van de Rohe, Le Corbusier และท่าน Frank Lloyd Wright เฉพาะสามท่านแรก ถือเป็นผู้นำและมีอิทธิพลทางความคิดของสถาปัตยกรรมยุคทันสมัย แต่ท่านหลังนี้ผลงานและความคิดร่วมสมัยของท่านไม่สู้จะละม้ายไปกับท่านอื่นๆ หากค่อนไปทาง Oriental ทางด้านเอเซีย และรูปทรงอาคารก็ค่อนข้างหลากหลายรสสุนทรีย์ และยังมีตำแหน่งพอวางลงไว้ในยุคไฮเท็คปัจจุบันได้เพราะมีอาคารบางหลัง เช่น
The Marin County Government Center ซึ่งท่านนี้ออกแบบให้ปรากฎไว้นานแล้ว ก็ยังมีนักสร้างภาพยนต์แนวล้ำยุคปัจจุบัน เคยถูกเอาไปทำเป็นฉากสถานที่ของภาพยนต์เรื่องนั้น (Gattaca) โดยไม่เป็นที่เคอะเขินของผู้ชมอย่างผมได้เลย



The Bauhaus Building,1926 by Walter Gropius

รูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมทันสมัยตามความคิดของ Bauhaus สะท้อนได้ชัดเจนคืองานออกแบบของ Gropius คืออาคารของ Bauhaus นั่นเอง เช่น การใช้ผิวปูนฉาบเรียบสีขาว เน้นความสัมพันธ์ทางรูปทรงทางเรขาคณิต โดยมีวัสดุอื่นเป็นส่วนรอง ที่ทั้งหมดตระหนักถึงการดูแลรักษาเป็นสำคัญ ลวดลายของผืนผิวรอบนอกอาคาร ไม่เน้นเครื่องตกแต่งอื่น นอกจากการจัดช่องว่างหน้าต่างและช่องปิดของกำแพงส่วนยื่นและส่วนเว้าต่างๆ ให้เป็นโครงร่างดังงานทัศนศิลป์สมัยใหม่ เช่น Mondrianในขณะนั้น คุณค่าสถาปัตยกรรมไม่เพียงแค่อาคารเท่านั้นยังรวมไปถึงความต้องการทางสังคม คุณค่าการมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วย ไม่พึ่งพาเพียงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับธรรมชาติเท่านั้น หากยังเสริมสร้างโดยเพิ่มเอกภาพแบบใหม่ระหว่างศิลปะและเรื่องของวิทยาการใหม่ๆด้วย

Houses for Bauhaus teachers, Dessau

A room in Gropius’ house, Weissenhof, 1927
ในบริบทของชุมชนเมือง แนวคิดทันสมัยเน้นความซ้ำซากของอาคารวางเรียงกันเป็นแถวเป็นแนว หรือไม่ก็เว้นระยะห่างระหว่างอาคารไว้มากมายพอเป็นที่รองรับการจอดหรือแล่นของรถยนต์ ซึ่งเป็นผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่เด่นชัดของยุค Corbusier ถึงกับนำจินตนาการของเมืองน่าอยู่ในอนาคต…the Plan Voisin มาเรียบเรียงเป็นหนังสือทั้งสองเล่ม ชื่อ Vers une architecture (Towards a New Architecture) และ Urbanisme (The City of Tomorrow) สะท้อนโดยผลงานออกแบบเมืองหลวงใหม่จันดีกราห์ ที่หลงเหลือไว้ในประเทศอินเดียปัจจุบัน พอๆกับสิ่งทันสมัยอื่นของเทคโนโลยีของการก่อสร้างและผลิตวัสดุเป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูป วัสดุกระจกและเหล็ก อันถือเป็นสดมป์หลักที่กำหนดรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและระบบการก่อสร้างในยุคทันสมัยทีเดียว นักสังคมวิทยา เช่น Robert Gutman วิจารณ์คุณค่าของชีวิตในชุมชนที่ขาดหายไปอย่างรุนแรง โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะหลังหลังสงคราม หนังสือที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางใน

Views of the Plan Voisin by Le Corbusier,1925
ปัญหาชุมชนและเมืองที่เกิดขึ้นต่อมา คือ The Death and Life of Great American Cities โดย Jan Jacob สำหรับในเมืองไทย คุณค่าของความมีชีวิตของชุมชนเมือง ยังพอเห็นได้ส่วนมากในชนบท หรือในย่านชุมชนแออัดของเมืองใหญ่ ที่ไม่ได้รับอิทธพลของการออกแบบและจัดการโดยสถาปนิกยุคทันสมัยเท่านั้น สภาพแวดล้อมชุมชนดังกล่าวนี้ Christopher Alexander ได้อ้างยกเป็นตัวอย่างไว้ ในบทความบรรยายที่เน้นคุณค่าของชุมชน..social contact ในรูปการออกแบบที่เขาเรียกว่าเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ..การออกแบบที่ไร้สำนึก..Un-conscious Design ซึ่งพบเห็นได้ตามเมืองหรือชุมชนโบราณในอดีตทั่วโลก… ตรงกันข้าม สำหรับในย่านทันสมัยที่ได้รับการออกแบบทั้งหลาย ก็จะพบเห็นคุณค่าในลักษณะดังกล่าวนั้นน้อยมาก..กิจกรรมทางสังคมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในที่ว่างภายนอก หรือชีวิตที่เกิดขึ้นในบริเวณระหว่างอาคารหรือกลุ่มบ้านอยู่อาศัย …มีพบเห็นไม่มากนัก
แต่ทว่า…ในช่วงเวลานั้น ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปการศึกษาสถาปัตยกรรม และการออกแบบของ Gropius จัดเป็นพวกหัวก้าวหน้า ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นในทุกขนาดของสภาพแวดล้อม และในทุกขนาดของการผลิตทางอุสาหกรรม ในระบบความคิดใหม่ของรูปลักษณ์ที่สนองตอบตามสภาพความเป็นจริงขณะนั้น วัตถุประสงค์แม้ไม่ปรับเปลี่ยนในทางวัฒนธรรมมากนัก แต่ทว่ามีการปรับเปลี่ยนบางส่วนสำหรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องวิธีการ การให้คำตอบไม่เป็นแบบสำเร็จรูป แก้ปัญหาอย่างมีขั้นมีตอน นำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างต่อเนื่องของสิ่งเกี่ยวข้องในแต่ละสถานะการณ์มาร่วมเป็นสาระในการพิจารณาในการแก้ปัญหาด้วย

สำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องการวางผังเมืองและออกแบบสถาปัตยกรรม ในแนวคิดของ Bauhaus พอสรุปได้ คือ…

การวางผังเมืองไม่ใช่เรื่องกระทำกันง่าย ด้วยมโนทัศน์ของจังหวะและขนาดตามลำพังอีกต่อไป แต่จะรวมกับกระบวนกิจกรรม ที่เกิดขึ้นในปรากฎการณ์ที่เป็นจริง ดังนั้นจึงขยายผลไปได้หลากหลายขนาดและหลากหลายในแต่ละช่วงเวลา ความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง และการตกแต่งภายใน อาจจะกำหนดภาระกิจแยกได้ชัดเจนขึ้น

การทดลองการวางผัง ไม่ขึ้นอยู่กับความอิสระของคนๆเดียวแต่กับกลุ่มนักวางผังที่รวมตัวกันอย่างถาวร แก้ปัญหาเฉพาะตามความถนัดของแต่ละคนในกลุ่ม ทั้งในลักษณะทางรูปธรรมและทางนามธรรม ก็ต้องถูกนำมาเปิดเผยเพื่อการตรวจสอบก่อนการตัดสินใจร่วมกัน การทำงานกันเป็นทีมและมีระบบขั้นตอนของ Bauhaus ไม่ถือว่าเป็นอีกรูปแบบ แต่ทว่าถือเป็นการสวนทางกับรูปแบบหรือการกระทำเดิมๆ

สถาปัตยกรรมไม่ได้ถูกพิจารณาเป็นแค่เพียงเป็นกระจกสะท้อนสังคม หรือสิ่งลี้ลับในการขับเคลื่อนสังคมด้วยตัวมันเอง หากแต่เป็นสิ่งบริการที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตร่วมกัน ความสมบูรณ์ของสังคมจะขึ้นอยู่กับสถาปนิกที่ต้องทำให้มันสมบูรณ์ด้วย ในทางกลับกันสถาปัตยกรรมไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะซ่อมแซมหรือแก้ไขสังคมได้ทั้งหมด เพราะสถาปนิกไม่ได้แยกตัวเองจากสังคมเด็ดขาดแต่รวมอยู่ในสังคม การกระทำจึงต้องขึ้นอยู่กับคุณลักษณะและความโน้มเอียงของสังคมนั้นด้วย..อาจมีการอะลุ้มอล่วย ไม่เหมือนยุคสมัยก่อนของโรมานติกที่สถาปนิกทำงานภายใต้ศรัทธาและอำนาจเต็มที่

สิ่งเกี่ยวข้องของสถาปัตยกรรมไม่ใช่พียงเรื่องคุณภาพแต่ต้องขึ้นกับเรื่องปริมาณด้วย สถาปนิกเป็นตัวกลางประสานในสองสิ่งนี้ ความสุนทรียภาพทางศิลปะแบบทันสมัยจึงจำเป็นเมื่อไปสอดรับกับการออกแบบในเชิงปริมาณด้วยวิทยาการทันสมัยทางอุตสาหกรรม ศิลปะที่เกิดจากการประดับประดาจึงตอบสนองเทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่ได้ยาก จำเป็นต้องถูกละเลยไปสู่ความเรียบง่ายธรรมดา เป็นศิลปะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบทั้งหลายในตัวอาคารเอง

ความคิดเชิงเหตุผล…Rationality ถือเป็นหลักประกันให้เกิดจุดร่วมของคุณค่าทั้งหลายที่ถาวร ที่แนวคิดทันสมัยเลือกเป็นการปกป้องการล่มสลายของประเพณีนิยมและป้องกันให้คงความบริสุทธืไว้ด้วย Rationality ยังถูกบ่งความหมายของความเป็นมนุษย์ ยึดถือตามที่พวก Aristotelian จำกัดความคำว่ามนุษย์ คือสัตว์ที่มีเหตุผลนั่นเอง

ถ้านับเอาการรวมแนวคิดของ Bauhaus (Gropius & Mies) และอิทธิพลที่มีไปทั่วโลกเป็นแนวคิดทันสมัย ประสบการณ์ส่วนตนของ Le Corbusier ก็อดกล่าวอ้างไม่ได้ว่า เป็นตัวเสริมยุคทันสมัยที่สำคัญยิ่งทีเดียว เป็นสถาปนิกที่เชื่อมต่อกลางระหว่างจารีตนิยมของฝรั่งเศษ และนำเสนอวัฒนธรรมนานาชาติที่ยังคงคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเดิม สำหรับเมืองไทยอิทธิพลในผลงานออกแบบ หนังสือ คำกล่าว และบทความ ที่มีผู้นำมากล่าวอ้างมากมายไว้นั้น ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อความคิดของสถาปนิกและรูปแบบสถาปัตยกรรม ยิ่งในทางการศึกษาต้องนับว่ามีอิทธิพลในด้านวิชาการมากกว่าคนอื่นๆตราบจนถึงปัจจุบัน งานออกแบบของ Corbusier มีรูปแบบที่เป็นการสะท้อนความเป็นบุคคลิกส่วนตัวของเขา มากกว่าลมหายใจของวิธีการ คุณค่าส่วนตัวนี้ถือเป็นจุดของการมาถึงมากกว่าการจากไป เพราะเป็นสิ่งที่ชักชวนให้สถาปนิกทั้งหลายเกิดความติดยึดและตรึงตราไว้ได้ง่ายดายเมื่อพบเห็น

Sketch of four types of detached houses

A Private House at Vaucresson, 1922





Interior of Ozenfant’s studio

Sketch of an artist’s studio,1922


All are works of Le Corbusier


Le Corbusier มีประวัติโดยย่อ… เกิดที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมือง la Chaux de Fond ชื่อเดิมว่า Charles E. Jeanneret เลิกเรียนในโรงเรียนสถาปัตยกรรมกลางคัน แต่ไปฝึกและทำงานกับ Perret & Behren ในราวปี 1908 แล้วเดินทางไปทั่วยุโรปและตะวันออก เป็นศิลปินวาดภาพด้วย เคยก่อตั้งชมรม Purist movement กับ Ozenfant ในปี 1919 งานของเขาจึงสะท้อนแนวคิดของ Purism คือกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ใช้รูปแบบที่ง่าย ยอมรับกระบวนการทางศิลปะและธรรมชาติเป็นเรื่องเดียวกัน รวมเอาภาพวาด ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือน Gropius ในแง่ที่มุ่งหมายเอาชนะความขัดแย้งระหว่างขบวนการทางเทคนิคก้าวหน้าและพัฒนาการทางศิลปะในขณะเดียวกัน ระหว่างผลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพราะตามประเพณีของฝรั่งเศษ เทคนิคและศิลปะมีคุณค่าเป็นลักษณะคู่ขนานกัน… คือว่า วิศวกรนั้นถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ข้อบังคับของเศรษฐศาสตร์ และถูกนำความคิดโดยการคำนวณ ทำให้เรายอมรับในกฎเกณฑ์ของจักรวาล ขณะที่สถาปนิกนั้น สร้างสรรค์รูปทรง กำหนดระเบียบซึ่งเกิดจากจิตวิญญาณให้เป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่บริสุทธิ์

The house at Garches, view of the main gate

Facade of the house at Garches by Corbusier
Corbusier เขียนไว้ใน Vers une architecture ว่า มวลที่ง่าย -ผืนผิว เป็นตัวกำหนดในความหมายของเส้นสายและทิศทางของมวล –แปลนคือหลักของการกำเนิดรูปทรง เป็นสามสิ่งที่สถาปนิกพึงตระหนักไว้…สถาปัตยกรรมต้องถูกบังคับโดยระเบียบของเส้นเชิงเรขาคณิต..องค์ประกอบสำหรับสถาปัตยกรรมใหม่ต้องสะท้อนให้เห็นผลผลิตทางอุตสาหกรรม เหมือนเช่น เรือเดินทะเล เครื่องบิน รถยนต์ ….วิถีทางสำหรับสถาปัตยกรรมใหม่คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเสริมค่าของวัตถุดิบ ลักษณะด้านนอกมีผลของการสะท้อนจากด้านใน รูปโครงร่างโดยรวม เกิดจากการสร้างสรรค์ทางจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์…บ้านอยู่อาศัยต้องเป็นสิ่งของสำเร็จรูป เหมือนเครื่องจักรกลที่มีชีวิต….หลักฐานของการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและวิทยาการบ่งบอกความจำเป็นในการปฏิวัติทางสถาปัตยกรรม

Main facade 0f the house at Garches, 1927

แสดงสัดส่วนตามทฤษฎี Modular ของ Corbusier
แนวความคิดของ Corbusier ชัดเจนเป็นรูปธรรมตามคำกล่าวที่ประกาศไว้ คือ ๕ ข้อสำหรับลักษณะของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่…
Pilotis..การออกแบบอาคารที่มีพื้นล่างโล่ง เห็นเสาลอยทั่วไป เว้นไว้เป็นบริเวณที่ว่าง เพื่อการระบายอากาศและป้องกันความชื้นจากดิน ซึ่งต่างจากรูปแบบเดิมที่มีห้องมืดๆติดดินและสัมผัสความชื้นตลอดเวลา บ้านจึงลอยในอากาศ…(เหมือนเรือนไทยเดิมของเรา)
Roof terrace..เปลี่ยนจากบ้านหลังคาเอียงเดิมเป็นหลังคาแบนสำหรับใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนได้ เพราะไม่จำเป็นต้องป้องกันการละลายตัวของหิมะที่ขังอีกต่อไป เนื่องจากมีวิทยาการที่ให้ความร้อนภายในบ้านได้ทั่วถึงกว่าเดิมที่อาศัยเตาผิงตรงกลางเพียงอย่างเดียว อีกทั้งหลังคาคอนกรีตยังช่วยสะสมความร้อนให้คงอยู่ได้ถึงเวลากลางคืน แทนที่จะใช้หลังระบายน้ำฝนออกไปทางด้านนอก กลับให้ระบายลงสู่ส่วนภายในบ้านเพื่อเก็บไว้ใช้ได้ต่อไป หลังคาป้องกันการขยายตัวของคอนกรีตและการรั่วซึมของน้ำโดยกรวดทรายและพื้นแผ่นหนาคอนกรีต แบ่งส่วนด้วยการเชื่อมต่อป้องกันการขยายตัวของคอนกรีตเมื่อได้รับความร้อน ทรายและรากพืชสวนช่วยย่นเวลาการดูดซึมน้ำของคอนกรีตด้วย
The free plan…โดยโครงสร้างใหม่ของ Skeleton system หรือคานพาดเสาเป็นช่วงๆ ช่วยให้การจัดที่ว่างได้อิสระกว่าระบบก่อสร้างชนิดใช้ผนังรับน้ำหนัก (Wall-Bearing system) แบบเดิม ยังสามารถเจาะช่องกว้างที่พื้นให้ทะลุโล่งถึงกันได้ ไม่จำเป็นต้องมีการซ้อนทับเหมือนหรือตรงกันทุกชั้น และทำให้พื้นที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยขนาดของบ้านเล็กลงซึ่งมีผลต่อความประหยัดทางเศรษฐกิจ
The “fenetre en longueur…การทำช่องหน้าต่างได้กว้างตลอดความกว้างของผืนหน้าอาคาร มีอิสระการกำหนดช่องแสงได้มากกว่าเดิม และเพราะช่องหน้าต่างถือเป็นองค์ประกอบหลักและมาตรฐานของบ้าน ยังแสดงเป็นเครื่องแสดงสถานะภาพของบ้านและอาคารพักอาศัยสำหรับคนทำงานด้วย
The free facade..เช่นเดียวกับหน้าต่าง โดยการยื่นพื้นคอนกรีตเลยออกนอกแนวเสา ช่องปิดและช่องเปิดเกิดขึ้นด้านนอกเสาอิสระ สามารถกำหนดได้ต่อเนื่องกันจากผืนหน้าหนึ่งไปสู่อีกผืนหน้าหนึ่งรอบอาคาร..ซึ่งคุ้นชื่อกันในคำว่า..brisole’ หรือที่เราชินกันว่า “แผงกันแดด”
จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะห้าประการของอาคารหรือบ้านที่กำหนดโดย Corbusier ถึงสถาปัตยกรรมทันสมัย ส่วนมากมีความสะดวกใช้และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทยมาก (ยกเว้นหลังคาแบน) จึงเป็นที่ยอมรับและสนับสนุนความคิดในการออกแบบลักษณะนี้ ซึ่งเมื่อได้รับรู้มาแล้วก็ยากที่จะลืมเลือน เราจึงเห็นอิทธิพลของ Corbusier ปรากฎในงานออกแบบของสถาปนิกไทยในสมัยนั้นและคงเส้นคงวาอยู่มาได้ถึงสมัยปัจจุบัน เพราะมีเรื่องความเหมาะสมของการออกแบบที่ประหยัดและสนองตอบประโยชน์ใช้สอยนิยมได้ครบถ้วน อีกทั้งเทคนิคการก่อสร้างยังคงถือวัสดุคอนกรีตเป็นหลักและเหมาะสมอยู่สำหรับเมืองไทยในปัจจุบัน…สำหรับผมแล้ว Le Corbusier เป็นสถาปนิกที่สร้างคุณประโยชน์ทางความคิดให้กับงานสถาปัตยกรรมมากผู้หนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้รับผลการฝึกฝนทางความคิดมาจากสถานศึกษาสถาปัตยกรรมใด แต่กลับเป็นผู้ที่ให้ความคิดที่มีอิทธิพลทางการศึกษามากทีเดียว ถือเป็นสถาปนิกโดยอาชีพและนักวิชาการสถาปัตยกรรมที่มีผลงานเด่นๆให้เหลือไว้ศึกษาและไว้เพื่อการโต้แย้งสำหรับสถาปนิกรุ่นหลังๆต่อมา
บริบทที่สำคัญทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองมีอิทธิพลที่อย่างยิ่งต่อแนวความคิดในการออกแบบรูปทรงและที่ว่างทางสถาปัตยกรรม ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการปลี่ยนแปลงสู่แนวคิดยุคทันสมัยทางสถาปัตยกรรม มีดังนี้
ปัจจัยของสงคราม ทำให้เกิดความเร่งรีบในหลายสิ่ง เช่นการเตรียมการเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งก่อน ระหว่างและหลังสงคราม ความขวนขวายเรื่องเทคโนโลยีจึงมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องของทรัพยากรและเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่เกิดจากภัยสงคราม ทำให้รูปแบบการฟื้นฟูต้องการความเร่งรีบในเชิงปริมาณ ระบบการคิดซ้ำๆ มาตรฐานเดียวกัน แบบสำเร็จรูป และประหยัดจึงเกิดขึ้นในงานสถาปัตยกรรม
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังสงคราม เป็นปัจจัยให้มีการจัดระเบียบและวิธีการใหม่ ส่งผลการคิดค้นเรื่องเทคโนโลยีต่อเนื่อง จากอาวุธยุทโธปกรณ์เดิมมาส่งเสริมในแง่อุตสาหกรรมด้วย เพื่อการเพิ่มผลผลิตฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
ปัจจัยของจำนวนประชากร ที่มีการโยกย้ายกันเข้าสู่เมืองใหญ่และการเพิ่มจำนวนครอบครัวมากขึ้นในสภาวะหลังสงคราม จึงต้องมีการจัดระเบียบของชุมชนใหม่ สร้างสาธารณูปโภคทดแทนและรองรับยวดยานพาหะนะสมัยใหม่ เช่นรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน ฯลฯ งานออกแบบสถาปัตยกรรมต้องสอดคล้องและสนองตอบกับปัญหารีบด่วนที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้ทันกาลและรวดเร็ว
ปัจจัยทางมติสังคมที่ยอมรับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สนองมวลชน ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นหลังสงคราม เกิดเป็นความนิยม และกำหนดเป็นมาตรฐานทางระบบที่ชัดเจน รวมทั้งที่เกิดกับวงการอุสาหกรรมของวัสดุและการก่อสร้างทางสถาปัตกรรมด้วย
ปัจจัยทางการเมืองและการปกครองส่งเสริมเสรีภาพและความเสมอภาค ให้ความอิสระและประชาธิปไตยสำหรับปัจเจกชนมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับจารีตนิยมเดิมๆอย่างเคร่งครัดต่อไป อำนาจหรือการตัดสินใจถูกผ่องถ่ายจากกลุ่มศักดินาไปสู่กลุ่มตัวแทนของชนชั้นกลางทั่วไป ความกระตือรื้อร้นในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งความคิดและการกระทำในแนวทางใหม่จึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย
ลองหันมามองทัศนะของแนวคิดทันสมัยในมุมมองอื่นหรือที่ปรากฎในแขนงวิชาอื่น ที่นอกเหนือจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมบ้าง (โดย คุณสมเกียรติ ตั้งนะโม จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.geocities.com/midnightuniv/) เรียบเรียงเรื่องนี้ จาก http://www.uta.edu/huma/pomo_theory/index.html (ซึ่งเป็นบางส่วนของหนังสือ "ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น" โดย STEVEN BEST & DOUGLAS KELLNER) พอนำมาสรุปเพิ่มความเข้าใจไว้ได้..ดังนี้…
ความเป็นทันสมัย หรือสมัยใหม่ (modernity) ถูกกำหนดให้เป็นทฤษฎีสังคมและการเมืองขึ้นมาโดย Comte, Weber, Marx, และคนอื่นๆ, เป็นศัพท์ที่เกี่ยวกับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอ้างอิงถึงยุคสมัยที่ต่อมาจาก "ยุคกลาง" (Middle Ages) หรือลัทธิศักดินา (feudalism). สำหรับบางคน ความเป็นสมัยใหม่ถูกทำให้ตรงข้ามกับสังคมตามจารีตประเพณีเดิมๆ และถูกสร้างอัตลักษณ์ของตัวมันขึ้นมาโดยสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมใหม่, ความแปลก, และความเป็นพลวัตร
วาทกรรมต่างๆในทางทฤษฎีของความเป็นสมัยใหม่นับจาก Descartes จนมาถึง the Enlightenment (ยุคสว่างหรือยุคแห่งพุทธิปัญญา) ที่ให้การสนับสนุนเรื่องราวของเหตุผลนั้น ต่างถือว่า "เหตุผล" เป็นต้นตอของ "ความก้าวหน้า" ในด้านความรู้และความเจริญของสังคม เช่นเดียวกับการถือสิทธิสร้างความรู้เป็นเสมือน “ความจริง” (truth) โดยรากฐานของวิธีการที่เป็นระบบ
"เหตุผล" ถูกทำให้เชื่อว่า ตัวมันเองมีความสามารถที่จะค้นพบบรรทัดฐานทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างเพียงพอ ซึ่งระบบคิดและการกระทำสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้ และสังคมสามารถได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน. โครงการต่างแห่งยุคสว่างหรือยุคแห่งพุทธิปัญญานี้ ถูกนำไปปฏิบัติและมีอิทธิพลในอเมริกา, ฝรั่งเศษ, และประเทศที่มีการปฏิวัติประชาธิปไตยอื่นๆด้วย มีการปฏิเสธโลกแห่งศักดินา โดยพยายามสร้างระเบียบสังคมที่ยุติธรรมและความเสมอภาคขึ้นมาแทนที่ด้วยวิธีการของเหตุผล จึงทำให้ความก้าวหน้าของสังคมเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ความเป็นสมัยใหม่ในทางสุนทรียะ ปรากฎตัวขึ้นมาในความเคลื่อนไหวของพวกขบวนการทางศิลปะหัวก้าวหน้าหรือโมเดิร์นนิสท์ และบรรดาพวกรองต่างๆ (behemian subcultures..ที่ไม่ยึดถือตามขนบจารีต..แต่กบฎต่อแง่มุมที่แปลกแยกของความเป็นอุตสาหกรรมและความเป็นเหตุเป็นผล) พยายามแสวงหาการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและค้นหาความสามารถของตนเองในเชิงสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ในทางศิลปะ
ความเป็นสมัยใหม่ได้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันด้วยการส่งเสริมของศิลปะสมัยใหม่ ทำให้เกิดผลผลิตต่างๆของสังคมบริโภค เทคโนโลยี และลักษณะหรือวิธีการเกี่ยวกับการขนส่งและการสื่อสาร. พลวัตรต่างๆและความเป็นสมัยใหม่ได้สร้างโลกอุตสาหกรรมและอาณานิคมใหม่ขึ้นมา ซึ่งได้รับการอธิบายในฐานะที่เป็น "การทำให้เป็นสมัยใหม่" (modernization) ….สำหรับศัพท์คำว่า modernization เป็นศัพท์ที่แสดงถึงกระบวนการของ การทำให้เป็นปัจเจก, การทำให้เป็นเรื่องทางโลก (ทางวัตถุ), การทำให้เป็นอุตสาหกรรม (เชิงปริมาณ), ความแตกต่างทางวัฒนธรรม (แปลกแยก), การทำให้เป็นสินค้า (เกินความจำเป็น), การทำให้มีความเป็นเมือง (รวมศูนย์กลาง), การทำให้เป็นระบบราชการ (ด้วยอำนาจเด็ดขาด), และการทำให้เป็นเหตุผล (ด้วยกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด) ซึ่งรวมเข้าด้วยกัน ได้ก่อให้เกิดโลกสมัยใหม่ หรือ modern world ขึ้นมา……ความเป็นสมัยใหม่ยังได้สร้างสถาบันทั้งหลายให้เกี่ยวข้องกับระเบียบวินัย วิธีการปฏิบัติและวาทกรรม ในลักษณะที่เป็นการครอบงำและบังคับควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กระนั้นก็ตาม การสร้างความเป็นสมัยใหม่ ได้ส่งผลกระทบในเวลาต่อมา คือผลิตความทุกข์ยากและความเจ็บปวดที่ไม่ได้มีการเปิดเผยหรือไม่คาดคิดเอาไว้เกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของมัน ซึ่งไล่เลียงได้นับจาก ชาวไร่, ชาวนา, กรรมกร, และช่างฝีมือทั้งหลายที่ถูกกดขี่โดยการทำให้เป็นอุตสาหกรรมของนายทุน จนกระทั่งถึงการกีดกันผู้หญิงออกไปจากปริมณฑลสาธารณะ และไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกี่ยวกับการทำให้เป็นอาณานิคมของนักจักรวรรดิ์นิยมทั้งหลาย
ภายใต้วาทกรรมนี้ "ลัทธิสมัยใหม่" อาจถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงขบวนการทางศิลปะของยุคโมเดิร์น (เช่น impressionism, Purism, expression, surrealism, และขบวนการก้าวหน้าอื่นๆ) ขณะที่..ต่อมาเกิด "ลัทธิหลังสมัยใหม่" พยายามอธิบายถึงรูปแบบและปฏิบัติการต่างๆทางสุนทรีย์ที่หลากหลายซึ่งตามมาทีหลัง และแตกหักกับลัทธิสมัยใหม่. รูปแบบเหล่านี้รวมเอาสถาปัตยกรรมของ Robert Venturi และ Philip Johnson, การทดลองทางด้านดนตรีของ John Cage, ผลงานศิลปะของ Warhol และ Rauschenberg, นวนิยายต่างๆของ Pynchon และ Ballard, และงานภาพยนตร์อย่างเช่นเรื่อง Blade Runner หรือ Blue Velvet. ที่บ่งบอกถึงความเคลือบแคลงที่ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ข้อแตกต่างทางแนวคิดระหว่างลัทธิสมัยใหม่และลัทธิหลังสมัยใหม่ และลักษณะที่ดีและข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับสองแนวคิดนี้
บรรดานักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น..หลังสมัยต่อมา อ้างว่า.. ในสังคมร่วมสมัยที่มีความไฮเทคทางด้านสื่อ, กระบวนการต่างๆที่เร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการแปรผัน สิ่งเหล่านี้กำลังผลิตสังคมโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งขึ้นมา และผู้ที่ให้การสนับสนุนมันทั้งหลายอ้างว่า ยุคของความเป็นโพสท์โมเดิร์นได้ก่อให้เกิดภาวะทางประวัติศาสตร์ที่แปลกใหม่อันหนึ่ง และการก่อตัวขึ้นมาของสังคมวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งต้องการแนวความคิดและทฤษฎีใหม่ๆมารองรับ…ที่ต่างจากแนวคิดทันสมัยเดิม
ยังมีบทความอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบความแย้งกัน ระหว่างแนวคิดทันสมัยและแนวคิดหลังทันสมัยต่อมา ซึ่งจะยกไปไว้อ้างกับเรื่องราวที่กล่าวถึงแนวคิดหลังสมัยทางสถาปัตยกรรมต่อไป
จากข้อความเรียงที่ยกมาข้างต้น น่าจะทำให้เราได้รับรู้ต้นตอความคิดนี้ที่ได้รับการวิพากวิจารณ์ในแขนงวิชาอื่น นอกเหนือจากที่เราได้รับรู้ในด้านแขนงวิชาทางสถาปัตยกรรม…ผมคิดว่าเราน่าจะได้มุมมองของความคิดทันสมัยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งบทบาทด้านทัศนะคติของการบริหารจัดการ และพฤติกรรมที่เป็นขนบจารีตในสถาบันศึกษาสถาปัตยกรรมปัจจุบันด้วย