Tuesday, March 20, 2007

แนวคิดของ Post-Modernism

เกี่ยวกับแนวคิดสถาปัตยกรรมหลังทันสมัย..
Post-Modern theory of Architecture


ในราวปี 1960s เกิดความข้องใจและไม่พอใจกระแสของความทันสมัยโดยเฉพาะในทางแถบอเมริกาเหนือ ที่สะท้อนออกมาเป็นหนังสือสองเล่ม คือ The Death and Life of Great American Cities (1961) เขียนโดย Jane Jacobs และ Complexity and Contradiction in Architecture (1966) (งานเขียนและวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ Robert Venturi) นาง Jacobs ชี้ให้เห็นผลงานการออกแบบที่ล้มเหลวในการเชื่อมโยงกับชุมชนในรูปลักษณ์ของความเพ้อฝันของอาคารยุคทันสมัย ที่ซึ่ง Venturi วิจารณ์ว่าไร้ซึ่งความหมาย เพราะถูกออกแบบด้วยการเน้นถึงความเรียบง่าย และบริสุทธ์จนขาดความซับซ้อนที่ตรงกันข้ามกับคุณค่าเดิมที่มีของสถาปัตยกรรมในประวัติศาสตร์ ความไม่พอใจนี้ถูกเน้นย้ำในปี 1972 ถึงการทำลายทิ้งของอาคารสูงสำหรับอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย (คนอเมริกันนิโกร) Pruitt-Igoe ในเมือง St. Louis อาคารที่พักอาศัยนี้สูง ๑๔ ชั้นที่สร้างได้ราว ๒๐ ปี โดยสถาปนิก Yamasaki (สถาปนิกคนเดียวกันที่ออกแบบอาคารคู่เวิร์ลเทรดที่โดนทำลายไปแล้ว) และเป็นแบบที่ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกอเมริกันเสียด้วย เช่นเดียวกันกับการทุบทิ้งอาคารลักษณะเดียวกันในยุโรปและอเมริกาเหนือในสิบปีต่อมา กรณีเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุของการเริ่มต้นของยุคหลังทันสมัย..หรือโพสท์โมเดิร์น
หนังสือของ Venturi เรื่อง Learning from Las Vegas (ร่วมกับ Denise Scott Brown (ภรรยา)..และ Steven Izenour) พิมพ์ในปี 1972.เกิดขึ้นมาจากการศึกษาค้นหาสถาปัตยกรรมของความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่ ที่ถูกละเลยไปด้วยความบริสุทธ์อันเคร่งครัดของยุคทันสมัย ผู้เขียนพยาพยามเสนอแนะถึง ความสนุกสนานของสถาปัตยกรรมธุระกิจการค้า และป้ายโฆษณาทั้งหลายของเมือง Las Vegas และตามทางด่วนของเมืองด้วย Venturi และหุ้นส่วน John Rauch เสนอการออกแบบสถาปัตยกรรมในลักษณะใหม่ที่มีความคิดหลักแหลม มีความเป็นมนุษย์ และมีประวัติศาสตร์เป็นการอ้างอิง เช่น Tucker House, Katonah, N.Y. (1975), และ Brant-Johnson House, Vail, Colo. (1976). มีการสืบทอดความคิดของ Lutyens ผู้ซึ่งเน้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกันในความรู้สึก และความซับซ้อน (ตามชื่อหนังสือของเขา) อันเป็นผลการออกแบบและการเรียกร้องลึกๆในงานของ Venturi และสถาปนิกอื่นที่เห็นพ้องกัน เช่น Charles Moore และ Michael Graves. โดยเฉพาะในงานของ Graves การออกแบบ Portland Public Service Building, Portland, Ore. (1980-82), และ Humana Tower, Louisville, Ky. (1986), มีลักษณะกล่องเช่นอาคารสูงในยุคทันสมัย หากแต่แต่งเติมด้วยการตกแต่งด้วยของที่ระลึกบางสิ่งเอามาจากประวัติศาสตร์ เช่น แนวเสาเรียงรายอิสระ ขอบระเบียงหลังคา ช่องโค้งกับสลักยึดบน และสิ่งอื่นที่แอบเอาของอดีตมาใช้ เช่นเดียวกับงาน Piazza d'Italia, New Orleans (1975-80), และอาคาร Alumni Center, University of California ที่เมือง Irvine (1983-85), ของ Moore ที่เชื่อมั่นในเรื่องสีสรรของอาคารที่ตั้งใจตอบสนองคุณค่าตามรสนิยมของมวลชน ทีไม่เคยได้รับการตอบสนองจากงานสถาปัตยกรรมในยุคทันสมัยเลย

Michael Graves, Portland Public Service Building, Portland, Ore. (1980-82),


อารมณ์เช่นนี้โดนปลุกเร้าขึ้นในเมือง Venice ปี 1980 เมื่อกลุ่มสถาปนิกชาวอเมริกันและยุโรปรวมตัวกัน ประกอบด้วย Venturi, Moore, Paolo Portoghesi, Aldo Rossi, Hans Hollein, Ricardo Bofill, and Lon Krier, นำเสนองานออกแบบต่างๆของพวกเขาขึ้นในงานแสดงนิทรรศการ ชื่อ "The Presence of the Past." ซึ่งจัดโดยองค์กร the Venice Biennale กลุ่มสถาปนิกนี้ถือเป็นสถาปนิกยุคหลังทันสมัยที่สำคัญ เป็นตัวแทนของมุมมองที่แตกต่าง หากแต่ร่วมกันในความทะเยอทะยานที่จะขจัดความหวาดกลัวในความทรงจำของอดีตสถาปัตยกรรมแบบทันสมัยให้หมดสิ้น

ในราวปี 1970s ถึง '80s สถาปนิกอเมริกันหลายคน เช่น Philip Johnson และหุ้นส่วน John Burgee และสถาปนิกสติเฟื่อง Robert Stern ได้นำรูปแบบสะเล่อๆ…pop-art ตามเช่นภาษาศิลป์ที่นิยมกันในสมัยนั้น มาใช้กระจายรวมกันกับของ “ชำร่วย” ทางประวัติศาสตร์ในงานสถาปัตยกรรม เช่น AT&T Building, New York City (1978-84), ตึกระฟ้าที่ประดับยอดเหมือนพนักเก้าอี้ Chippendale อาคารเรียนคณะสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัย Houston (1982-85) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Ledoux (1736-1806) ในโครงการณ์ออกแบบ House of Education at Chaux (1773-79) งานออกแบบของ Stern คือ Observatory Hill Dining Hall, University of Virginia, Charlottesville (1982-84), ที่สะท้อนแนวคิดคลาสสิกของ Jeffersonian (สถาปนิกยุค Colonialism อดีตประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา) ขณะที่อาคารอีกหลังของเขา Prospect Point Office Building, La Jolla, Calif. (1983-85), อ้างอิงกับรูปแบบอย่าง Spanish Colonial. สถาปนิกยุคหลังทันสมัยหลายคนได้รับการฝึกฝนและเคยฝึกฝนอย่างเดียวกันกับยุคทันสมัย หลายอย่างในเรื่ององค์ประกอบในการออกแบบของยุคทันสมัยเดิม ก็ถูกนำมาผสมผสานใช้กับงานของยุคหลังทันสมัย เช่นในงานของสถาปนิก Graves, Venturi, และ Richard Meier.

นอกจากการใช้องค์ประกอบในรูปแบบของความสนุก ออกแบบอาคารแบบไร้รสนิยม..kitsch ในทางตรงกันข้าม พวกสถาปนิกอื่นอย่างเช่น Allan Greenberg และ John Blatteau, เลือกใช้รูปแบบอย่างคลาสสิกที่ตรงไปตรงมา เช่นการตกแต่งห้องรับรองของกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯในเมือง Washington, D.C. (1984-85). อีกตัวอย่างที่มีความสมบูรณ์ในเรื่องประวัติศาสตร์อาจเป็นอาคาร J. Paul Getty Museum, Malibu, Calif. (1970-75), อีกความพยายามในการออกแบบลักษณะของคลาสสิกใหม่คือ งานของ Langdon and Wilson,ที่อ้างถึงเอกสารและการแนะนำทางด้านโบราณคดี ด้วยการเน้นลักษณะที่แท้จริง ตามแบบบ้านพักชาวโรมัน..Herculaneum เดิม

คู่แฝดที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ในประเทศอังกฤษ คือรูปแบบของแบบสมัยนิยม.. populist ในงานของ Graves—คู่ขนานกับงานของ Terry Farrell (TV-am Studios, Camden Town, London, 1983), และงานของ James Stirling (Clore Gallery at the Tate Gallery, London, 1980-87), มีความเป็นคลาสสิกอย่างเถรตรง เจริญรอยตาม Quinlan Terry (Riverside Development, Richmond, Surrey, 1986-88), Julian Bicknell (Henbury Rotunda, Cheshire, 1984-86), and John Simpson (Ashfold House, Sussex, 1985-87). จิตวิญญาณการรื้อฟื้นออกแบบชุมชนในรูปแบบของคลาสสิก เสนอแนะในประเทศฝรั่งเศษด้วย อาคารรัฐสภา-- Senate Building, rue de Vaugirard, Paris (1975), ของ Christian Langlois และ อาคารประชุมภูมิภาค--Regional Council Building in Orleans (1979-81). การเน้นบริบทของสภาพแวดล้อมของชุมชนแผ่ขยายไปทั่วฝรั่งเศษ เช่นในงานออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆของสถาปนิก Ricardo Bofill เช่น Les Espaces d'Abraxas, Marne-la-Vallee, ใกล้เมือง Paris (1978-83) ลักษณะเด่นของเสาขาด ด้วยคอนกรีตสำเร็จรูป เรียงรายสะท้อนลักษณะของภาษาออกแบบอย่างคลาสสิกที่จำกัด แต่มีความหมายเกินเลยออกไป

แนวคิดที่สามของยุคหลังทันสมัย สะท้อนโดยความเป็นเหตุ-ผลแบบใหม่ (โดยทั่วไปหมายถึงการใช้เหตุผล..Rationality ระคนกันได้กับความไร้เหตุผล…Psyco-logic ในบางขณะ และต่อมาก็พัฒนาเป็นเรื่องเหตุปัจจัย คือเอานัยของเงื่อนไขมาประกอบการใช้เหตุผลด้วย) โดยรวมเข้ากันขององค์ประกอบที่สะท้อนคลาสสิกที่ตัดแยกออกเป็นชิ้นๆของศตวรรษที่ ๑๙ และศตวรรษที่ ๒๐ ตอนต้น แนวคิดในกระแสนี้เป็นส่วนของการสะท้อนออกในความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยการรวมแรงกดดันทางธุระกิจการค้า และมโนทัศน์ของยุคทันสมัย แนวคิดเชิงเหตุ-ผลใหม่-- Neorationalism นี้เริ่มขึ้นในอิตาลี่ ที่ซึ่งสถาปนิก Aldo Rossi ได้เขียนหนังสือที่ทรงอิทธิพลชื่อ L'architettura della citt’ (1966; The Architecture of the City). Rossi's Modena Cemetery (1971-77) นำเสนอเรื่องหลักการเบื้องต้นที่เคร่งครัดของคลาสสิก และความสนใจเรื่องสภาพแวดล้อมโดยรวมของเขา เพราะมันเป็นการสะท้อนรูปแบบของชนบทในบ้านนอกและโรงงานต่างในเมือง Lombardy ในเวลาเดียวกัน

มโนทัศน์ของความเป็นเหตุ-ผลนิยมใหม่ ได้เกิดขึ้นครั้งแรกกับคนสวิสพูดอิตาเลียน เช่นในงานออกแบบ Mario Campi (Casa Maggi, Arosio, 1980); โดยสถาปนิก Mario Botta; และ Bruno Reichlin และงานออกแบบบ้าน Casa Tonino, Torricella (1972-74) โดย Fabio Reinhardt เป็นชิ้นส่วนเก่าแก่อันหนึ่งในตำนานการออกแบบของ Palladio เรื่องคอนกรีตสีขาว ใกล้เคียงกับงานชิ้นนี้คือกลุ่มอาคารในมลฑล Basque รวมถึงงานออกแบบโรงเรียนที่เมือง Ikastola (1974-78) โดย Miguel Garay และ Jose-Ignacio Linazasoro; และ Casa Mendiola at Andoian (1977-78) โดย Garay; และงานออกแบบ Rural Centre at Cordobilla (1981) โดย Manuel Iniguez และ Alberto Ustarroz. หลายโครงการของสถาปนิกเยอรมัน Oswald Matthias Ungers--เช่นงานออกแบบ Stadtloggia ในศูนย์การค้า the Hildesheim marketplace (1980)—เสนอเรื่องทำนองเดียวกันของสภาพแวดล้อมตามหลักเหตุ-ผลนิยมใหม่ในเยอรมัน มีอิทธิพลต่อการเติมแต่งอาคารให้กับเมืองประวัติศาสตร์อื่นๆในเยอรมัน อิตาลี่ และฝรั่งเศษ สถาปนิกชาวเวนิส ชื่อ Hans Hollein ก็ถ่ายทอดความคิดเลือกสรรชนิดหยิบโน่นผสมนี่อย่างรุนแรง เช่นลักษณะพิเศษภายในของสำนักงานท่องเที่ยวออสเตรีย ในเมืองเวียนนา (1978), ซึ่งมีลักษณะย้อนยุคตามสมัยของเมืองที่เคยออกแบบโดย Otto Wagner และ Josef Hoffmann. งานออกแบบชุมชนของสถาปนิกชาวเบลเยี่ยมชื่อ Rob Krier ได้สะท้อนแนวคิดใหม่เหล่านี้ โดยสามารถเห็นได้ในงานอาคารที่อยู่อาศัยในเมือง Ritterbergstrasse, Berlin (1978-80). น้องชายของเขา, Leon Krier, ได้รับอิทธิพลทางความคิดทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เรื่องรูปลักษณ์ของความเชื่อการวางผังแม่บทเมืองที่รุนแรง ในลักษณะรูปแบบอย่างคลาสสิกอย่างง่าย และโจมตีอย่างแรงในสิ่งที่เห็นว่าระเบียบเมืองและศักดิ์ศรีมนุษย์โดนทำลายด้วยวิทยาการสมัยใหม่

ในราวปี 1920s การฟื้นฟูองค์ประกอบในการออกแบบตามแนวคิดเหตุ-ผลนิยมใหม่ถูกนำเสนอในสหรัฐอเมริกาในงานออกแบบ Richard Meier, เช่นในโครงการ Smith House, Darien, Conn. (1965-67), ได้แรงจูงใจจากงานของ Le Corbusier--Citrohan และ Domino houses, และความซับซ้อนในการออกแบบ High Museum, Atlanta (1980-83). อาคารธนาคาร the South West, Houston (1982), ออกแบบโดย Helmut Jahn (สถาปนิกคนเดียวกันที่ออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิในประเทศไทย) หวลระลึกถึงอาคารกระจกระฟ้าแบบ Art Deco ขณะที่สิ่งเหล่านี้ปรากฏมากในงานออกแบบของ Kevin Roche ซึ่งได้รับการอบรม ในแนวลดทอนให้น้อย (minimalist) จากสถาปนิกยุคทันสมัย Eero Saarinen ในราวปี 1950s หันกลับมาใช้รูปทรงเดิมของอาคารระฟ้า ในงานออกแบบ Morgan Bank headquarters, New York City (1983-87), อาคารสูง ๔๘ ชั้น มีห้องโถงทางเข้าสูงตระหง่านถึง ๗๐ ฟุต หุ้มเสาลอยด้วยหินแกรนิตทั้งหมด

ในประเทศญี่ปุ่น Isozaki Arata และ Yamashita Kazumasa นำแนวคิดนี้ต่างออกไปจาก Brutalism และ Metabolism ไปสู่แนวคิดหลังทันสมัย โดยได้รับอิทธิพลจาก Charles Moore—เช่นงานออกแบบเขา Tsukuba Centre building, Tsukuba Science City, Ibaraki (1983), และงานออกแบบของ Yamashita คือ Japan Folk Arts Museum, Tokyo (1982). ในประเทศอินเดีย Charles Correa เป็นผู้นำความคิดถอยห่างจากอาคารสูงแบบกล่องที่อยู่อาศัยตามแบบอย่าง Le Corbusier. ในราวปี 1950s เขาเคยทำงานในรูปแบบของสากลนิยม (International Style) มาก่อน เช่นงานออกแบบโรงแรมด้วยคอนกรีตสีขาวในเมือง Ahmadabad, แต่อาคารที่อยู่อาศัยสูงปานกลางต่อมา และในหนังสือของเขาชื่อ The New Landscape (1985), เขาได้หันกลับไปออกแบบอาคารในลักษณะพื้นถิ่นเดิมของประเทศโลกที่สาม

จิตวิญญาณแห่งวิทยาการก้าวหน้า ในลักษณะความขัดแย้งได้ถูกเสนอในโครงการออกแบบ the Centre Pompidou, Paris (1971-77), โดยสถาปนิก Renzo Piano และ Richard Rogers. ด้วยส่วนบริการและโครงสร้างถูกแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งและมีสีสรรรุนแรง อาคารแสดงนิทรรศการนี้ ถูกมองว่าเป็นสิ่งตลกที่รุนแรงและล้ำสมัยสุดในประวัติความเป็นศูนย์กลางของนครปารีส แม้ความดื้อด้านของ "ความทันสมัย" ยังคงอยู่ แต่มันรวมกับความนิยมของหลังทันสมัย ในเรื่องของความสนุกสนานไว้กับความเชื่อของยุคทันสมัย และย้อนกลับไปอย่างน้อยในงานของ Viollet-le-Duc ที่แสดงออกอย่างชัดแจ้งของโครงสร้างอันถือเป็นกระดูกของอาคาร Rogers ซ้ำรอยความคิดนี้ในงานออกแบบอาคาร Lloyd's Building, London (1984-86), และการเติมเชื้อของ Stirling ในโครงการออกแบบ the Staatsgalerie, Stuttgart, Ger. (1977-82), เป็นกุญแจสำคัญของอาคารหลังทันสมัยที่สะท้อนในความคิดของ Venturi ในความรู้สึกที่ว่า “มันเป็นการอ้างอิง (อย่างเย้ยหยัน) ถึงภาษาของ Schinkel โดยปราศจากการยอมรับหลักการเบื้องต้นของยุคคลาสสิกนิยม”

เกี่ยวกับ Robert Venturi สถาปนิกผู้นำของยุคหลังทันสมัย

เกิดในเมือง Philadelphia, มลรัฐ Pennsylvania ในปี 1925 ที่ซึ่งเขาเติบโตจนกลายเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียง เขาเรียนที่มาวิทยาลัย Princeton ได้รับปริญญาตรีทางศิลปะและปริญญาโททางด้าน Fine Arts. เขาได้รับทุนการศึกษาของ American Academy ใน Rome และเริ่มงานอาชีพในช่วงหลังของหลังปี 1950's. เป็นหุ้นส่วนกับ John Rauch ตั้งแต่ปี 1964 และกับภรรยาคือ Denise Scott Brown เพิ่มจากการประสบความสำเร็จในอาชีพสถาปนิก เขาเขียนหนังสือหลายเล่มเป็นที่นิยม เช่น เรื่องComplexity and Contradiction in Architecture, และเรื่อง Learning from Las Vegas; ซึ่งเป็นที่โจทย์ขานกันอย่างกว้างขวาง เขาขยายความคิดสร้างสรรค์ไปถึงการออกแบบ หม้อต้มกาแฟ นาฬิกาไก่ขัน จานและชาม หรือแม้แต่เชิงเทียนด้วย


1961 Venturi House Chestnut Hill, PA


1961 Guild House Philadelphia, PA


1973 Art Museum Oberlin, OH


1976 Franklin Court Philadelphia, PA

เขาเคยทำงานกับ Louis Kahn และกับ Eero Saarinen ด้วยในระยะเริ่มแรกของอาชีพสถาปนิก เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของ Michelangelo, Palladio, Le Corbusier และ Alvar Aalto. สำหรับ Aalto เขากล่าวว่า “งานของ Alvar Aalto มีความหมายสำหรับเขามากสำหรับสถาปนิกยุคทันสมัย มันเป็นลักษณะที่เคลื่อนไหว สัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่วิเศษในเรื่องศิลปะและเทคนิควิธีการออกแบบ."

สถาปัตยกรรมของเขา เกี่ยวโยงกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกันและกัน ประวัติศาสตร์และรูปแบบของอาคารสะท้อนในความคิดสร้างสรรค์ของเขา ก็เพื่อการตอบสนองกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ แม้มันจะแตกต่างจากอาคารอื่นก็ตาม แต่ละอาคารถูกเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมของมัน เขาถูกจัดอยู่ในกลุ่มสถาปนิกของยุคหลังสมัย แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับความเชื่อบางอย่างของยุคหลังสมัยนี้


1980 Gordon Wu Hall Princeton, NJ


1983 Molecular-Bio Lab Princeton, NJ


1991 Sainsbury Wing National Gallery


1994 Emergency Services Orlando, FL


1996 MCA La Jolla San Diego, CA


1995 Memorial Hall Harvard Universtiy

เขาออกแบบด้วยรูปทรงที่ง่ายแต่สื่อเป็นรูปสัญลักษณ์ บ่อยครั้งเขาใช้ความตลกและเย้ยหยันในการออกแบบ เขาใช้ลักษณะผสมของสากลนิยม (international style) และศิลปะแบบสุดโต่ง (pop art) ร่วมสมัยเป็นแนวทาง งานออกแบบของเขาสามารถเห็นได้จากการจัดแจงในรูปพื้นผิว ที่เป็นการตกแต่งและเป็นเชิงอนุสาวรีย์ถาวร (Monumentality) เขาใช้รูปเครื่องหมายและรูปแบบสัญลักษณ์ ทั้งในแง่งานทางกร๊าฟฟิค เป็นคุณสมบัติที่รวมอยู่ในการออกแบบของเขา "สถาปัตยกรรมควรเกี่ยวของกับความมีนัยยะและสัญญลักษณ์ และการอ้างอิงควรมาจากหรือเกี่ยวข้องกับสังคมและสภาพแวดล้อมในเชิงประวัติศาสตร์ของอาคาร" Robert Venturi นำคำกล่าวที่คุ้นเคยของ Mies van der Rohe ที่กล่าวว่า "น้อยคือมาก..less is more" มาเปลี่ยนเป็นคำพูดของเขาที่ว่า "น้อยคือน่าเบื่อ..less is a bore" นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาสนใจการประดับประดาเพื่อผลในตัวมันเองเท่านั้น แต่หมายถึงความมีคุณค่าทั้งทางรูปทรงและความหมายของมันด้วย

เขาพัฒนาหลายความคิดที่กลายเป็นแบบชุดสำเนา (นำไปใช้ซ้ำๆ) เช่น แยกหลังคาจั่วธรรมดาออกเป็นสองส่วนตรงแนวกลาง ใช้ช่องหน้าต่างกว้างเป็นรูปจัตุรัส อีกทั้งรูปครึ่งวงกลมที่ใหญ่เกินขนาดในการออกแบบของเขาด้วย หน้าต่างกลมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในแนวความคิดของงานออกแบบที่สำคัญ

เขาต้องเผชิญกับงานออกแบบทั้งในสภาพแวดล้อมและการเทียบเคียงเป็นฉากหลังที่ใหญ่โต แต่อาคารที่เขาออกแบบจะผสมผสานและสัมพันธ์สอดคล้องกันกับที่ตั้งเสมอ เขาไม่เคยเพิกเฉยหรือละเลยธรรมชาติเดิมโดยรอบของที่ตั้ง เขากล่าวว่า "ผมชอบความซับซ้อนและความขัดแย้งกันในงานสถาปัตยกรรม..บนพื้นฐานของความสูงค่าและมีนัยยะที่กำกวมของประสบการณ์จากยุคทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นธรรมชาติของศิลปะ"

Robert Venturi พร้อมด้วยหุ้นส่วนของเขา Rauch, Scott Brown เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีอาณาจักรทางความคิดเป็นของตนเอง ในปี 1991, Robert Venturi ได้รับรางวัล Pritzker, รางวัลสำหรับสถาปนิกที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค งานออกแบบของกลุ่มนี้ บ่อยครั้งเต็มไปด้วยลักษณะทางนามธรรมและอิงอยู่กับร่องรอยของประวัติศาสตร์ ทั้งในงานออกแบบ พิพิธภัณฑ์ บ้านอยู่อาศัย อาคารพักอาศัย อาคารธุระกิจการค้า และโครงการอื่นที่สร้างหลักประกันในอาชีพสถาปนิกที่พึงมีได้


เกี่ยวกับ… Robert A.M. Stern

Stern ถือว่าเป็นสถาปนิกและนักการศึกษาชั้นแนวหน้าอีกผู้หนึ่งของยุคหลังทันสมัย ได้รับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และไปได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเยลในปี 1965. ในขณะนั้นเป็นผู้กำกับโครงการของ the Architectural League ในเมือง New York ซึ่งสถาปัตยกรรมของเมืองนี้มีอิทธิพลกับเขาอย่างมาก เขายังเป็นที่ปรึกษาของรายการโชว์ทางโทรทัศน์ของ CBS ชื่อรายการ Eye on New York ซึ่งมีสถาปนิก Philip Johnson เกี่ยวข้องอยู่ด้วย

ในปี 1966 เขาทำงานกับ Richard Meier ในตำแห่งสถาปนิกออกแบบ จนถึงปี 1969 ได้มีหุ้นส่วนตั้งสำนักงานออกแบบ Robert A.M. Stern and John S. Hagmenn Architects. เขาเรียนรู้จาก Paul Rudolph ซึ่งถือว่าเป็นผู้เปิดสายตาของเขาที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ในช่วงสิบปีแรกในอาชีพของเขา เขาฝึกฝนใต้การนิยมทางความคิดของ Le Corbusier และ Frank Lloyd Wright ซึ่งมีอิทธิพลต่องานออกแบบของเขาในช่วงแรกๆ ต่อมาเป็นอิทธิพลของ Robert Venturi ที่ดูเหมือนมีเขา Stern เป็นศิษย์ผู้เจริญรอยตามผู้หนึ่ง ซึ่งจะพบเห็นในงานออกแบบของเขาในช่วงหลังๆ


1974 Lang Residence Washington, CT


1976 Westchester Residence NY


1983 Chilmark Residence


1986 Residence at Wilderness Point


Stern ให้ความสำคัญกับการยึดถือแนวปฏิบัติเรื่องการจัดองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน แต่ก็พอใจที่จะแหกกฎเหล่านั้นด้วย กับมโนทัศน์ที่ได้จากการเดินทาง ซึ่งเสริมคุณค่าในความเอาใจใส่ต่อการสื่อสถาปัตยกรรมที่ต้องการหักล้างรูปแบบเดิมของสถาปัตยกรรมยุคทันสมัย เขาไม่สนใจการเลียนแบบที่ถูกต้องเคร่งครัด เมื่อมาเป็นรูปทรงในงานของเขา เขาสร้างสรรค์งานศิลปะที่เด่น ไม่น่าเบื่อและซ้ำๆกัน เพราะมันถูกตีความใหม่แทนการเลียนแบบเดิมที่คุ้นเคยกันมา


1991 Disney World Resort Disney


1992 Newport Bay Club Euro Disney


1993 Roger Tory Peterson Institute


1995 Medical Center Celebration, FL


ผ่านการพิจารณาบริบทของสภาพแวดล้อม งานออกแบบที่อยู่อาศัยแถบฝั่งทะเลตะวันออก ทั้งปริมณฑลและที่ตั้งเฉพาะจุดของอาคาร อาคารที่เขาออกแบบขึ้นอยู่กับภูมิสถาปัตยกรรมและความสัมพันธ์ที่มันเกี่ยวข้องกับบริเวณโดยรอบของอาคาร เขาเชื่อว่าสถาปัตยกรรมผูกพันอยู่กับการแปรเปลี่ยนทันใดของเหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ รูปแบบของแผ่นไม่ซ้อนทับกัน (shingle style) เขาใช้มากในงานออกแบบที่อยู่อาศัยในแถบฝั่งตะวันออก มันกลายเป็นแบบฉบับเฉพาะเป็นเครื่องหมายการค้าของ Stern

ด้วยการใช้รูปทรงทางเรขาคณิตทั่วไป Stern ได้พัฒนาองค์ประกอบซึ่งบ่อยครั้งคล้ายลักษณะของปราสาท Stern กล่าวว่า "ทัศนะคติของผมเกี่ยวกับรูปทรงอยู่บนพื้นฐานของความรักสำหรับความรู้ที่มีอยู่กับประวัติศาสตร์ ไม่พะวงอยู่กับความถูกต้องและการลอกเลียนแบบ เป็นการจับโน่นหยิบนี่ผสมผเสกัน เป็นการจับแพะชนแกะ และใช้เทคนิคการวางเรียงกันเพื่อให้ความหมายกับความคุ้นเคยเรื่องรูปร่างและการครอบคลุมพื้นผิวดินที่ต่างสภาพกัน." โดยการใช้รูปทรงตามจารีตนิยมเดิมและลวดลายที่ใช้กันในประวัติศาสตร์เดิม เป็นภาษาสำหรับการออกแบบที่เรียกกันปัจจุบันในรูปการสร้างประโยคทางภาษา (syntax) นั่นเอง

1999 Bangor Public Library Bangor, ME


ด้วยวัสดุที่ใช้เช่น อิฐ คอนกรีต และไม้ในการตกแต่งผิวหน้า การตัดกันของผืนหน้าอาคารโดยการใช้วัสดุหลายๆอย่าง ผิวของวัสดุเป็นลักษณะหลักที่เน้นมากโดย Stern….เขากล่าวอ้างเรื่องนี้ว่า…
"วัสดุสามารถบังคับให้เกิดรูปทรง และเสนอแนะอะไรที่เป็นไปได้บ้างสำหรับคอนกรีตอัดแรงในงานสถาปัตยกรรม หรือชนิดอื่นๆของคอนกรีต และนั่นคือทุกวัสดุสามารถเป็นไปตามที่สถาปนิกต้องการให้เป็น." งานออกแบบของ Stern แสดงความบริสุทธ์ในเรื่องคุณภาพของแสงธรรมชาติและที่ว่างที่เกิดจากการหุ้มห่อด้วยแผ่นผืน ในรูปปริมาตรที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา

งานออกแบบในช่วงแรกของ Stern มีขีดจำกัดในเรื่องภูมิลำเนาของเขาขณะนั้นด้วย ในการทำงานที่ในเมือง New York ที่ซึ่ง Meier, Graves, Hejduk, Gwathmey, และ Eisenman (the New York Five) ได้งานออกแบบมากมาย ตรงกันข้ามงานส่วนมากที่ Stern ทำในเมือง New York ถ้าไม่เป็นบ้านอยู่อาศัย ก็จะเป็นอาคารเช่าพักอาศัยเท่านั้น ในช่วงนั้นเขาพยายามที่จะสร้างความต่างกันในทางความคิดจากงานของ Robert Venturi. งานออกแบบของเขากลายเป็นเรื่องการเพาะเมล็ดพันธ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรม ที่จะแสดงความเป็นตัวมันเองออกมาได้มากกว่าเป็นแค่เพียงรูปแบบจำลองตามประวัติศาสตร์ ที่ถูกลดความขัดแย้งกันให้น้อยลงในสถาปัตยกรรมของยุคหลังทันสมัยนี้ อย่างไรก็ตาม Stern ก็ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกของยุคหลังทันสมัยคนหนึ่งด้วย

(บางส่วนของเนื้อหาผสมผเสเรียบเรียงและใช้ภาพ… จาก….http://www.Archpedia.com และ World Encyclopedia Britannica ฉบับซีดีรอม)

เพื่อความเข้าใจเรื่องแนวคิดหลังสมัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับสาขาวิชาอื่นๆ มีหนังสือเรื่อง.ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น เขียนโดย STEVEN BEST & DOUGLAS KELLNER คุณสมเกียรติ ตั้งนะโม จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาเรียบเรียงบางส่วนของสาระในหนังสือนี้ กล่าวถึงการเปรียบเทียบแนวคิดระหว่างยุคทันสมัยและหลังทันสมัย ซึ่งผมยกมาอ้างไว้บ้างแล้ว ในเรื่องแนวคิดทันสมัยและอิทธิพลทางการศึกษาของบาวเฮาส์ แต่ยังมีอีกส่วนที่ยังน่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดหลังสมัยโดยเฉพาะ..จึงขอเพิ่มเติมให้พิจาณาเพิ่มเติม..(บางส่วนผมตัดทอน..เรียบเรียงพื่อความกระชับ) ดังนี้

วาทกรรมต่างๆเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ ยังปรากฎตัวในขอบเขตของทฤษฎีและเพ่งลงบนการวิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ และข้อถกเถียงกันต่างๆสำหรับความแตกร้าวของทฤษฎีสมัยใหม่ - ไล่ลำดับจากโครงการปรัชญาของ Descartes, ไปจนถึง the Enlightenment (เทียบได้คือ..ยุคทันสมัยของเรเนอซองค์นั่นเอง), จนกระทั่งถึงทฤษฎีทางสังคมของ Comte, Marx, Weber และคนอื่นๆ - ได้ถูกวิจารณ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาเพื่อวางรากฐานการทำให้เป็นองค์ความรู้, การทำให้เป็นสากล และข้ออ้างแบบรวมทั้งหมด, การอวดอ้างต่อการค้นหาความจริงที่อยู่เหนือคำโต้แย้ง และลัทธิเหตุผลอันหลอกลวงและน่าสงสัย ในทางกลับกัน บรรดาผู้ปกป้องเกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ ได้โจมตีลัทธิสัมพัทธนิยมหลังสมัยใหม่ (postmodern relativism), ลัทธิความไร้เหตุผล (irrationalism), และสุญญนิยม ..กังขานิยม (nihilism)
ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ยังวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนความจริง และความเชื่อสมัยใหม่ที่ว่าทฤษฎีเป็นกระจกเงาสะท้อนความจริง โดยแทนที่ฐานะสภาพทางทัศนียวิทยาและลักษณะสัมพัทธ์ที่ว่า ทฤษฎีต่างๆ อย่างเก่งที่สุด ก็เพียงให้ทัศนียภาพเพียงบางส่วนของวัตถุต่างๆ และการเป็นตัวแทนของการรับรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับโลกนั้นเป็นเพียงสื่อกลางทางประวัติศาสตร์และทางภาษาเท่านั้น

ทฤษฎีหลังสมัยใหม่หรือโพสท์โมเดิร์นบางทฤษฎี ปฏิเสธอย่างสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับทัศนียภาพขนาดใหญ่ (macroperspective) ทั้งหมดในเรื่องของสังคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการชื่นชอบโดยทฤษฎีสมัยใหม่หรือโมเดิร์น ทฤษฎีหลังสมัยใหม่เห็นด้วยและให้การสนับสนุนเกี่ยวกับทฤษฎีเล็กๆและการเมืองขนาดเล็ก (microthery and micropolitics..จากงานเขียนของ…Lyotard)

ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นยังปฏิเสธข้อสันนิษฐานต่างๆของทฤษฎีโมเดิร์นเกี่ยวกับความสอดคล้องกันทางสังคม และความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเหตุเป็นผล. ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นสนับสนุนความหลากหลาย, ลักษณะพหุวิสัย, การแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย, และลักษณะที่ไม่แน่นอนคลุมเครือ

นอกจากนี้ ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นยังละทิ้งเรื่องของเหตุผลและอัตบุคคลที่เป็นหน่วยเดียว (unified subject) ซึ่งได้รับการยืนยันโดยทฤษฎีโมเดิร์นเป็นจำนวนมาก ด้วยการสนับสนุนการกระจายออกจากศูนย์กลางทางสังคมและทางภาษา และอัตบุคคลที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (fragmented subject)

ด้วยเหตุนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนเกี่ยวกับแนวคิด ในที่นี้จึงอยากจะใช้ศัพท์คำว่า "ความเป็นหลังสมัยใหม่" ( postmodernity) เพื่ออธิบายถึงยุคสมัยที่ตามมาหลังจาก "ความเป็นสมัยใหม่" (modernity), และใช้คำว่า "ลัทธิหลังสมัยใหม่" (postmodernism) เพื่ออรรถาธิบายถึงขบวนการต่างๆและสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในขอบเขตทางวัฒนธรรม ที่สามารถได้รับการจำแนกแยกแยะจากขบวนการต่างๆของสมัยใหม่ (modernist), รวมไปถึงตำรับตำราทั้งหลาย และปฏิบัติการต่างๆ

ในหนังสือนี้ ผู้เขียนยังแยกความแตกต่างระหว่าง "ทฤษฎีสมัยใหม่" (modern theory) กับ "ทฤษฎีหลังสมัยใหม่" (postmodern theory) ด้วย, เช่นเดียวกับระหว่าง "การเมืองสมัยใหม่" (modern politics) ซึ่งได้ถูกสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาโดยพรรคการเมือง, รัฐสภา, หรือการเมืองแบบสหภาพแรงงาน (trade union politics - รูปแบบองค์กรทางการเมืองที่รวมตัวกันโดยคนงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง) ในทางที่ตรงข้ามกันกับ "การเมืองหลังสมัยใหม่" (postmodern politics) ที่เชื่อมสัมพันธ์กับการเมืองขนาดเล็กที่มีฐานของท้องถิ่น (locally base micropolitics) ซึ่งท้าทายต่อขบวนการอันกว้างขวางของวาทกรรมต่างๆ และรูปแบบที่ถูกทำให้เป็นสถาบันต่างๆขึ้นมาของอำนาจ

เพื่อให้ความกระจ่างแจ้งต่อความสับสนและวาทกรรมหลากรูปแตกต่างกันของโพสท์โมเดิร์น อันดับแรก ผู้เขียนจะนำเสนอวิธีการทางโบราณคดีหรือการขุดค้นเกี่ยวกับคำศัพท์ (จาก… Structuralism จนถึง… Post-structuralism) อธิบายอย่างละเอียดถึงประวัติศาสตร์ของมัน การนำมาใช้ในช่วงแรกๆ และความหมายที่ขัดแย้งกันต่างๆ ต่อจากนั้น ก็จะไปดูกันถึงพัฒนาการเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นร่วมสมัยในบริบทของช่วงหลังทศวรรษที่ 1960s ในประเทศฝรั่งเศษ ที่ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับเงื่อนไขของโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งกลายมาเป็นแนวทางหรือแก่นแกนสำคัญในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970s

ผมตั้งใจไว้ว่าจะลองหาต้นฉบับของหนังสือนี้ทั้งเล่ม มาลองอ่านดูเพื่อความเข้าใจในแนวกว้างของแนวคิดหลังสมัยนี้ แล้วจึงย้อนกลับมาดูว่ายังมีประเด็นอื่นอีกไหม? ที่เราสามารถมาประยุกต์ใช้กับการตีความในอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม แทนที่สนใจเพียงการรับแนวทางการตีความที่สถาปนิกหลังทันสมัยอื่นกระทำการตีความและประยุกต์ใช้กันไปแล้ว..แต่ด้วยการสร้างความเข้าใจถึงรากเหง่า ต้นตอ หรือแม้กระทั่งความหลากหลายมุมมองของทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่เราแต่ละคนสนใจกัน น่าจะก่อให้เกิดความแตกฉาน ขยายวงกว้างทางความคิดออกไปได้นอกเหนือการรับรู้เพียงแค่วาทกรรมของแขนงวิชาเดียวทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น

ยังมีอีกงานเขียนที่ผมอ่านพบเกี่ยวกับ “กระแสความคิด” ของโพสท์โมเดิร์น คืออะไร..จากปฏิกริยาแบบมาร์กซ์ สู่ การเมืองแบบปฏิบัตินิยม โดย คุณ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่เป็นเรื่องหนึ่งรวมไว้ใน ทฤษฎีและความรู้ ในยุคโลกาภิวัฒน์ ของสถาบันวิถีทรรศน์ โดยมูลนิธิวิถีทรรศน์, ปีที่๕, ฉบับที่ ๑๙ ได้อธิบายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมตามที่กล่าวอ้างไว้ข้างต้นอย่างดี โดยเฉพาะกล่าวถึงปฏิกริยาที่ปัญญาชนไทยมีต่อโพสท์โมเดิร์น..เช่นความคลั่งไคล้ที่มีคำว่าโพสท์โมเดิร์นปะหน้า ทั้งที่ยังไม่มีคำตอบที่ดี..ว่าอะไรดีกว่าอดีต และก็ยังไม่มีทางหาคำตอบที่ดี..ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือในอีกกลุ่มคนตรงกันข้ามที่บอกปัดอย่างไม่ใยดี อีกทั้งโจมตีว่า โพสท์โมเดิร์น ก็ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแค่เป็นเรื่องเลอะเทอะเหลวไหล ขณะที่อีกลุ่มที่ “เป็นกลาง” พยายามที่จะอธิบาย โพสท์โมเดิร์น ให้มีประโยชน์กับสังคม เพื่อใช้เป็นวิธีคิดและเครื่องมือในการสร้างงานวิชาการและการเมืองบางอย่างขึ้นมา

เป็นที่ยอมรับกันโดยเฉพาะกลุ่มเป็นกลางที่ว่า โพสท์โมเดิร์น เป็นกระแสความคิดหนึ่งที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย แยกย่อย กระจัดกระจาย ไม่ได้ก่อรูปเป็นทฤษฎีที่มีกฎระเบียบที่ชัดจนนัก ไม่มีอุดมการณ์เพื่ออนาคต ไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโลก และยังไม่ได้พูดถึงลักษณะของสังคม (การเมือง) ที่พึงปรารถนา ความคลุมเคลือนี้จึงมักถูกต่อต้านโดยนักสังคมศาสตร์บางคนว่า โพสท์โมเดิร์น ใช้การไม่ได้ นักปรัชญาก็ยังแย้งว่ามันไม่ได้พูดถึงอะไร นอกไปจาก..ความสงสัยและกังขา เป็นลัทธิสุญญนิยมเพื่อการหักล้างทำลายเท่านั้น (ในทางสถาปัตยกรรม..เป็นเพื่อผลทางการตลาดเท่านั้นเองเช่น..อาคารทรงโรมัน....ผมว่าเอง) แต่สิ่งที่ผมสนใจคือการให้คำตอบที่พอน่ารับไว้พิจารณาคือข้อสรุปของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของ โพสท์โมเดิร์น ที่คุณ ศิโรตม์เขียนไว้ในหัวข้อ โพสท์โมเดิร์นคืออะไร? ความว่า..ดังนี้

…โพสท์โมเดิร์น ตั้งคำถามกับความเชื่อที่ว่าความรู้นั้นเหมือนกระจก ส่วนโลกก็เหมือนวัตถุที่เราเอากระจกไปส่องให้เห็นได้อย่างถ้วนทั่ว สำหรับโพสท์โมเดิร์นแล้ววัตถุนั้นอยู่ห่างไกลจนไม่มีทางที่กระจกบานใดจะส่องได้ทั่วถึงและการจ้องมองวัตถุนั้นก็สัมพันธ์อย่างมากกับตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลผู้ถือกระจกเอง...

…สำหรับโพสท์โมเดิร์นแล้ว ศาสตร์และความรู้ทั้งหลายที่สร้างขึ้นอย่างมีระเบียบแบบแผนโดยมีเป้าหมาย ที่จะอธิบายโลกและเข้าถึง “ความจริง" นั้น แท้จริงแล้วจึงเป็นแค่คำอวดอ้างที่ได้รับการค้ำยันจากระบบอำนาจในสังคม จนทำให้คำอวดอ้างนี้ยิ่งใหญ่และกลายเป็นความรู้ที่จริงแท้และไม่มีวันเป็นอย่างอื่นได้...

…โพสท์โมเดิร์นยอมรับการมีอยู่ของความจริง แต่การพูดถึงความจริงนั้นก็สัมพันธ์กับภาษาและถ้อยคำ ซึ่งไม่มีวันที่จะสะท้อนความเป็นจริงทั้งหมดให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบได้ และที่เราทำได้อย่างมากที่สุดก็คือมองเห็นข้อจำกัดนี้ และไม่อวดอ้างว่าได้เข้าถึงความรู้อันยิ่งใหญ่ใดๆที่เป็นเสมือนกุญแจไขไปสู่ความลึกลับของจักรวาล....

…โพสท์โมเดิร์นไม่ได้ล้มล้างภาวะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะในทางภูมิปัญญาหรือในทางโลกกายภาพ แต่สิ่งที่โพสท์โมเดิร์นทำคือการท้าทายและขัดแข้งขัดขาภาวะสมัยใหม่ไปตลอดเวลา แล้วเตือนให้ภาวะสมัยใหม่ตระหนักว่าตนเองไม่ได้เป็นบรรทัดฐานหนึ่งเดียวในการมองโลกและตัดสินความถูกผิดของจักรวาลไปตลอดเวลา...

…โพสท์โมเดิร์นไม่ได้เสนออะไรที่ชัดเจน เพราะตัวโพสท์โมเดิร์นเองเป็น "กระแสความคิด" มากกว่าเป็น "สำนักคิด" ที่มีระเบียบวิธี ปรัชญา และเป้าหมายในการศึกษาที่ชัดเจนตายตัว แต่อย่างไรก็ดีนี้ไม่ได้หมายความว่าโพสท์โมเดิร์นจะไม่มีอะไรบางอย่างร่วมๆกันเสียเลย และยิ่งไปกันใหญ่ หากจะบอกว่าโพสท์โมเดิร์นไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารอยู่ข้างใน....

ก็น่าจะจริงตามที่ผู้เขียนอธิบายไว้ ถ้าเราขีดขั้นให้ โพสท์โมเดิร์น หมายถึง “หลังสมัยใหม่” เป็นความแปลกแยกอย่างชัดเจนออกจาก “สมัยใหม่” ก็อาจทำให้เกิดวิวาทะกัน เช่นว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมยอมรับการเข้าสู่ โพสท์โมเดิร์น จึงยังไม่น่ามีอยู่จริง ทั้งๆที่ โพสท์โมเดิร์น บ่งบอกถึงปฏิกริยาที่นักคิดจำนวนไม่น้อยมีต่อความผิดปกติของ ความคิด, ความเชื่อ, ความรู้, แบบแผนปฏิบัติ, สถาบัน และอะไรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับยุคที่เป็นภาวะสมัยใหม่ไปพร้อมๆกัน ข้อสังเกตหนึ่งที่สำคัญคงเป็นไปได้ว่า บางสังคมเช่น ประเทศไทย อาจไม่ได้อยู่ในสังคมสมัยใหม่ที่สมบูรณ์ การดำรงหรืออาจมีอยู่ของ โพสท์โมเดิร์น จึงดำเนินควบคู่กันไป โดยที่อันหลังเป็นกระแสที่เป็นปฏิกริยาทางความคิดต่ออันแรกในเกือบทุกด้านเท่านั้น ยังไม่ปรากฏเด่นชัดในทางปฏิบัติ ผมเองคิดว่าสิ่งนี้เห็นได้ชัดในงานสถาปัตยกรรม หรือแม้กระทั่งงานศิลปะอื่นก็ตาม ยิ่งในด้านการศึกษาที่นักวิชาการด้านนี้ ยังแทบแยกแยะกันออกไม่ได้เลย อีกทั้งกระบวนการศึกษาสถาปัตยกรรมยังเน้นการปฏิบัตินำความคิด หากผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่รุนแรง ความคิดที่สนับสนุนแนวทางการปฏิบัตินั้นก็คงต้องดำรงอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง….หรือไม่ก็ แนวคิดสมัยใหม่กับแนวคิดหลังสมัยใหม่ จะอยู่ผสมปนเปและปะปนกันอย่างวุ่นวายขณะนี้…ลองมาพิจารณาเรื่องการถามตอบต่อไปนี้นะครับ…ในประเด็นคำถามของคุณ Gloria …เป็นการพูดคุยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน..ในเว็บบอร์ด โดยเด็กไทยที่มีความรู้ภาษาต่างชาติอย่างดี..ลองพยายามอ่าน..แปลคำถามของเขานะครับ

When will Post-modern(comtemporary)gonna end? Since Renaissance, the arts and the architectures are remarkably remarkable and unique! Until it came to now--the Post modern. Post modern is not a period, indeed! It doesn't have its own distinctive style. It's just a jumble of old styles being recycled and used again confusingly. I mean, why do we still use the corinthian lintels?! The classic period had ended for many centuries! Why don't we try to search for new ideas and create our own period, like the way Le Corbusier, Mies Van de Rohe, etc. created the Modern or the Functionalism? They had avoided the classic useless decorations as hard as they could, but now we are using them again! Instead of heading for the future, why are we stepping backward?
โดยคุณ : Gloria - [ 25 ม.ค. 2002 , 14:27:09 น. ]

ตอบ…..

คำกล่าวอ้างของข้อเขียนต่างๆข้างต้น ก่อนมาถึงคำถามนี้..น่าจะเป็นคำตอบได้บ้างแล้วนะครับ..ต่อไปเป็นการคุยกัน ตอบกันเป็นการอ้อมๆ อาจไม่ตรงนัก ..ในความเห็นผมเรื่องวิชาการตอบกันตรงบางทีไม่ได้ ดีไม่ดีอาจเป็นต่างคนส่องกระจกเบี้ยวดูกันไปก็ได้เหมือนกัน ยิ่งต่างคนทำเป็นผู้รู้แล้วจริงๆไม่รู้เลย หรือหลงความรู้ผิดๆนึกว่าถูกต้อง..เลยยิ่งหลงไปกันใหญ่ทีเดียว
ไม่ทราบว่าคุณ Gloria เป็นนิสิตหญิงต่างชาติ ที่เคยเห็นเดินไปมาอยู่ในคณะหรือป่าว ได้ข่าวว่าคณะเราเดี๋ยวนี้เข้าขั้นอินเตอร์แล้วนะ คือมีหลายเชื้อชาติมาร่วมเรียนกัน..ซึ่งดีมากๆ เรื่องทฤษฎีการสืบค้นในความรู้ทั้งหลายในโลกนี้...ผู้รู้บางท่านบอกเปรียบว่าเหมือนการแกว่งไกวของลูกตุ้ม คือย้อนไปย้อนมา แต่ตำแหน่งที่ดูเหมือนจะกลับมาที่เดิม..นั้นไม่ใช่เสียทีเดียวครับ มันมีส่วนคล้ายและแตกต่างกันอยู่ นานๆทีถึงจะมีการก้าวกระโดดเล็กน้อย ก็จะทำให้ความรู้นั้นเป็นที่ฮือฮาสักหน่อย เช่นตอนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและหลังสงคราม..Modernism ยุคไอทีก็น่าจะเป็นยุคก้าวกระโดดสำคัญอยู่บ้าง..เช่นงานของ Kazuyo Sejima ที่อ้างเรื่องการสะท้อนข่าวสาร ผมว่าน่าจับตาดูนะครับอาจมีทฤษฎีก้าวกระโดดที่น่าสนใจกว่าโพสท์โมเดิร์นก็ได้

การเรียนรู้มันเวียนว่ายวนอยู่ในน้ำเหมือนปลา อย่างนี้แหละครับ จนกว่าปลาบางตัวมีครีบงอกกลายเป็นขา แล้วก็สามารถกระโดดมาอยู่บนบกแล้วก็เริ่ม เวียนวนหาความรู้อยู่บนบกแถวนั้นอีกต่อๆไป...ไม่จบสิ้นเป็นสังสารวัฏ ประเด็นคือว่า ความรู้ที่เรากำลังสืบค้นอยู่นี้เป็นความรู้จริง หรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์การยกระดับจิตวิญญาณ หรือการดำรงชีวิตที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์หรือป่าว น่าจะต้องตรวสอบกันอยู่เหมือนกันนะครับ

หมายเหตุ…

สำหรับประเด็นนี้ผมอยากเพิ่มเติมเรื่องที่เคยอ่านมา ใน หนังสือ “ภิกษุกับนักปรัชญา” คุยกัน โดยคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ แปลไว้น่าอ่านมาก ตอนหนึ่งที่พระธิเบต..หลวงพ่อ มัตติเยอ ริการุ กล่าวตอบเรื่องศิลปะและการแสวงหาสิ่งใหม่ ในแนวทางพุทธปรัชญาไว้ดังนี้….

ความหมายของสิ่งใหม่ ความปรารถนาที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ ความกลัวที่จะลอกเลียนแบบของเก่าในอดีต เป็นการให้ความสำคัญกับ "บุคคลิก" แก่ความเป็นปัจเจกชนที่เข้าใจว่า จะแสดงออกโดยวิธีที่ไม่เหมือนใคร และมุมมองที่พยายามทำในทางตรงกันข้าม..คือสลายการยึดมั่นในอัตตาที่มีพลัง การแข่งขันที่จะทำไม่เหมือนใคร อย่างมากก็ฉาบฉวย เช่นศิลปินพยายามที่จะปลดเปลื้องจินตนาการให้เป็นอิสระ มักไม่ปรากฏในศิลปะศักดิ์สิทธ์ของศาสนา (พุทธสายธิเบต) แบบดั้งเดิม ที่มีไว้เพื่อสร้างเป็นสื่อวัตถุที่ใช้ในการทำสมาธิและเพ่งพิจารณา ช่วยเจาะลึกลงสู่ธรรมชาติของความจริง ศิลปะโดยทั่วไปเพื่อการปลุกอารมณ์ แต่ศิลปะศักดิ์สิทธ์นั้นเพื่อทำอารมณ์ให้หยุดนิ่ง การเต้นรำ การดนตรีทางศาสนา พยายามที่จะเชื่อมต่อเรากับความรู้และการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ โดยการใช้สัญลักษณ์ ศิลปินดั้งเดิม (เพื่อศิลปะศักดิ์สิทธ์) ใช้ทักษะทั้งหมดสร้างศิลปะ แต่ไม่เคยปลดปล่อยจินตนาการให้เป็นอิสระ เพียงเพื่อคิดค้นสัญลักษณ์หรือรูปแบบใหม่ล้วนๆเท่านั้น

ศิลปะศักดิ์สิทธ์นั้น ใช่ว่าจะติดยึดอยู่กับอดีตเพียงเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิญญาณจะเพิ่มส่วนประกอบใหม่ๆ ที่ได้จากประสบการณ์การทำสมาธิเพื่อเติมความรุ่มรวยอยู่ในศิลปะอยู่เสมอ..ศิลปินจะถอดใจและใส่พรสวรรค์ทั้งหมดลงในงานที่ทำ แต่บุคลิกของพวกเขาจะหายไปอยู่เบื้องหลังงานจนหมด ด้วยเหตุนี้ภาพวาดของธิเบตจึงไม่ปรากฏชื่อศิลปิน..ศิลปะยังทำหน้าที่เป็นสื่อระหว่างชุมชนวัดกับฆราวาส พระเองจะแสดงการร่ายรำอันงดงามที่สอดคล้องกับการทำสมาธิภายในที่อยู่ในขั้นต่างขณะนั้นด้วย..การร่ายรำจึงเหมือนการแสดงธรรมให้รู้ด้วยสื่อของการเคลื่อนไหวทางร่างกาย (bodily knowledge) ชาวบ้านในท้องถิ่นจะไม่พลาดงานฉลองในลักษณะนี้...ชาวบ้านยังสนใจงานศิลปะของศิลปิน เช่นรูปเคารพ "มันดาลา" ไม่ได้ตัดขาดจากศิลปะ แต่ไม่นิยมศิลปินที่หลงใหลไปในจินตนาการของตัวเอง..ซึ่งต่างจากศิลปินตะวันตกที่สร้างงานศิลปะที่สะท้อนด้วย "บุคลิก" ของศิลปินเองเสมอ..ศิลปะของตะวันออกมักเป็นลักษณะคลาสสิก ที่แสดงความยิ่งใหญ่ ด้วยการสร้างสรรค์กันมาต่อเนื่องเป็นแรมปี จึงทำให้เขาคิดถึงความแตกต่างระหว่างปรมาจารย์ทางจิตวิญญาณของธิเบต ที่สอนจากประสบการณ์ที่ได้จากการเพ่งพิจารณาหรือการทำสามาธิมานานปี.. ไม่ใช่ศิลปะแบบง่ายๆที่นิยมของตะวันตก โดยผู้สอนวิถีทางจิตโดยศิลปินปัจจุบันไม่มีประสบการณ์เป็นของตัวเอง หรือเป็นเพียงการสอนด้วยการพูดคุยที่ไม่ได้แสดงออกถึงความรู้อันแท้จริง

สิ่งสำคัญที่สุดในการรับรู้ความจริงที่สะท้อนมาในงานหรือศิลปะนั้น ควรศึกษากันให้ลึกซึ้งและนำมาใช้กับตัวเอง และตระหนักรู้ได้ในความจริง ไม่ใช่แค่เพียงคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาโดยการทุ่มเทเต็มที่เพียงอย่างเดียวนั้น จะมีประโยชน์อะไรหรือ? ..ชีวิตทางจิตวิญญาณแตกต่างจากการวิ่งไล่ตามสิ่งใหม่หรือช่วยการค้นพบสิ่ง (ที่นึกเอาว่า) เรียบง่าย สิ่งที่เราอาจสูญเสียรสชาติไปแล้ว ในทางกลับกัน เราน่าจะ..ทำชีวิตของเราให้ง่ายขึ้นด้วยการไม่ทรมานตัวเองเพื่อการได้มาในส่งที่เราไม่ต้องการมันจริงๆ และเราควรทำจิตของเราให้ง่ายขึ้นด้วยการไม่หวลหาอดีตและจินตนาการถึงอนาคตอีกต่อไป

การสร้างสรรค์มักหมายถึงการแสดงออกถึงความรู้สึกส่วนตัวภายในทันที ซึ่งวนเวียนไปมาในขอบข่ายและแนวโน้มที่มีเงื่อนไขของความเคยชิน ดังนั้น จึงไม่ช่วยให้ปลดเปลื้องตัวเราจากอวิชชา (ความไม่รู้) ความปรารถนา หรือความเป็นศัตรู ฯลฯ ได้ จึงไม่ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น ฉลาดหรือมีเมตตามากขึ้น การสร้างสรรค์ที่แท้ ต้องประกอบด้วย การสลัดเปลือกที่ห่อหุ้มของอวิชชาและความยึดมั่นในตัวเราไปทีละขั้น เพื่อค้นพบธรรมชาติที่แท้ของจิตและปรากฏการณ์ นั่นคือการค้นพบสิ่งใหม่โดยแท้จริง…ผมขอนำมาเสริมไว้เพื่องานสร้างสรรค์สำหรับสถาปนิกด้วยนะครับ..)….

ขอตอบเป็นภาษาไทย…จะได้คิดเป็นไทยคล่องกว่าตอบเป็นภาษาฝรั่งซึ่งต้องคิดแบบฝรั่ง หวังว่าคุณ Gloria อ่านไทยได้คล่องนะครับ
โดยคุณ : เพื่อนอาจารย์ - [ 30 ม.ค. 2002 , 09:23:10 น.]

ตอบ….กลับ

ไม่ใช่หรอกครับ ผมเป็นแค่เด็กปี1ไร้เดียงสาคนหนึ่งเท่านั้น แต่ผมก้อเคยเห็นผู้หญิง Foreighner คนนั้นเหมือนกัน คุณเพื่อนอาจารย์ครับ คุณคิดรึเปล่าครับว่าการที่จะเกิดการ "ก้าวกระโดด" ของยุคสมัยได้จำเป็นต้องมีผู้ที่ "ดื้อรั้น" ในความคิดและยืนหยัดจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อให้สังคมยอมรับ อย่าง Van Gogh ที่เปลี่ยนศิลปะจาก academic เป็นศิลปะแห่ง "อารมณ์" อย่างแท้จริง หรือ le corbusier และความคิดแบบ functionism ที่เป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งของยุค Modern เขาเหล่านี้ต้องทนกับคำวิจารย์และคำด่ามากมายในยุคตนเอง แต่ก็ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนไปตามกระแส เป็นไปได้ไหมครับว่ายุค post-modern นี้ไม่มีคนพันธุ์นี้แล้ว?
โดยคุณ : Gloria - [ 30 ม.ค. 2002 , 17:29:54 น.]
ตอบ…..
โลกในไซเบอร์สเปส..นี่แปลกแท้..เป็นโลกแห่งความไร้เพศไร้เชื้อชาติกันจริงๆ มีหรือ ? ชื่อเป็นฝรั่งมีความหมายของเพศหญิง แต่ดันมีคำตอบเป็น..คนไทยเพศชายเสียนิ…

ถ้าเป็นนิสิตปีหนึ่ง ตั้งคำถามเหล่านี้ได้ ก็นับว่ามีฐานความรู้ความเข้าใจสถาปัตยกรรมไม่ธรรมดา ยิ่งมีทักษะในภาษาอังกฤษดี ยิ่งได้เปรียบใหญ่ เพราะสามารถหาอ่านตำราสถาปัตยกรรมได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นสินทรัพย์ทางความรู้มากกว่า การหาเอาหรือโดนยัดเยียดกันแค่ในห้องเรียน จุดอ่อนอย่างมากของนักเรียนไทย คือ เพียงแสวงหาความรู้แค่ในระบบหรือในห้องเรียนเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าปัจจุบันไม่พอเพียง และจะไม่เหมาะกับบางคนที่ต้องการรู้นอกเหนืออาจารย์ คือ รู้และเข้าใจกันแค่ในห้องเรียน การโต้แย้งทางความคิดจึงมักไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก

คุณ Gloria ควรใช้ความได้เปรียบทางภาษา และศึกษาจากตำราต่างประเทศให้มากนะครับ อ่านไปก็คิดไปด้วย อย่าเอาแต่เชื่อพวกสถาปนิกฝรั่งช่างพูดอย่างเดียว ต้องศึกษาเปรียบเทียบความรู้ทำนองเดียวกัน ในต่างสาขาวิชาอื่นบ้าง อย่างเช่นแนวคิดเรื่อง โพสท์โมเดิร์น หรือ ดีคอนสตรั๊คชั่น อาจทำให้เข้าใจประเด็น ทางฤษฎีในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และอาจนำมาใช้เป็น application ในทางสถาปัตยกรรมที่เป็นของตัวเองได้ดีและสดกว่า applications ของ Eisenman และ Tschumi แทนที่จะคอยตามเอาอย่างเขาในงานที่เขาโฆษณาไว้ตามหนังสือสถาปัตยกรรม

ความดื้อรั้นที่พอดีพองามและอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ อาจไม่จำเป็นต้องเหมือน เลอคอร์บูซิเออร์ หรือสถาปนิกคนอื่น หรือบิลเกตส์ที่ปฏิเสธโรงเรียน ( เพราะขืนอยู่เรียนต่อไปก็เปล่าประโยชน์) สมัยนี้อาจต้องอาศัยนิสิตที่ฉลาดและมีเมตตาธรรมด้วย คือทนเรียนตามกระแสไป แต่รอโอกาสช่วยสอนการทวนกระแสความคิด (ทางอ้อม) ให้บรรดาอาจารย์ด้วยในเวลาเดียวกัน ก็เหมือนอย่าง Eisenman เขาก็เรียนไป คิดทวนกระแสไปจนถึงระดับปริญญาเอก แล้วต่อมายังยึดอาชีพสถาปนิกและนักการศึกษาไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีทำให้วงการสถาปัตยกรรมมีสีสรรค์มากขึ้น สำหรับเมืองไทยก็ยังรอนิสิตอย่างนี้อยู่ เพื่อสร้างการก้าวกระโดดทางวิชาสถาปัตยกรรมที่เป็นแนวทางของตนเองกันเสียที

คุณ Gloria ก็ช่วยเอาความรู้มากหรือคำถามมาอัดกันแรงๆหน่อยในบอร์ดนี้ อาจารย์คณะนี้จะได้รู้เสียมั่ง ใครเป็นใครนะครับ..ไม่เป็นนิสิตแค่ "ขาจู๋" กันเสมอไป
โดยคุณ : เพื่อนอาจารย์ - [ 31 ม.ค. 2002 , 22:29:52 น.]

ตอบ….
Good idea, Master's Friend. I too would love to see this forum highly academic. But since I myself know virtually nothing about architectural theories (particularly contemporary ones), I would also like to see topics in other areas raised here.
As for myself, should there be anything a cross between architecture, engineering, physics and maths, I will be happy to help keep the discussion going on.
โดยคุณ : TC - [ 1 ก.พ. 2002 , 16:59:15 น.]

ตอบ …
จุดอ่อนสำคัญอันหนึ่ง คือรากฐานความคิดทางปรัชญา ที่เป็นจุดเริ่มของ theory building ในความคิดของแต่ละคน ยังขาดครูและผู้สนใจ กับการเรียนการสอนปรัชญาในคณะนี้ (นี่ยังไม่รวมถึงแบบจำลองทฤษฎีของภาษาคณิตศาสตร์ หรือความรู้พื้นฐานธรรมชาติของทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่ปัจจุบัน) เราจึงตามความคิด อันเป็นรากฐานทางทฤษฎีของพวกฝรั่งไม่ได้ สิ่งที่เราเรียนรู้กัน ก็เพียงการดัดแปลง applications (ผลการตีความเป็นรูปแบบสำเร็จ) ของพวกสถาปนิกฝรั่ง ซึ่งเป็นผลปลายเหตุของความคิดทางสถาปัตยกรรมตะวันตกทั้งหลาย หรือไม่..หรือตรงกันข้าม..ยังลุ่มหลงในสถาปัตยกรรมอดีต เชื่อถือในลัทธิพราหมณ์ของความเป็นอาตมัน ความเป็นถาวรนิรันดร์กาล ที่ไม่ยอมหรือไม่รู้จะพัฒนากันอย่างไรต่อไป อย่างเช่นไม่มีการเน้นในศาสนปรัชญาทางพุทธ ในการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมไทยกันเลย ทั้งๆที่แนวคิดปรัชญาหรือทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่ ทั้งหลายกำลังเคลื่อนตัวเข้าหาปรัชญาแนวพุทธ หรือปรัชญาอื่นของตะวันออกเข้าทุกที เช่น ทฤษฎีควอนตัม..เรื่องการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีองค์รวมของ ชีววิทยากระบวนระบบ (Systems Biology) เป็นต้น ในเรื่อง The Turning Point ของ ฟริตจ็อฟ คาปร้า พูดเรื่องเหล่านี้ไว้มากทีเดียว ผมเสียดายที่นักคิดนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์อย่างคุณ สมัคร บุราวาส มีน้อยเหลือเกินในเมืองไทย เสียดายที่ท่าน(ตาย)จากไปเร็วด้วย ไม่อย่างนั้นงานเขียนทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ของท่าน จะมีมากกว่าเท่าที่มีเผยแพร่กันตอนนี้ ที่สำคัญคือ การเชื่อมปรัชญาหลายแหล่ของตะวันตกเข้ากับศาสนาปรัชญาของพุทธศาสนา อันทำให้พวกเราได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องในทางความคิดและทฤษฎีมากยิ่งขึ้น

ก็อยากให้สิ่งเหล่านี้เคลื่อนเข้าห้องเรียนในคณะฯเรากันเสียที การมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่เห็นมีการขยับตัวกันเลย...ก็เหงาใจจริงๆ
โดยคุณ : เพื่อนอาจารย์ - [ 4 ก.พ. 2002 , 14:48:57 น.]

กล่าวโดยสรุปแล้ว งานสถาปัตยกรรมน่าจะพอมองเห็นความแตกต่างได้ง่ายกว่าแนวคิดทางปรัชญาหรือแม้แต่ในงานศิลปะ การพิจารณานั้นควรใช้หลักการเปรียบเทียบกันระหว่างโพ๊สโมเดิร์นกับโมเดิร์นนั้นแตกต่างกันอย่างไรเสียก่อน ซึ่งในงานสถาปัตยกรรมอาจมองได้ชัด โดยเฉพาะในเมืองไทยซึ่งถือว่าโรงเรียนสถาปัตยกรรมเริ่มสอนกันโดยแนวคิดของยุคทันสมัย (โมเดิร์น) เป็นหลัก ครูสอนสถาปัตยกรรมส่วนมากได้รับการฝึกและศึกษามาจากยุคสมันนี้ทั้งสิ้น จะว่าไปแล้วแนวทางการสอนสถาปัตยกรรมปัจจุบัน…กล่าวกันแบบฟันธงลงได้เลยว่า..ก็ยังเน้นหลักการออกแบบของยุคโมเดิร์นยังไม่เสื่อมคลาย แม้ในด้านสังคมและการเมืองก็ยังมีสิ่งเหล่านี้หลงเหลืออยู่ เช่น การยังเชื่อในทัศนะของ “ความโง่ที่ไม่เท่าเทียมกัน” อยู่ …หมายความว่ายังชื่อในความเป็นผู้ชำนาญการ และสถาปนิกนั้นยังเป็นผู้ที่รู้ดี และยังเป็นผู้ที่ควรกำหนดว่าความต้องการและรศนิยมทางสุนทรียศาสตร์ของผู้ใช้นั้นควรเป็นเช่นไร

อิทธิพลทางการศึกษาที่สำคัญคือ แนวทางการศึกษาของ Bauhaus ซึ่งเป็นแนวทางของยุคทันสมัยที่ยอมรับกันชัดเจน คือการรวมจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะอุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม เข้าเป็นโรงเรียนศิลปะและการออกแบบ งานทางสถาปัตยกรรม มักเป็นที่รวมของศิลปะในแทบทุกแขนงกันไว้เสมอ สุนทรียศาสตร์ของยุคทันสมัย จะว่าไปแล้วปรากฏขึ้นมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก บรรดานักทัศนะศิลป์ หรือ ศิลปินโมเดิร์นนิสท์ (the new avant-grade modern movement) เช่น Picasso และ Mondrian เป็นต้น แทบบทั้งนั้น ในหนังสือ Space Time and Architecture เขียนโดย Sigfried Giedion กล่าวถึงแนวคิดทางสถาปัตยกรรมของยุคทันสมัยไว้อย่างชัดเจนในเรื่องเหล่านี้

กระนั้นก็ตาม..ในเมืองไทยก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวในความสำคัญของยุคหลังสมัยที่มีอิทธิพลทางความคิดศิลปะและการเมือง ในทางการเมืองการเริ่มต้นที่เห็นได้ชัดคือความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย และการต่อต้านลัทธิ “ผู้ชำนาญการ” คือผู้นำทางเผด็จการในทุกรูปแบบ แม้สิ่งนี้อาจยังไม่ครอบคลุมในองค์กรย่อยๆต่างๆอื่นในสังคมไทย แต่ก็น่าเป็นสัญญานของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเหมาได้ว่าจะมีการพัฒนาการในต่อๆไป…ตามข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ว่า..โครงสร้างในเชิงเอกภาพปิด(close unity)ใดๆ จะไม่มีความเป็นจริงได้ต่อไป เช่น ความเชื่อในกฎเกณฑ์และระเบียบจะไม่สามารถสร้างสังคมในรูปแบบเดียวได้เลย เช่นเราไม่สามารถนำไปใช้บังคับให้ทุกคนนับถือศาสนาคริสต์อย่างเดียว เพื่อทุกคนจะมีความสุขเท่าเทียมกัน หรือเรื่องของมนุษย์นิยม เหตุผลนิยม หรือแม้แต่สังคมนิยม อันเป็นการพยายามสร้างเอกภาพให้ทุกคนเชื่ออย่างนั้นเพียงอย่างเดียว แล้วจะสร้างสังคมให้มีความสุข และสมบูรณ์แบบได้ แต่ความจริงที่ปรากฏในอดีตนั้นล้มเหลว ใช้การไม่ได้ และหาสังคมที่นับถือศาสนาเดียวไม่ได้เลย…ความคิดทำนองนี้ก็ปรากฏให้เห็นในงานสถาปัตยกรรม ที่เคยมีความพยายามเสนอการสร้างรูปแบบสากล (International Style) ขึ้น เช่นในงานเขียนหนังสือตามชื่อนี้โดย Phillip Johnson ซึ่งสถาปนิกผู้เขียนเองก็หันมาปฏิเสธเรื่องนี้เสียเองในต่อมา

กล่าวโดยสรุป แนวคิดหลังสมัย ปฏิเสธแนวคิดตรรกะเชิงเส้นตรง ที่เหตุย่อมเท่ากับผล เป็นวิธีคิดอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องยอมรับวิธีอื่นที่สร้างแรงบันดาลใจได้ด้วย ต้องยอมรับความหลากหลายในทุกสิ่ง ดังนั้นแนวคิดหลังสมัยจึงรื้อฟื้นคุณค่าเก่าแบบดังเดิมขึ้นมาใหม่ กลับไปยอมรับการใช้สมองอีกส่วนที่ใช้แรงบันดาลใจ, ความเชื่อ, ความรัก, อารมณ์ หรือจริยธรรม ที่ยุคทันสมัยได้เมินเฉยไป เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจด้วย และกลับมาเน้นวิทยาศาสตร์ของความเป็นมนุษย์ (Humanity Science) เทียบเคียงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ(เชิงวัตถุ-เครื่องจักรกล)ที่เน้นโดยยุคทันสมัยเพียงอย่างเดียว ในต่างประเทศหากย้อนกลับไปราวทศวรรษ แนวคิดหลังสมัยทางด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมได้รับความสนใจอย่างมาก พอๆกับการใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมของข่าวสารสารสนเทศที่ก้าวหน้าของยุคหลังอุตสาหกรรม งานศิลปะและสถาปัตยกรรมของยุคหลังสมัย ได้รังสรรค์ความยุ่งยากซับซ้อน (complexity) ความขัดแย้ง (contradiction) ให้อยู่รวมกันในเอกภาพเปิด (open unity) มีรูปแบบที่ต่างกัน (heterogeneous style) และสร้างภาษาที่ตอบโต้กันอย่างเร้าใจขึ้น สำหรับสังคมไทยสิ่งที่มองเห็นได้ชัดดังกล่าวแล้วคือ การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย, การมีส่วนร่วม และมีการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากยิ่งขึ้น

เอาละครับ..มาถึงคำถามสำคัญที่คุณ Gloria เกริ่นไว้ว่า แล้วแนวคิด “หลังสมัย” จะสิ้นสุดลงหรือไม่? และเมื่อไร? เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งใดในโลกใบนี้นั้น ผมคิดว่ามีการสิ้นสุดหรือเปลี่ยนแปลงแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่พ้น แม้ในเรื่องอื่นในความคิดคำนึงของมนุษย์ ส่วนเป็นเวลาใดตอนไหน จะระบุเป็นเด็ดขาดย่อมไม่ได้ เดี๋ยวจะเหมือนเรื่องที่โดนวิจารณ์กันเมื่อ Charles Jencks นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ประกาศวันและเวลาการสิ้นสุดของแนวคิดสถาปัตยกรรมทันสมัย ซึ่งตรงกับวันและเวลาที่อาคารพักอาศัย Pruitt-Igoe ณ เมือง St. Louis ในสหรัฐอเมริกา โดนรื้อทำลายลงพอดี…สำหรับผมพอจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นแล้ว (อาจเป็นเรื่องของแนวคิด Deconstruction ก็ได้) เพราะได้อ่านบทความสรุปการสัมมนากันมาเกี่ยวกับเรื่องนี้…After Post-Modernism..ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า APM ในการสัมมนาที่เมืองชิกาโกเสียด้วย แต่ยังมีเรื่องทราบที่ค้างใจอยู่จึงขอระบายไว้ก่อนดังนี้…ผมเคยอ่านพบจากที่ไหน?..จำไม่ได้…แต่เคยเข้าใจบทความที่เขาเขียนไว้ดังนี้…

ความคิดเบื่องต้นของโพสท์โมเดิร์น
เรื่องนี้ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด หากแต่มีความจริงแฝงเล้นอยู่บ้าง มันเปรียบเสมือนนั่งร้านคนงานในงานก่อสร้างที่ทำให้เรื่องราวของ โพสท์โมเดิร์น ดูอาจเข้าท่าขึ้นบ้าง
เรื่องราวของคติทางความคิดต่างๆ
คติโบราณ… เริ่มในสมัยของชาวกรีกและโรมัน เราเผชิญกับคำถามมากมาย เช่น เรารู้ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้อย่างไร? เรารู้ความเป็นจริงได้อย่างไร? โลกเกิดขึ้นได้อย่างไร? คนโบราณระลึกได้ว่าสิ่งที่ปรากฏอาจเป็นภาพลวงตาของความน่าเชื่อถือ ความคงที่ ที่รูปร่างของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วมีอาการและความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะมีวิธีรู้ว่าสิ่งต่างๆเป็นความแท้จริงได้อย่างไรกัน? ปัญหาที่เสนอนี้ คนโบราณแยกสรรพสิ่งทั้งหลายออกโลกที่มองเห็นด้วยตา และโลกที่เป็น “จริง” ซึ่งมีความสมบูรณ์ เป็นองค์รวมและศักดิ์สิทธ์ ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธ์ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เราจะจับชั่วขณะของ “ความจริง” ของโลกสมมุตินี้ได้. โดยไม่อ้างถึงการเวียนว่ายตายเกิดของเรา เราเห็นความไม่สมบูรณ์ ความอ่อนแอ และหลายสิ่งที่สึกกร่อน ด้วยความช่วยเหลือของหลักเหตุผลอันศักดิ์สิทธ์และคณิตศาสตร์ สิ่งที่สึกกร่อนกลับกลายเป็นสิ่งราบเรียบ เป็นสิ่งสมบูรณ์สิ่งแล้วสิ่งเหล่าต่อการรับรู้ของเรา ความคิดเป็นอภินิหารของสิ่งศักดิ์สิทธ์แสดงให้รู้ว่า โลกที่แท้จริงคือ มโนทัศน์ที่เกิดขึ้นประจำวันของเรา ที่สืบทอดมาจากรูปแบบความคิดที่แสวงหากันมาก่อนหน้า โดยคนโบราณ
คติสมัยใหม่… เริ่มต้นในสมัยเรเนอซองค์ (แต่ค่อยๆเป็นการเปลี่ยนจากคติโบราณที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคสมัยกลางของยุโรป) ค่อยๆเปลี่ยนจากการถูกสอนให้เชื่อพระเจ้าคือความจริง—พระเจ้าในโบสถ์ ต่อมากลายเป็นการสอนตามทางบันทึกต่างๆในตำรา นักคิดที่ฉลาดบางคนเริ่มเชื่อการพบเห็นของตนเองและของหมู่คณะมากขึ้น แทนที่ยึดเอาพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มนุษย์เองกลายมาเป็นบรรทัดฐานการตัดสินความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลายต่อมา ความฉลาดของมนุษย์สามารถเกี่ยวข้องทั้งความจริงและความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงตลอดเวลา ความแน่นอนกำหนดวิธีการเพื่อค้นหาความจริงและประเมินผลที่ปรากฏเพื่อการพิจารณาความน่าเชื่อถือ ความพอเพียงที่ยอมรับในความเป็นจริงของสิ่งที่ตรวจสอบ ไสยศาสตร์และจารีตนิยมถูกแทนที่โดยความมีเหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (วิธีที่ตรวจสอบได้ด้วยมวลชน) วิทยาการและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นสัญญานความรุ่งเรื่องของสังคม จนกระทั่งถึงมนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติด้วยความรู้และเครื่องมือของเขาเอง
กระนั้นก็ตาม นักปรัชญาทั้งหลายก็ยังคงลำบากกับคำถามเดิมของความจริงนั้นเรารู้มันได้อย่างไร? Kant เสนอว่าเราไม่อาจรับรู้ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง แต่เราสามารถเข้าใกล้ความจริงด้วยมโนภาพในใจที่เข้ากันได้กับสิ่งที่มันเป็น คำว่า “ปรากฏการณ์” มาจาก Kant หมายถึง สาระสำคัญของ “การใกล้ชิดกับความเป็นจริง”
อย่างไรก็ตาม ในหลายปีต่อมา นักปรัชญาเริ่มตระหนักว่ามีทะเลขวางกั้นเป็นอุปสรรคให้ย่างก้าวไปไม่ถึงความเป็นจริง เพราะเรามีชีวิตในช่วงเวลาและสถานที่เฉพาะ ที่มีการกำหนดเงื่อนไขโดยชุดพิเศษของวัฒนธรรมและประสบการณ์ หากปราศจากพระเจ้าที่เป็นตัวเชื่อมเรากับความจริงแล้ว เราสามารถไปถึงได้อย่างไร? เราสามารถขยายขีดจำกัดของเราเองไปถึงสรรพสิ่งที่เป็นความแท้จริงได้อย่างไร? นี่ยังเป็นคำถามที่ยากและยังไม่มีข้อสรุปมานานนับปีแล้ว
คติหลังยุคทันสมัย 'Postmodernism', เป็นคำที่ยังบอกถึงความเกี่ยวข้องตอบสนองในวงกว้างๆกับคำเดิมทันสมัย ความทันสมัยเกี่ยวข้องกับการยึดวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำเราไปสู่ถนนของความรุ่งเรืองก้าวหน้า แต่ยุคหลังทันสมัย ตั้งคำถามว่าวิทยาศาสตร์ตามลำพังจะนำเราไปถึงได้จริงหรือ? ขณะที่ยุคทันสมัยได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และวิทยาการที่ก้าวหน้ามากมายในการพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น ยุคหลังทันสมัยกลับไปมองซ้ำและฉงนใจว่าชีวิตเรานั้นแท้จริงแล้วดีไปกว่าการเป็นแค่ของจุกจิกและของเล่นทั้งหลายหรือไม่? มองไปที่ความสุดยอดของยุคทันสมัยในศตวรรษที่ ๒๐ ผลที่เกิดขึ้นคือความรุนแรงในรูปแบบของ ชาตินิยม เผด็จการเบ็ดเสร็จ ความชำนาญการนิยม การบริโภคนิยม และสวัสดิการสมัยใหม่ ซึ่งเราอาจเห็นความมีประสิทธิภาพและพัฒนาขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมองเห็นการบั่นทอนความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย ชีวิตเรากลายเป็นหรือมีผลกระทบจากเครื่องกลไกทั้งหลาย
สำหรับคำถามซ้ำซากเกี่ยวกับ อะไรคือความจริงและความรู้? นักหลังทันสมัยนิยม อาจกล่าวว่า “ความจริง คือสิ่งที่ทุกคนตกลงยอมรับกัน” หรือ “ความจริงคืออะไรๆที่ใช้งานได้” หรือ “เฮ้..ไม่มีความจริง ..หากมีแต่สิ่งละอันพันละน้อยของความจริงโลดเล่นอยู่รอบๆ” นักยุคหลังทันสมัย โน้มเอียงไปทางปฏิเสธมโนทัศน์ของความจริงที่เกิดจากคติโบราณ แทนที่ด้วยความจริงเป็นความไม่คงที่ ความจริงที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา-เทศะ (ที่ว่าง) ที่ครอบครองอยู่ขณะนั้น และมุมมองที่หลากหลาย แทนที่จะค้นหามโนทัศน์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง น่าจะกลับมายินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันและไม่คงที่ของแต่ละชีวิตจะดีกว่า

ในหนังสือ ERIC Digest, Hlynka และ Yeaman (1992) เน้นประเด็นหลักๆของความคิดหลังทันสมัยไว้ง่ายๆ ดังนี้

ยอมรับ มุมมองที่เป็นแบบพหุนิยมของ ความหมาย วิธีการ คุณค่า-ทั้งหมด
ค้นหาความชื่นชมกับความหมายสองแง่ และการตีความโดยมีทางเลือกอื่นเสมอ หลายสิ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามและไม่ตั้งใจจริง
จงวิจารณ์และไม่วางใจกับเรื่องใหญ่ๆ ที่หมายจะอธิบายความในทุกสิ่งทุกอย่างได้ นี่รวมถึงทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายทางวิทยาศาสตร์ ศรัทธาและความเชื่อตามศาสนา ชาติ วัฒนธรรม และอาชีพของเรา สำหรับเพื่อใช้เป็นการอธิบายว่าทำไมสิ่งนั้นเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่
ยอมรับว่า-เพราะเป็นมุมมองแบบพหุนิยม และหลายวิถีทางของการรู้--มีความจริงอย่างมากเหลือคณานับได้
ในบทอีกหนึ่ง Hlynka และ Yeaman (1992) แนะนำ (แบบแดกดัน!) ๔ ขั้นตอนง่ายๆของการกลายเป็นนักหลังทันสมัยนิยม คือ
เป็นนักวิจารณ์ แนวความคิด มโนทัศน์ และสิ่งที่ปรากฏ ที่เป็นเหมือนเช่นถ้อยคำในหนังสือทั้งหลาย และความหมายของทุกต้นฉบับในถ้อยคำเหล่านี้ ต้องเปิดให้มีการตีความได้
จงมองความตรงกันข้ามของคำเช่น ดี/เลว ก้าวหน้า/ประเพณี วิทยาศาสตร์/ความเชื่องมงาย รัก/เกลียด ผู้ชาย/ผู้หญิง และ เรื่องจริง/นิยาย.
"การรื้อโครงสร้าง"..deconstruct คือ ทบทวนหรือเปลี่ยนประโยคของถ้อยคำที่แสดงความตรงกันข้ามที่ไม่จำเป็นต้องเป็นจริง.
กำหนดถ้อยคำที่ขาดหายไป ของกลุ่มที่ไม่เป็นตัวแทนและโดนตัดทิ้งไป ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นโดยเจตนาแต่มีความสำคัญ ..(หน้า. 1-2)
ความคิดหลังทันสมัย เกิดมาจากแขนงวิชาของมนุษย์ศาสตร์ ระหว่างประเพณี-ปรัชญา วรรณคดีวิจารณ์ ศิลปะศาสตร์ สิ่งนี้ช่วยให้เห็นความแตกต่างระหว่างนักออกแบบและนักวิจารณ์หลังทันสมัยนิยม เหมือน C. P. Snow แย้งไว้ในหนังสือ The Two Cultures (1969), คนในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์ มองเห็นอะไรที่แตกต่างจากคนในแขนงวิชามนุษย์ศาสตร์ ในแขนงวิชาการออกแบบ เช่น เรื่องการเรียนการสอน เกิดจากจิตวิทยาด้านพฤติกรรมมนุษย์ วิทยาการกระบวนระบบ และทฤษฎีการจัดการ มองเห็นว่า โลกที่มองผ่านแว่นขยายของ “วิทยาศาสตร์” นักหลังทันสมัยเอนเอียงมองเห็นในสิ่งที่เป็นวิกฤต ด้วยแว่นขยายของมนุษย์ศาสตร์ เป้าหมายของศิลปินหรือนักวิจารณ์ คือ ไม่เน้นความมากมายในการอธิบาย การทำนาย การควบคุม หากแต่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ การชื่นชมปรีดา และการตีความในความหมายต่างๆ หลายปีมานี้ แนวทางหลังทันสมัยได้ขยายรวมเข้าด้วยกันของ วิทยาศาสตร์ ความเสมอภาพสตรี การศึกษา และวิทยาศาสตร์สังคม แต่ทิศทางยังคงเหลือไว้กับการตีความหมายมากกว่าการทำนายหรือควบคุมบังคับในสิ่งที่มองหาความเป็นจริงของมัน…..
ต่อไปนี้เป็นเรื่องของนักปรัชญาคุยกัน เพื่อค้นหาว่ามีแนวทางความคิดเกิดต่อจากยุคหลังทันสมัยหรือไม่….การอ่านเรื่องของปรัชญานั้น ผู้รู้บางท่านแนะว่าให้อ่านไปเรื่อยๆอย่าเอาจริงเอาจังในเรื่องคำ ประโยคของความเรียงมากนัก อ่านไปแล้ว เผอิญถ้ามันโยงเข้ากับความเข้าใจเดิมที่เรามี ก็รับเอาไว้..ไปครุ่นคิดต่อทีหลัง ถ้าไม่ได้เรื่องได้ราว ก็ผ่านไปแบบไม่รู้ไม่ชี้แล้วกัน…กระทำอย่างนี้ได้แล้ว ก็จะระงับอาการงงและความปั่นป่วนในความคิดของเราได้…ก็ลองอ่านดูนะครับ
แนวคิดต่อจาก …After…ยุคหลังทันสมัย
จากเอกสารรายงานการประชุมของมหาวิทยาลัยชิคาโก (APM-After Postmodernism papers) เมื่อวันที่ ๑๔–๑๖ เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. ๑๙๗๗ (อ่านได้จาก.. http://www.focusing.org/apm.htm)
มีแนวคิดต่อจากยุคหลังทันสมัย-จริงหรือ? ยุคหลังทันสมัยผ่านพ้นไปแล้วหรือ? คำตอบ คือ ไม่จริงทีเดียว มีความหมายซ้อนกันอย่างจงใจของคำว่า “ภายหลัง” ยุคหลังทันสมัย
"เรายังคงรักษาการวิพากวิจารณ์ความทันสมัยอยู่ แต่เราเลยไปแล้วแบบทึกทักเอาว่า ยุคหลังสมัยได้เริ่มมีการประกาศขึ้นแล้ว เราตั้งคำถามเบื้องต้นทุกคำถาม แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า “ทุกสิ่งที่แล้วมาหมดสิ้นไป”
นี่เป็นประกาศสรุปของการประชุม "APM" ที่มหาวิทยาลัยชิกคาโกจำนวน ๙๓ คน ส่วนมากเป็นนักปรัชญา กับบางคนเป็นนักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา และคนอื่นๆ ร่วมกันสนทนากันว่าจะขยายความคิดที่ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่กำหนดให้โดยยุคหลังทันสมัยกันอย่างไรกระบวนการที่เสนอไว้เป็นจริงหรือ หรือไม่มีความเป็นจริงทั้งหมดเลย

คำประกาศมีว่า…..

"ใช่ ทุกคำยืนยันเป็นจุดได้เปรียบ…(และ) คำกล่าวทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ “อภิปรัชญา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้เข้าใจว่า แต่เพราะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงทำได้ไม่มากไปกว่า… (จบ ลงที่) ย้ายจุด (ยืน) ตรงกลางเสีย อย่าเพิ่งตกลงใจ สร้างรอยแยกเข้าไว้ ไม่ต้องมีการใส่ใจ มีความสงสัย (aporia) แล้วจึงเปลี่ยนแปลงมันเสียหรือ?

ต่อจาก…ยุคหลังทันสมัย มันยังคงถูกสัญญาไว้ว่า

การเล่น และ ความขบขัน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่คอยมองข้าม

ความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง เรื่องเพศ และอำนาจที่เกี่ยวกับคนหมู่มาก ทำให้เกิดความประจักษ์แจ้ง

การตระหนักถึงข้อสันนิษฐานที่หลากหลาย และไม่มีการรับรองทั้งหลายมาก่อน แทนที่ (เหมือนเคย) กระทำกันอย่างผิวเผิน เพื่อประโยชน์สำหรับคนที่รู้กันแล้ว

เราเพิ่งผ่านช่วงเวลาของการปฏิวัติและอิสระ ต่อการลดความสำคัญของตรรกะเบื้องต้นทั้งลาย และวิทยาศาสตร์ที่เป็นลักษณะ “วัตถุประสงค์นิยม” แต่เมื่อยุคหลังทันสมัยชื่นชมการปฏิเสธทางเลือกเหล่านี้ หุ่นยนต์ทางวิทยาศาสตร์ก็เข้ามาแทนที่ เพียงการปฏิเสธ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อสันนิษฐานและคุณค่าที่ยังคงกำหนดนโยบายทางด้านสังคมและขนบธรรมเนียมของเราอยู่ขณะนี้ ในด้านปรัชญา มันเป็นวินัยที่ยึดถือกันมา และมักเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อสันนิษฐานนั้นๆ และต้องคอยตรวจสอบด้วยว่ามันสามารถเป็นไปได้อย่างไรบ้าง

หลายคนได้รวบเอาข้อเท็จจริงที่มีคำกล่าวเกี่ยวกับความคิดเก่ามาใช้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวได้ แต่นั่นเป็นการกล่าวของยุคหลังทันสมัย ที่ทำให้เราหมดโอกาสใช้วิธีและภาษาที่ใหม่สดหรือ? ปัญหาและการวิจารณ์ยุคหลังทันสมัยเป็นที่เข้าใจกันแพร่หลายในปัจจุบัน แต่หลายคนก็ไม่อยากที่จะให้ถูกยกเลิกไป ราวกับว่าคำเดิมทุกๆคำ มีความลำบากใจที่จะนำกลับมาใช้กับอภิปรัชญาเดิม มันถึงเวลาที่จะเคลื่อนจากความขบขันครึ่งๆกลางๆไปก็จริง แต่บางเวลาทั้งหมดก็เป็นจริงเกินไปสำหรับ “การโต้แย้งของยุคหลังทันสมัย” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปฏิเสธความจริงทุกสถานะภาพ ไม่มีแม้อย่างอื่น—ไม่มีทั้งหมดที่คงเหลือไว้ ในทางปฏิบัติ เราทั้งหมดทำได้ดีกว่านั้น

จากการสนทนาเจาะกันอย่างตรงประเด็น จุดมุ่งหมายของการประชุมไม่ใช่เพื่อการตกลงเป็นข้อสรุปร่วมกัน แต่เปิดให้เสนอความคิดใหม่ที่ขยายต่อจากยุคหลังทันสมัย หลายคน “กล่าวหา” ว่าเป็น “แค่” ยุคหลังทันสมัย มากกว่า “สืบต่อจาก” ยุคหลังทันสมัย หรือแม้แต่เป็น “ก่อน” ยุคหลังทันสมัย แต่ก็มีหลายคนร่วมเสนอโครงการที่ไปเกินจากยุคหลังทันสมัย
หลังการสัมมนาในกลุ่มย่อยอย่างแข็งขัน มีข้อสรุปตามประเด็นดังนี้…

เราไม่ได้ติดกับดักของอภิปรัชญา

ถ้านำข้อเขียนของ Heidegger’s critique มาพิจารณาเราจะพบว่า , Wittgenstein เสนอว่าแนวคิดทางอภิปรัชญา “ไม่ ควบคุมอะไรที่หมายถึงสิ่งที่เราพูด” เขาแสดงให้เห็นว่าความคิดเหล่านี้ยากที่จะเห็นประโยชน์จากคำพูดธรรมดา ในด้านปรัชญานั้น—เขาเองก็ไม่อยากกระทำในทำนองนี้เช่นเดียวกัน
.
เราไม่ต้องการใช้เพียงวิธีกล่าวเชิงนิเสทเท่านั้น

ถ้าเราดำเนินชีวิตในระบบของตรรกะ ด้วยการแยกแยะและทิ้งไว้เพียงรอยแยก ความขัดแย้ง ความสงสัย ปล่อยปะละเลย ความเหลืออด ความโศรกสลด ความสูญเสีย ช่องว่าง หรือความเปลี่ยนแปร เราก็จะไม่มีชีวิตในระบบของตรรกะ โดยไม่ต้องแยกออกเป็นส่วนๆ เราสามารถพูดได้จากสถานะภาพของความเป็นมนุษย์ที่ประณีตขึ้น—จากอะไรอื่นละที่เราจะพูดได้?

เราพัฒนาภาษาที่ข้ามเลยข้อเขียนต่างๆ

ทุกวันนี้ นักปรัชญาส่วนมากหันความสนใจกลับมาสู่ชุมชนเล็กๆ เราอาศัยเวลาเป็นปีๆที่จะรู้ใจความที่แน่ชัดของมันที่ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เราสบายใจที่จะกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ Wittgenstein" (หรือ Heidegger, หรือ Peirce, หรือ บางคนที่ไม่ใช่คนพิเศษของเรา) เราสืบไปได้ช่วงหนึ่งของภาษาหรือการใช้ถ้อยคำที่ข้ามเลยเรื่องราวหรือใจความของข้อเขียน ไม่ใช่ทำมันให้เลือนลางไป หากแต่เป็นการเปิดเส้นทางของความคิดใหม่ๆ เท่านั้น

ทฤษฎีและการปฏิบัติที่เปิดให้กับแต่ละคน

พวกนิยม Heidegger พบข้อตกลงเดียวกับพวก Wittgenstein ในเรื่อง “ความสำคัญในเชิงปฏิบัติ..the primacy of the practical," ไม่ใช่ความคิดที่การปฏิบัติอยู่เหนือความคิด แต่เป็นสิ่งเตือนใจที่สำคัญว่าโดยการกระทำของเรา จะทำให้เราค้นพบตัวเองในสถานการณ์หนึ่งมากกว่าสิ่งที่นึกคิดขึ้นเอง ความนึกคิดเกิดขึ้นในทุกสถานะภาพ นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่ต้องการทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สรุปออกมาเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้มันไปไกลเกินกว่ายุคหลังทันสมัยแล้ว อรรถาธิบายต่างๆหนีความเป็นยุคหลังทันสมัย หรือไม่ก็ ไม่เป็นทั้งสองเรื่องทั้งของตรรกะและการตัดสินตามอำเภอใจ เราสามารถามตัวเองว่าเรารู้คำอรรถาธิบายนั้นอย่างไร และมันมีผลกับความหมายในคำพูดของเราอย่างไรบ้าง

เราค้นพบตัวเราเองนั้นได้อย่างไร? มักไกลเกินกว่าความรู้ความเข้าใจของเราจะสามารถเข้าถึงได้ มันเปิดเผยความเป็นไปได้ที่ว่า เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากแบบจำลองความคิดดั้งเดิมต่างๆ และอาจเกิดจากการนิเสธของสิ่งเหล่านั้นด้วย

กายสัมผัสมนุษย์ “รู้” ได้โดยการไปอาศัยผูกพันกับสถานการณ์และจักรวาล

ทุกๆวันเรากระทำสิ่งต่างในสถานการณ์ที่มากมายโดยไม่ได้เปิดเผยว่าจากอะไรที่กำลังทำอยู่ แต่เราสามารถสังเกตเห็นได้ใน การยุติ ความลังเลใจนิดๆหน่อยๆ—ไม่จงใจที่จะตัดสินใจ—แต่มีความกระตือรือร้นที่จะปรับกระบวนการใหม่

หลังสมัยของ Merleau-Ponty (นักปรากฏการณ์ศาสตร์) เราสามารถกล่าวได้ว่ากายสัมผัสนั้น ไม่ใช่แค่ที่ว่างด้านหลัง (และด้านหน้า) ของเราเท่านั้น หากแต่เป็นสถานการณ์โดยรอบตัวเรานั่นเอง ในทุกวันการกระทำเป็นการดูดซับประสบการณ์ ที่ช่วยสร้างเสริมความชำนาญในการกระทำเพื่อตอบสนองกับสัมผัสหนึ่งๆของสถานการณ์ของเราเสมอๆ ความรู้สึกในกายสัมผัสที่ถูกต้องนั้น จะบรรลุถึงได้ด้วยความเป็นองค์รวม…a right body-feel that completes a gestalt.
ที่ผู้เกี่ยวข้องรวบรวมความรู้ทั้งหมดที่ผ่านทางเลือกของยุคหลังสมัย มันเกินกว่าความเป็นทฤษฎี และความจงใจ ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมา เช่น… Foucault ผิดตรงที่… กายสัมผัสไม่เคย “ถูกทำลายโดยประวัติศาสตร์” มีการรู้ “จาก” กายสัมผัสมากกว่าอะไรที่ “เกิดกับ” กายสัมผัสจากบนลงล่าง

การรู้โดยกายสัมผัสอย่างไรที่เกี่ยวข้องกับการพูดและการคิด? แนวทางการตอบคำถามนี้คือ “ไม่มีสมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการรู้โดยกายสัมผัสและประโยคภาษาต่างๆ แต่มีความสัมพันธ์ผิวเผินระหว่างสิ่งเหล่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นการกีดกันการรู้โดยกายสัมผัสที่ลดลงได้ แต่ก็ยังสามารถมีผลต่อการปรับปรุงและนำสืบต่อไป พูดได้ว่าไม่ใช่เป็นการแสดงแทน ลอกเลียน จะเป็นได้เพียงการพรรณนาเท่านั้น

ความเป็นไปได้ของการรู้โดยกายสัมผัส และความเกี่ยวข้องกับภาษาอย่างน้อยได้แล่นผ่านการยืนยันทางเลือกของยุคหลังสมัย แม้ไม่เลยต่อไปได้ทั้งหมดก็ตาม

จริยศาสตร์ใหม่กำลังมาถึง

ค่านิยมทางสังคม จริยธรรม นำการกระทำไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปในยุคต่อจากยุคหลังทันสมัย กระบวนทัศน์แนวคุณธรรมทั้งหมดต้องถูกเปิดเผยมากขึ้น แต่ควรละความสงสัยและคุณธรรมที่แตกต่างกันไว้ก่อน เราได้ยินตัวอย่างมากมายที่ว่าค่านิยมทางสังคมและกฎเกณฑ์ ถูกกำหนดขึ้น “จาก” การปฏิบัติที่สืบต่อกันมา และจากความปรารถนาที่จะปรับปรุงการปฏิบัติเหล่านั้นให้ดีขึ้น

ความไม่พึงพอใจสามารถสร้างขึ้นจากรูปแบบและค่านิยมทางสังคมเดิมๆก็ได้ อัตราและปริมาณของ “สิ่งที่ยังไม่มีรูปแบบ” นำไปสู่ความคิดแปลกใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ Heidegger กล่าวไว้ว่า “ความไม่พึงพอใจนี้ คือการคงความเป็นมนุษย์ไว้นั่นเอง”

ต้อนรับแบบจำลองความคิดใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือในบริบทที่กว้างขวาง

เพียงเพื่อการเหยียดหยามวิทยาศาสตร์ จะทำให้ปรัชญาอ่อนแอ ขณะที่ตรรกะทางคอมพิวเตอร์จะสร้างเผ่าพันธ์มนุษย์และสัตว์ใหม่ขึ้นเพื่อการค้า ข้อสันนิษฐานการลดทอนลงไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยการนิเสท เราต้องการแบบจำลองทางความคิดที่แตกต่างเพื่อความคิดและการศึกษาที่แตกต่างกันด้วย

สำหรับวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์นั้น เสนอรายงานที่แสดงว่ากระบวนระบบทางตรรกะทำงานได้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะ “รวน.. crashes" และต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ เพื่อที่จะ “รวน” อีกต่อไปหลังจากนั้นอีก แทนที่จะดูถูกกระบวนระบบที่เป็นรูปธรรม เราควรรวบวงจรโดยรวมเอาไว้ทั้งหมดก่อน กระบวนระบบเกิดจาก การถูกใช้ และไหลย้อนกลับในสภาพแวดล้อมที่กว้างขวางที่เกี่ยวข้องกับการงานของคนทั้งหลาย สภาพแวดล้อมคือ หลัง-และ-เสมอ-อีก-ก่อน ในเชิงโครงสร้าง

คำพูดในความหมายใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ได้ถูกแนะให้เป็นคำรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งโลกทางวิทยาศาสตร์และโลกแห่งชีวิต ยุคหลังทันสมัยผิดตรงที่ขัดขวางแบบจำลองทางความคิดเหล่านี้ เราจึงติดกับดักของแบบจำลองวิทยาศาสตร์ทางวัตถุประสงค์นิยม และเป็นสิ่งใหญ่โตเพียงอย่างเดียว เราต้องการแบบจำลองอื่นอีกมากมาย เพื่อที่จะไม่ติดกับดักในแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น

ความจริง และวัตถุนิยม อย่างชนิดใหม่

คำกล่าวทั่วไปที่ว่า “ความจริง” และ “วัตถุนิยม” เป็นเรื่องกำกวมและสงสัยกันมาโดยตลอด – แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า ความจริงและวัตถุนิยม ไม่มี เพียงแต่มันต้องการมากกว่า—ต้องการความสมบูรณ์ครบครันจากอะไรเพื่อการดำรงชีวิตสืบไป ก่อนที่จะสามารถเลือกความหลากหลายของกิจกรรมที่พึงกระทำ

แทนที่เป็นพหุนิยมที่เราสามารถสร้างสรรค์ในลักษณะของ “ความซับซ้อนของความจริงที่มากมาย” เท่านั้น มันเกี่ยวข้องถึงความต้องการและการนำทางที่ไม่เกิดความหลงผิดในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยการประยุกต์ใช้ที่มากมายคล้องจองกันได้กับสภาพการณ์เฉพาะในขณะนั้นด้วย

ไม่มีการกำหนด จากบนลงล่าง โดยเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือภาษา

มนุษย์อยู่ไม่ได้โดยปราศจากวัฒนธรรม แต่นี่ไม่ได้หมายความว่ามี“กำพืด” มาจากมัน สถานการณ์รอบตัวเรา (ประสบการณ์ การปฏิบัติ การพบปะกัน…) เป็นสิ่งไกลเกินกว่าความมีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภาษา

ยุคหลังสมัยปฏิเสธการลดทอนทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็บ่อยครั้งที่ประมาณเอาเองใน “การลดทอนทางวัฒนธรรม” วัฒนธรรมถูกใช้อย่างผิดๆในแง่ “คำที่ครอบงำ.. master term”

"วัฒนธรรม" คือ “การสร้างขึ้น” โดยคนนอกที่พยายามมองหา รูปแบบ/โครงสร้าง/ความหมายที่ตนเองไม่คุ้นเคย นั่นเอง

การเริ่มต้นด้วยความสามารถตามสิ่งที่มีอยู่ของวัฒนธรรมและสิ่งที่มากกว่านั้น

แต่ละวัฒนธรรมมีมิติการปรับปรุงในสิ่งที่วัฒนธรรมอื่นยังค้นหาไม่เจอทั้งหมดเป็นไปได้ที่เป็นการเกิดขึ้นใหม่

สาธกหนึ่งรายงานว่า “ความหายนะ” เกิดขึ้นเมื่อมีความพยายามที่จะประยุกต์แนวคิดแบบเครื่องจักรกล (อย่างเคร่งครัด) ของ “วัฒนธรรมอื่น” มาใช้กับคนในวัฒนธรรมของตน เราสามารถเข้าใจคนในวัฒนธรรมอื่นเมื่อเรายอมพบปะและพูดคุยกันด้วยประสบการณ์ของเขามากกว่าของเรา เป็นการเกี่ยวข้องผ่านในรูปแบบของกลุ่มที่เราไม่ได้รวบเอามารวมไว้ด้วยกัน
ทุกวันนี้ คำปฏิเสธความเป็นธรรมชาติของมนุษย์สากล ดีกว่าในยุคล่าอาณานิคมของตะวันตก ซึ่งขณะนั้นอาจไม่มี “รูปแบบเป็นสากล” ก็ได้ มีความเป็นสากลได้นั้นก็คือ “ความเข้าใจวัฒนธรรมที่ต่างกัน… CROSS-CULTURAL UNDERSTANDING” เท่านั้น การแตกต่างกันนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนและของผู้อื่นได้ละเอียดยิ่งขึ้น ประสบการณ์จากวัฒนธรรมต่างกันนี้ ช่วยเปิดเส้นทางของความคิดใหม่ และความเข้าใจบางสิ่งในลักษณะต่างกันและพร้อมที่จะต่างกันยิ่งขึ้นอีกต่อๆไป

มันเป็นสิ่งผิดที่กล่าวว่าเราไม่สามารถพูดด้วยตนเองได้โดยไม่ยึดเอาความคิดเดิมของ “หัวข้อรื่อง” นั้น

บางส่วนถือเอาความเห็นของพวกยุคหลังทันสมัย ที่ว่า เมื่อไม่มีหัวข้อเรื่อง ตนเองก็กลายเป็นผู้บรรยายที่อ่อนเปลี้ย เขาเน้นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้นไม่คงที่หรือไม่มีอยู่จริงเสมอ จะเกี่ยวกับอะไรที่ “เคยเป็น” หรือ “เป็นอยู่” นั้นขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นแปลความหมายอย่างไร และคนๆนั้นเจรจาและแสดงบทบาทต่อๆไปอย่างไรด้วย

อีกความเห็นที่ว่าเหตุการณ์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถแสดงความหมายได้อย่างแน่นอน ทำได้เพียงอ้างถึงสิ่งตรงกันข้าม รู้ได้จากอดีตและรู้อะไรที่กำลังเป็นอยู่ขณะนั้น สำหรับความหมายนั้นเป็นบางสิ่งที่คนๆนั้น “เพิ่มเติม” เข้าไปด้วยประสบการณ์โดยไม่รู้ตัว

เราต่างเข้าไปเกี่ยวพันการสนทนากันว่า – สิ่งที่มีชีวิตเกี่ยวข้องกันกับสิ่งอื่นๆ และเกี่ยวข้องมากไปอีกกับตัวเราเองจนเหนือการควบคุมของเราได้ ในการสนทนา มีสิ่งที่เกิดขึ้นมากจากตัวเรา มากกว่าสิ่งที่เรา “มีอยู่ใน” ตัวเราเสียอีก

เรามองไปที่ข้อเขียนหรือเรื่องราวต่างๆในสิ่งที่เราต้องการและจะนำไปใช้ มีปรากฎการณ์และกระบวนทัศน์มากมายที่สามารถสืบต่อจากยุคหลังทันสมัยได้

ก่อนยุคหลังทันสมัย ข้อเขียนทางปรัชญาหลายเรื่อง ถูกอ่านด้วยความพยายามที่จะเห็นเป็นระบบหรือโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกัน บางคนรู้สึกทำให้อับอายโดย Dewey ในเรื่องคุณค่าที่ “ขาดหาย” ไปมากกว่าการมีขึ้นของเรื่องขบวนการ บางคนกลับเน้นที่ “วิธีการสืบค้นสากล” ของเขาเป็นการทดแทนกัน คนส่วนมากปกป้องปรากฏการณ์เพื่อให้เป็น “การพรรณนาที่บริสุทธิ์ชัดแจ้ง” สำหรับยุคหลังทันสมัยแล้ว บางคนรื้อจัดโครงสร้างของข้อเขียนใหม่ในขณะที่กำลังอ่านมัน

มีบางสิ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เมื่อบางคนมองไปที่ข้อเขียนเหล่านี้ไม่เป็นแบบระบบปิด แต่เห็นว่านักปรัชญาที่เขียนเรื่องเหล่านั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับปริมณฑลที่เปิดรอไว้เสมอ เราพบว่าเขาไม่เพียงแต่ตระหนักในเรื่องนี้ แต่ “เป็นสิ่งที่เขาเอาใจใส่เป็นสำคัญ” ทีเดียว ไกลเกินกว่าที่จะถูกขุดค้นพบโดยยุคหลังทันสมัย รูปการณ์ทางปรัชญาเหล่านี้สามารถทำให้เราเคลื่อนและก้าวข้ามเลยไปได้

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ศาสตร์และกระบวนทัศน์นั้น เราพิจารณาขั้นตอนสามลักษณะของ Peirce ซึ่งบางทีทำให้เราเคลื่อนเลยไปจากกับดักของยุคหลังทันสมัยได้อีก เหมือนเครื่องส่งสัญญาณรับสัญญาณได้แล้ว ในเรื่องปรากฏการณ์ศาสตร์กล่าวไว้ว่า คำกล่าวอ้างใดๆไม่มีความเท่าเทียมกันกับประสบการณ์ ปรากฏการณ์ สถานการณ์ การปฏิบัติ เหตุการณ์…แนวคิดใหม่ของปรากฏการณ์ศาสตร์สามารถครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ จริงที่เดียวที่เพียงปรากฏการณ์ศาสตร์ก็สามารถเปิดเผยในลักษณะที่ประสบการณ์นั้นถูกสืบต่อด้วยคำพูดได้อย่างไร และให้ความคุ้นเคยกับเรา “ทั้งหมด” ด้วยความสัมพันธ์ในวงกว้างระหว่างประสบการณ์และคำกล่าวหรือถ้อยแถลงนั้นๆ

นี่ไม่ใช่การปฏิวัติซ้อนต่อยุคหลังทันสมัย มันเป็นการสืบเนื่องของการปฏิวัติที่กำลังเกิดขึ้น การสนทนา (ในการประชุมครั้งนี้) นั้นไม่ซับซ้อน ไม่เหมือนชื่อเรื่อง (APM) ในรายงานที่นำเสนอ บางรายละเอียดอาจให้ประเด็นที่เป็นไปได้ในอนาคต ตัวอย่างเช่นความจำเป็นที่ต้องข้ามเลยภาษาออกไป เราต้องกล่าวว่าเป็น “การเปิดโปง”—คำเดียวที่เข้าใจได้เพียง Heidegger หรือ? เราไม่สามารถ..เป็นเหมือนอย่าง Wittgenstein และ Heidegger ใช้คำใหม่สดขณะนี้กับคำว่า “เปิดโปง..disclosure” ในหลายๆวิธี (ตามแต่กรณีเป็นรายๆไป) โดยการเปิดเผยซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า ความคิดใหม่ การค้นพบ หรือการเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรง ได้หรือไม่? เมื่อเป็นที่เข้าใจ การเปิดเผยสำหรับคำว่า “เปิดโปง” สามารถระลึกถึงลักษณะงานทางปรัชญาได้เลย และแล้วคำว่า “ปรัชญา” สามารถนำความหมายเดิมกลับมาใช้ได้อีก อย่างที่บางคนกล่าวว่า การขุดคุ้ยกระบวนทัศน์ใต้จิตสำนึก “จะคงดำเนินต่อไป—โดยเพียงวิชาปรัชญาทำได้แค่นั้นเอง”

จำนวนผู้นิยมปรัชญาของ Wittgenstein เพิ่มจำนวนผู้นิยมโดยกลุ่ม Heideggerians มีหลายคนที่หยุดความคิดไปหลายปีระหว่างนั้นดูเหมือนว่า Wittgenstein คล้อยตามความคิดของนักปรัชญาแยกแยะ บางคน ถึงกลับไม่ยอมขัดขวางการรื้อฟื้น “รูปลักษณ์ของการวิเคราะห์” ขึ้นมา แต่ตัว Wittgenstein เองไม่ชอบที่เขาเองถูกเข้าใจผิดโดย Russell และสานุศิษย์ ว่าเขาสอนล่วงการก้าวข้ามเครื่องแบ่งกั้น

บางครั้ง Wittgenstein แสดงการใช้คำๆเดียวในความหมายแปลกๆจำนวนเป็นโหลๆ—ด้วยความหมายที่ชัดเจนและใหม่ เกิดจากการนำไปใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่เคยมีแนวคิด (ทางอภิปรัชญาและที่อื่น) ที่ถือเอาความหมายของคำต่างๆ คำเหล่านั้นหมายถึงผลที่กล่าวไว้—ในสถานการณ์—และที่ตรงนั้นมันสามารถหมายถึง “สิ่งนั้นๆในทุกชนิด” (ตามที่เคยกล่าวกัน) ไม่ใช่แค่ความหมายทั่วไปที่เคยใช้ ในเรื่องนี้แม้นักปรัชญาหลายคนสามารถเอาชนะแนวคิดเดิมของอภิปรัชญา ซึ่งไม่เคยบังคับในเรื่องความหมายของคำ เราอาจหลงไปเองกับความหมายทางอภิปรัชญา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้”เอาเสียเลย
อ้างถึงการรับรู้โดยกายสัมผัสนั้น บางคนอาจโต้แย้งว่ามนุษย์นั้นเป็นผลผลิตของสัตว์และพืชพันธ์—สรรพสิ่งที่มีชีวิตและตัวตนจัดการขบวนการของขั้นตอนชีวิตต่อไปด้วยตัวมันเอง กระบวนการของระบบจัดการตนเองนี้ เกี่ยวข้องกับส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ทีเดียว

มันเคยถูกตั้งคำถามว่า กายสัมผัสเชื่อมกันกับจักรวาลโดยตรงได้อย่างไร? โลกทางวัฒนธรรม ความเชื่อโบราณ และสิ่งศักดิ์สิทธ์ สามารถทำความเข้าใจร่วมกันและขยายผลต่อไปได้ ความเชื่องมงายและนิยายเทวะ เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน แล้วนิยายเทวะก็แยกออกมากลายเป็นตำนานของภาษา

เดี๋ยวนี้มีคำที่ใช้แพร่หลาย “การฝึกฝน..training” เรียกเป็น “การเพ่งรวมจุด..focusing” ซึ่งนำไปใช้ในการสอนปรัชญากับบางคนที่จะเชื่อมกันกับการรับรู้โดยกายสัมผัสได้อย่างไร? จะพบความมีสติที่มั่นคงและตรงกันข้ามกับการประจักษ์แจ้งอย่างไร? และจะบอกได้อย่างไร? เมื่อความมีสตินั้นดำเนินต่อไป หรือหยุดลงแล้ว การนึกได้โดยปัจจุบันทันด่วนถูกยกมาเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง ในเรื่องดนตรีแจ๊สแสดงให้เห็นโครงสร้างที่คงที่ (ด้วยเสียงเพลงที่เข้ากัน) สามารถทำให้เกิดอำนาจการเคลื่อนตัวที่สร้างสรรค์มากกว่าการหยุดยั้งมันไว้ การนึกได้อย่างปัจจุบันทันด่วนในกลุ่มยังแสดงให้เห็นการสัมพันธ์แก่กันและกันในทันทีทันใดและเราสามารถผลิตมันขึ้นมาได้

การคงไว้ของการเล่นและความขบขันของยุคหลังทันสมัย ไม่ได้ถูกรักษาไว้อย่างดีนัก คนเราส่วนมากเคร่งขรึมกัน ซึ่งการเล่นนั้นบางคนเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้โดยกายสัมผัส อาจชี้ให้เห็นว่าสัตว์ก็เล่นเช่นกัน “ลองเฝ้าดูซิ มันยอกล้อกันและกัน—ท่านอาจสงสัยว่ามันกำลังทำอะไรกันอยู่นี่? ร่องรอยความยินดีปรีดาปรากฏที่ใบหน้าของมัน ก็อาจกล่าวได้เลยว่า “มันกำลังทำเรื่องน่าอาย..เรื่องห้าแต้มออกมาแล้ว”

ในส่วนของวิทยาศาสตร์และตรรกะ อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังอ่อนล้ากับการขุดคุ้ยเรื่องราวเก่าๆของวัตถุนิยม เพียงมาวิจารณ์ มาเยาะเย้ย หาความสัมพันธ์ มองค่อนไปทาง “การรวมตัวกันใหม่” ของปรัชญาวิทยาศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์เอง

กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ (ทุกกิจกรรม) เกิดขึ้นในกาลเวลาปัจจุบันขณะนั้น นี่เป็นการจัดการเองซึ่งไม่เคยเป็นวัตถุประสงค์สมบูรณ์ในความคิดธรรมดาตอนนั้น มีผู้มีส่วนร่วมการสัมมนาสามคน กำลังศึกษาแบบจำลองใหม่ของเวลาหลายๆแบบ ซึ่งไม่ใช่เป็นการลดทอนหรือแม้แต่มุ่งความสำเร็จ ให้เห็นกันได้โจ่งแจ้ง เป็นแค่ระบบเส้นตรงแทนเรื่องเวลา

ที่ว่างรอบตัวและเวลา เป็นความสมดุลที่จบสิ้น และบ่อยครั้งถูกอธิบายในลักษณะของตัวเลขและแบบมิติ (แบบหนึ่งมิติ แบบสองมิติ Linear or Non-Linear..และอื่นๆ) การรวมกันของการแยกความสมดุลป์และการสร้างความสมดุล ทำให้เกิดความน่าฉงนโดยจบลงที่ตัวเลขทางมิติเป็นจำนวนเต็มและเปิดเผยจุดต่อเชื่อมทางมิติที่สร้างเป็นเหตุการณ์หนึ่งๆเกิดขึ้นมา

ผลเชิงประจักษ์ขึ้นอยู่กับสมมติฐาน—ไม่ใช่ทั้งหมด แต่รวมบางสิ่งที่ตอบสนองด้วย—และมากด้วยความเที่ยงตรงเท่าที่เราได้มา ธรรมชาติมีระเบียบที่ประนีตกว่าที่จะเข้าใจได้ด้วยระบบทางความคิดเดียว มันค่อนไปทาง “ระเบียบการตอบสนองกลับ” ซึ่งสม่ำเสมอแต่ตอบสนองแตกต่างกันในแต่ละความแตกต่างของขั้นตอนทั้งหลาย

แนวคิดนี้สามารถเป็นการบันทึกใหม่ของการค้นพบเชิงประจักษ์ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่วิกฤต ดีกว่าใช้การปฏิเสธลมๆแล้งของยุคหลังสมัยที่ไม่เชื่อถือในวิทยาศาสตร์แบบสังเกตการณ์เดิมๆ วิทยาการสามารถเป็นเครื่องวัดสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมในการพิสูจน์ได้สูงขึ้น รวมไปถึงความละเอียดในเรื่องสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อสร้างงานค้นคว้าเกี่ยวกับผลกระทบความเป็นมนุษย์กับการประยุกต์ใช้ของวิทยาการใหม่ (ซึ่งเดี๋ยวนี้ทำกันอย่างหลวมๆขาดการเอาใจใส่จริงจัง ไม่ตรงตามขั้นตอน) และการค้นพบเดี๋ยวนี้กลับไปที่ “การค้นคว้าขั้นพื้นฐาน” ด้วยทุนอุดหนุนที่มากมายจากหลายบรรษัท แต่นโยบายทางด้านสังคมยังเป็นเรื่องของ “วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน” โดยไม่รู้ว่าการประยุกต์ใช้นั้นจะเป็นลักษณะใด ..อย่าว่าแต่จะทราบผลกระทบของประชาชนโดยรวมนั้นเป็นอย่างไรได้เลย

มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะยกเลิกการลดทอนกระบวนการของมนุษย์เพื่อ “ความสมบูรณ์ ตรงตามวัตถุประสงค์ชัดเจน” ตามคำที่ใช้กันในวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน แต่ยังคงยึดถือวิทยาศาสตร์และตรรกะต่อไป—ไม่ใช่ลักษณะตัวแทน แต่เป็นแค่เพียงการตระหนักถึงความเป็นเครื่องมือเฉพาะเท่านั้นเอง.

เป็นไงบ้าง…มันดูเหมือนจะมีแนวคิดเรื่อง ดีคอนสตรั๊คชั่น แฝงอยู่ในแนวทางต่อจาก โพสท์โมเดิร์น อยู่เหมือนกัน หากเป็นมโนทัศน์ที่ได้รับแบบเลือนลาง พร่าๆมัวๆอยู่มาก เห็นต้อง..ติดตามศึกษาแนวคิดใหม่ๆพวกนี้ต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งแนวคิดของ Deconstruction กำลังโชติช่วงชัชวาลในงานออกแบบของสถาปนิกสำคัญสองคน คือ Peter Eisenman และ Bernard Tschumi …ที่น่าติดตาม …น่าติดตามจริงๆ

แนวคิดของ Deconstruction

ถ้าคุณไปเจอคำๆหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดหรือทฤษฎีในการออกแบบสถาปัตยกรรม เช่นคำว่า Deconstruction คุณอยากรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ..คุณจะเริ่มอย่างไรดี..ทางหนึ่งที่ผมลองทำคือ คุณก็ต้องไปฟังคนที่รู้เขาคุยกันก่อน ได้เรื่องราวพอสืบเสาะต่อไปก็จะได้ติดตามไปศึกษาตามที่เขาอ้างถึงไว้…ผมเริ่มได้ยินมาดังนี้…

คำว่า Deconstruction มันมีรากมาจากแนวทางด้านการเขียนหนังสือ เป็นการมองหาแนวทางที่ไม่ใช่แบบเดิม โดยเป็นการมองถึงรากของมันไม่ใช่แค่การปฏิเสธสิ่งที่เป็นอยู่ ณ วันนี้ แต่ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นแล้วลองเริ่มเดินกันใหม่ โดยเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามที่เป็นอยู่ ณ วันนี้เช่นกัน ..ทบทวนความรู้เดิมๆกันใหม่

แต่เมื่อมาถึงงานสถาปัตยกรรม (คาดว่า) สถาปนิกได้พยายามตีความการแสวงหาเป็นการทดลองสิ่งที่แตกต่าง โดยรักษารากและร่องรอยเดิมผสมผสานกับความใหม่ จึงออกมาในเรื่องของ Space Circulation การแบ่งแยก Function โดยมองในมิติใหม่ เช่น ผนังเอียง การเชื่อมระหว่าง Space การรับรู้ถึง effect ของที่ว่าง การรวม program (cross programming) อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการศึกษา decon เป็นการศึกษาวันนี้ว่าเป็นเช่นไร (เช่น ผนังเคยมีแต่ตรง ๆ) และมองไปถึงรากของมัน (เช่น ผนังเป็นการ define space ในลักษณะหนึ่ง) แล้วทดลองแสวงหาทางเลือกอื่น ๆ ตามมา (เช่น ผนังอาจจะเอียงก็ได้ และอาจจะไม่ใช่แค่ผนังก็ได้ที่เป็นคำตอบ) ไม่ใช่แค่การปฏิเสธสิ่งที่เป็นอยู่เท่านั้น …ทำแย้งกฏระเบียบและวิธีการทำแบบเดิมให้แตกต่าง..รื้อทิ้งแล้วจัดแจงใหม่
ในความคิดเห็นส่วนตัวผมว่าในปัจจุบันแนวทางนี้ยังไม่ไปถึงจุดสิ้นสุดตามแนวปรัชญาที่ว่าไว้ เพราะเมื่อเราจับต้องสิ่งที่เป็นแก่นของการมองที่เปลี่ยน บนรากของสิ่งที่เป็นอยู่ เรายังไม่สามารถจะ start at zero degree ได้จริง ๆ อาจจะต้องรื้อระบบการคิด (ไม่ใช่แค่รูปแบบการออกแบบ) ในวิธีการเดิม ๆ ไปเลย จึงจะสามารถหาสิ่งใหม่ได้จริง ๆ และท้ายที่สุดอาจจะกลับมาที่จุดเดิมก็เป็นได้ (ไม่รู้จริง ๆ) …อาจยอมถึงการรื้อการคิดแบบเดิมๆก็ได้

อีกท่านหนึ่งพูดไว้ต่อดังนี้…

Deconstruction คือการเสนอเรื่องราวที่ไม่รู้จบและไม่ได้ประกาศความตายของสถาปัตยกรรมต่อบริบทรอบข้าง (แบบเดิมๆ) Deconstruction สามารถดำรงอยู่และเดินคู่ไปกับวันเวลาที่เดินทางผ่านมา การก่อสร้างที่ดูเหมือนความเสร็จในความไม่เสร็จเป็นตัวให้เราระลึกอยู่เสมอและคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เหมือนกับชีวิตที่เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้าความไร้ระเบียบอาจนำมาซึ่งความเป็นระเบียบ ในการจัดการตัวของมันเอง (ตามทฤษฎีโกลาหล..Chaos theory) ทางแพ่งที่เราเองไม่อาจคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าถึงสถานที่ทีเราเลือกและไปได้ (สู่ทางหายนะหรือวัฒนาการ) การทบทวีคูณจาก 1 เป็น 2 - 2 เป็น 4 - 8 - 16 ........... เป็นไปได้ไม่รู้จบ (แบบ synergy การรวมเพิ่มแบบทวีคูณ)

เราจึงต้องดำเนินชีวิตและเติบโตต่อไป ดัง สถาปัตยกรรมในนาม DECONSTRUCTION
สองความเห็นข้างต้นของสถาปนิกนี้ เป็นความเข้าใจที่ลำบาก การถ่ายทอดความคิดความเข้าใจจากข้อเขียนมีหลายประเด็นที่ไปเกี่ยวกับสิ่งโน้นหน่อยสิ่งนี้หน่อย เช่นนำดีคอนสืบไปเกี่ยวกับทฤษฎีโกลาหล และการรวมกันของส่วนย่อยชนิดทวีคูณ หรือ synergy ในสาขาของวิชา system thinking or systems biology ทางชีววิทยา…หากมองความสัมพันธ์ในแง่ความคิดหรือการพูดกับการเขียนอธิบายความคิดแล้ว สถาปนิกจะเขียนอธิบายความคิดค่อนข้างเข้าใจยากมากทีเดียว…..
อีกคำตอบที่อาจารย์ ดร. ฐานิศว์ ตอบนิสิตผู้หนึ่งที่ถามว่า Deconstruction นั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับสถาปัตยกรรม และมีความแตกต่างหรือคลายคลึงกับแนวคิดแบบ Constructivism หรือไม่?…อาจารย์ตอบไว้ดังนี้…

โดยสรุปความว่า… ดีคอน คือแนวคิดแบบใหม่ เทคนิคคือการฉีกรื้อรูปทรงของสิ่งใดๆ (รวมถึงรูปทรงทางความคิดและภาษา) ออกมาดูกันใหม่ (ที่จริงเขาใช้คำว่า displace คือการเลื่อนที่ หรือย้ายตำแหน่ง ขยับใหม่) ซึ่งเป็นการท้าทายหรือฝ่าฝืนกฏเกณฑ์การออกบบเดิมๆ โดยเข้าใจว่าการคิดรื้อย้ายดังกล่าว จะได้รูปทรงใหม่ที่มีความหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แปลกกว่าเดิมๆ สถาปนิกที่นำความคิดนี้ไปใช้ทางสถาปัตยกรรม คือ Peter Eisenman และ Bernard Tschumi เป็นต้น ทั้งสองสถาปนิกเคยเชิญเจ้าของทฤษฎีนักปรัชญาเดิมคือ Jacques Derrida มาร่วมในงานออกแบบสถาปัตยกรรม สนองตอบในรูปแบบ Deconstructive Architecture คือการรื้อย้ายโครงรูปของ space แบบเดิมๆออก มีการจับหมุน จับวางซ้อนทับ (ในแนวแกนที่ต่างกัน) ฯลฯ เกิดรูปแบบแปลกๆ (ดูงานออกแบบต่อเติม The College of Design, Architecture, Art, and Planning at the University of Cincinnati )

อาจารย์ให้ความเห็นต่อไปว่า… แนวคิดของดีคอน ละทิ้งแนวทางการออกแบบที่ว่างและรูปทรงต่างจากเดิมๆ คือ Classic..ที่เน้นการคิดจากข้างนอก (structure and proportion) สู่ข้างใน Modern…ที่เน้นจากข้างใน (ประโยชน์ใช้สอย) ออกสู่รูปทรงภายนอก and Post-Modern…ที่ผสมผสานทั้งสองสิ่งกับบริบทโดยรอบของที่ตั้งและรูปทรงสัญลักษณ์เป็นสำคัญ ในส่วนของ Deconstruction นั้นใช้วิธีการขยับรื้อกฏเกณฑ์เดิมของการคิดเดิมทั้งหลาย เช่นการย้ายหมุน การซ้อนทับ ด้วยการเบี่ยงแกนหรือแนวในแต่ละชั้น (layers) ตลอดเวลา ทำให้ได้รูปทรงภายนอกที่แปลก ซับซ้อนกว่าเดิมโดยไม่คำนึงถึงบริบทที่คงที่ของที่ตั้งแต่จะสนองการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงเสมอๆ แม้แต่คุณค่าสถาปัตยกรรมแต่เดิมเพื่อการอยู่อาศัยหรือการใช้สอยนั้น Derrida แย้งว่าน่าจะเป็นคุณค่ารอง และสถาปัตยกรรมน่าจะเป็นเรื่องการสนองตอบทางการเสพปัญญาและอารมณ์ของมนุษย์ด้วย นอกเหนือจากคุณค่าเดิมดังกล่าว ส่วนในงานของ Tschumi นั้น เขามีความคิดที่แย้งว่าสถาปัตยกรรมเดิมมีรูปแบบเป็นกฏเกณฑ์ที่ตายตัวเกินไป บางส่วนแฝงไว้ในส่วนการใช้สอย เพื่อความเป็นอิสระต่อความคิด ควรพิจารณาการ deprogram or crossprogram…รื้อโปรแกรมเสียใหม่ นำมาแยกพิจารณาแล้วจึงนำกลับไปประกอบกันใหม่ งานของ Tschumi จึงเป็นการแยกแยะ space ของอาคารออกเป็น zone แล้วนำมาจัดเรียงกันใหม่ในลักษณะเหมือนการถักทอประสานกัน หรือบางครั้งเป็นการวางประจันกันอย่างที่เรียกว่า juxtaposion ด้วยวิธีการนี้ทำให้เกิดที่ว่างและรูปทรงในลักษณะใหม่ๆขึ้นมาแทนของเดิมๆ…..

นี่เป็นความเห็นที่อาจารย์ฐานิศว์แสดงไว้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมในการออกแบบทาง

สถาปัตยกรรม โดยวิเคราะห์จากงานของสถาปนิกที่สำคัญสองท่านคือ Peter Eisenman และ Bernard Tschumi ทั้งสองต่างเป็นสถาปนิกและนักการศึกษาในเวลาเดียวกัน ซึ่งเราคงต้องสำรวจผลงานการออกแบบของเขาต่อไป เพื่อจะได้เข้าใจแนวความคิดตามปรัชญาของ Deconstruction ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น..ว่ามันแตกต่างและสอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบเดิมๆนั้นมากน้อยเพียงไร..สามารถโยงต่อเชื่อมไปยังทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos theory) หรือทฤษฎีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (Quantum theory) ทางฟิสิกส์ได้หรือไม่ ? หากเรามองสถาปัตยกรรมเป็น “หน่วยหนึ่งของชีวิต” เราจะนำความรู้ทาง ชีววิทยากระบวนระบบ (Systems Biology) มาตอบสนองความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมได้มากน้อยเพียงไร…นี่เป็นสิ่งที่ต้องสืบรู้กันต่อๆไป

ต่อไปนี้เป็นความหมายที่เรียบเรียงมาจาก The Columbia Electronic Library …Presents Encyclopedia.com

Deconstruction ในทฤษฎีทางภาษาศาสตร์, ปรัชญา และอักษรศาสตร์ หมายถึงการเปิดเผย ขุดค้นและเสนอข้อสันนิษฐานต่างๆทางอภิปรัชญา ที่เกี่ยวข้องกับความพยายามอย่างมีระบบ เพื่อจะกำหนดมูลฐานของความรู้ โดยเฉพาะวินัยทางวิชาการ เช่น ศึกษาเรื่องของโครงสร้าง (structuralism) และสัญญาน-สัญลักษณ์ (sign&symbol as semiotics) ในทางภาษาศาสตร์ คำว่า deconstruction ถูกกำหนดโดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ Jacques Derrida ในราวปี 1960s. โดยทั่วไป deconstruction เกี่ยวข้องกับปรัชญาของความหมาย ที่สร้างขึ้นโดยนักเขียน นักแต่งตำราและนักอ่าน

ขยายความคิดมาจากปรัชญาที่อ้างถึงโดย Nietzsche และ Heidegger สำหรับ Derrida เขาวิจารณ์ปรัชญาตะวันตกเดิมทั้งหมดในการค้นพบโครงสร้างของความรู้และความจริงนั้น ที่มีข้อจำกัดในทางความคิดของมนุษย์ ในส่วนขยายต่อในทฤษฎีของเขาในเรื่องสถานะสมมุติ..ของการประนีประนอม (logocentrism) Derrida เสนอว่าข้อเขียนในตำราทั้งหลายมีรากฐานมาจากความสัมพันธ์เชิงลำดับขั้นของความตรงกันข้ามกัน (เช่น ความมีอยู่/ไม่มีอยู่ สิ่งเป็นจริง/สิ่งที่ปรากฏ ผู้ชาย/ผู้หญิง ฯลฯ) โดยคำแรกของคู่ตรงข้ามจะอ้างถึงความสำคัญที่มากกว่าและค่อนไปทางมีคุณค่าความจริง และทุกระบบความคิดมีศูนย์กลางสมมุติ หรือจุดทางคณิตศาสตร์ของอาคีมีดิส (Archimedean point) ที่ใช้เป็นรากฐาน ในเรื่องเกี่ยวกับการอ่านของพวก deconstructionist จิตใต้สำนึกและจุดที่ไม่ชัดแจ้งนี้จะถูกเปิดเผย โดยโครงสร้างแบบสองขั้วของข้อเขียนที่รอการระเบิดออกมา ดังนั้นอะไรที่ปรากฏสงบนิ่งอยู่จะรอความมีเหตุผลที่ถูกเปิดเผยโดยความไร้เหตุผลและจะเป็นสิ่งที่ผิดธรรมดาและจะถูกตีความที่เกิดจากธรรมชาติการตีความที่ผิดเพี้ยน

สำหรับพวก deconstructionist ความหมายรวมถึงอะไรที่ละทิ้ง ละเลย หรือเงียบเฉยไว้ในข้อเขียน เพราะว่า deconstruction เป็นการโจมตีในทุกทฤษฎีและทุกระบบของแนวคิดเคร่าๆที่มีอยู่ การโต้แย้งในเรื่องนี้ของ Derrida และคนอื่นมีจุดมุ่งหมายต่อต้านคำจำกัดความของความเป็นเหตุ-ผล และเลือกการอธิบายทดแทนด้วยการนำเสนอที่ไม่เป็นตามลำดับที่เกิดจากการเล่นคำและการเล่นสำนวนโวหาร พวก deconstructionists โน้มเอียงการเน้นที่การอ่านเนื้อความของข้อเขียนเป็นพิเศษ นักวิชาการจำนวนหนึ่งวิจารณ์แนวคิดตรงประเด็นนี้อย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม deconstruction ที่นำเสนออย่างชัดเจนโดยงานเขียนของ Derrida และสนับสนุนโดย Paul de Man และคนอื่นๆ มีผลกระทบในความรู้หลายสาขาในมหาวิทยาลัยอเมริกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาระหว่างปี 1970s และ 1980s. ในการขยายผลทางปรัชญาและทฤษฎีทางอักษรศาสตร์ เทคนิกวิธีและกระบวนทัศน์ของ deconstruction ได้การยอมรับจากนักวิชาการในแขนงวิชาประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา ทฤษฎีการศึกษา ภาษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ขณะที่โดยนัยทางทฤษฎีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยพวกปัญญาชนในปัจจุบัน แม้โดยทั่วไปเป็นที่นิยมและยอมรับ โดยการให้ทุนศึกษาในด้านสหวิชาการในระหว่างช่วงปี 1980s และ 1990s ซึ่งถูกมองเป็นการแตกแขนงของ deconstruction.

ทีนี้ลองมาพิจารณา Deconstruction ในแง่มุมของปรัชญา ต้นตอแรกของแนวคิด ดีคอน ….ตามบทความที่แปลและเรียบเรียงโดย คุณสมเกียรติ ตั้งนโมจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จากข้อเขียนต้นฉบับโดย James E. Faulconer

หาอ่านได้ในเว็บ…(http://www.geocities.com/middata/newpage6.html) บางส่วนผมตัดทอนมาดังนี้……

ท่านผู้แปลใช้คำแปลเป็นไทยว่า การรื้อโครงสร้าง… ไม่ใช่การทำลาย ผู้เรียกคำนี้ Deconstruction ครั้งแรกคือ ปรัชญาเมธีร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส Jacques Derrida ศัพท์นี้แพร่หลายในราวทศศตวรรษที่ ๖๐ และ ๗๐ ต่อมาโดยชาวอเมริกันจนขยายเป็นทฤษฎีครอบคลุมสาขาอื่นเช่น วรรณกรรม พฤกษศาสตร์ ศาสนาและอื่นๆต่อมา ซึ่งได้มีการนำไปใช้กันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งคำว่า deconstruction ได้กลายมามีความหมายว่า "การฉีกทึ้ง-การรื้อ" (โครงสร้าง) หรือ "การทำลาย" ทุกวันนี้ จะให้ดีที่สุด การใช้คำว่า to decontruct บางสิ่งบางอย่าง ก็คือ ฉีก (รื้อ) มันออกมา

Derrida ได้นำเอาคำว่า deconstruction มาจากงานของ Martin Heidegger. ในช่วงฤดูร้อนของปี 1927 Martin Heidegger ได้เสนอคำบรรยายชุดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน ได้รับการพิมพ์ขึ้นมาภายใต้ชื่อ Basic Problems of Phenomenology (ปัญหาพื้นฐานต่างๆเกี่ยวกับปรากฎการณ์วิทยา….วิธีการทางปรัชญา ที่ให้ความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับความสำนึกและวัตถุต่างๆจากประสบการณ์ตรง) Heidegger กล่าวว่า ปรากฎการณ์วิทยาเป็นชื่อของวิธีการอันหนึ่งในการศึกษาปรัชญา; เขากล่าวว่า วิธีการดังกล่าวมีขั้นตอนอยู่ 3 ขั้นด้วยกันคือ - การลดทอน, การสร้าง, และการทำลาย (reduction, construction, and destruction) - และเขาได้อธิบายว่า กระบวนการ 3 ขั้นตอน มีความเกี่ยวข้องกันและกัน. "การสร้าง" (construction) มีความจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวพันกับ "การทำลาย" (destruction), เขากล่าว, ต่อจากนั้นก็ได้ทำการวิเคราะห์ "การทำลาย" (destruction) ด้วย "การรื้อโครงสร้าง"(deconstruction = abbau), Heidegger อธิบายสิ่งที่เขาหมายถึง "การทำลายทางปรัชญา" โดยการใช้คำในภาษาเยอรมันเดิม ซึ่งเราอาจแปลมันตามตัวอักษรว่า "unbuild" เขาหมายถึง abbau ว่า deconstruction - เพื่อให้ความกระจ่างมากขึ้นว่า เขาไม่ได้ต้องการให้หมายความถึง "taking things apart" (ถอดสิ่งต่างๆออก) จริงๆ. Heidegger ไม่เชื่อว่ามันมีเครื่องมืออัตโนมัติที่เรียกว่า "เหตุผล" ซึ่งเรานำมาใช้โดยไม่คำนึงถึงภาษา, เวลา, สถานการณ์, สภาพแวดล้อมของเรา, หรือความสนใจต่างๆ, เพื่อวิจารณ์ความคิดต่างๆ. ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะไม่สามารถเริ่มต้นมาจากศูนย์ หรือจุดตั้งต้นของเหตุผลอันนั้น, หรือเป็นอิสระจากแนวความคิดต่างๆที่มีอยู่แล้ว, ศัพท์แสงต่างๆ, หรือวิธีการเข้าถึงทั้งหลาย, มันจึงปรากฎออกมาว่า เราได้ถูกบีบบังคับให้ทำซ้ำอดีตและความผิดพลาดของมัน. สำหรับ Derrida คำว่า deconstruction เป็นท่าทีอันหนึ่ง, ในความหมายระดับรากของคำๆนั้นเลยทีเดียว. มันคือตำแหน่ง(สมมุติ)หนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับบางสิ่งบางอย่าง….

ในแง่วรรณกรรมและการวิจารณ์วรรณกรรม Deconstruction แตกต่างไปจากวิธีการอื่นๆของการตั้งคำถามต่างๆเกี่ยวกับงานในแต่ละชิ้น, มันมีอะไรซึ่งมากไปกว่าการเปรียบเทียบผลงานดังกล่าวกับมาตรฐานภายนอก สำหรับอะไรที่ควรจะทำ (อย่างเช่น มาตรฐานทางศีลธรรม, มาตรฐานทางวิทยาศาสตร์, หรืออดุมการณ์ทางการเมือง), มันจะค้นหาช่องทางหรือวิธีการที่หนังสือเล่มนั้น ในตัวของมันเอง ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่มันได้ถูกมองข้ามไป. ….

Deconstruction เป็นรูปแบบหนึ่งของสิ่งที่ได้รับการเรียกว่า บทวิจารณ์ที่น่ากลัว . ยกตัวอย่างเช่น Derrida ได้เขียนเกี่ยวกับหมายเหตุอันหนึ่งในงานเขียนเรื่อง Being and Time of Heidegger เพื่อแสดงให้เห็นว่า -- ขณะที่อ่านหมายเหตุข้างใต้อย่างระมัดระวัง มันจะแสดงให้เห็นในเชิงความหมายและวัตถุประสงค์ - ข้ออ้างต่างๆของหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งซึ่งสร้างปัญหาให้ชวนสงสัย. ในข้อเท็จจริง, Derrida ให้เหตุผลว่า ผลงานของ Heidegger ได้แย้งกันในตัวของมันเอง.

แต่อย่างไรก็ตาม Deconstruction สำหรับ Derrida เป็นการวิจารณ์ที่แตกต่างไปจากการวิจารณ์ในเชิงอุดมคติและศีลธรรม. Derrida ไม่ได้รื้อ (deconstruct) ผลงานของ Heidegger แต่แสดงให้เห็นว่า Heidegger ควรที่จะเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวให้ดีกว่านี้. อันนี้ไม่เหมือนกับนักวิจารณ์หนังสือที่ดี, Derrida ไม่ได้ทำหน้าที่ซ่อมแซมงานของ Heidegger เพื่อเขา, เพียงให้เข้าใจกันเอาเองว่า ด้วยการแก้ไขเหล่านี้, อย่างน้อยที่สุดโดยหลักการ เราจะมีงานที่ดีกว่าขึ้นมาชิ้นหนึ่ง.

การวิจารณ์แบบนี้ (Deconstructive criticism) มิได้เจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเสนอแนะวิธีการอันใดอันหนึ่ง ที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ขึ้น, แต่กลับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ต่างหาก. Deconstruction ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผลงานชิ้นหนึ่งไม่ได้พูดถึงบางสิ่งบางอย่าง ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ, ไม่ใช่ว่ามันควรจะเป็น

Deconstruction ไม่ได้มุ่งหมายให้ภารกิจของมันที่กระทำลงไปทุกอย่าง จะถูกนำรวมเข้าไว้ด้วยกัน. นั่นเป็นไปไม่ได้. มันไม่ได้คาดว่า งานนี้จะมีผลในการนำรวมเข้าไปในอะไรที่มากกว่าสิ่งซึ่งได้ถูกรวมเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว; มันไม่ได้คิดเอาว่า งานของมันจะทำให้สิ่งต่างๆดีขึ้น ไม่สันนิษฐานว่ามันเป็น เป้าหมายอันหนึ่งต่อผลงานของ deconstruction, แม้ว่าจะเป็นเพียงในหลักการก็ตาม.

ประเด็นของ deconstruction ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่ไหนบ้าง ซึ่งบางสิ่งบางอย่างได้ถูกละเลยหรือถูกมองข้ามไป, ไม่ใช่เนื่องมาจากความมืดบอดของตัวผู้เขียน, ไม่ใช่เพราะนักวิจารณ์ฉลาดกว่าหรือดีกว่า, แต่เพราะว่านั่นเป็นเรื่องธรรมดาคือ มันมักจะมีสิ่งต่างๆที่ “ข้าพเจ้า” ไม่รู้เสมอๆ, แม้ว่าในความเป็นจริงโดยสัจจะนั้น “ข้าพเจ้า” ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ “ข้าพเจ้า” รู้.

Derrida สนใจใน "อวิชชา..nonknowledge" อันนี้ และผลงานของเขาก็เวียนวนอยู่กับสิ่งนี้
สมมุติฐานร่วมกันของ deconstruction (การรื้อโครงสร้าง) และเทวะวิทยาเชิงนิเสธ (negative theology) ก็คือ "ภาษา", ซึ่งในตัวมันเองมีข้อจำกัดและความจำเป็นที่จะประสบกับ "ความล้มเหลว" ในการที่จะพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างออกมาได้, ที่จะจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้, แต่อย่างไรก็ตาม มันได้พูดบางสิ่งบางอย่างออกมาเช่นกัน, แม้แต่บางสิ่งเกี่ยวกับสิ่งซึ่งล้มเหลวก็จะพูดด้วย. ถ้าหากว่าเราจะเอาเป็นเรื่องของเจตนา, เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า เจตนาของเราล้มเหลวที่จะบรรลุเป้าหมายของมัน, แต่อย่างไรก็ตาม มันได้ชี้นำไปสู่บางสิ่งบางอย่าง. ในสิ่งที่ตำรับตำราได้กันออกไป ได้ชี้ให้เห็นร่องรอยหลายๆอย่าง ภายในตำรับตำราต่างๆมากมายที่หลงลืมไป. Derrida สนใจในตรรกะอันนี้เกี่ยวกับสิ่งที่พูดและไม่ได้พูด, เกี่ยวกับสิ่งที่รวมเข้าไว้และที่กันออกไป, เกี่ยวกับการมีอยู่และไม่มีอยู่, เกี่ยวกับที่พูดออกมาให้ได้ยินและสิ่งที่เงียบเฉย, เกี่ยวกับความทรงจำและความหลงลืม.

บ่อยครั้งสิ่งที่ไม่ได้รับการพูดออกมาเป็นสาระสำคัญของความหมาย. แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่เพียงแต่เป็นสาระสำคัญอันหนึ่งของความหมายเท่านั้น. Deconstruction สามารถเป็นสาระสำคัญอันหนึ่งของตำรานั้นได้ละเลยอะไรไป, ได้มองข้าม หรือหลงลืมอะไรบางอย่าง. มันมีสิ่งอื่นๆอีกหลายหลากซึ่งเราอาจจะลืมไป, บางครั้ง เราไม่ได้ระลึกถึงพระเจ้า, แต่สำหรับบางคนมีความคาดหวังต่างๆต่อคำว่าพระเจ้าอย่างมาก.

Deconstruction เรียกร้องทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับ ความทรงจำ, ความสงสัย, การยกย่อง และความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำอันหนึ่งกับสิ่งที่เราหลงลืมไป, มากกว่าการอธิบายในสิ่งที่เราหลงลืมไปต่างๆ.

Deconstruction จะขัดจังหวะความราบรื่นไร้ร่องรอย (seamlessness)ที่เด่นชัดของตำรับตำราต่างๆและปฏิบัติการต่างๆ. ดังนั้น เราจึงมีโอกาสบางครั้งในการสังเกตุถึงสิ่งที่ทำให้ตำรับตำราและปฏิบัติการเหล่านั้นเป็นไปได้, แม้ว่าเราสามารถเพียงแค่สังเกตุ "มัน" จากร่องรอยหรือกลิ่นที่มันได้ทิ้งไว้เบื้องหลัง. มันอาจจะเป็นไปไม่ได้ง่ายที่จะระลึกถึงสิ่งที่เราหลงลืมไป, แต่อย่างน้อยที่สุด deconstruction เรียกร้องให้เรา ระลึกถึงความหลงลืมของเราบ้าง.

Deconstruction มิได้ไร้เดียงสาหรือง่ายๆและซื่อๆในสิ่งที่มันเปิดเผยกับเรา, ในสิ่งที่มันเรียกคืนความทรงจำของเรากลับมา. การเปรียบเทียบกับเทววิทยาในเชิงนิเสธเป็นสิ่งที่ชัดเจนจะแจ้งว่า deconstruction ของ Derrida ไม่ได้เป็นการไปซ่อมหรือปรับปรุงตำราของ Heidegger, เขาไม่เชื่อว่า deconstruction สามารถกระทำเช่นนั้นได้ แต่แสดงให้เราเห็นถึงเรื่องจริยธรรมและการละเลยในเรื่องอื่นๆของพวกเรา เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลุดรอดไปได้.

Deconstruction เป็นปรัชญาในลักษณะวิพากษ์, เป็นการใช้คำ ในลักษณะวิเคราะห์วิจารณ์ ในความหมายหรือเหตุผลเชิงปรัชญา มันแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆของหนังสือตำราหรือการปฏิบัติที่เรากำลังตรวจสอบ เพื่อว่าเราสามารถที่จะมองเห็นข้อจำกัดเหล่านั้น. บางครั้งความหมายต่างๆได้ถูกกระทบกระเทือน. บางครั้งความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าก็ไม่เป็นอย่างนั้น. บางคราวเราอาจไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำให้เกิดผล หรือแม้แต่ผลเราก็อาจไม่แน่ใจว่ามันเป็นผลจากการกระทำอันนั้น.

ผลอันเนื่องมาจาก Deconstruction, เราอาจจะหวนคิดถึงจุดมุ่งหมายต่างๆของเรา ต่อเนื่องไปถึงบางสิ่งอย่าง เช่น สภาพการณ์ที่เป็นอยู่. (ลักษณะคู่ขนานกับเทววิทยาเชิงนิเสธก็คือว่า เราอาจต่อเนื่องไปพูดถึงสิ่งเดียวกันเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า). เราอาจจะ, เลือกบางสิ่งที่ใหม่ขึ้นมาแทน (เราอาจสร้างเทววิทยาใหม่ๆขึ้น), แต่ถ้าหากว่าเราทำเช่นนั้น ก็จะต้องรู้ต่อไปด้วยว่า ผลที่ตามมานั้น เราอาจจะละเลยหรือกีดกันกลุ่มหรือผู้คนต่างๆ, หรือความคิด หรือ.อะไรอื่นๆ.. ออกไป.

ด้วยเหตุนี้ สำหรับ Derrida แล้ว, แม้ว่า deconstruction จะเกี่ยวพันกันกับหนังสือ ตำรับตำราต่างๆ, แต่มันก็ไม่ใช่ระเบียบวิธีอันหนึ่งในการวิจารณ์จับผิดหนังสือตำราแต่อย่างใด, ไม่ว่าจะเป็นการเขียน, สภาพของสังคม, หรืออื่นๆ. อันที่จริงแล้ว Deconstruction เป็นท่าทีอันหนึ่ง, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีในเชิงจริยธรรม (ใช้คำนั้นในความหมายที่ L vinus ใช้มัน, เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์โดยพื้นฐาน, ไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือชี้ขาดสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ในความสัมพันธ์ต่างๆเหล่านั้น). ในประเด็นสำหรับข้ออ้างต่างๆในตำรับตำราและการวิเคราะห์. มันเป็นท่าทีของความต่อเนื่องต่อความทรงจำและความต่อเนื่องต่อการยกย่อง.

ในเทอมของ Aristotle, deconstruction คือท่าทีอันหนึ่งเกี่ยวกับความสงสัยที่ต่อเนื่อง ส่วนในเทอมต่างๆของ Socrates, มันเป็นช่วงของความไม่รู้ (อวิชชา), ของสิ่งที่ในสมัยกลางต่อมาเรียกว่า "ความไม่รู้ที่ได้รับการเรียนรู้" Deconstruction เป็นช่วงขณะหนึ่งในความต่อเนื่องของปรัชญา

จากคำสัมภาษณ์ของ Jacques Derrida….. Deconstruction จะตั้งคำถามต่อข้อสรุป, ใจความสาระสำคัญ, cและความมีตำแหน่งแหล่งที่ (logocentrism) ของทุกสิ่งทุกอย่าง.... เราต้องศึกษาแบบจำลองต่างๆและประวัติศาสตร์ของแบบจำลองทั้งหลาย หลังจากนั้น ไม่พยายามที่จะล้มล้างพวกมันเพื่อวัตถุประสงค์ของการทำลายล้างพวกมัน แต่เพื่อเปลี่ยนแปลงแบบจำลองต่างๆ และคิดค้นหนทางใหม่ของการเขียน - ซึ่งไม่ใช่ในฐานะของการท้าทายที่เป็นทางการ, แต่เพื่อหลักจริยธรรม, เหตุผลต่างๆทางการเมือง.

ข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับการโยนตำรับตำราต่างๆไปสู่ความยุ่งเหยิงสับสน. อันดับแรก, วาทกรรมหรือคำอธิบายในทางวิชาการของมืออาชีพเกี่ยวกับ deconstruction ไม่ได้หมายถึงการทำลายบรรทัดฐานต่างๆ หรือผลักไสบรรทัดฐานเหล่านี้ไปสู่ความไร้ระเบียบแบบสุดๆ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยหรือสนับสนุนความสับสนอลหม่าน.

ข้าพเจ้าจะเริ่มต้นด้วยจารีตประเพณี. ถ้าหากว่าคุณไม่ได้รับการฝึกฝนมาแบบจารีต, ถ้าเป็นเช่นนั้น Deconstruiction ก็ไม่มีความหมายอะไร. มันเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรเลยจริงๆ. ข้าพเจ้าคิดว่า ถ้าสิ่งที่ถูกเรียกว่า "deconstruction" ได้ผลิตสิ่งที่เป็นความไม่เอาใจใส่เกี่ยวกับผู้เขียนงานคลาสสิคทั้งหลาย, ตำรับตำราเกี่ยวกับวินัยหรือกฎเกณฑ์ และอื่นๆ, เราควรจะต่อสู้กับมัน.... ข้าพเจ้าสนับสนุนเกี่ยวกับวินัยหรือกฎเกณฑ์, แต่ข้าพเจ้าจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น. ข้าพเจ้าคิดว่า บรรดานักศึกษาทั้งหลาย ควรจะอ่านสิ่งที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นตำรับตำราอันยิ่งใหญ่ในขนบประเพณีของเรา.... บรรดานักศึกษาสามารถที่จะพัฒนา, กล่าวคือ, ปฏิบัติการเกี่ยวกับ deconstruction ขึ้นมา – แต่เพียงในขอบเขตที่พวกเขา "รู้" ถึงสิ่งที่พวกเขากำลัง "deconstructing": มันคือเครือข่ายอันมากมายของคำถามหรือข้อสงสัยอื่นๆ.

ข้าพเจ้าคิดว่า ผู้คนซึ่งพยายามที่จะเป็นตัวแทนสิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังทำ หรือสิ่งที่เรียกขานกันว่า "deconstruction" กำลังทำ, ในด้านหนึ่งนั้น พยายามที่จะทำลายวัฒนธรรม หรือในอีกด้านหนึ่งนั้น เพื่อลดมันลงมาสู่ชนิดหนึ่งของการปฏิเสธ (nagativity), ลดมันลงมาสู่ชนิดหนึ่งของความจบสิ้น, ผู้คนเหล่านี้ต่างก็เป็นตัวแทน deconstruction ที่ผิดๆ.

Deconstruction โดยสาระแล้ว เป็นเรื่องของการยืนยัน. มันให้การสนับสนุนของการยืนยันอีกครั้งเกี่ยวกับความทรงจำ, แต่การยืนยันซ้ำสองอันนี้เกี่ยวกับความทรงจำได้ถามไถ่ถึงข้อสงสัยที่สุ่มเสี่ยงมาก และอันตรายอย่างสุดๆเกี่ยวกับจารีตประเพณีของเรา, เกี่ยวกับสถาบันต่างๆของเรา, เกี่ยวกับวิถีการสอนของเรา และอื่นๆ...."

ต้องขอขอบคุณผู้เขียนและผู้แปลบทความนี้ ทำให้เราได้ทราบความคิดเชิงปรัชญา ที่สามารถจินตนาการไปสู่ความคิดของตนเองในทางสถาปัตยกรรมได้กว้างขวางยิ่งขึ้น..สิ่งหนึ่งของปรัชญา ดีคอน คือการมองหาสิ่งที่ขาดหายไปในงานและความคิดทั้งหลาย เสมือนเป็นความรู้ที่ตกหล่นไปไม่เป็นความสมบูรณ์ ตามที่นักปรัชญารุ่นก่อนๆคาดหวังกันไว้ “ว่ามี” ในทางปรัชญาทางพุทธศาสนามีผู้รู้แปลความหมายของความสมบูรณ์ คือสภาวะ “นิพพาน” คือความหยั่งรู้ในความไม่สมบูรณ์ของสรรพสิ่ง ที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร ไม่มีสถานะภาพคงที่ และมีสถานะภาพของการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา “โครงสร้าง” ของสรรพสิ่งทั้งหลายจึงพร้อมตอบรับการรื้อแต่งได้ตลอดเวลา เพื่อสร้างรูปแบบโครงสร้างของการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆต่อไป Deconstruction จึงเป็นการรื้อโครงสร้างเสียใหม่ ไม่ใช่การทำลาย (destruction) อย่างแน่นอน

ต่อไปนี้..เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมในแนวคิดของ Deconstruction………

Bernard Tschumi

Image: Lerner Student Center, Columbia University, New York, USA Photo: Peter Mauss/EST
'Form follows fiction' ….รูปทรงเกิดจากนิยาย…หรือเรื่องแต่งขึ้นบวกจินตนาการ... เป็นตัวอย่างหนึ่งในกฏเกณฑ์การกล่าวถึงสถาปัตยกรรมในแง่ หมายเหตุทางสถาปัตยกรรม…Architectonic notation ของ Bernard Tschumi ซึ่งทำให้เขาเป็นนักคิดทางทฤษฎีสถาปัตยกรรมที่มีผู้กล่าวถึงมากมาย เขานำความคิดนี้ไปประยุกต์กับปัญหาออกแบบทางด้านสถาบันทางวัฒนธรรมและการศึกษา นำไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบจริงจนประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองคือ ในโครงการการออกแบบ the Parc de la Villette in Paris, 1998 (จะมีรายละเอียดต่อไป). ซึ่งก่อสร้างบนเนื้อที่ ๑๒๕ เอเคอร์ เป็นสถานที่ที่งดงามประกอบด้วยกลุ่มอาคารทางเดินเท้า สะพาน และสวนที่สวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนถึงแปดล้านคนต่อปี โครงการออกแบบนี้สะท้อนความเป็นอัจฉริยะภาพในการออกแบบของเขา รวมทั้งโครงการอื่นๆเช่น
Le Fresnoy National Studio for Contemporary Arts (1997);
Lerner Hall Student Center at Columbia University (1999);
the Marne La Vallee School of Architecture (1999); และสถานีขนส่ง Flon พร้อมสะพานคนข้ามในเมือง Lausanne (2000 --projected).

เขาเกิดและสำเร็จการศึกษา (1969) ที่ the Eidgenossische Technische Hochschule เมือง Zurich ในประเทศ Switzerland, ในระหว่างปี ค.ศ. 1970 ถึง 1979 Tschumi สอนสถาปัตยกรรมที่ the Architectural Association (England), Cooper Union (New York), the Institute for Architecture and Urban Studies ในเมือง New York และที่มหาวิทยาลัย Princeton. ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 จนถึงปัจจุบัน เขาเป็นคณบดี ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ การวางผัง และการอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1975 เคยจัดงานนิทรรศการ "A Space, a Thousand Words" ใน New York เขาได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย เช่น the Legion d'Honneur (1986), the Ordre des Arts et Lettres (1998), the French Grand Prix National d'Architecture (1996), the British Royal Victoria Medal (1994), and the American Architecture Award (1999). เขียนหนังสือสี่-ห้าเล่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย (มีอยู่ในห้องสมุดคณะฯ) หนึ่งในนั้นคือ Bernard Tschumi. Architecture and Disjunction. MIT Press, April 1996. ISBN 0262700603.








๖ แนวคิดของ Bernard Tschumiตัดทอนมาจาก Architecture and Disjunction (สถาปัตยกรรมและความขัดแย้งที่ไม่ลงลอยกันได้)

แนวคิดที่ ๑: Technologies of Defamiliarization
(วิทยาการของการรื้อทิ้งสิ่งที่คุ้นเคย )

ในราวกลางปี-1970s มีการรวมตัวกันต่อต้านเล็กๆน้อยๆของสถาปนิกในส่วนต่างๆของโลก เช่น อังกฤษ ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น (ในส่วนเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของวัฒนธรรมหลังอุตสาหกรรม) – เริ่มจากการถือประโยชน์ของสถานะการณ์ที่เปราะบาง ตื้นเขิน จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นการต่อต้านมันไปเลย หากเป็นความคิดที่คุ้นเคยและแพร่หลาย – มโนทัศน์ที่คุ้นๆ เกิดขึ้นในปี 1920s จากยุคทันสมัย หรือ จากยุคคลาสิกของศตวรรษที่ ๑๘ -- การต่อต้านหนึ่งก็คือขจัดความคุ้นเคยนั้นเสีย หากเป็นสิ่งใหม่ ที่มีการประนีประนอมหรือส่งเสริมการรื้อทิ้งความเป็นจริงเดิมๆ ซึ่งอาจเป็นได้…อาจเป็น ..เราก็ควรเอาประโยชน์ของการรื้อทิ้งสิ่งนั้น หรือยินดีที่มันแตกออกเป็นเสี่ยง ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยเร่งและกระตุ้นการยกเลิกความถาวร ความเป็นศูนย์กลาง ความเคยเป็นมาของประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมโดยรวมในโลกของข่าวสารที่เกิดขึ้นเมื่อในราว ๒๐ ปีที่แล้วมา ช่วยสะท้อน “แง่มุม” ใหม่ๆมากมาย เช่นในเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆของศาสนา การเกิดทัศนะใหม่ในเรื่องสตรี คนต่างด้าว พวกรักร่วมเพศ พวกชนกลุ่มน้อย และพวกที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นปกติสุขใน ”สังคม”เดิมที่เราเคยเชื่อกัน ในเรื่องเฉพาะของสถาปัตยกรรม การรื้อทิ้งความคุ้นเคยเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด เช่น ถ้าการออกแบบหน้าต่างเพียงเพื่อเป็นการตกแต่งผิวเปลือกอาคาร เราก็อาจเริ่มมองวิธีออกแบบใหม่โดยที่ไม่มีหน้าต่าง หรือถ้าเป็นการออกแบบเสาเพื่อการรองรับโครงสร้างแบบเดิมๆ เราก็อาจยกเลิกมันเสียทั้งหมดไปเลย
MoMA Building Project Finalists NewYork,1982

Entrance plaza- MoMA Building Project Finalists

แม้ว่าพวกสถาปนิกที่เกี่ยวข้องอาจไม่ยอมรับหรือไม่ยอมเอนเอียงไปกับความก้าวหน้าของวิทยาการใหม่ๆ แต่ก็ควรเอาประโยชน์กับการพัฒนาการร่วมสมัยนั้น ที่น่าสนใจ คือวิทยาการเฉพาะ – เครื่องปรับอากาศ หรือการก่อสร้างโครงสร้างชนิดเบา หรือ ระบบทางสัญจรโดยคอมพิวเตอร์ – ให้กลายเป็นความรู้ใหม่ในวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรม ผมขอเน้นตรงนี้… เพราะวิทยาการที่ก้าวหน้าอื่น เช่น การประดิษฐ์ลิฟท์ หรือการพัฒนาของโครงสร้างเหล็กในศตวรรษที่ ๑๙ ที่แล้วมา ได้กลายเป็นเรื่องราวศึกษาที่มากมายของนักประวัติศาสตร์ แต่น้อยนักที่จะปรากฏให้เห็นในเรื่องวิทยาการร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะมันยังไม่ก่อให้เกิดผลของรูปแบบทางประวัติศาสตร์เลย

ผมเลี่ยงไปเรื่องเทคโนโลยี เพราะว่าเทคโนโลยีนั้นเกี่ยวข้องกับสถานะการณ์ปัจจุบันของเราอย่างแยกกันไม่ออก อาจกล่าวได้ว่า สังคมเดี๋ยวนี้ คือ “สิ่งที่เกี่ยวกับ” สื่อ และความเป็นสื่อกลาง ทำให้เรารู้ว่าทิศทางที่กำหนดโดยเทคโนโลยี อันมีส่วนลดความสำคัญของธรรมชาติที่ผ่านทางเทคโนโลยี ให้น้อยกว่าการพัฒนาการของข้อมูลข่าวสารและโครงสร้างของโลกในรูปชุดของ “จินตภาพ” อีกครั้งที่สถาปนิกต้องเข้าและถือเอาประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ ในถ้อยคำของนักเขียนฝรั่งเศส นักปรัชญา และสถาปนิก Paul Virilio,”เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับวิทยาการทางการก่อสร้างอีกต่อไป แต่ยุ่งกับการก่อสร้างวิทยาการ”

Concert Hall & Exhibition Complex in Rouen, France.

The School of Architecture Marne La Vallee,France

CONCEPT II: The Mediated “Metropolitan” Shock (การขัดขวางความสะดุ้งตกใจของเมืองมหานคร)

แสงริบหรี่ที่คงที่ของจินตภาพ สร้างความประหลาดใจให้กับเรา มากเท่ากับ Walter Benjamin ในข้อเขียนเรื่อง The Work of Art in the Age of Mechanical Reproduction. ผมเกลียดที่จะอ้างถึง “คลาสสิค” แต่บทวิเคราะห์ของ Gianni Vattimo ในข้อเขียนนี้ชี้ให้เห็นและได้ความกระจ่างของสถานะการณ์ร่วมสมัย เมื่อ Benjamin กล่าวถึงการหวนระลึกถึงของจินตภาพต่างๆ เขาชี้ให้เห็นความสูญเสีย“รัศมี” ในคุณค่า เพราะการแลกเปลี่ยนหรือสับเปลี่ยนกันและกันของจินตภาพเหล่านั้น และนั้นเป็นยุคของข้อมูลบริสุทธ์ ที่ยึดถือกัน ได้สร้าง “ความสะดุ้งตกใจ”—ความสะดุ้งตกใจของจินตภาพและสิ่งเกี่ยวข้องที่ทำให้ประหลาดใจ ผลนี้ทำให้จินตภาพโดดเด่นออกมา สะท้อนคุณลักษณะของสถานะการณ์ร่วมสมัย และอันตรายของชีวิตในมหานครที่ทันสมัย.

ภัยอันตรายเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความกังวลในใจอย่างเรื่อยมาที่จะค้นหาตัวเองในโลกนี้ ในทุกสิ่งที่เคยดีงามและไม่ต้องมีมูลค่า ประสบการณ์ในความกังวลใจนี้เคยเป็นประสบการณ์หนึ่งของ การรื้อทิ้งความคุ้นเคย หรือประสบการณ์ของความลี้ลับ

ในหลายแนวทาง ประสบการณ์ความสุนทรีย์ในทัศนะของ Benjamin ประกอบด้วยการรักษาการรื้อทิ้งความคุ้นเคยให้เกิดขึ้น ขัดแย้งและตรงข้าม—กับความคุ้นเคย ความมั่นคง, geborgenheit. ผมอยากชี้ให้เห็นประเด็นการวิเคราะห์ของ Benjamin ที่โต้ตอบชัดเจนต่อการเผชิญหน้ากันระหว่างประวัติศาสตร์และปรัชญาของสถาปัตยกรรม ประสบการณ์ของสถาปัตยกรรมเป็นบางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความคุ้นเคยหรือ ?—อย่างเช่น รูปแบบของ “ศิลปะ”—หรือ ในทางกลับกัน มันคือบางสิ่งที่หมายถึงความสุขสบาย heimlich น่าอยู่ บางสิ่งที่ให้ความปลอดภัยหรือ ? แน่นอน ในสิ่งนี้มีคนหวนรำลึกถึงความขัดแย้งกันระหว่างผู้เห็นสถาปัตยกรรมและเมืองของเราเป็นดังเช่นสถานที่ของประสบการณ์และการทดลอง และสะท้อนให้เห็นสังคมร่วมสมัยอย่างตื่นเต้น – ในอีกทัศนะที่เขาพบว่ามันเป็นเหมือน “หลายสิ่งที่กระทบกระทั่งกันในยามค่ำคืน” นั่นคือ “รื้อทิ้งและทำลายด้วยตนเอง—แล้วอีกพวกที่เห็นว่าบทบาทของสถาปัตยกรรม คือ การรื้อฟื้นความคุ้นเคย ส่งเสริมสภาพแวดล้อม ค้นหา หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นพวกพยายามอธิบายในความเป็นนักประวัติศาสตร์ นักสภาพแวดล้อม และพวกนักคิดหลังทันสมัย ทั้งๆที่ยุคหลังทันสมัยในสถาปัตยกรรม กลับกลายเป็นเรื่องรูปจำลองของสมัยคลาสิกและเรื่องในทำนองประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน

โดยความเป็นสาธารณะ สถาปัตยกรรมจะยืนตามหลังความเป็นประเพณีเสมอ ในทัศนะคติสาธารณะ สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสบาย เกี่ยวกับที่พังพิงอาศัย เกี่ยวกับอิฐและปูน อย่างไรก็ตาม บางพวกคิดว่าสถาปัตยกรรมไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความสบาย และ geborgenheit แต่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของสังคมและการพัฒนาการของมัน เครื่องช่วยของความสะดุ้งตกใจ กลายเป็นเครื่องมือที่ขาดเสียไม่ได้ เมือง เช่น นิวยอร์ค—หรือบางทีเป็นเพราะ—การไร้ที่อยู่อาศัยของคนราวสองพันคนถูกฆาตกรรมทุกปี กลายเป็นผลลัพท์ของยุคหลังอุตสาหกรรมได้เท่าเทียมกันกับยุคก่อนอุตสาหกรรมของ Georg Simmel (grosstadt) ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าฉงนและน่ากลัวสำหรับ Benjamin สถาปัตยกรรมในเมืองมหานคร อาจต้องค้นหาคำตอบมากมายของ “ความไม่คุ้นเคย” ต่อปัญหานี้มากกว่าการเงียบเฉย คงไว้ซึ่งคำตอบเรื่องความสบายของสังคมที่มั่นคง

เร็วๆนี้ เราได้พบการค้นคว้าใหม่ที่สำคัญเกี่ยวกับเมืองที่เปราะบางและหลงทิศทาง โดยสาเหตุของการซ้อนทับของหลายสิ่งที่ไม่ได้สัดส่วนกัน เช่น ทางด่วน ศูนย์การค้า อาคารสูง และบ้านหลังเล็กๆที่ส่งสัญญาณ ของความมีชีวิตชีวาของวัฒนธรรมชุมชน ขัดแย้งกับการหวนหาอดีตในความพยายามที่จะซ่อมแซมคงไว้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปของถนนและลานโล่ง งานค้นคว้านี้บ่งชี้ถึงเหตุการณ์ที่สะท้อนออกมาจากความสะดุ้งตกใจของชุมชน ตอกย้ำและเร่งประสบการณ์ชุมชนผ่านความแตกสลายและความขัดแย้ง คนละความหมายและไม่เกี่ยวข้องกันและกัน

กลับมาที่เรื่องสื่อ (ตัวกลาง) ในยุคของการจำลองแบบ เราได้เห็นเทคนิคการก่อสร้างธรรมดาทั่วไปของโครงและผิวเปลือก ตอบสนองกันแบบตาราง และน่ากลัวอันตรายของวัฒนธรรมสื่อ และการขยายตัวอย่างคงที่อย่างไร ต่อการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ต่อความพอใจในคลื่นที่ต้องการบ่อยๆของสื่อ เราได้เห็นการยอมรับเหตุผลนี้ ซึ่งหมายถึง บางงานถูกเปลี่ยนแปลงกันภายในโดยคนอื่น ราวกับเราเร่งสลัดผิวของอาคารที่อยู่อาศัย แล้วแทนมันด้วยสิ่งอื่น เราได้เห็นด้วยว่า ความสะดุ้งตกใจเกิดต่อต้านกับการหวนรำลึกถึงความถาวรหรืออำนาจ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมทั่วๆไปหรือแม้แต่สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องเฉพาะ

ล่วงเลยมาร่วม ๕๐ กว่าปี หลังงานการพิมพ์ข้อเขียนของ Benjamin เราอาจกล่าวได้ว่า ความสะดุ้งตกใจคือทั้งหมดที่เราละไว้ในการสื่อสารในเวลาของข้อมูลที่ครอบคลุมทั่วๆไป ในโลกของการสื่อกัน การผ่อนปรนนี้ต้องการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องการความเข้าใจเชิงปฏิเสธ แต่การเพิ่มการเปลี่ยนแปลงและเชื่อมประสานกันนั้น หมายรวมถึงความอ่อนล้าลงของสถาปัตยกรรม ในการเน้นที่รูปทรง อำนาจ สิทธ์ขาด ดังเช่นในประวัติศาสตร์ที่แล้วมาร่วมหกพันปี

CONCEPT III: De-structuring
(การรื้อสร้างโครงกันใหม่)

“การอ่อนล้า” ของสถาปัตยกรรมนี้ เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและจินตภาพ โครงสร้างกับผิวเปลือก เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการตรวจสอบและโต้ตอบกันให้เห็นกันชัดๆ ซึ่งในเร็วๆนี้กระทำเป็นวงจรกันอยู่ในสถาปัตยกรรม เช่น โครงสร้าง vs การตกแต่ง ตั้งแต่ยุคเรเนซองค์ทฤษฎีสถาปัตยกรรมให้ความแตกต่างระหว่างโครงสร้างและการตกแต่ง และกำหนดความสัมพันธ์เชิงลดหลั่นกันระหว่างกัน. อ้างถึงคำกล่าวของ Leon Battista Alberti: “การตกแต่งลวดลาย ให้ลักษณะจำเพาะเพิ่มขึ้นมา” ลวดลายนั้นหมายถึงการเพิ่มเติม แต่มันต้องไม่ท้าทายหรือทำให้โครงสร้างอ่อนแอ
The School of Architecture Marne La Vallee,France

The School of Architecture Marne La Vallee,France

แต่ความสัมพันธ์ที่ลดหลั่นความสำคัญกันนั้นมีความหมายอะไรในปัจจุบันนี้ ในเมื่อโครงสร้างยังคงเป็นเช่นเดิม—ซ้ำๆต่อเนื่องโดยมีแนวหรือตารางเป็นตัวประสานไม่มีที่สิ้นสุด ปัจจุบันส่วนมากของการก่อสร้างในประเทศ (สหรัฐอเมริกา) นี้ ด้านก่อสร้างทางโครงสร้างมีแนวคิดที่เคร่งครัด มีกฏเกณฑ์ที่คล้ายๆกัน เช่น โครงประสานของไม้ เหล็กและคอนกรีต อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การตัดสินใจว่าจะสร้างโครงประสานของวัสดุเหล่านี้หรือไม่ มักตกอยู่ในดุลพินิจของวิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์ (เรื่องงบประมาณ) มากกว่าสถาปนิก สถาปนิกไม่มีส่วนในการตั้งคำถามเรื่องโครงสร้าง โครงสร้าง “ต้อง” มั่นคงแข็งแรง หลังจากนั้นเป็นเรื่องของจำนวนเงินค่าประกัน (ความน่าเชื่อถือ) หากมีการพังเกิดขึ้น นี่เป็นผลในการบอกปัดเรื่องคำถามในเรื่องโครงสร้าง โครงสร้างต้องสมดุลป์ มิฉะนั้น โครงจะพัง—โครง คือทั้งของอาคารและโครงของความคิดทั้งหมด ในการเปรียบเทียบกับวิทยศาสตร์ หรือปรัชญา สถาปัตยกรรมแทบจะไม่มีคำถามในขั้นมูลฐานเอาเลย

ผลที่เป็นดังนี้ก็เพราะเหตุจาก “จิตใจที่ซ้ำซากจนเป็นนิสัย” ในงานสถาปัตยกรรมที่ว่าโครงสร้างของอาคาร ไม่หวังที่ต้องมีคำถามมากมายเหมือนที่เราไม่ตั้งเคยตั้งคำถามเครื่องฉายภาพยนต์ขณะที่กำลังดูหนัง หรือกลไกภายในเครื่องรับโทรทัศน์เมื่อกำลังดูภาพของรายการต่างๆบนจอทีวี นักสังคมวิทยาจะตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพ แทบจะไม่เกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์ โครงร่างของภาพเลย จนเมื่อผ่านมาร่วมยี่สิบปี เราเริ่มเห็นการซักถามเช่นนี้ นักปรัชญาร่วมสมัย ได้จับความสัมพันธ์ระหว่างโครงร่างกับภาพ—โครงร่างนี้ถูกมองเหมือนโครงสร้าง ลวดเหล็กอ่อนทีพันกันในไดนาโม และภาพก็เหมือนสิ่งตกแต่งหรือลวดลายประดับไว้. ข้อเขียนของ Jacques Derrida (Parergon) ได้บอกเราถึงคำถามระหว่างโครงร่างและภาพ แม้เราอาจเถียงว่ากรอบของภาพวาดไม่เหมือนทีเดียวกับโครงสร้างของอาคาร—อันหนึ่งเป็นภายนอก ขณะที่อีกอันเป็นภายใน—ผมจะยึดการขัดแย้งนี้เป็นบรรทัดฐาน ตามประเพณีนั้น ทั้งโครง. โครงร่าง และโครงสร้างทำหน้าที่เดียวกันคือการ “รวมไว้ในหลายสิ่งเข้าด้วยกัน”

CONCEPT VI: Superimposition
(การแต่งเติมเสริมกันพิเศษ)

คำถามของโครงสร้างนี้นำไสู่การโต้เถียงในอีกแง่หนึ่งของสถาปัตยกรรม ชื่อว่า deconstruction จากที่เริ่มต้นการโต้เถียงกันของ deconstruction รวมความแล้วเกี่ยวข้องกับความคิดของนักทฤษฎี post-structuralist ซึ่งเป็นที่สนใจของพวกสถาปนิกส่วนน้อย เพราะมันดูเหมือนเป็นคำถามหลักที่พวกกระแสความคิดหลังทันสมัยพยายามนำเสนอ เมื่อผมพบกับ Jacques Derrida เป็นครั้งแรก ได้พยายามที่จะชวนเขาให้นำงานของเขามาเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม เขากลับถามผมว่า “สถาปนิกจะสนใจ deconstruction ได้อย่างไร? ในเมื่อ deconstruction ต่อต้านรูปทรง ต่อต้านความสัมพันธ์เชิงลดหลั่น ต่อต้านโครงสร้าง และตรงข้ามโดยรวมที่ว่าสถาปัตยกรรมยืนอยู่—อย่างเด่นชัดด้วยเหตุผล ผมตอบกลับไป

หลายปีผ่านไป การตีความหลายชั้น ที่สถาปนิกตอบสนอง ให้กับdeconstruction มากมายกลายเป็นทฤษฎีของ deconstruction ที่ซับซ้อนหลายชั้นมากขึ้น เกินกว่าที่นักอ่านหรือผู้สนใจเรื่องนี้คาดหวังได้ สำหรับสถาปนิกคนหนึ่ง มันต้องกระทำด้วยการพราง สำหรับคนอื่น ด้วยการทำเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สำหรับอีกคน ด้วยการเข้าสรวมแทนที่ อีกครั้งที่ต้องอ้างถึง Nietzsche: “ไม่มีข้อเท็จจริง นอกจากการตีความที่ไม่มีที่สิ้นสุด” และในไม่ช้า อาจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าสถาปนิกหลายคนร่วมกันไม่ชอบเรื่องเล่าขานของพวกหลังทันสมัย “historicist postmodernists” หรือความฉงนสนเท่ห์ที่เหมือนกันกับพวกก้าวหน้าในราวศตวรรษที่ ๒๐ ต้นๆ deconstructivism เกิดขึ้น—ทันทีถูกกำหนดให้เรียกเป็น “รูปลักษณ์ ..style” หนึ่ง – เห็นได้ชัดว่าสถาปนิกเหล่านี้พยายามที่จะหลีกเลี่ยง ความสนใจในความคิดของ post-structuralist และ deconstruction มีรากฐานจากข้อเท็จจริงที่ท้าทายต่อ ความคิดหนึ่งเดียวบ่งบอกชุดของภาพหลายๆภาพ ความคิดของสิ่งที่แน่นอน และที่ชัดคือ ท้าทายความคิดของภาษาที่ถือว่าเหมือนกัน

สถาปนิกนักทฤษฎี--ตามที่เขาเรียกกัน—ต้องการเผชิญหน้าตรงกันข้ามกับสถาปัตยกรรมจารีตนิยม เช่น รูปแบบเผชิญกับประโยชน์ใช้สอย หรือนามธรรมเผชิญกับรูปปรากฏ อย่างไรก็ตามเขายังท้าทายการประยุกต์ใช้ความสัมพันธ์เชิงลำดับชั้น ที่กลับซ้อนเร้นกลายเป็นการแก่งแย่งกัน เช่น “รูปทรงขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย, สิ่งประดับหรือลวดลายรับใช้โครงสร้าง” การไม่ยอมรับความสัมพันธ์แบบลำดับชั้น นำไปสู่ความฉงนของภาพต่างๆที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันของ “ทั้งคู่” และ “ไม่ใช่ทั้งคู่” จินตภาพทั้งหลายถูกวางซ้อนทับหรือจัดวางแต่งเติมกันและกัน การแต่งเติมให้กันและกันกลายเป็นเครื่องมือ อันหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ในงานของผมเอง (ด้วยจินตภาพล้วน) ในหนังสือของผมเรื่อง The Manhattan Transcripts (1981) or The Screenplays (1977), เครื่องมือนี้ใช้ครั้งแรกโดยการหยิบยืมมาจาก ทฤษฎีทางภาพยนต์ และ nouveau roman. ใน Transcripts ความแตกต่างระหว่างโครงสร้าง (หรือกรอบแต่ละภาพของฟิล์ม) รูปทรง (หรือที่ว่าง) เหตุการณ์ (หรือประโยชน์ใช้สอย) ร่างกาย (หรือการเคลื่อนไหว) นิยาย (หรือการบรรยาย) นั้นมีความไม่แน่ไม่นอนเลือนลางเท่าๆกันโดยผ่านการแต่งเติมให้กันและกัน ปะทะกันและกัน บิดเบี้ยวด้วยกัน แตกสลายเป็นชิ้นๆเหมือนกัน เป็นต้น เราจะพบว่าการแต่งเติมเสริมกัน (superimposition) นี้ถูกนำไปใช้ในงานสถาปัตยกรรมอย่างเงียบๆโดย Peter Eisenman ที่มีการซ้อนทับกันสำหรับโครงการออกแบบ Romeo and Juliet นำเสนอเชิงอักษรศาสตร์และปรัชญาเป็นคู่ขนานที่เห็นได้ชัด ความแตกต่างจากความเป็นจริงเหล่านี้ ท้าทายการตีความเดี่ยวๆ และการพยายามแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมที่คงเส้นคงวาแน่นอน การก้าวข้ามระหว่างวรรณคดีทางภาพยนต์และสถาปัตยกรรม (“มันเป็นบทละคร หรือสถานที่ของสถาปัตยกรรมกันแน่ ?”)

งานทำนองนี้ได้ประโยชน์มากในสภาพแวดล้อมของมหาวิยาลัยและงานฉากทางศิลปกรรม—นิทรรศการแสดงภาพและการพิมพ์—ที่ซึ่งมีการเชื่อมโยงระหว่างแขนงวิชาที่แตกต่างกัน ยอมให้สถาปนิกพล่ามัวในความแตกต่างระหว่าง ศิลปวัตถุ ไม่ลดละในการตั้งคำถามหลักการทางสถาปัตยกรรมและความสัมพันธ์แบบลำดับชั้นของรูปทรง ดังนั้น ถ้าผมตรวจสอบงานของผมกับผู้ร่วมงานในขณะนี้ ผมคงกล่าวได้ว่าทั้งสองเกิดขึ้นมาจาก การวิจารณ์สถาปัตยกรรม จากธรรมชาติของสถาปัตยกรรม มันได้ถอดรื้อแนวคิดหลายอย่าง และกลายเป็นเครื่องมือทางความคิดที่สำคัญ แต่มันไม่สามารถอ้างถึงสิ่งเดียวที่ทำให้งานของสถาปนิกแตกต่างไปจากงานของนักปรัชญา วัตถุนิยม ได้มากนัก

เพียงแต่เป็นความมีเหตุผลของ ถ้อยคำและแบบที่ขีดเขียน ความมีเหตุผลของวัสดุ และไม่เหมือนกันกับที่เคยเป็นมาก่อน อย่างไรก็ตาม ส่วนมากลบล้างสิ่งที่เคยปฏิบัติมา บางสิ่งกลับต่อต้านอย่างรุนแรง คำพูดหนึ่งคำไม่เท่ากับคอนกรีตบล็อกหนึ่งก้อน แนวคิดของความเป็นสุนัขไม่ใช่การเห่า อ้างคำกล่าวของ Gilles Deleuze, “แนวความคิดของฟิล์มไม่ใช่สิ่งที่บันทึกไว้ในฟิล์ม ” เมื่อการอุปมา และ catachreses ถูกเปลี่ยนเป็นอาคาร มันกลายเป็นแผ่นไม้หรือกระดาษที่เข้ากันกับชุดของเวที เป็นลวดลายประดับประดาอีกครั้ง เสาหินปะที่ไม่สัมผัสดินไม่เป็นโครงสร้าง กลับกลายเป็นสิ่งประดับ ใช่เลย เรื่องเล่าขานและการบรรยายประกอบภาพเป็นสิ่งที่น่าฉงนของพวกสถาปนิก บางทีอาจเป็นเพราะ ศัตรูของเราอาจกล่าวว่าเรารู้เกี่ยวกับหนังสือมากกว่าอาคาร

Lay-out, The Schl. of Arch. M. La Valee

Exterior, The School of Architecture Marne La Vallee,France

ผมไม่มีเวลาใส่ใจกับความแตกต่างระหว่างการตีความสองอย่างในบทบาทของนิยายทางสถาปัตยกรรม การตีความหนึ่งเรียกว่าการยึดติดกับ “ประวัติศาสตร์แบบหลังทันสมัย.. historicist postmodernist” และอีกทัศนะของการตีความที่ยึดติดกับ “deconstructivist neo-modernist..ความทันสมัยแนวใหม่” แม้ว่าทั้งสองการตีความนี้จะเกิดมาจากความสนใจเรื่องภาษาศาสตร์และการสื่อความหมาย.. semiology กลุ่มแรกเห็นว่าการเล่าขาน..นิยาย และการบรรยายโวหารเป็นเค้าโครงของคำอุปมา เป็นเค้าโครงของ architecture parlante ใหม่, ของ รูปทรง ใหม่, ขณะที่อีกกลุ่มเห็นว่า นิยายและบทภาพยนต์ เปรียบได้กับ โปรแกรม..ข้อกำหนดและประโยชน์ใช้สอย ผมอยากขอเน้นในกลุ่มหลังนี้ แทนที่จะจัดแจงเรื่องคุณสมบัติของรูปทรงทางสถาปัตยกรรม เราอาจหันไปมองทดแทนในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายในอาคารและเมือง ประโยชน์ใช้สอย โปรแกรม มิติของประวัติศาสตร์ที่เหมาะสมของสถาปัตยกรรม Roland Barthes เขียนเรื่อง Structural Analysis of Narratives เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เจาะจงโดยตรงไปที่ขั้นตอนของที่ว่างและข้อกำหนดการใช้ เรื่องเดียวที่คล้ายคลึงกันกับทฤษฎีของ Sergei Eisenstein เรื่องภาพต่อเนื่องทางภาพยนตร์… film montage

CONCEPT V: Crossprogramming
(การเฉไฉข้อกำหนด)

สถาปัตยกรรมเกี่ยวข้องอย่างมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทีว่างหรือแม้กับที่ว่างเอง อาคารทรงรูปกลมของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย The Columbia University Rotunda เป็นห้องสมุด มันเคยถูกใช้เป็นห้องเลี้ยงรับรอง เป็นห้องเรียน บางวันก็อาจใช้เป็นที่เล่นกีฬาของมหาวิทยาลัยด้วย ช่างเป็นที่น่าประหลาดใจเพียงไรที่สระว่ายน้ำเกิดขึ้นในอาคารทรงกลมนี้ ท่านอาจนึกว่าผมพูดตลก แต่จริงๆแล้วในทุกวันนี้ สถานีรถไฟกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และโบสถ์กลายเป็นสถานบันเทิง เป็นกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว การแลกเปลี่ยนสลับกันทั้งรูปทรงและการใช้สอย ต่างจากจารีตนิยมเดิม ในกฎเกณฑ์เรื่องความสัมพันธ์ของเหตุ-กับผลที่ยึดถือของพวกทันสมัยนินม จะไม่ใช่ ประโยชน์ใช้สอยขึ้นกับรูปทรง รูปทรงก็ไม่ขึ้นกับประโยชน์ใช้สอย--หรือเรื่องราวเล่าขานที่ถือเป็นสาระ—อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างแน่นอนต่อไป การกระโจนลงสระน้ำสีน้ำเงินรูปทรงกลม—เป็นส่วนหนึ่งของ ความสะดุ้งตกใจ

ถ้าความสะดุ้งตกใจไม่จำเป็นต้องเกิดจากความสำเร็จในการวางเคียงกันของรูปด้านหน้าอาคารและในห้องโถงทางเข้า อาจสร้างการวางเคียงกันของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังสิ่งที่กล่าวทั้งสอง ถ้า “เคารพความเลอะเทอะในการแยกแยะทั้งหมดเหล่านี้ การทดแทนหน้าที่กันสม่ำเสมอ ความสับสนในรูปแบบของศิลปวัตถุ ” -- เหมือนคำอธิบายโดยนักวิจารณ์ Andreas Huyssens ให้กับ Jean Baudrillard ว่าด้านซ้ายกับด้านขวาคล้ายคลึงกัน—aเป็นแนวทางใหม่ของคนในยุคนี้ มันอาจใช้เป็นประโยชน์สำหรับบางคนได้ เป็นประโยชน์สำหรับให้มีความกระฉับกระเฉงขึ้นสำหรับสถาปัตยกรรมมากขึ้น ถ้าสถาปัตยกรรมเป็นทั้งสองของ แนวคิดกับประสบการณ์ ที่ว่างกับการใช้ประโยชน์ โครงสร้างกับจินตภาพที่ปะไว้—ไม่เป็นแบบสัมพันธ์ที่เป็นลำดับกัน—ดังนี้แล้ว สถาปัตยกรรมจะหยุดการแยกแยะเป็นส่วนต่างๆ หากแต่หลอมรวมกันในแบบต่างจากการรวมกันเดิมๆของข้อกำหนด..โปรแกรมกับที่ว่าง กลายเป็น.. “Crossprogramming,” “transprogramming,” “disprogramming:” ซึ่งผมได้ขยายความแนวคิดเหล่านี้ไว้ที่อื่นแล้ว โดยแนะว่าเป็นเรื่องการเลื่อนที่และความเลอะเทอะ

CONCEPT VI: Events: The Turning Point
(เหตุการณ์..จุดเปลี่ยนหักเห)

งานของผมในราวปี 1970s ตอกย้ำเสมอๆว่า ไม่มีสถาปัตยกรรมที่ขาดเรื่องเหตุการณ์ ไม่มีสถาปัตยกรรมที่ขาดการกระทำ ขาดกิจกรรม ขาดประโยชน์ใช้สอยต่างๆ สถาปัตยกรรมถูกมองเป็นการรวมกันของที่ว่าง เหตุการณ์ และการเคลื่อนไหวที่ไม่สัมพันธ์ในแบบลำดับชั้น แต่มีความเสมอภาคกันทั้งหมด ความสัมพันธ์ต่อกันเชิงลำดับชั้นนั้น เช่น การมีเหตุ-จึงมีผล ตามมานั้น เช่นระหว่างรูปทรงกับประโยชน์ใช้สอย เป็นสิ่งที่ยึดถือกันมาในความคิดทางสถาปัตยกรรม—อันหนึ่งที่ให้ความเชื่อมั่นในการช่วยเหลือปกป้องชีวิตทางสังคม ซึ่งบอกเราว่าการอยู่อาศัยในบ้าน “ต้องออกแบบที่ตอบสนองความต้องการ” หรือในเมืองที่ถูกวางผังเหมือนเครื่องจักร์กลที่มีชีวิต Geborgenheit กฏเณฑ์นี้นำไปสู่ความขัดแย้งทั้งเรื่องแท้จริงของความยินดีปรีดาของสถาปัตยกรรมที่ไม่คาดคิด และความจริงของชีวิตชุมชนร่วมยุคสมัยที่มีการปลุกเร้าและไม่มีแนวทางที่กำหนดได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ในงานเช่น The Manhattan Transcripts, คำจำกัดความของสถาปัตยกรรมจึงไม่สามารถเป็นรูปทรงหรือผนัง (แยกกั้น) ต่างๆ แต่ต้องเป็นการรวมกันของความหลากหลาย ที่อาจเป็นเรื่องการเข้ากันไม่ได้เลย

จากงานประกวดแบบ Carnegie Science Center Competition ของ B. Tschumi

การสอดแทรกเรื่อง “เหตุการณ์” และ “การเคลื่อนไหว” เข้าไปนั้น ได้รับอิทธิพลความคิดจาก การบรรยายของ พวกนักสถานะการณ์ในยุค `68 ที่ว่า ไม่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในความคิดของเราด้วย การสร้างแนวรั้วกั้น (ประโยชน์ใช้สอย) ของถนน (รูปทรง) สายหนึ่งในนครปารีส ไม่เพียงพอที่ควรจะเป็นประโยชน์ใช้สอยเช่นเดียวกันกับถนนนั้น การกินอาหาร (ประโยชน์ใช้สอย) ในอาคารรูปทรงกลม (รูปทรง) ไม่เท่าเทียมกันกับการว่ายน้ำในอาคารหลังนั้น นี่เป็นการหยุดยั้งความสัมพันธ์ในเชิงลำดับชั้น แต่นี่ไม่เหมือนกับการรวมกันของเหตุการณ์และที่ว่างที่ถูกจัดเป็นความสามารถที่กลับกัน กลายเป็นความท้าทาย ขัดแย้งกันทั้งประโยชน์ใช้สอยและที่ว่าง การเผชิญหน้าแบบคู่ขนานของงานพวก Surrealists ด้วย (ภาพเขียน) การประชุมกันของจักรเย็บผ้า ร่ม บนโต๊ะผ่าตัด หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น Rem Koolhaas บรรยายในเรื่อง the Downtown Athletic Club ว่า: “กินหอยนางรมด้วยนวมสรวมมือ และแต่งตัวเปลือย อยู่บนชั้นที่ n “
ทุกวันนี้ในเมืองโตเกียว เราพบว่าข้อกำหนดการใช้พื้นที่หลายอย่างกระจายไปทั่วทุกชั้นในอาคารสูง ห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ ศูนย์สุขภาพ และสถานีรถไฟ ด้วยการจัดสวนไว้บนหลังคา และเราจะพบที่แตกต่างอื่นๆอีกในอนาคต คืออาคารสนามบินอาจเป็นทั้งสวนสนุก ศูนย์กีฬา โรงภาพยนต์ และอื่นๆในเวลาเดียวกัน โดยข้ออ้างที่ว่าเป็นโอกาสที่สิ่งเหล่านี้รวมกันได้ หรือไม่ก็เกี่ยวกับราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้น ความสัมพันธ์ที่ไม่เกี่ยวกับเหตุ-ผล ของรูปทรงและประโยชน์ใช้สอย ที่ว่างกับกิจกรรม นี้เกิดขึ้นไกลเกินกว่าการเผชิญหน้าอย่างไม่คาดฝันในสิ่งที่ไม่น่าอยู่เคียงกันได้ Michel Foucault ถูกอ้างถึงในหนังสือของ John Rajchman ขยายคำจำกัดความของคำว่า “เหตุการณ์” ที่ไกลเกินกว่าความหมายของกิจกรรมหรือการกระทำเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด และอ้างไปถึง “เหตุการณ์ของความนึกคิด” ด้วย สำหรับ Foucault เหตุการณ์หนึ่งไม่เป็นเพียงลำดับทางเหตุผลอย่างคำพูดหรือการกระทำ แต่ “เป็นช่วงเวลาของการสึกกร่อน ผุพัง มีคำถาม หรือปัญหาของการคาดการณ์ในแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างประมาณไม่ได้ บางครั้งเพราะโอกาศและความเป็นไปได้จากสิ่งอื่น จากเหตุการณ์อื่นที่แตกต่างกันก็ได้” เหตุการณ์เช่นนี้ถูกมองเป็น จุดเปลี่ยน อันหนึ่ง—ไม่ใช่จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด—เป็นสิ่งโต้แย้งคำกล่าวอ้างที่ว่า “รูปแบบขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย” ผมใคร่เสนอว่าอนาคตของสถาปัตยกรรมขึ้นอยู่กับการสร้างสรรเหตุการณ์เช่นนี้

ความสำคัญของการจัดที่ว่างเกี่ยวข้องกับเรื่องเหตุการณ์ แนวคิดเช่นนี้ต่างจากโครงการของการออกแบบยุคทันสมัย ซึ่งยอมรับการจัดการที่เป็นไปไม่ได้ และขัดขวางคำถามมากมายของ ความหลากหลาย ความปริแยก กำหนดลักษณะของภูมิประเทศไม่ได้

สองสามปีต่อมาในบทความเกี่ยวกับ the follies of the Parc de la Villette, Jacques Derrida ขยายความของคำว่าเหตุการณ์ โดยเรียกมันว่า “การอุบัติขึ้นของการเพิ่มทวีที่เหลือทน..the emergence of a disparate multiplicity.” ผมขอรบเร้าเรื่องนี้อย่างแข็งขัน ในการสนทนาที่นี่และที่อื่นๆว่า กรณีเหล่านี้เรียกว่า ความงี่เง่า.. folies เป็นจุดประสงค์ของกิจกรรม ของข้อกำหนด ของสถานการณ์ Derrida ขยายความแนวคิดนี้ เสนอความเป็นไปได้ของ “เหตุการณ์สถาปัตยกรรม”หนึ่งๆ ควรเป็น “ดังเหตุการณ์” หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งในประวัติศาสตร์และประเพณีของเรา คือความเข้าใจที่ยึดมั่น มีค่า มั่นคง เป็นสิ่งถาวร เขาเคยแนะนำไว้แล้วว่า คำว่า “เหตุการณ์” มีส่วนร่วมกับคำว่า สิ่งประดิษฐ์ ดังนั้นความเข้าใจของเหตุการณ์ ของกิจกรรมในที่ว่าง ของจุดเปลี่ยนแปร เป็นการประดิษฐ์ คิดค้นขึ้นมา ผมอยากผสมผสานสิ่งนี้กับความเข้าในเรื่องความสะดุ้งตกใจ ความสะดุ้งตกใจแต่ละครั้งจะมีผลในวัฒนธรรมสื่อ ในวัฒนธรรมของการสร้างภาพ ต้องไปไกลกว่าคำจำกัดความของ Walter Benjamin และการรวม มโนทัศน์ของประโยชน์ใช้สอย หรือการกระทำกับจินตภาพนั้น จริงทีเดียวที่สถาปัตยกรรมพบตัวเองในสถานการณ์ที่สำคัญๆ มันเป็นเพียงหลักการซึ่งโดยการรวมกันของแนวความคิดกับประสบการณ์ จินตภาพกับประโยชน์ จินตภาพกับโครงสร้าง นักปรัชญาสามารถเขียน นักคณิตศาสตร์สามารถพัฒนาที่ว่างจำลองเหมือนจริง แต่สถาปนิกเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นนักโทษของศิลปพันธ์ทาง ที่ซึ่งจินตภาพปรากฏให้เห็นได้ยากโดยปราศจากการรวมกับกิจกรรม
มันเป็นความพอใจของผมที่ว่า ไกลกว่าแขนงวิชานี้คือความเป็นทุกข์ที่ไม่สามารถตั้งคำถามเรื่องโครงสร้างและรากฐานของอาคาร มันเป็นแขนงวิชา ที่การค้นพบยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นในศตวรรษหน้าต่อไป ความผสมปนเปในคำจำกัดความสถาปัตยกรรม—ให้ความหมายของเหตุการณ์ สถานที่ของความสะดุ้งตกใจ หรือสถานที่ ที่คิดค้นขึ้นมาด้วยตัวมันเอง เหตุการณ์คือสถานที่ ที่ซึ่งการคิดใหม่ สร้างขึ้นใหม่ บนความแตกต่างขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม หลายสิ่งซึ่งเป็นผล และบวกด้วยความอยุติธรรมทางสังคมร่วมสมัย อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ โดยคำจำกัดความ มันเป็นสถานที่ของการรวมความแตกต่างทั้งหลาย

สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นจากการเลียนแบบของการประดับประดาที่เกิดขึ้นในอดีตที่แล้วมาของศตวรรษที่ ๑๘ และมันก็จะไม่เกิดขึ้นโดยการวิจารณ์ง่ายๆ ผ่านการออกแบบ บนความคลาดเคลื่อนและความไม่แน่นอนหลากหลายในเงื่อนใขร่วมสมัยในปัจจุบัน ผมไม่เชื่อสิ่งนี้จะเป็นไปได้ ไม่เชื่อว่าน่าเชื่อได้ ที่จะออกแบบด้วย ความเคร่งครัด พยายามพรางโครงสร้างที่เป็นจารีตนิยม ซึ่งเสนอรูปทรงที่เกิดขึ้นระหว่างความเป็นนามธรรมกับความเป็นรูปธรรม หรือระหว่างโครงสร้างกับการประดับประดา หรือการตัดทิ้งและเปลี่ยนแปลงเหตุผลทางสุนทรียศาสตร์ สถาปัตยกรรมไม่ใช่ศิลปะที่โจ่งแจ้ง มันไม่ใช่ทฤษฎีที่แจ่มชัด (ผมไม่เชื่อว่าท่านจะออกแบบด้วยการรื้อทิ้งโครงสร้าง… deconstruction.) ท่านไม่สามารถออกแบบเมืองและสถาปัตยกรรมของมัน แต่จะสามารถออกแบบเงื่อนไขซึ่งมันเป็นไปได้ที่จะไม่สัมพันธ์กันแบบลำดับชั้นได้ ไม่ตามประเพณีนิยมทางสังคมที่เกิดขึ้น. โดยความเข้าใจในธรรมชาติของสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งครอบครองโดยสื่อ สถาปนิกเป็นเจ้าของความเป็นไปได้ที่จะสร้างเงื่อนไขและจะสร้างสรรเมืองใหม่ความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างที่ว่างและเหตุการณ์

สถาปัตยกรรมไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขในการออกแบบ แต่จะเกี่ยวกับการออกแบบเงื่อนไข ซึ่งเปลี่ยนแปลงแบบจารีตนิยมเดิมๆเสียใหม่ ลดถอยความคิดของสังคมของเราและจัดการกับองค์ประกอบที่เป็นอิสระ เสียใหม่ในเวลาเดียวกัน ที่ซึ่งประสบการณ์ของเรากลายเป็นประสบการณ์ของเหตุการณ์ต่างที่จัดขึ้น ด้วยยุทธวิธีผ่านทางสถาปัตยกรรม ยุทธวิธีคือนัยสำคัญทางสถาปัตยกรรมปัจจุบันนี้ ไม่มีผังแม่บท ไม่มีการกำหนดที่ตั้งในที่ๆถาวร แต่เป็น การผสมผเสกันแบบใหม่ นี่คือเมืองที่ควรจะเป็นและสนับสนุนให้สถาปนิกต้องช่วยให้ชาวเมืองบรรลุความสมประสงค์ด้วยความรู้สึกที่แรงกล้าต่อการปะทะกับของเหตุการณ์และที่ว่างต่างๆ เมืองโตเกียวและเมืองนิวยอร์คดูเหมือนปรากฏของความยุ่งเหยิงที่เห็น แท้จริงมันเป็นเครื่องหมายปรากฏของเมืองในลักษณะโครงสร้างชุมชนใหม่ และมีคุณค่าของชุมชนแบบใหม่ ด้วยการเผชิญหน้าและรวมกันขององค์ประกอบต่างๆที่อำนวยรูปแแบของเหตุการณ์ ความสะดุ้งตกใจ แก่เรา ซึ่งผมหวังว่าจะทำให้สถาปัตยกรรมในเมืองของเราเป็น จุดเปลี่ยนแปร ทางวัฒนธรรมและสังคมในอนาคต

ที่นี้ลองมาดูตัวอย่างงานออกแบบและอ่านงานเขียนอธิบายที่เป็นรูปธรรมของ Bernard Tschumi…
Parc de la Villette
Paris, France
Credits: http://www.tschumi.com/

การประกวดแบบโครงการ the Parc de la Villette ดำเนินการโดยรัฐบาลฝรั่งเศษในปี 1982. จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นทั้งเครื่องหมายแสดงวิสัยทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตที่มีนครปารีสเป็นศูนย์กลาง เหมือนกับโครงการใหญ่อื่นๆ เช่น โรงอุปรากรที่เมือง Bastille, ปิระมิดหน้าพระราชวัง Louvre หรือประโค้งที่ Tête-Défense,

สำหรับ the Parc de la Villette เป็นศูนย์กลางของการโต้เถียงกันและแลกเปลี่ยนสาระของกันและกัน เป็นครั้งแรกของการประกวดแบบ เมื่อภูมิสถาปนิกขัดขวางความท้าทายของสถาปนิกอย่างรุนแรง ในช่วงวิกฤติที่มีการเปลี่ยนแปลงการจัดทำงบประมาณของทางรัฐบาล

The Parc de la Villette ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างชิ้นสุดท้ายของนครปารีส มีเนื้อที่รวม 125 เอเคอร์ (เดิมเป็นที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์) อยู่ทางตอนเหนือของเมือง ระหว่างสถานีรถไฟใต้ดิน Porte de Pantin และ Porte de la Villette. มีด้านยาว ๑ กิโลเมตร และด้านกว้าง ๗๐๐ เมตร La Villette รวมเอาโปรแกรมไว้หลายอย่างในพื้นที่ เช่น สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และอุตสาหะกรรมขนาดใหญ่ เมืองดนตรี ศาลาแสดงนิทรรศการและการแสดงดนตรีสมัยใหม่
ตามชื่อของโครงการ, สวนถูกกำหนดในการประกวดแบบให้เป็นภูมิสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย ในทางตรงกันข้ามกับบทสรุปของ “สวนชุมชนแห่งศตวรรษที่ ๒๑“ ซึ่งพัฒนาด้วยโปรแกรมที่ซับซ้อนของสิ่งอำนวยประโยชน์ทางวัฒนธรรมและบันเทิง ประกอบด้วยโรงมหรสพแบบเปิด ภัตตาคาร ศูนย์แสดงศิลปะต่างๆ และป้องปฏิบัติการทางดนตรีและเขียนภาพ บริเวณลานกีฬาต่างๆ ร้านแสดงวีดีทัศน์และคอมพิวเตอร์ พอๆกับเกณฑ์บังคับการจัดสวนที่เน้นสนับสนุนให้จัดเชิงวัฒนธรรมมากกว่าเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเชิงธรรมชาติ วัตถุประสงค์ในการประกวดเพื่อเลือสถาปนิกชั้นแนวหน้าที่สามารถเสนอผังแม่บทและ “โครงสร้าง”ของสิ่งต่างๆในสวน รวมศิลปิน, ภูมิสถาปนิก, และสถาปนิกคนอื่นๆ ในการออกแบบสวนและอาคารต่างๆ

ในราวเดือนมีนาคมปี 1983, Bernard Tschumi, อายุขณะนั้น 39-ปี, สถาปนิกชาวฝรั่งเศษ-สวิส พำนักในเมือง New York, ได้รับเลือกเป็นผู้ชนะโดยคณะผู้ตัดสินนานาชาติมากกว่า 470 กลุ่ม เลือกมาจาก 70 ประเทศ แบบชนะการประกวดของเขา เสนอรูปแบบความเป็ฯศูนย์กลางขนาดใหญ่ที่ท้าทาย จากสิ่งที่ขัดแย้งและแยกออกเกี่ยวข้องกับยุคสมัยปัจจุบัน แบบที่ชนะประกวดของเขาบ่งชี้ความเป็นศูนย์กลางที่ท้าทาย แสดงถึงความขัดแย้งแยกขาดความเกี่ยวพันกับยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการพยายามที่จะเสนอยุทธศาสตร์แบบใหม่ในการออกแบบชุมชน โดยการผสมผสานแนวคิดต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น “การซ้อนทับที่เหนือชั้น” ทางสถาปัตยกรรม “การรวมกัน” และความเป็น “เยี่ยงภาพยนตร์” ทางภูมิสถาปัตยกรรม Tschumi อธิบายว่า “สวนคืออาคารที่ไม่มีความต่อเนื่องขนาดใหญ่ในโลก”

งบประมาณถูกใช้ไป $300 million, บนเนื้อที่125-เอเคอร์ของ Parc de la Villette. สวนแล้วเสร็จในราวปลายปี 1995 รวมถึง 25 สถานที่แสดงศาลาศิลปะ สะพานต่างๆ และทางเดินเล่น “เยี่ยงเดินดูภาพยนต์” ของสวนต่างๆ สวนทุกสวนที่ออกแบบโดยภูมิสถาปนิกอิสระแต่ละคนก็จะแล้วเสร็จด้วย หนังสือจำนวนสองเล่มเป็นที่รวมเอกสารหลักๆด้วยจำนวนแบบ 4,000 แผ่น และทุกบันทึกเขียนขึ้นระหว่างการปรับปรุงในแต่ละขั้นตอนของโครงการ รวมทั้งส่วนรายงานความสมบูรณ์, การประเมินความเป็นไปได้, และรายงานของโครงการ เล่มแรกชื่อเรื่อง Cinégramme Folie: Le Parc de la Villette (Princeton Architectural Press, 1987). อีกเล่มเขียนโดย Bernard Tschumi, La Case Vide, (Folio VIII, Architectural Association, 1986), ขยายแนวคิดของสวนนอกเหนือขั้นตอนก่อสร้าง รวมด้วยบทความสำคัญเรื่อง Point de Folie. Maintenant l’Architecture,” โดย Jacques Derrida, บทความร่วมโดย Anthony Vidler และบทสัมภาษณ์โดย Alvin Boyarsky.

สวนชุมชนสำหรับศตวรรษที่ 21
(AN URBAN PARK FOR THE 21ST CENTURY)

การประกวดแบบสำหรับ the Parc de la Villette เป็นสิ่งแรกในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ที่กำหนดโปรแกรมใหม่ไว้ล่วงหน้าสำหรับ “สวนชุมชน” เสนอการร่วมแบบเคียงกันของกิจกรรมที่หลากหลายสร้างให้เกิดทัศนะคติใหม่ในมุมมองที่กว้างขวาง โปรแกรมดังกล่าวเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญคือ ในช่วงปี ‘70s เป็นช่วงการปรับปรุงความสนใจใหม่สำหรับความเป็นเมือง ศึกษารูปแบบการตีความ และรูปแบบของการอุปมาเปรียบเทียบของมัน ขณะที่การวิเคราะห์เพื่อการปรับปรุงเพ่งรวมไปที่ประวัติศาสตร์ของเมือง ความเอาใจใส่ต่อการสนับสนุนเรื่องโปรแกรมเกิดช่องว่าง ไม่มีการวิเคราะห์ถึงเรื่องของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมือง ไม่มีการวิเคราะห์ถึงการจัดการเรื่องของภาระกิจและเหตุการณ์ต่างๆที่สำคัญต่อสถาปัตยกรรมในเรื่องการแสดงออกทางรูปทรงและรูปแบบของยุค

ในทางตรงข้าม The Parc de la Villette, เป็นตัวแทนของศูนย์กลางวัฒนธรรมกลางแจ้ง, เน้นสนับสนุนการบูรณาการนโยบายในรูปรายการที่เกี่ยวพันทั้งความต้องการของเมืองและข้อจำกัดของมัน โปรแกรมกำหนดสถานะของที่ว่างสำหรับห้องปฏิบัติการ, ลานเล่นหรือพักผ่อน,นิทรรศการ, ที่แสดงดนตรี, การทดลองทางวิทยาศาสตร์, เกมกีฬาและการแข่งขัน และเพิ่มเติมด้วยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และวิทยาการ และเมืองของดนตรี สวนถูกสำนึกเปรียบเสมือนอาคารขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยอาคารย่อยที่ไม่สืบเนื่องกัน แต่รวมกันอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน บางส่วนมีการซ้อนทับกันของเมืองและชนบทที่มีอยู่เดิม เป็นรูปแบบของการจำลองของตัวอ่อน (embryonic model) ในท้องหรือตัวอ่อนที่อยู่ในเมล็ดพันธ์เดียวกัน นี่คือโปรแกรมการออกแบบใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21

ระหว่างศตวรรษที่ 20 เรามีพยานการเคลื่อนแนวคิดหนึ่งของสวน ซึ่งจะไม่แบ่งแยกจากแนวคิดของเมืองอีกต่อไป สวนเป็นสวนหนึ่งในทัศนะวิสัยของเมือง ความจริงแล้วนครปารีสเน้นคนชั้นกลาง หรือลูกจ้างอาชีพ แย้งความ “สุนทรียะ” ที่เย็นชาและความสงบของสวน แต่กลับชื่นชอบในรูปแบบสวนชุมชนที่สร้างวัฒนธรรม, การศึกษา และความบันเทิงให้เกิดขึ้น ความไม่พอเพียงของอารยะธรรมต่อสู้กับธรรมชาติแบบสองขั้ว ภายใต้เงื่อนไขของเมืองสมัยใหม่มิได้แยแสกับแบบฉบับของสวนในจินตภาพของธรรมชาติอีกต่อไป ไม่มีอีกแล้วในสำนึกที่โลกขนาดเล็กใบนี้จะเต็มไปด้วยความสุขไม่มีขีดจำกัด และสามารถป้องกันความชั่วร้ายที่เป็นความจริงไปได้

สิ่งที่เราเห็นคือความเปลี้ยของแนวคิด “ที่ว่างเปิดโล่ง” ที่เผชิญความจริงของสวนแห่งวัฒนธรรม ดังนั้นเราจึงขัดแย้งกับความคิดของ Olmsted ที่แพร่หลายตลอดช่วงเวลาของศตวรรษที่ 19 ที่ว่า “ในสวนไม่หวังให้มีเมืองสถิตอยู่” การสร้างสรรค์ความผิดพลาดที่ซ่อนเร้น the Périphérique (สิ่งขีดกั้นบริเวณ) ละเลยอำนาจของชุมชนที่เป็นจริงไป
แบบจำลองใหม่ (A NEW MODEL)

เราเสนอเป็นการทดแทนว่า ทำสวนให้แตกต่างและเปลี่ยนแปลงความคิดเสียใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางบริบทของสังคม สืบขยายแบบก้าวกระโดดทางความคิดโดยนัยของโปรแกรม ความเทยอทยานของเราไปเกินการผลิตความปรเปลี่ยนในแบบที่เป็นอยู่โดยการสับเปลี่ยนหนึ่งในสว่นประกอบของมันเสีย เราไม่มุ่งหมายในการเปลี่ยนรูปแบบยุคสมัยขณะยังรักษาเนื้อหาแบบเดิมๆ ทั้งไม่เสนอโปรแกรมเพื่อให้เข้ากันได้กับเบ้าแบบเดิมของ คลาสสิคใหม่, โรแมนติคใหม่ หรือทันสมัยแบบใหม่ แต่ทว่าโครงการของเราถูกกระตุ้นด้วยหลักการผูก(ประโยค) หรือหลักของการสร้างที่ดีที่สุดภายใต้ความถูกต้องทาง “ประวัติศาสตร์” ของสถาปัตยกรรม ด้วยการปรับปรุงโปรแกรมใหม่และให้แรงบรรดาลใจมีผลเกิดแบบนิยมที่ใหม่ขึ้น ความทะเยอทะยานของเราคือการสร้างสรรค์แบบจำลองใหม่ในลักษณะของโปรแกรม, รูปทรง และความคิดฝัน ทั้งหมดรวมเป็นจำนวนเดียวกัน

กระบวนระบบและการซ้อนทับอย่างเหนือชั้น
(SYSTEMS AND SUPERIMPOSITIONS)

โครงการของเราถูกกระตุ้นโดยข้อเท็จของที่ตั้งที่เป็น “ผืนดินบริสุทธิ์” เป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารกึ่งอุตสาหกรรมตั้งรวมอยู่ รวมทั้งโครงสร้างขนาดใหญ่เดิมสองหลัง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโรงละคอนขนาดใหญ่ จากการปฏิเสธความคิดที่จะเพิ่มก้อนอาคารอีกหลังที่มีลักษณะแนวตรง ลงไปในเนินที่ตั้งเกะกะอยู่แล้ว และด้วยการยอมรับการขยายความต้องการของโปรแกรม เราเสนอคำตอบเป็นโครงสร้างแบบง่ายคือ กระจายความต้องการในโปรแกรมทั้งหมดลงในที่ตั้งทั้งหมดในลักษณะการจัดวางด้วยจุดเน้นที่สม่ำเสมอ กำหนดเป็นเช่นโรงมหรสพต่างๆ การรื้อโครงสร้าง (Deconstructing) โปรแกรมในส่วนที่มีกิจกรรมเกิดขึ้นหนาแน่น วางลงตามลักษณะเดิมและประโยชน์ที่ๆตั้งเป็นอยู่เดิม แบบนี้ยอมให้มีการสัญจรเคลื่อนที่จำนวนมากผ่านตลอดที่ตั้ง เน้นให้เกิดการค้นพบและเสนอให้กับผู้มาเยือนด้วยความแตกต่างของโปรแกรมและเหตุการณ์

การปรับปรุงสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงเรื่องวัฒนธรรมและกระตุ้นโดยการใช้สอยใหม่ๆ, ความสัมพันธ์ทางสังคม หรือโดยวิทยาการที่ก้าวหน้า เรานำเสนอแบบด้วยรูปของ axiomatic ซึ่งมุ่งสร้างเป็นจินตภาพของโครงการ เช่นเดียวกับแบบจำลองโครงสร้าง และเช่นตัวอย่างมโนทัศน์ของการดำเนินการสถาปัตยกรรม ความเหมาสมของยุคสมัยที่ได้เห็นการผลิตแบบจำนวนมาก, เป็นจำนวนชุดที่ซ้ำๆกันและเป็นจำนวนชุดที่ต่างกัน จากแนวคิดนี้ สวนจึงประกอบด้วยจำนวนชุดที่เกี่ยวกับวัตถุตัวกลาง ซึ่งความคล้ายคลึงกันสร้างให้ “มีคุณภาพ” โดยประโยชน์ใช้สอย นี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละโรงมหรสพซึ่งเป็นลักษณะเปล่าเปลือย ไม่แตกต่างจากลักษณะ “เป็นเยี่ยงอุตสาหกรรม” ทั้งที่ในความพิเศษเฉพาะของโปรแกรม มันเป็นสิ่งที่ซับซ้อน, มีต่อเนื่องกันและมีน้ำหนักในความหมาย แต่ละโรงมหรสพ.. เยี่ยงที่ว่างเป็นกลางๆนี้ (Folie) สร้างสัญญานอัตโนมัติที่ชี้ถึงความอิสระของมันในสิ่งที่เกี่ยวข้องโปรแกรมและความเป็นไปได้ในการเสนอแนะ, โดยผ่านแกนโครงสร้างทั่วไป, เอกภาพของระบบทั้งหมด การผสมผเสในบริบทรวมของการแปรเปลี่ยนนี้ ทำให้แต่ละส่วนถูกอ่านและเกิดความเข้าใจในรูปของสัญลักษณ์และโครงสร้าง, ทั้งยังยอมให้โปรแกรมปรับเปลี่ยนและสร้างขึ้นใหม่ได้มากมายในขณะเดียวกัน

จุด เส้น พื้นผิว
(POINTS LINES SURFACES)

(a) Points บ่งบอกถึงกิจกรรมแต่ละอย่าง (point-like activities)

(b) Lines บ่งบอกกิจกรรมต่อเนื่องกัน (linear activities)

(c) Surfaces บ่งบอกลักษณะ(ผิวนอก)ของกิจกรรม (surface activities)

1. POINTS

The Folies ถูกจัดวางตรงจุดตัดของช่องตารางที่แต่ละช่องมีระยะห่างกันเท่าๆกันทุกช่องๆละ 120-เมตร เป็นตัวกำหนดอัตราส่วนสำหรับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผลิตขึ้นโดยโปรแกรม แต่ละ Folies เป็นแก่นสารสำหรับโปรแกรม แต่ละแก่นสารของกล่องจัตุรัสขนาด 10 x 10 x 10 เมตร หรือสิ่งก่อสร้างสูงสามชั้นสำหรับที่ว่างกลางๆนี้ สามารถแปรรูปและจัดให้เป็นไปตามความต้องการเฉพาะของโปรแกรม

ความเคร่งครัดในการซ้ำๆกันของกล่องจัตุรัสขนาด 10 x 10 x 10 เมตรสำหรับ Folie นี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงเรื่องสัญลักษณ์ของสวนให้เด่นชัด สามารถจดจำรูปลักษณ์ได้แม่นยำเหมือนการจำหมายเลขของโทรศัพท์ของอังกฤษ หรือหมายเลขประตูเข้าช่องชานชลารถไฟใต้ดินของนครปารีส

ประโยชน์ของระบบตารางนี้เป็นเหมือนช่องระบายหลายช่องเรียงกัน เป็นระบบที่ง่ายในการกำหนดตีความเป็นอาณาบริเวณ(territorial)สำหรับแต่ละคน และแต่ละช่องง่ายในการดูแลรักษา โครงสร้างตระหง่านในจินตภาพโดยรวม หรือรูปลักษณ์ของระดับพื้นดินที่ไร้ขีดจำกัด. เส้นทางสัญจรที่เป็นระยะๆและสม่ำเสมอ ทำให้จำทิศทางสัญจรได้ง่ายแม้ในสถานที่ๆไม่คุ้นเคย โดยสรุปประโยชน์ของระบบตารางนี้เพื่อสำหรับอุปกรณ์ขั้นต่ำที่เพียงพอสำหรับสวนชุมชนสัมพันธ์กับจำนวนผู้มาเยี่ยมเยียน

2. LINES

ระบบตารางของ Folie มีความสัมพันธ์กับระบบพิกัดขนาดใหญ่ของโครงสร้าง (the Coordinates) ระบบมุมฉากของทางเดินระดับที่หนาแน่นสร้างเครื่องหมายบนที่ตั้งด้วยเส้นแนวทะแยงมุม ทางเดินทิศเหนือ-ใต้หรือพิกัดที่เชื่อมกับช่องประตูรถไฟใต้ดินของนครปารีสสองแห่งคือ Porte de la Villette และ Porte de Pantin; พิกัดด้านทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกเชื่อมนครปารีสกับชนบทรอบนอก แต่ละช่องความกว้างห้าเมตรครอบคลุมโครงสร้างตลอดความยาวทั้งสองของเส้นความสัมพันธ์นี้ การจัดแจงด้วยเส้นสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยได้เข้าถึง Folies ได้เช่น เมืองดนตรี, ภัตตาคาร, จัตุรัสหรือสถานที่อาบน้ำ, ที่แสดงศิลปะและวิทยาศาสตร์, ลานเล่นสำหรับเด็ก ที่เล่นวิดีทัศน์ และศูนย์กีฬา
ระบบเส้น รวมอยู่ใน the Path of Thematic Gardens เป็นเส้นโค้งแบบสุ่มเอาเชื่อมหลายส่วนที่แตกต่างกันของสวน ในรูปแบบวงจรที่กำหนดอย่างพิถีพิถัน The Path of Thematic Gardens ตัดแยกแกนของเส้นสัมพันธ์ในทุกสถานที่หลากหลายชนิด สร้างให้เกิดการเผชิญหน้าที่ไม่ได้คาดหวังกับความคิดที่ไม่ธรรมดาของธรรมชาติเยี่ยง “โปรแกรม” ที่ทำให้เกิดความคุ้นเคยเสมือนอยู่ในบ้าน.

3. SURFACES
สวนรองรับทุกกิจกรรมที่ต้องการขยายที่ว่างทางนอนเพื่อเล่นสนุก, เล่นกีฬา, ออกกำลังกาย, บันเทิงเป็นกลุ่ม, ตลาด, ฯลฯ แต่ละลักษณะของกิจกรรมถูกโปรแกรมกำหนดขึ้น จึงเรียกลักษณะกิจกรรมที่โดนทอดทิ้ง (เมื่อทุกความคิดของโปรแกรมเต็มแล้ว) ถูกจัดทำเสมือนดินและกรวดที่อัดแน่น เป็นวัสดุสำหรับสวนที่ชาวปารีสคุ้นเคยกัน แต่ละพื้นผิวดินและกรวดช่วยสร้างความอิสระการโปรแกรมใช้สอย

STRUCTURAL SYSTEM OF THE FOLIES

Folies ทั้งหมดใช้ระบบซ้ำๆเหมือนกัน บนฐานปริมาตรจัตุรัสของขนาด 10.8 เมตร X 10.8 เมตร X 10.8 เมตร (36 x 36 x 36 ฟุต) แล้วก้อนลูกบาศก์นี้ถูกแบ่งเป็นสามในแต่ละทิศทาง สร้างเป็นกรงมีช่องเหล็กกั้นห่างกันทุกระยะ 3.6 เมตร (12 ฟุต)

ลักษณะกรงนี้ สามารถแยกย่อยใหม่เป็นการจัดกรงเดียวหรือขยายด้วยการเพิ่มเข้าขององค์ประกอบอื่นๆ (หนึ่ง-หรือสองชั้นเป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปสามเหลี่ยมของความจุ, ปันได, ทางลาด) ตามหลักการรวมกันหลากหลายชนิด ในขณะเดียวกับที่ต้องเผชิญต่อความต้องการพิเศษของโปรแกรม โครงสร้างหลัก (ของกรง) ประกอบแบบโครง สามารถเป็นโครงคอนกรีต เหล็ก หรือวัสดุอื่น การเลือกวัสดุโครงสร้างถูกกำหนดโดยเทศบัญญัติการป้องกันไฟและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เหล็กเคลือบสีแดงประกอบกันเป็นทุกส่วนของโครงสร้าง มันถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาตรงมุมทั้งภายในและภายนอก และเงื่อนไขการยื่นหรือขอบ

แม้ว่า Folies เกิดจากการก่อสร้างโดยหลักการง่ายๆ เบี่ยงเบนการเปลี่ยนความสัมพันธ์ของโครงสร้างตาราง ตารางนี้กลายเป็นสิ่งสนับสนุนง่ายดายในการละเมิดทางสถาปัตยกรรม ที่สามารถปรับปรุงความสัมพันธ์กับบันทัดฐานเดิมได้ ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นบันทัดฐานเดิมและความเบี่ยงเบนแนะนำวิธีการหนึ่งในการบรรจงทำ Folies: ข้อแรก ความต้องการและข้อจำกัดมาจากโปรแกรมที่เผชิญกับการรวมสถาปัตยกรรมแง่วิทยาศาสตร์กับหลักการแปรเปลี่ยนของโครงการ ผลลัพท์ที่เกิดจากการเผชิญหน้าทางสถาปัตยกรรมขั้นพื้นฐานคือ “บันทัดฐาน” แล้วบันทัดฐานถูกละเมิด—ปราศจาก ไม่ทำให้ปรากฏขึ้นการบิดเบือนบันทัดฐานเดิมส่งผลให้เกิด การเบี่ยงเบน

การเบี่ยงเบนเป็นทั้งความมีเหตุผลและไร้เหตุผลแบบเกินๆ ขณะที่บันทัดฐานประกอบด้วยส่วนประกอบที่พร้อมระเบิดแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ความเบี่ยงเบนทำให้มันมีอิสระที่จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้
เป็นไงครับ..อ่านแล้วเป็นงง..ปวดหัวจริงๆ สำหรับข้อเขียนขยายความคิดของเหล่าสถาปนิกนักคิดทั้งหลาย บางคน ..และส่วนมากเสียด้วย ที่อ่านแล้วต้องตีความและเดาใจกันต่อว่าเขาหมายถึงอะไรกันแน่ นักวิชาการ “เถรตรง” หลายคน จึงไม่ค่อยยอมทนอ่านบทความแบบปรัชญาลึกซึ้งของพวกสถาปนิกทั้งหลายมากนัก ในความเห็นของผมสถาปนิกที่เขียนอะไรชัดเจนมีไม่ค่อยมากนัก ที่ผมชอบก็ เช่น Christopher Alexander และ Christian Norberg-Schulz คือเมื่อผมอ่านแล้ว ก็พอเข้าใจได้ว่าเขานั้นต้องการสื่อความคิดอะไร..เป็นอย่างไร กระเหรี่ยงคนไทยอ่านแล้วรู้เรื่องได้ง่าย อ่านเสร็จก็เลยสบายใจ ไม่ต้องปวดหัวต่อไป.. ไม่ต้องคิดว่าเรานี้บางทีช่างงี่เง่า(บางทีก็เป็นไปได้) บางทีอ่านข้อเขียนของสถาปนิกบางคนแล้วก็ยังไม่เข้าใจครับ….เพราะ..จิตมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึงได้..นั่นเอง

กล่าวถึงการอ่านข้อเขียนของคนอื่นนั้น ด้วยภาษาอย่างเดียวเราไม่สามารถที่เข้าใจอย่างถูกต้องตามลำพังได้ เพราะอาจไม่เข้าใจถึงจินตนาการและความคิดของผู้เขียนที่ต้องการนำเสนอในข้อเขียนนั้นด้วย บ่อยครั้งที่เรามักตีความเนื้อหาไม่ตรงกับที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอจริง หรือตีความไปคนละเรื่องกันเลยก็มี เช่นในเรื่องศาสตร์วิธีการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่เริ่มจาก Christopher Alexander ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา เรื่อง Note on the Synthesis of Form ในราวปี 1964 เป็นเรื่องที่ฮือฮาในวงการศึกษาสถาปัตยกรรมอย่างมากในขณะนั้น เพราะเป็นเรื่องแยกแยะโดยการวิเคราะห์ขั้นตอนในการออกแบบสถาปัตยกรรมออกมาศึกษากันอย่างชัดเจน ซึ่งแต่ก่อนเป็นเรื่องที่มักไม่มีกล่าวถึงหรือการอธิบายกันโจ่งแจ้ง ปิดบังกันไว้เป็นเรื่องส่วนตัวภายในของแต่ละคน ครั้นต่อมาจึงมีการขยายแนวคิดค้นหาวิธีการออกแบบกันกว้างขวาง เริ่มสนใจศึกษาสถาปัตยกรรมในแง่ของขบวนการมากกว่าผลที่ปรากฏให้เห็นกันแต่เดิม ศึกษาวิจารณ์เรื่องนี้กันจนมากเรื่องมากราวกันอุตหลุด พร้อมยกยอ Alexander เป็นปรมาจารย์ทางวิธีการออกแบบกันเลย จนเจ้าตัวทนไม่ไหวต้องเขียนบทความออกมาปฏิเสธว่า พวกเหล่านั้นเข้าใจความคิดและข้อเขียนเขาผิดหมด เขาเพียงอยากรู้ว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นเป็นอย่างไร ทำไมคนในอดีตถึงได้ออกแบบอาคารที่มีคุณค่าไว้แต่ก่อนมากมาย เนื่องจากตนเองมีพื้นความรู้เป็นนักคณิตศาสตร์ ก็เลยศึกษาเข้าใจการวิเคราะห์อาคารที่ดีในอดีตในความรู้ความเข้าใจด้วยบัญญัติทางคณิตศาสตร์ที่ตนถนัด…ก็แค่นั้นเอง ไม่ได้ต้องการนำเสนอวิธีการออกแบบเฉพาะอย่างไรทั้งสิ้น ด้วยวิธีการออกแบบอย่างไรนั้นไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือผลงานทางสถาปัตยกรรมต้องมีคุณค่าและสามารถอธิบายคุณค่าที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ อีกเพื่อสามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดและมีพัฒนาการได้ในครั้งต่อไปได้ด้วย เขาเล่าว่าบางครั้งเขาสนใจออกแบบ ด้วยการนึกคิดและสร้างจินตนาการกันในสถานที่ก่อสร้างจริง และโดยใช้ท่อนไม้ปักกำหนดขอบเขตของที่ว่างที่ต้องการแบ่งซอยเพื่อการใช้สอยในอาคารที่กำลังก่อสร้างขึ้นในบริเวณนั้น เขาล้อว่าเรื่องอย่างนี้ก็อาจทำให้นักวิธีการทั้งหลายเอาไปพูดต่อว่าวิธีการ “เอาไม้ปักดิน” เป็นวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยละมัง?

นี่เป็นประเด็นหนึ่งสนับสนุนข้อแย้งทางแนวคิดดีคอนหนึ่งก็ว่าได้ คือเรื่องที่เป็นปัญหาในทางวรรณกรรมที่เกี่ยวกับการตีความเรื่องราวในภาษาเขียน หรือแม้แต่ภาษาพูดก็มักไม่ตรงกันระหว่างผู้อ่านและผู้เขียนได้ โดยเฉพาะยิ่งเป็นคนต่างชาติต่างภาษากัน ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะวัฒนธรรมความคิดและความเข้าใจไม่เหมือนกัน ครู “เคท” ครูสอนภาษาอังกฤษ (กำลังฮิตสุดๆ) คนหนึ่งพูดไว้ว่า การจะพูดภาษาอังกฤษได้ดีถูกต้องนั้น คนไทยต้องคิดเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างคนอังกฤษ คิดอย่างคนเจ้าของภาษานั้นคิดกัน ไม่ใช่คิดเป็นแบบคนไทยคิดกัน แล้วพยายามพูดกลับเป็นภาษาอังกฤษ การอ่านภาษาต่างชาติแล้วพยายามแปลกลับเป็นภาษาที่เราถนัด โดยไม่พยายามคิดแบบคนเจ้าของภาษานั้นคิด ก็อาจได้คำแปลเนื้อหาที่สับสน ไม่ตรงกัน และพาลเข้าใจไขว่เขวออกไปจากความถูกต้องของผู้เขียนก็ได้ ยิ่งเป็นเรื่องปรัชญาและการนำเสนอความนึกคิดที่บางครั้งเป็นเรื่องนามธรรม จะยิ่งไปกันใหญ่ แม้แต่สถาปนิกคนชาติเดียวกันบางครั้งสนทนากันเป็นนาน ก็หาข้อสรุปเนื้อหากันไม่ค่อยได้ เพราะกลายเป็นว่าต่างคนพูดกันคนละเรื่องเดียวกัน คือ พูดในเรื่องเดียวแต่ตีความหมายของเรื่องที่พูดนั้นคนละอย่างนั่นเอง…เพราะฉะนั้นการอ่านข้อเขียนในภาษาต่างประเทศก็ดี หรืออ่านเรื่องปรัชญาก็ดี มีผู้รู้บอกว่า ก็อ่านไป..อ่านไป อ่านแบบผ่านๆ อย่าจริงจังมากนัก อ่านไปเรื่อยโดยไม่ต้องกังวลใจ เดี๋ยวก็จะรู้เรื่องเอง คือด้วยการตีความตามที่ตัวเองเข้าใจนั่นแหละ ถ้าไปเคร่งครัดและสนใจต่อความถูกต้องตรงกันมากนัก (ซึ่งยากที่จะรู้ได้) ก็จะอ่านไม่ได้เรื่องได้ราวกันเลย ยิ่งจะไปกันใหญ่ครับ..นะครับ

Peter Eisenman

จากงานประกวดแบบ Carnegie Science Center Competition ของ P. Eisenman
เกิดที่เมือง Newark มลรัฐ New Jersey สหรัฐอเมริกาในปี 1932. เขาศึกษาที่ มหาวิทยาลัยCornell, Columbia, และ Cambridge University ใน England จนจบระดับปริญญาเอก. เคยสอนที่ Cambridge University, Princeton University, Yale University, และ the Ohio State University. ระหว่างปี 1982 ถึง 1985 เคยรับตำแหน่ง the Arthur Rotch Professor of Architecture ที่ Harvard University ในสถานะ the Eliot Noyes Visiting Design Critic ในช่วงเดือนกันยายนปี 1993.

1970 House II Hardwick, VT

1968 House I Princeton, NJ

1972 House VI Corwall, CN

Diagram of House VI

Peter Eisenman เขียนหนังสือสถาปัตยกรรมหลายเล่ม เช่น House X (Rizzoli), Find Out House ( The Architectural Association), Moving Arrows, Eros and Other Errors (The Architectural Association), และ House of Cards (Oxford University Press) เป็นต้น เคยเป็นบรรณาธิการ Oppositions Journal และ Opposition Books, เขียนบทความมากมายที่เกี่ยวกับทฤษฎีสถาปัตยกรรมในวารสารต่างประเทศที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย

Peter Eisenman เคยเป็นหัวหน้ากลุ่ม New York architects, เรียกว่า the New York Five (John Hejduk, Michael Graves, Charles Gwathmey, and Richard Meier รวมตัวเขาเป็นห้าสถาปนิก) ในกลุ่มพยายามนำเสนอทฤษฎีและแนวคิดทางสถาปัตยกรรมเหมือนกลุ่มสถาปนิกยุโรปหัวก้าวหน้าขณะนั้น เคร่งครัดต่อความคิดที่อิสระจากทฤษฎีสถาปัตยกรรมทันสมัยเดิม ในปี 1980, หลังงานสอน งานเขียน และค้นคว้าทางทฤษฎีหลายปี เขาได้ตั้งสำนักงานปฏิบัติวิชาชีพสถาปนิกอย่างจริงจัง ออกแบบอาคารและโครงการอาคารสงเคราะห์ต่างๆมากมาย ตลอดจนอาคารทางการศึกษาและบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็กทั่วไป

1989 Wexner Center Columbus, OH


1990 Koizumi Sangyo Building Tokyo

1992 Nunotani HQ Building Tokyo

1994 Aronoff Building Cincinnati, OH

1993 Columbus Convention Center

1970 House III Lakeville, CN

ทฤษฎีการออกแบบที่ตอบสนองการทำงานของ Eisenman เป็นแนวคิดใหม่สดเน้นความมีอิสระต่อสถาปัตยกรรมทั้งในความรู้สึกและบริบทโดยรอบ เขาจะพยายามเสนองานออกแบบที่สอดคล้องกับทฤษฎีสถาปัตยกรรมของเขาอย่างชัดเจน

Eisenman กล่าวว่า "ผมกำลังมองหาแนวทางสร้างสรรค์ที่ว่าง ให้เกิดความสัมพันธ์ที่การเคลื่อนตัวได้ตลอดเวลา ไม่คงที่ ผู้ใช้จะไม่สามารถอ้างถึงสิ่งที่คุ้นเคยเดิมๆได้อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่ข้าพจ้าพยายามกระทำ เช่นโดยกำหนดการจัดวางเลื่อนสิ่งต่างๆให้เอียงเฉไฉเสียใหม่ หรือรื้อแนวคิดสถาปัตยกรรมที่คุ้นเคยกันเดิมๆทิ้งไป "

งานออกแบบบ้านในระยะแรก เขาสร้างสรรค์การแปรเปลี่ยนของรูปทรง ในลักษณะความสัมพันธ์กันอย่างหลวมๆเหมือนการร้อยเรียงคำในโครงสร้างภาษา งานในระยะต่อมาแสดงความมีใจต่อต้านมนุษย์ "anti-humanist" ความคิดที่รื้อทิ้งโครงสร้างเสียใหม่ หรือ ideas of deconstructivism. อาคารที่ออกแบบโดย Eisenman เป็นการจัดรูปทรงที่อิสระปราศจากกฏเกณฑ์เดิม ที่เคยตรงกลายเป็นเอียง มีการซ้อนทับระหว่างชั้นที่หมิ่นเหม่เหลื่อมแนวแกนกันและกัน เพื่อการสื่อนำไปสู่ความไม่แน่นอนอย่างไร้ระเบียบ เสมือนเป็นการตระเตรียมเป็นคำตอบไว้ล่วงหน้าแล้ว
ภาพเหล่านี้..เป็นตัวอย่างงานออกแบบของ Peter Eisenman ในราวปี 1993 - University of Cincinnati, College of Design, Architecture, Art, and Planning at Cicinnati, Ohio (ดูภาพชัดๆในหนังสือ Peter Eisenman & Frank Gehry..ในห้องสมุดคณะฯ)

การออกแบบโครงการนี้ เขาพยายามนำความคิดที่จงใจให้เกิดที่ว่างที่ปรากฏตามความจริงในรูปแบบใหม่ โดยการนำแนวหรือเส้นตรง (Cartesian line) มาตัดแยกออกเป็นส่วนๆ ซึ่งจำลองแทนเป็นรูปร่าง ขนาด หรือตำแหน่ง รวมกันเป็นทวีคูณกระทำเหมือนเลขยกกำลังทางพีชคณิต ด้วยเส้นจำลองที่ บิด เอียง ซ้อนทับ เปลี่ยนเลื่อนเป็นระยะๆ ส่วนที่แยกเหล่านี้อ้างเลยไปถึงรูปแบบของโครงสร้างตามสภาพทางธรณีวิทยา—เป็นภาพแทนผืนของผิวเปลือกโลกที่เปลี่ยนแปลง—มากกว่าเป็นเหมือนสิ่งเคยอ้างเช่นแกนกลางของร่างกายมนุษย์ตามที่เคยกระทำกันมาแต่เดิม ด้วยการใช้สมการแบบยกกำลังและการเลื่อนเป็นระยะๆนี้ เราสามารถสร้างสรรค์เส้นแนวที่ไม่เป็นจุดๆต่อเชื่อมเหมือนๆกัน—มันอาจเป็นหลายๆสิ่งในเวลาเดียวกัน และเมื่อภาพเหล่านี้เคลื่อนไป ก็จะสร้างภาพซ่อนเร้นเกิดเป็นชุดๆ—เป็นเหมือนสิ่งลวงตา ภาพที่พร่ามัว—ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้วิธีการออกแบบตามจารีตนิยมเดิมๆ ผลที่เกิดของที่ว่าง เอียง และบิดตัว เมื่อมันสอดผ่านทะลุโครงร่างของอาคารหนึ่งๆ

นี่เป็นเรื่องที่อ่านแล้วต้องตีความหมายด้วยตัวเองประกอบกับการพิจารณาภาพที่เป็นผลงานการออกแบบลักษณะนี้เอาเองนะครับ…