Tuesday, March 20, 2007

Architects People

สถาปนิกคำนึงถึงใคร?….ในการออกแบบสถาปัตยกรรม


เผอิญผมหยิบหนังสือที่เพื่อนซี้คนหนึ่งซื้อให้...มาทบทวนอ่านอีกครั้ง… ชื่อ Architects' People เป็นงานค้นคว้าเพื่อทราบว่า สถาปนิกให้ความสำคัญกับผู้ใช้อาคารมากน้อยเพียงไร เป็นหนังสือที่รวมข้อเขียนกันหลายคน ..มีอยู่เรื่องหนึ่งเขียนในมุมมองของนักสังคมวิทยา….. Robert Gutman กล่าวว่า สถาปนิกมักออกแบบเพื่อเอาใจตัวเองและคนในอาชีพสถาปนิกด้วยกันมากกว่าผู้ใช้อาคาร อาคารที่ออกแบบ อาคารหลายหลังเห็นแล้วเป็นที่ฮือฮาสำหรับสถาปนิกและนักเรียนสถาปัตยกรรม แต่สำหรับผู้ใช้อาคารแล้วเป็นความล้มเหลวที่แสนสาหัส ตัวอย่างอาคารที่ผู้เขียนยกมาสับจนเละ คือ อาคารปฏิบัติการ Richard's Laboratory ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ออกแบบโดย Louis I. Kahn ตามความคิดฝันของสถาปนิกที่อยากให้ห้องปฏิบัติการของนักวิทยาศาสตร์เป็นเสมือนห้องเขียนภาพของศิลปิน หรือ open studio concept คล้ายกับ Miesian space concept (หรือ universal space for utmost flexibility..ที่ว่างที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้สูงสุด) ต่างกันตรงที่มีอัตราที่สามารถปรับเปลี่ยนแตกต่างกันมาก จึงเกิดข้อขัดแย้งและต้องปรับแต่งแก้ไขอย่างมากมาย จนถึงขณะนี้ก็ยังใช้งานแบบทุลักทุเล เอาเป็นว่าคนใช้อาคารนี้ทีไร ก็สวดด่าสถาปนิกกันบ่อยๆ คงเหมือนบางอาคารในจุฬาฯที่เพื่อนอาจารย์ต่างคณะมาบ่นด่าให้ฟังเช่นกัน

Richard’s Laboratory Building, Pa
by Louis I Kahn
ผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่ามีสาระควรรับฟังในเรื่องนี้อยู่มากเคยมีโอกาสแอบไปชื่นชมอาคารหลังนี้เช่นกัน เพราะอาจารย์ที่นี่ (คณะสถาปัตย์ฯจุฬาฯ)สอนว่าดีแท้ ถือว่าท่านเป็นสถาปนิกผู้นำหรืออยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุค post-modernism (ในแง่การออกแบบสนองความเป็นองค์รวมของชุมชน) เลยทีเดียว ผมเดาว่ายังมีอีกหลายหลังที่โด่งดังในภาพของแมกกาซีนราคาแพงต่างๆ หรือแม้แต่ในสไลด์คอลเล็คชั่นของท่านอาจารย์คณะเราแต่ละท่าน ที่อาจฮ่วยแตกสำหรับผู้คนอื่นที่ไม่ใช่สถาปนิกเพียงแต่ว่าเราจะสนใจยอมรับฟังการก่นด่า ยอมตรวจสอบสิ่งเหล่านี้กันบ้างหรือเปล่าเท่านั้นเอง....
ประเด็นหลักของปัญหานี้ คือการออกแบบของสถาปนิกที่ให้ทางเลือกน้อย หรือคำนึงถึงปัญหาของความผันผวนในความต้องการของผู้ใช้และจินตนาการของสถาปนิกที่นำเสนอให้ไม่ตรงกัน แล้วสถาปนิกมักออกแบบโดยการกำหนดให้เป็นการออกแบบเจาะจง เป็นเอกภาพชนิดปิด (Close Unity) มากกว่าเอกภาพชนิดเปิด (Open Unity) ซึ่งชนิดหลังจะสนองการเปลี่ยนแปลงที่ควรเกิดขึ้นได้นั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ House VI สถาปัตยกรรมชนิดหวือหวาฮือฮา ออกแบบโดย Peter Eisenman ในหนังสือ “The Client’s Response” เขียนโดยนายและนาง Frank เจ้าของบ้าน ผมอ่านแล้วเห็นใจเจ้าของซึ่งได้บรรยายความชื่นชมไว้อย่างขมขื่น ในความประหลาดความมีสติเฟื่องในจินตนาการของสถาปนิก ที่ต้องการเสนอภาษาการออกแบบในลักษณะของคณิตศาสตร์หรือเรขาคณิต ที่อ้างว่าเป็นภาษาสากล เข้าใจได้โดยมนุษย์ทั่วไปแม้แต่ชาวโลกพระอังคาร แต่ทว่าบ้านหลังนี้ หามีความเหมาะสมในแง่ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ธรรมดาในโลกใบนี้ของเราๆไม่ งานออกแบบนี้มีการโฆษณาแสดงสรรพคุณกันขนานใหญ่ในกลุ่ม

Book Cover
Exterior, East facade
Dining area with red&green stairs
Exterior, South facade
Architect people (ไม่มี s’ ผมหมายถึงสถาปนิกพวกเดียวกัน) แต่สำหรับคนธรรมดา คือเจ้าของและผู้ใช้ (Architects' people) จำเป็นต้องมีการปรับรื้อแก้ไขกันใหม่ในภายหลัง เพื่อให้สนองตามธรรมชาติของการมีชีวิตที่จะดำรงอยู่ในบ้านหลังนี้ได้อีกต่อไป ค่าใช้จ่ายเลยบานปลายไปจนเจ้าของแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

View of dining & living areas
Bedroom before renovation
Stairwell
Kitchen area
มีอย่างที่ไหน..เจ้าของระบุความต้องการชัดเจน คือเพื่ออยู่อาศัยและมีเพศสัมพันธ์กันอย่างมีความสุข สถาปนิกดันออกแบบให้สามีภรรยาต้องแยกเตียงกันนอนเสียนิ..(ด้วยการเจาะช่องแสงแคบตรงผนังหัวเตียงและที่พื้นห้องต่อเนื่องกัน) ผมอ่านไปแรกๆก็เกิดความอึดอัดใจในความอหังการของผู้ออกแบบ ที่อาจฟุ้งซ่านเกินไปในความคิดและหลงผิดในอัตตา หรือไม่ก็ไม่ยอมรับรู้ในความเข้าใจมนุษย์ในมิติธรรมดาอย่างสามัญทั่วๆไป..หรือเผอิญเข้าใจ แต่เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ไม่ได้ตอบสนองคุณค่าของปัจเจกชนทั่วๆไปเท่าทีควรละมัง?..ถึงตรงนี้ก็ต้องตรวจสอบความคิดเห็นส่วนตัวของผมเหมือนกัน เพราะในทรรศนะของสถาปนิกอาจมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่ากันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตรงกันหรือถูกต้องในทรรศนะของคนอื่นก็ได้…ในประเด็นของเรื่องนี้ Eisenman พูดอ้างถึงประตู..ว่า “นี่เป็นประตูบานหนึ่ง ถ้าเราไม่เปิดเราก็เข้าไปไม่ได้ ขณะนี้มันเหมือนเสา ดังนั้นเมื่อประตูกลับกลายเป็นเสา แต่มันยอมให้เราผ่านเข้าไปได้… เห็นไหม? ขณะที่เสาเป็นประตู ดังนั้นพื้นที่เจาะเป็นช่องระหว่างเตียงนอนก็ทำให้เสาอันตธานไปเลย”…(ต่อมาเจ้าของบ้านแก้ปัญหาโดยเชื่อมเตียงนอนที่แยก รวมเป็นเตียงเดียวกันและคลุมซ่อนช่องพื้นเปิดดังกล่าวไว้ใต้เตียงใหม่)
ยังมีต่ออีกสำหรับการเสนอทรรศนะในแง่ความคิดของสถาปนิก…นี่เป็นบางส่วนในภาพยนต์สารคดีทางโทรทัศน์เรื่อง Beyond Utopia: Changing Attitudes in American Architecture ผลิตและกำกับโดย Michael Blackwood ในราวปี1983.. Eisenman กล่าวตอนหนึ่งเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ว่า… “หากผมต้องบอกคนที่มาเยี่ยมเยียนว่าอะไรที่พวกเขาควรมองหาในบ้านหลังนี้..เหนือสิ่งอื่นใด ข้อแรกคือ บ้านหลังนี้แปลก ความคิดพื้นฐานของบ้านนั้นคือ ต้องการ “เว้นระยะ” ระหว่างผู้ใช้, สถาปนิก, และผู้สังเกตุการณ์ ให้ห่างออกจากองค์ประกอบต่างๆในตัวบ้านนั่นเอง จุดแรกคือช่องบันไดสีแดงและเขียว จริงๆแล้วบันไดสีแดงอยู่ที่นั่น (เหนือบริเวณรับประทานอาหารชั้นล่าง) แต่มันไม่ใช่บันไดทั่วไป มันเป็นเพียงแค่สิ่งชี้บอก (sign) เท่านั้น อุปมาเช่นรถยนต์ฟอร์ดที่ไม่มีเครื่องยนต์ ก็นับว่าไม่ใช่รถยนต์ฟอร์ดทำนองนั้น มันจึงเป็นบันได (สีแดง) ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอย ยังมีประตูบานหนึ่งบนนั้น ปิด-เปิดเพื่อให้ผู้คนเคลื่อนไหวและเคลื่อนย้ายเครื่องเรือนได้โดยที่ไม่ปิดช่องเปิด ประตูทั่วไปปิดช่องเปิด ดังนั้นในความรู้สึกมันจึงเป็นแค่เครื่องชี้บอกประตู เพราะมันไม่มีประโยชน์ในการป้องกันเสียง แสงสว่าง และความเป็นส่วนตัว คุณมักอยู่ใกล้บางสิ่งเสมอ มีทั้งเลี่ยงและมีทั้งจับต้องมัน คุณเคยชินกับการมีอยู่ของเสาและคานที่ไม่เคยปรากฏ ที่นี่คุณสัมผัสเสาเมื่อคุณนั่งลงรับประทานอาหารที่โต๊ะ แสงสว่างกระทบตัวคุณผ่านมาจากที่ซึ่งมีคานและเสาปรากฏให้เห็น ด้วยเหตุนี้คุณจึงเกี่ยวข้องอยู่กับความรู้สึกสัมผัสกับสถาปัตยกรรมได้มากมายทีเดียว……ผมไม่สนใจจะทำอะไรต่อไปสำหรับบ้านหลังนี้อีก ผมมาถึงทางตันแล้ว ผมพูมใจในการออกแบบและทำให้บ้านหลังนี้สำเร็จลงได้ ดำรงอยู่เป็นผลงานของผม และก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ขณะนั้นเป็นช่วงรอยต่อในการทำงานของผม—เป็นช่วงเวลาที่เหือดแห้งไประหว่างอะไรที่ฝันเฟื่อง ที่ผมเรียกว่า “ช่วงเวลาโคเคน” กับที่ซึ่งผม (คาดหวัง) กำลังจะดำเนินต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้านับจากวันนี้”….
ในแง่ของ Dream Houses ซึ่ง Eisenman มักแทนชื่อบ้านทุกหลังที่เขาออกแบบเป็นตัวเลข เช่นบ้านเบอร์หกหลังนี้ บ้านที่สร้างในปี 1976 หลังนี้…Robert A.M. Stern ถามถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกันระหว่างวัฒนธรรมกับสถาปัตยกรรม.. Eisenman พูดถึงสิ่งนี้ว่า….”ดี! ผมคิดว่าสถาปนิกทั่วไปเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมค่อนข้างช้ามาก บางทีก็ทำมันกลับหัวกลับหางกันเอาเลย ในภาพยนต์เกี่ยวกับนิยายวิทยาศาสตร์ เมื่อมนุษย์โลกอังคารลงมาบนโลกมนุษย์ พวกเขาพูดภาษาคณิตศาสตร์ เพราะมันเป็นภาษาสากลของจักรวาล บ้านหลังนี้ ในความคิดคำนึงแสดงออกถึงภาษาทางคณิตศาสตร์ ดังนั้นมนุษย์โลกอังคารจึงเข้าใจมันได้ดี… คุณไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มเฉพาะอาชีพขึ้นในสังคม คุณไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม คุณเพียงใช้ประสบการณ์ของคุณสำหรับบ้านหลังนี้ก็พอ นี่เป็นบ้านที่ใครๆก็สามารถเข้าใจและมีความรู้สึกกับมันได้ เพราะว่ามันพูดภาษาสากลของจักรวาล… โดยทางทฤษฎีแล้วมันเป็นบ้านที่เรียบง่ายและธรรมดา คุณสามารถเห็นได้จากหุ่นจำลอง ที่เกิดจากชิ้นส่วนที่โดนตัดออก แสงสว่างไม่ได้สาดส่องเข้ามาทางหน้าต่างทั่วๆไป มันผ่านทางส่วนตัดแยกเป็นชิ้นย่อยในแต่ละห้อง ซึ่งในแต่ละห้องเราสามารถมองเห็นจากที่นี่ มองขึ้นไปข้างบน หรือมองเห็นได้จากห้องนอน เรายังสามารถมองจากห้องนอนผ่านลงไปถึงห้องพักผ่อนข้างล่าง หรือมองจากห้องนอนไปยังห้องครัว…. นี่ไม่ใช่การมองแบบเดิมๆ เหมือนขณะที่คุณอยู่ในห้อง กำลังมองออกไปจากห้อง ราวกับว่าอยูข้างนอกของอีกห้อง และอยู่ภายในของอีกห้อง การปิดล้อมที่ว่างแบบเดิมๆทำให้เกิดการแยกย่อยแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (ไม่ต่อเนื่องกันเลย)…แล้วก้อ..อีกอย่างคือ การแยกออกเป็นชิ้นๆนี้ทำให้ความรู้สึกของการปิดล้อมที่ว่างไม่มั่นคง และทำให้ความรู้สึกของพื้นราบเป็นไปทำนองเดียวกันด้วย ถ้าคุณเห็นบันไดสีแดงและบันไดสีเขียวที่นี่ มันเป็นเพียงการกลับหัวกลับหางกัน ..คือบันไดสีแดงนำขึ้นไปสู่ทางตัน ขณะที่ปันไดสีเขียวนำลงมาสู่ทางตันที่พื้นล่างเช่นกัน จริงๆแล้วไม่มีบันไดสีแดง มันจึงเป็นแค่การแย้งกับคำกล่าวที่ว่าบ้านไม่สามารถกลับหัวลงได้ง่ายๆ และมันก็ไม่มีมูลฐานแท้จริงในเรื่องของความสัมพันธ์กันระหว่างบ้านกับพื้นดิน เพราะ(บ้านหลังนี้) มันไม่มีฐานตั้งรองรับ มันไม่นั่งอยู่บนชั้นใดๆของวัสดุที่แน่นอนเหมือนสถาปัตยกรรมอื่นทั่วๆไป..นี่เป็นสิ่งที่ผมต้องการจะพูดถึง ผมไม่พูดในแง่ธรรมดาที่เราเพียงเข้าใจกันในเฉพาะกลุ่มคน ..นี่เป็นบ้านสำหรับคนทุกคน และนี่เป็นสิ่งที่ผมอยากกล่าวให้ชัดเจนสำหรับคนอเมริกันในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่บ้านสำหรับพวกผู้ดีอเมริกันในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านเลยมาแล้ว
ในบทสัมภาษณ์สถาปนิกเกี่ยวกับการคำนึงถึงลูกค้า, ผู้ใช้อาคาร หรือผู้ดู ที่ซึ่งเรียกรวมๆกันว่า Architects’ People ในการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไรบ้างนั้น.. Peter Eisenman เริ่มต้นในการสนทนาไว้ดังนี้ “มีอยู่เพียงสี่อย่างที่เป็นเรื่องสำคัญแท้จริงในชีวิต(ของผม) คือ ไวน์ อาหาร เซ็กซ์ และโคลงกลอน สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งเรื่องพื้นฐานและมีสาระสำคัญ สำหรับเพื่อนนักเขียนของผมคนหนึ่งชื่อ… William Gass เขาไม่เขียนหนังสือเพื่อผู้อ่าน แต่เขาเขียนสำหรับตนเอง สถาปัตยกรรมสร้างสรรค์โดยสถาปนิก ก็เพื่อสถาปนิกแต่ละคน.. ผมก็ทำมันเพื่อตัวผมเองเช่นกัน ไม่มี “คนอื่น” สำหรับสถาปนิก”
นี่เป็นอีกแว็ปหนึ่งที่สะท้อนความคิดของ Eisenman ออกมาชัดเจนและตรงไปตรงมาดี แต่นั่นแหละ..ผมอยากให้ตั้งข้อสังเกตุไว้ด้วยว่า สิ่งที่สถาปนิกพูดหรือเขียน บางครั้งก็ไม่ตรงกับใจทุกเรื่อง บางคนพูดเพื่อผลการโฆษณาชวนเชื่อทางอาชีพก็มี กระนั้นก็ตามเราอาจใช้เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถตีความในเรื่องความคิดของเขาเหล่านั้นได้ เพราะอีกนัยหนึ่งนั้น แม้คำพูดของสถาปนิกไม่ตรงกับอาคารที่เป็นจริงก็ตาม แต่มันก็อุปมาเหมือนหน้าต่างที่เปิดไปสู่ความคิด และจินตนาการของสถาปนิกได้เหมือนกัน ..ลองฟังคำสนทนาของ Eisenman (ซึ่งน่าสะท้อนความคิดหนึ่งของเขา) ในประเด็นนี้ต่อ..นะครับ
“เมื่อคุณบอกว่าจะพูดเกี่ยวกับ Architects’ People ทีแรกผมนึกว่าจะให้พูดเกี่ยวกับ “ตัวผม” ในฐานะของสถาปนิก… สำหรับผมสิ่งที่สำคัญ คือผมดำเนินการกระทำผ่านงานสถาปัตยกรรม ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกแล้วที่จะบ่งชี้ว่าผม “อยู่“ ที่นี่ (เป็นสถาปนิก..แหม..เหมือนปรัชญาที่ Descartes เคยกล่าวว่า ..I think…therefore I am..ผมเปรียบเอง) คนส่วนมากดำเนินชีวิตเหมือนการใช้บริการรถไฟเพื่อเดินทางไปในที่บางแห่ง ต้องการความเร็ว พยายามเลือกที่นั่งที่ดี เข้าคิวรอขึ้น.. แต่ผม ไม่ได้อยู่บนรถไฟคันนั้น ผมอาศัยอยู่ที่สถานี อยู่ระหว่างรถไฟที่แล่นไปมา การใช้บริการรถไฟไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ เราทุกคนมีตั๋วสำหรับรถไฟเที่ยวสุดท้าย (คือไปสู่ความตาย) ปัญหาคือ คุณจะทำอะไรระหว่างรอ? สำหรับผม กำลังขุดพื้นของสถานี การขุดนี้คือชีวิตและงานสถาปัตยกรรม (ของผม) เป็นการกระทำที่นับเนื่องถึงการสำรวจและขุดค้นหาความคิดต่างๆ คุณอาศัยความรู้สึกที่เกิดในใจเองเท่านั้นที่จะบอกว่าคุณจะขุดพื้นที่ตรงไหนในสถานี ขณะที่ผมกำลังขุด ผมรู้ว่าอะไรที่ไร้ค่า แต่ผมไม่แน่ใจ แม้ผมรู้จักทองคำ แต่แล้วผมก็ไม่ได้มองหา “มัน” ผมไม่ได้ขุดเพื่อความมุ่งหมายใด ผมขุดก็เพื่อให้ได้ขุดเท่านั้นเอง เพื่อพิสูจน์ว่าผมยังมีตัวตนอยู่ สิ่งที่ผมสนใจคือได้พบเห็นอะไรที่เกิดขึ้นในขณะที่ผมขุดมันด้วยมือและที่สำหรับตักของผม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการขุดด้วยเครื่องจักรหรือดินระเบิด ผมชอบการแยกย่อยสิ่งต่างๆ Nietzsche (นักปรัชญาชาวเยอรมัน) เคยกล่าว่า การทำลายและการสร้างสรรค์มีส่วนของการกระทำในลักษณะเดียวกัน แท้จริงแล้วอาคารก็ถูกทำให้ปรากฏขึ้นด้วยขบวนการนี้ (ทำลายและสร้างสรรค์) เช่นกัน
ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังงานของผม นอกจากตัวผมเองเท่านั้น ผมไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวหรือไร้คุณธรรม…ผมเพียงต้องการเป็นมากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกๆวัน ในชีวิตผมทั้งหมด ผมต้องการค้นพบความเป็นตัวเอง เหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องการให้คนอื่นๆรักผม ชอบงานของผม แต่ผมไม่สามารถคาดหวังมันได้ นอกจากเพียงคิดว่าเขาเหล่านั้นรู้ว่างานของผมคือสถาปัตยกรรม…เขาอาจไม่ชอบ แต่เขารู้ว่ามันเป็นสถาปัตยกรรมก็พอแล้ว โดยไม่คำนึงถึงคนที่อาจจะเข้าใจมันเป็นเชิงนามธรรมหรือมีคุณภาพที่ยุ่งยาก หรือแม้กระทั่งคนที่เข้าใจอาคารของผมอย่างดีก็ตาม ยังมีอีกหลายคนอาจจะชอบงานของผมในแง่ปฏิมากรรม…เพราะงานผมเป็นสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยความร้อนรนใจ ไม่มีปรากฏของสัญลักษณ์และการแต่งรูปใดๆ ซึ่งผมคิดว่า ..ทำไมไปโยนทิ้งจารีตประเพณีร่วม ๕๐๐ ปี โดยปราศจากการสรรสร้างความร้อนรนใจมาทดแทนกัน?
เมื่อคุณถามผมถึงสถาปัตยกรรมในความหมายของชีวิตภายในอาคาร มันเป็นหนึ่งในหลายคำถามที่ทำให้ผมพรั่นพรึง ผมไม่เคยรู้ว่าบ้านที่ผมออกแบบมีความหมายอะไรกับการดำเนินชีวิต ..William Gass (เพื่อนนักเขียนคนเดิม) เคยกล่าวเกี่ยวกับบ้านเบอร์หก (ที่อ้างแล้วข้างต้น) ที่ผมออกแบบว่า เขาสามารถเขียนโคลงและร้อยกรองได้อย่างเพราะพริ้ง ถึงความเลิศเลอของความรัก หรือการทำครัวที่จะได้เสพอาหารที่เลอรสในบ้านหลังนี้ ขณะที่นักสังคมวิทยาอย่าง Robert Gutman อาจแย้งว่ามันอาจเป็นสถานที่ๆซึ่งหมิ่นเหม่ในแง่สังคมวิทยา ..นี่เป็นการมองในคนละมุมกัน แต่ผมเชื่อว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์โลกที่ปรับตัวได้ง่าย ดังตัวอย่างเช่น มีคนยอมจ่ายเงินหลายพันดอลล่าร์อเมริกัน เพื่อที่จะยอมอยู่ในห้องแคบๆในเรือเดินสมุทร ยอมรับประทาอาหารในห้องอาหารสาธารณะ อะไรคือความหมายในการดำเนินชีวิตล่ะ? ผมยังไม่ได้อ้างรวมถึงความสะดวกที่ไม่ใส่ใจ..เครื่องล้างจานควรอยู่ถัดจากอ่างล้างมือหรือไม่?..ห้องน้ำควรอยู่ถัดจากห้องนอนไหม? งานของผมไม่เกี่ยวกับความสะดวก—มันเกี่ยวกับศิลปะ—ผมไม่แนะนำให้คนทั้งหลายดำเนินชีวิตในสถาปัตยกรรมของผม เหมือนที่ Loos (Adolf Loos 1870-1933) เคยกล่าว “สถาปัตยกรรมคือบทบัญญัติของอนุสาวรีย์และหลุมศพ” (สำนวนที่ไม่ตั้งใจ)..ผมสามารถทำงานโดยปราศจากความมุ่งหมาย…งานที่ดีที่สุดของผมคืองานที่ไร้ความมุ่งหมาย ผมจะสร้างความมุ่งหมายขึ้นมาภายหลัง ..ลองมองไปที่ พิพิธภัณฑ์ Frick ซิ !.. มันไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์เลย สถาปัตยกรรมถูกเติมประโยชน์เช่นเดียวกับการใช้คำคุณศัพท์ เป็นปัญหาหนึ่งในหลายๆปัญหา อุปมาเช่น คุณอ่านงานเขียนของเช็คสเปียร์ไม่ใช่เพราะเรื่องราว—ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณรู้เรื่องมาก่อนแล้ว คุณอ่านเพราะการสรรหาคำที่เอามาร้อยเรียงกัน เสียงที่เกิดจากคำเหล่านั้น และรสชาดของคำที่คุณลิ้มรสมันต่างหาก ใครเล่าจะสนใจเรื่องราว? ใครเล่าจะเอาใจใส่กับประโยชน์? นี่คือการลดทอนสถาปัตยกรรมสู่ความสะดวกที่ไม่ใส่ใจ
ผมสร้างสิ่งที่เกินล้นจากประโยชน์ใช้สอย ความคิดทั้งหมดของประโยชน์ที่เพิ่มความล้นเหลือนั้น คืออะไรที่ทำให้สถาปัตยกรรมยุ่งยากมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ Valéry กล่าวเมื่อแต่งกลอน….”เป็นความเกินล้นในความหมาย” เมื่อคุณหยิบหนังสือพิมพ์อ่านในตอนเช้า คุณอ่านเสร็จแล้ว ก็โยนทิ้งมันไป ใช่ไหม? แต่ทำไมบางคนยังอ่านมันอีก ไม่ใช่เพราะอะไรที่อยากรู้ แต่เพราะอยากสะท้อนเสียงของคำที่เขียนไว้? คนส่วนมากซื้อบ้านเพราะมันสนองความมุ่งหมายพวกเขาได้ ทำยังไงถึงจะสร้างบ้านให้เขาเหล่านั้นได้สิ่งอื่นนอกเหนือที่เขาต้องการ? การรบเร้าเพื่อเอาชนะเหนือประโยชน์ใช้สอยนั้น เป็นพลังที่เริ่มให้เกิดแรงกระตุ้นความรู้สึกทันทีของสถาปัตยกรรม ตัวอย่างเช่น การเอาชนะเหนือสัดส่วน (human scale) ที่กำหนดทางสถาปัตยกรรม สร้างมันด้วยสัดส่วนที่ไม่มีการกำหนด โดยเอาชนะเหนืออาคารที่มีความจำเป็นต้องสัมพันธ์กับสัดส่วนของมนุษย์ กิจกรรมที่ผมทำไม่เกี่ยวกับมานุษย์วิทยา แต่เหมือนที่ Daniel Liebiskind (สถาปนิกนักสร้างทฤษฎีสังคมร่วมสมัยชาวเยอรมัน) ได้กล่าวว่า บางทีเป็นมานุษย์วิทยาแบบพิเศษ เช่นในความพยายามหนึ่งที่นอกเหนือวาทกรรมของผู้ศึกษาเรื่องมนุษย์เคยแสดงไว้ อยู่นอกเหนือของความเป็นสองขั้วตรงกันข้ามของ ช่องทึบ-ช่องโล่ง ดำ-ขาว ถูก-ผิด บน-ล่าง ซ้าย-ขวา ชาย-หญิง แต่ในประเด็นนี้ผมไม่กระทำเพื่อให้บรรลุผลด้วยการสนับสนุนของความคิดเหล่านี้ แม้คุณไม่เคยทำสำเร็จ…คุณก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป มันเป็นการกระทำสำหรับเพื่อสถาปัตยกรรมเท่านั้นที่ผมถือเป็นสิ่งสำคัญ
ปกติแล้ว ผมมองหา “นักอ่านใหม่ๆ” เช่นนักอ่านใหม่ของ Foucault (นักปรัชญาร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส, 1926-1984) ผมไม่เชื่อว่าคุณสามารถอ่านสถาปัตยกรรมของผมได้ในลักษณะแบบคนอ่านเดิมๆ.. เพราะดีไม่ดีบางคนอาจกำลังอ่านสิ่งผิดๆก็ได้ เราอ่านสถาปัตยกรรมเดี๋ยวนี้เช่นเดียวกับการฟังการกล่าวสุนทรพจน์ (speech) ผมไม่ได้มองหาคนที่อ่านสถาปัตยกรรมของผมในแง่ของการจัดลำดับของจินตภาพ แต่ในแง่ใหม่ของเหตุการณ์ (events) ในแง่ของเนื้อหาหรือสาระของข้อเขียนเช่นในตำรา มโนทัศน์ของสถาปัตยกรรมคือเนื้อหาทางบัญญัติ สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องการชี้ขาดโดยปราศจากการถือเอารูปแบบเดิมใดๆ หรือแม้แต่ธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งต้นกำเนิดของสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย สถาปัตยกรรมหนึ่งเมื่อถูกดัดแปลง เป็นไปได้ในความคิดที่ว่ามันเป็นเพียงการแปรสภาพโดยการดัดแปลงในส่วนโครงสร้างของมันเท่านั้นเอง เป็นเพียงการเร่งเร้าภายในเพื่อยังผลในระดับหนึ่ง แล้วจึงต้องเริ่มมีการดัดแปลงอีกต่อไปในคราวหน้า… ไม่เป็นไปเพื่อการไปถึงที่ไหนๆ (หรือให้สัมบูรณ์)… แค่เป็นเพียงการเป็นไปเท่านั้นเอง
ผมไม่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมได้ ผมเชื่อว่ามันเป็นเท่าที่เป็น เมื่อทำมันขึ้นมามันก็ “เป็น” แค่ที่ทำ งานออกแบบบ้านสามหรือสี่หลังแรกของผมมันสะท้อนชีวิตในจิตใจ เดี๋ยวนี้ผมสนใจสิ่งที่เป็นอยู่ของมัน ผมไม่สนใจความก้าวหน้า ผมต้องการทำงานที่ดีตามความพอใจของผม สิ่งนี้ต้องการสติปัญญาไม่ใช่แค่ความรู้ ดังนั้นผมต้องการเพาะปลูกสติปัญญาให้เจริญงอกงาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากประสบการณ์ ที่มีความสัมพันธ์กับอดีตของผม และมันต้องกระทำด้วยความสามารถในการคิดค้นขึ้นมา
สำหรับทุกคนที่กังวลกับการทำโลกให้เป็นสถานที่น่าอยู่และดีกว่านั้น ผมอยากเสริมว่า “ทำไมไม่ทำสถาปัตยกรรมให้ดีกว่าล่ะ? ทำไมไม่แต่งกวีนิพนธ์ที่ดีกว่า? ถ้าเขาหยุดกังวลกับคนอื่นแล้วหันมากังวลเรื่องของพวกเขาเองแล้วโลกก็จะงดงามเอง มันเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่สามารถออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีได้ จึงต้องมากังวัลใจกับคนอื่นๆในโลก ..ในศตวรรษนี้ ความกลัวในความกลัว เพราะเคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์สองครั้งที่เกิดขึ้นในปี 1945 (การสังหารชาวยิวและทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น) มันทำให้ผมเชื่อว่า ไม่ใช่ทั้งวิทยาศาสตร์และไม่ใช่สังคมศาสตร์ ที่จะทำให้โลกเป็นสถานที่ๆดีกว่าได้ ในเมื่อมนุษย์ (ในปัจจุบัน) สามารถทำลายความเป็นมนุษย์ได้มากกว่าแต่ก่อน แต่สิ่งที่ดีคือ กวีไม่เคยเลยที่จะคิดถึงสิ่งเหล่านั้น เขาเพียงแค่เขียนกวีนิพนธ์ของเขา เขาอาจคิดที่จะขยายจิตมีสำนึกบ้าง… อาจจะ… เพราะถ้ามันทำให้ความเป็นอยู่ (ของเขา) ดีขึ้น ผมก็ต้องการการเป็นอยู่ (ของผม) ดีขึ้นทุกๆวัน และมันก็เป็นสิ่งพอเพียงแล้ว ถ้างานของผมเพียงทำให้ผมหรือคนอื่นอีกสักคนเป็นอยู่ดีขึ้น บางคนซึ่งสามารถพูดได้ว่า “ผมได้มันแล้ว” ผมคิดว่าผมต้องการคนๆนั้น
นี่เป็นสิ่งที่ผมพยายามสอนนักเรียน ผมพยายามเปิดเผย… อะไรคือสิ่งที่ดำรงอยู่ นั่นคือ… อะไรคือความแตกต่างระหว่างสติปัญญาและความรู้ มากไปกว่านั้น คือวิธีการเรียนเป็นเหมือนกลุ่มคนที่ช่วยกันบำบัดรักษา ผมพยายามช่วยเหลือพวกเขาทำสถาปัตยกรรมสำหรับพวกเขาเองแต่ละคน และให้มีขนาดพอบรรจุความพอใจของตนเองลงได้ เพื่อเขาจะได้ไม่ระเบิดสมองตนเองเมื่อมีอายุถึง ๓๕ ปี ซึ่งในเวลานั้นอาจพบว่าโรงจอดรถสองคัน, รถยนต์นั่งสำหรับครอบครัว, เรือ, เด็กๆ, สุนัข, ภรรยา ไม่มีความหมายอะไรเลย เราไม่ได้เป็นพวกคนเสนอสินค้า… ไม่ใช่ผู้พิพากษา… ผมเป็น… ในบางอย่างคือคนทำโปรแกรมใหม่.. ขอร้องให้เขาละทิ้งกระเป๋าเดินทางเสีย (เลิกร่อนเร่ไปกับรถไฟ) หันมาขุดพื้นกับผมในสถานี คุณจะเห็นว่าสิ่งดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งทีเดียว
ในการปลดเปลื้องตนเองออกจากกระเป๋าของวัฒนธรรมนั้น คุณต้องรักษาความมีอีโก้ (ความเชื่อมั่นในตนเองสูง) ของคุณไว้ ต้องรักษาคุณค่าของตนเอง แต่ต้องไม่ยอมให้มันโดนเหยียบย่ำทำลายโดยความเห็นแก่ตัว เพราะความเห็นแก่ตัวนั้นเปรียบเหมือนความชั่วร้ายที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึก ไม่มีใครสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยจิตไร้สำนึก หรือโดนกำหนดโดยความเห็นแก่ตัว แม้ผมสามารถปลดปล่อยความอิสระให้จิตไร้สำนึกเกิดขึ้นได้ แม้ผมสามารถขุดพื้น (ในสถานี) โดยจิตไร้สำนึกได้ก็ตาม ผมก็ยังคงรักษาความเป็นผมและรู้ตัวว่าผมเป็นใคร แต่แล้วเมื่อผมมองหาบางสิ่งเช่น กระเป๋า(ของวัฒนธรรม)เดินทางนี้ ผมไม่คิดว่าสถาปนิกอย่างผมควรเดินทางไปพร้อมกับกระเป๋าเดินทางเช่นนั้น
ผมจะเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้คุณฟัง ผมเคยหมกมุ่น เพราะว่าผมกำลังจะจากไปทำธุระกรรมบางอย่าง เพื่อนถามผมว่าธุระกรรมอะไรอยู่ในใจผมหรือ? ผมตอบว่า “รองเท้า”
“รองเท้า?”
“รองเท้า..ผมมีรองเท้าสองคู่ แต่ทั้งหมดต้องเอาไปซ่อม”
“เพียงสองคู่หรือ? ทำไมไม่ซื้อคู่ใหม่เสียล่ะ?”
“อ๋อ..คุณไม่เห็นหรือ มันเป็นรองเท้าที่ทำด้วยมือล้วนๆ และต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมราวหกอาฑิตย์ ผมส่งมันไปให้ช่างซ่อมรองเท้าพิเศษที่เมืองเวอร์จิเนีย”
“โอ้..พระเจ้า ปีเตอร์, ช่างเลวร้ายสิ้นดี นั่นไม่ใข่คุณ นั้นเป็นจินตภาพ (ที่คิดเอาเองว่าเป็น) ของคุณ เอาอย่างนี้ซิ..พรุ่งนี้..คุณแค่ออกไปที่ร้านรองเท้าใกล้ๆที่สุด และพูดว่า “ขอซื้อคู่นั้น”
ผมไม่เคยคิดว่าผมสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่ผมก็ทำ มันเป็นสิ่งที่ยากอย่างไม่น่าเชื่อ ..ผมพยายามแยกตัวเองออกจากจินตภาพของผม.. นี่เป็นขบวนการเดียวกันในงานสถาปัตยกรรมของผม….. (จบบันทึกการสัมภาษณ์)
เหมือนที่ผู้สัมภาษณ์สรุปไว้ในหนังสือนี้ว่า สำหรับสถาปนิก Peter Eisenman นั้น ลูกค้าหรือผู้ใช้อาคาร (Architects’ People) ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่เขาใส่ใจในงานออกแบบนัก “ทำอย่างไรที่จะพิสูจน์ว่า ฉันอยู่ที่นี่” นี่เป็นคำตอบที่ Eisenman ตอบในเชิงอุปมากับการขุดพื้น การเนรมิต และการสร้าง (รูปร่างอาคาร) เป็นลักษณะโต้แย้งกับ “กระเป๋าของวัฒนธรรม” (หลายคนเชื่อว่าสถาปัตยกรรมเป็นที่รวมของวัฒนธรรม) ความคาดหวังทางสังคม ซึ่งเขาต้องทำงานหนักเพื่อให้ความลุ่มลึกในความคิดของเขาปรากฏขึ้นมา อีกทั้งการกระทำด้วยความฉลาดเฉลียวในสองสิ่ง... อยู่เหนือความมุ่งหมาย ออกแบบอาคารที่ไม่อ้างถึงสัดส่วนมนุษย์ และการกระทำทุกๆวันให้สติปัญญาเจริญงอกงาม (อุปมาดังการขุดพื้นและการซื้อรองเท้า) เหมือนที่เขาแนะนำว่า “ผมมองความเป็นตัวเองในกระจกของคุณ… ไม่ใช่ในกระจกของผม ไม่งั้นก็จะเป็นอย่างเทพยดานาซีซัส ที่หลงเงาตัวเองจนซูปผอมตาย”
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผมคือคำกล่าวของ Eisenman เกี่ยวกับการสอนสถาปัตยกรรม คือ ความเหมาะสมในบริบทของมนุษย์ (ของครูและกลุ่มร่วมกันบำบัดรักษา) ที่ยอมให้เกิดการค้นหาเอกลัษณ์ของตนเอง ความเป็นตัวเอง อันเป็นรากเหง้าของทุกคนที่ต้องเอาใจใส่อย่างจริงจัง และนี่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างแสนลำบากทีเดียว…อ่านคำสนทนาที่สะท้อนความคิดของ Eisenman (แม้คำพูดใครๆอาจไม่จริงตรงใจคนๆนั้นทั้งหมดก็ตาม) นี้แล้ว ก็อาจเข้าใจเจตนาของสถาปนิกที่ออกแบบสำหรับผู้ใช้อาคารหรือคนอื่นๆอย่างไร และน่าจะทำให้เข้าใจประเด็นโต้แย้งที่คนอื่นวิจารณ์งานสถาปัตยกรรมในมุมมองที่ไม่เหมือนกันด้วย เป็นสองทิศทางที่ต้องไตร่ตรองว่า ความถูกต้องชอบทำในความคิดของสถาปนิกสำหรับสถาปัตยกรรมนั้นควรอยู่ที่ระนาบไหนกันแน่… ซึ่งอาจไม่ง่ายเลยที่จะค้นหาเจอ… นะครับ

Axonometric drawings
ในแวดวงสถาปัตยกรรมยังมีทัศนะคติของ “ความไม่เท่าเทียมกันของความโง่” (Asymmetry Ignorance) สถาปนิกมักอุปโลกตัวเองเป็นผู้รู้แท้จริง มีความเป็นฮีโรอิกอีโก้ค่อนข้างสูง เชื่อว่าตนเองรู้รอบในสิ่งที่คนอื่น เช่น ผู้ใช้อาคารต้องการ…หรือไม่ใส่ใจใครอื่นนอกจากตนเอง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมกลับชอบอีกทัศนะหนึ่งของพวกสถาปนิก “หลังสมัยใหม่” เช่น Robert Venturi ในบริบทความคิดที่ว่า เรานั้นมี “ความโง่เท่าเทียมกัน” (Symmetry Ignorance) ไม่มีใครเก่งเกินกว่ากัน ไม่มีใครเป็นพระเจ้าเหนือคนธรรมดา งานออกแบบสถาปัตยกรรมในแนวทางนี้ จึงเป็นเรื่องของความเอื้ออาทรและอ่อนน้อมถ่อมตนของสถาปนิก ซึ่งในพุทธศาสนาถือว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนและเมตตาธรรมนั้น เป็นบ่อเกิดของการเพิ่มภูมิปัญญาให้กับตนเอง การนำใจเขามาใส่ใจเรา เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวตะวันออก ความอหังการของเราเป็นไปเพื่อสร้างคุณค่าความดีงามให้กับคนอื่น ไม่ใช่เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมตนเองและหมู่คณะในอาชีพเดียวกัน หรือเพื่อสืบการทอดความหลงผิดให้ดำเนินกันต่อๆไปโดยไม่รู้ตัว…

1961, Venturi House at Chesnut Hill Pa. By Venturi and Rauch
ก่อนที่ผู้อ่านจะตัดสินใจอย่างไรนั้น ผมใคร่ขอเพิ่มเติมในหลักกาลามสูตรของพุทธศาสนาที่ว่า เราควรสร้างความสงสัยไว้เสมอ อย่าหลงเชื่อในสิ่งที่ใครๆอวดอ้าง หรือบอกให้เชื่อตามกันมา หรือแม้กระทั่งความรู้ความเข้าใจที่ตัวเองมีอยู่ สถาปนิกนั้น ก็ต้องมีการไตร่ตรอง คอยทบทวน เพื่อแสวงหาความจริงแท้ เช่นด้วยการ “ภาวนา” คือ...โยนิโสมนัสสิการ… การพิจารณาตามความเป็นจริง… ภายใน… ในเรื่องของตนเอง และต้องกระทำด้วยจิตที่มีเมตตาธรรมและมีความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย เพราะนั่นจะเป็นแนวทางของการเสริมสร้างภูมิปัญญาให้กับตนเองเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้อื่นในที่สุด

No comments: