Tuesday, March 20, 2007

การเรียนรู้และการแข่งขัน

การศึกษา เรียนรู้ และแข่งขัน

ผมยังไม่ได้คุยเรื่องการแข่งขัน ทั้งๆที่ทึ่งในการเสนอความคิดเรื่องนี้มาก ซึ่งผมเห็นว่าเป็นข้อสังเกตที่สำคัญยิ่ง สำหรับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทยไปเป็นอย่างตะวันตก

เผอิญวันนี้ได้อ่านข้อเขียนของอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ เรื่อง… “ความรู้ไว้เด็ดยอดหรือไว้เพาะ" สาระหนึ่งคือเรื่องการแข่งขัน ที่อาจารย์นิธิ วิจารณ์ถึงนายไมเคิล พอตเตอร์ จะมาเลคเชอร์และวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจในเมืองไทยที่เคยฮือฮาเรื่องค่าจ้างกันเร็วๆนี้ นายพอตเตอร์เน้นการแข่งขันกันสุดๆ ถ้าจะเปรียบเป็นฝูงไก่ในเข่ง ก็ควรจิกตีกันไปเรื่อยๆ จนกว่าตัวอ่อนแอจะล้มตายไปหมดก็ตาม ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดคนไทยอย่าง อาจารย์ประเวศ และพระธรรมปิฎกฯ ที่เตือนสติคนไทยเหมือนไก่ในเข่งซึ่งควรช่วยเหลือเกื้อกูลกันและออมแรงรักษาสุขภาพด้วยกัน เพื่อคอยหาโอกาสบินหนีออกจากเข่งร่วมกันในอนาคต โดยไม่ต้องมีตัวไหนเดือดร้อน...การเรียนรู้และศึกษาวิจัยกันเพื่อช่วยเหลือแต่ไม่ใช่เพื่อเอาชนะผู้อื่นอยู่ร่ำไป

ผมว่าเรากำลังพัฒนาแนวคิดของตะวันตกในเรื่องการแข่งขัน ภายใต้สโลแกนการแข่งขันเสรีทั้งหลายซึ่งไม่มีทางที่ผู้อ่อนแอจะชนะได้ และต้องทนยอมรับความหายนะโดยปริยาย แม้แต่ที่เราพยายามแข่งขันทางกีฬาฟุตบอลขณะนี้ ที่ไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด แต่เราก็พยายามแข่งขันตาม ซึ่งผมว่าชนะยากไม่ว่าต้องเล่นจนขาพิการไปกี่คนก็ตาม....แนวคิดเดิมของคนไทยในเรื่องนี้ถูกปลูกฝังมาจากพุทธศาสนา คือแข่งขันกันสร้างบุญกุศล สร้างเสริมความเมตตาแก่กันและกันและช่วยกันพัฒนาจิตใจไปพร้อมความเจริญทางวัตถุโดยเว้นการเบียดเบียนผู้อื่น หมั่นช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอเสมอๆ เรียนรู้และศึกษาจบกันไปเพื่อไปช่วยสังคมส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสกว่าเรา....แนวคิดนี้จะค่อยๆเลือนหายจากคนไทยในเร็วนี้แน่ คงต้องรอจนกว่าคนฝรั่งจะคิดหมุนเปลี่ยนกลับตรงข้ามที่เขากำลังเป็นอยู่ ถึงเวลานั้นคนไทยก็คงลืมหมดแล้ว ละก้อ...จะต้องมาเรียนรู้ตามพวกฝรั่งในสิ่งที่เราเคยเป็นมาก่อน...อีกต่อไป

การศึกษาก็เน้นความคิดแข่งขันแบบนี้ ถึงได้มีการให้เกรดและรางวัลเกียรตินิยมต่างๆ นิสิตผู้ล้มเหลวปรับตัวไม่ทันก็ต้องสิ้นหวังหมดกำลังใจไปในที่สุด ทั้งๆที่ทุกคนได้รับการคัดสรรมาอย่างดีแล้วก็ตาม....ด้วยการแข่งขันกันเรียนเพื่อเป็นหนึ่งให้ได้ทุกทาง การเรียนรู้แบบ "เด็ดยอด" จึงมักนิยมมากกว่าการ "เพาะเมล็ด" ลักษณะแรกซึ่งถือว่าเป็นความรู้ที่ไม่ยั่งยืนได้เลย

ก็ขอแจมมาอีกเพื่อสนับสนุน ผู้เปิดประเด็นเรื่องนี้ให้เราลองตระหนักกันบ้าง...ก็ดีนะครับ

การเรียนรู้ เพื่อมีความรอบรู้ หรือมีปัญญา

ประเด็นของกระทู้ที่พูดคุยกันในเว็บบอร์ดดังกล่าวข้างต้นนี้ ช่วยให้ผมหวนกลับไปที่คำถามที่ว่า ความรู้นั้น คืออะไร? ต้นกำเนิดความรู้มันเกิดที่ไหน? จะเรียนรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่รู้เป็นเท็จหรือเป็นจริง? สิ่งที่เรารู้แล้ว รู้ได้อย่างไรว่าไม่เคยรู้มาก่อน? อะไรเป็นความรู้? อะไรไม่เป็นความรู้? ความรอบรู้คือปัญญานั้นคืออะไร? ฯลฯ นี่เป็นคำถามส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิชาปรัชญา โดยเฉพาะที่เรียกว่า ญาณวิทยา (Epistemology..ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ..ความจริงและความรู้) ที่นักปรัชญาค้นหาคำตอบกันมานานแล้ว และมีวิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกิดขึ้นด้วย จนเรารับรู้กันเดี๋ยวนี้ว่า ความรู้ คือความจริงที่ตรวจสอบกันได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าจะมีการตอบโต้กันหลากหลายว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ยังควบคุมตรวจสอบความจริงไม่ได้สูงสุด เพราะการเดาอย่างมีเหตุผล (Heuristic Method) ก็ยังมียอมรับว่าเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์หนึ่งได้เหมือนกัน เป็นต้น และความจริงอันเป็นความรู้ของแต่ละบุคคล ก็ยังเป็นเอกเทศในการพิสูจน์ด้วยเชิงประจักษ์ (ด้วยการสังเกตและตีความ) หรือด้วยประสาทสัมผัสของตนเองอีกด้วย คนอื่นไม่อาจล่วงรู้ได้ทั้งหมดจากคำอธิบายใดๆ เช่นความจริงในเรื่องการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นความจริงสูงสุดที่เราเชื่อถือกัน แต่ก็ต้องดำเนินการให้เกิดความประจักษ์และสัมผัสด้วยตนเองเท่านั้น จึงถือเป็นที่สิ้นสุดของการโต้แย้งดังกล่าว รวมทั้งความจริงในความรู้อื่นๆก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน จากคำถามเหล่านั้น..ผมเคยพอรู้ (เชื่อ..เข้าใจ..อาจไม่รู้จริง) คำตอบบ้าง แล้วก็ลืมๆ (หรือเชื่อใหม่..เข้าใจใหม่) ไปบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยอยากพูดคุยในคำถามนั้นๆกับใครบ่อยนัก เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นคน “ประสาท” หรือคิดมากไปโดยใช่เหตุ…แต่เมื่อได้พบข้อเขียนทางปรัชญาตะวันตกเปรียบเทียบกับญาณวิทยาของพระพุทธศาสนา ที่คุณสมัคร บุราวาส เขียนไว้ในหนังสือ พุทธปรัชญา-มองพุทธศาสนาด้วยทรรศนะทางวิทยาศาสตร์ อ่านแล้วก็ได้ความสุขของความเข้าใจในในอีกแง่มุมหนึ่ง….นี่เป็น “ความรู้” ในเรื่องที่ผมตั้งคำถาม..ใช่ไหม?

ในบทที่ ๔ ของหนังสือที่อ้างของคุณสมัคร ทำให้ผมเข้าใจในข้อเขียนของท่านต่อไปนี้..ว่า พระพุทธองค์ได้สอนที่มาและต้นกำเนิดของความรู้

ของมนุษย์ไว้หลายครั้งหลายหนในพระสูตรต่างๆที่รวมไว้ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นบันทึกจากความจำของสาวกพระพุทธเจ้า ถือเป็นญาณวิทยาของพระพุทธศาสนา (Buddhist Epistemology) จัดเป็นบทต้นของปรัชญาเถรวาท ต่อไปก็เป็นภววิทยาของพระพุทธศาสนา (Buddhist Ontology) ว่าด้วย “สิ่งที่มี” ในทำนองว่าอะไรมี อะไรไม่มี ถ้าสิ่งนี้มีอยู่จริง มันอยู่อย่างไร? (ผมขออนุญาตตีความว่าน่าจะเป็นทฤษฎีหรือองค์ความรู้ของพุทธศาสนาทั้งมวล หนึ่งในสาระของการอธิบาย..รวมถึงอรรถกถา เช่น เรื่องมิลินทร์ปัญหา เป็นต้น) ท้ายที่สุดข้อใหญ่ใจความ..ในแง่เพื่อการปฏิบัติเพื่อสนองประโยชน์ของมนุษย์ คือ จริยศาสตร์ของพระพุทธศาสนา (Buddhist Ethics)…ทั้งหมดเป็นองค์ความรู้ปรัชญาพุทธศาสนาเถรวาทที่มีรูปแบบโดยสมบูรณ์ (คือรวมทั้งในแง่ทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุผลได้..ผมว่าเอง)

ตามบันทึกคำสอนของพระพุทธองค์ (เช่นหลักของปฏิจจสมุปบาท..ผมว่าเอง) ชีวิตมนุษย์เริ่มด้วย “ความไม่รู้” หรืออวิชชา ต่อมาเมื่อมีความจัดเจนต่อชีวิตในโลก เช่นจากการสัมผัสรู้ด้วยประสาททั้งห้า การเรียนรู้เกิด การรู้เกิด เรียกว่ามีวิชา วิทยาการที่คนเราจะเรียนรู้ได้มีมากมายด้วยกัน และปัญญาคือการรอบรู้ในวิทยาการต่างๆ แต่ปัญญาในความหมายของพระพุทธศาสนาเป็นปัญญาที่รอบรู้ในวิทยาการว่าด้วยความหลุดพ้นและวิถีทางอันนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา ในขั้นสุดท้ายเท่านั้น ..ความรอบรู้หรือปัญญาย่อมได้จากการแสวงหา จากการศึกษา และการทำสมาธิและวิปัสสนาย่อมช่วยทำให้จิตหลุดพ้นจากการเกาะยึดติดกับโลก กัมมันตภาพของคนเราคือ-การศึกษา-จึงเป็นการ “ดับอวิชชา” และสร้างวิชาในจิตใจของเรา เป็นการทำเพื่อให้จิตใจเคลื่อนจาก “ความไม่รู้” ไปสู่ “ความรู้” ในพระพุทธศาสนาจึง “ไม่มีอะไรที่เราไม่รู้…จะมีก็แต่สิ่งที่เรายังไม่ได้เรียนรู้เท่านั้น”..การเรียน..เรียน..เรียน จึงเป็นการสร้างความรอบรู้หรือปัญญาเพื่อทำลายอวิชชาหรือความไม่รู้ ที่ติดมากับตัวเราแต่กำเนิดนั่นเอง

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ….เราจะเรียนอะไรดี เพราะวิทยาการที่คนอื่นเตรียมไว้สอนเรามากมาย วิทยาการบางอันอาจเป็นเท็จเรียนไปก็เปล่าประโยชน์ นำไปปฏิบัติให้ก่อประโยชน์กับตัวเราก็ไม่ได้ อีกทั้งการ “มีความใคร่ที่จะเชื่ออย่างงมงาย” เกิดขึ้นได้ง่ายกับคนเราส่วนมาก ยิ่งหากบางคนยังขาด “หลัก” ที่จะดำเนินการใด ก็จะรับเอา “หลัก” ที่ผู้อื่นเสนอมาให้ และจะรับเอาไว้อย่างเหนียวแน่น มักขาดการไตร่ตรองพิจารณาดูว่า “หลัก” ที่ยึดเป็นศรัทธาไว้นั้น จะมีประโยชน์-เสียประโยชน์ หรือไร้ประโยชน์ เป็นโมฆะไปหรือไม่…ความใคร่เชื่อและความงมงายเกิดจาก “การอยากได้” ที่ยึดไว้เหนียวแน่นเป็นปฏิภาคทางตรงกับความงมงาย ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งมีความใคร่เชื่อ เลยมักละเลยการไตร่ตรองถึงหลักที่ยึดไว้นั้น จุดอ่อนของคนใคร่เชื่อเพราะอยากได้ นำไปสู่การคิดเพื่อเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์อื่น โดยเอาความเท็จ-สิ่งที่ไม่มี-ไป “ขาย” ให้ แต่นี่ไม่ใช่ลักษณะของปัญญาชนทั้งหมด ยังมีผู้ที่พยายาม “ขาย” หรือสอนลัทธิของตัวให้ผู้อื่น ด้วยความเชื่ออย่างงมงายว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เชื่ออย่างนั้นจริงๆ หลักผิดๆที่นำไปสอนก็ย่อมได้ชื่อว่ามาจาก “การหลอกลวงตัวเอง” (Self Delusion) ของปัญญาชนเหล่านั้น…คุณสมัครว่าไว้อย่างนี้…แล้วยังมีต่อไปอีกว่า…

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสงสัยต่อหลักที่ได้รับมาว่าอาจเป็นความเท็จ หรืออาจได้จากการหลอกลวงตัวเอง ว่าเป็นจริงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงนับว่าจำเป็นและเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ใดๆของเรา ความสงสัยเป็นหลักของการเรียนรู้ที่เคยอ้างไว้ในหลักของกาลามะสูตรในพระพุทธศาสนา จนล่วงมาราวสองพันสองร้อยกว่าปี นักปรัชญาตะวันตก Descartes จึงได้ค้นพบวิธี “สงสัยไว้ก่อน” แล้วนำมาเป็นหลักสำคัญในปรัชญาของเขา “ความสงสัยในปรัชญา” (Philosophical Doubt) ถึงกับมีผู้ขนานนามเขาว่าเป็น “บิดาแห่งนักปรัชญาสมัยใหม่” เพราะเขาเอาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์หรือกึ่งวิทยาศาสตร์มาใช้ในปรัชญาเป็นครั้งแรก

สำหรับตัว Descartes ก็ยังค้นพบว่าครั้งหนึ่งจิตใจของเขาเต็มไปด้วยความสงสัย เป็นความสงสัยในปรัชญา คือสงสัยในวิชาการต่างๆ ทุกอย่างที่ได้ร่ำเรียนมาจากผู้อื่น ทั้งยังสงสัยแม้ความประจักษ์ของตนเองในความรู้สึกที่สัมผัสซึ่งอาจหลอกเราได้ เช่น การเห็นคนอยู่ไกลเล็กกว่าคนที่อยู่ใกล้ คนมีขาไม้ที่เมื่อถูกตีก็ยังร้องเจ็บปวดได้ ความสงสัยในวิทยาการหลักคิดหรือแม้ความประจักษ์ทำให้เขาเองเกิดความว้าวุ่นในใจว่า “อะไรหนอจะเป็นความแน่นอนที่อาจยึดถือเป็นฐานสำหรับสร้างความคิดทางปรัชญาต่อไปได้” ภายหลังการใคร่ครวญ เขาจึงพบความรู้ที่ว่า “ความมีอยู่” ของตัวเขาเอง..”ผู้สงสัย” นั่นแหละเป็นฐานสำหรับความคิดต่อไป-ดังกล่าว-ได้..เมื่อถือเอาความสงสัยเป็นข้อเท็จจริงมาอ้างแล้ว ตัวเขา-คือผู้สงสัย-ก็ต้องมีอยู่จริงเป็นจริงเป็นแก่นแห่งความคิดสืบต่อไป ฉะนั้นหากว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าตัวเองถูกหลอกลวง” ตามกฎของ Descartes “..ข้าพเจ้าก็ต้องมีอยู่อย่างแน่นอน เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ถูกหลอกลวง” ข้อสรุปปรัชญาอันเลืองชื่อของ Descartes จึงมีว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้คิด (สงสัย) ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีอยู่”…. I Think Therefore I am..

หลักทดสอบความจริงตามปรัชญาของ Descartes มีดังนี้

  • จะต้องไม่รับอะไรว่าเป็นความจริงเลย หากตัวเราเองยังมองไม่เห็นว่าเป็นเช่นนั้น
  • จะต้องแยกแยะพิจารณาความรู้ที่เรามี-ออกไป
  • จะต้องใช้ความคิดให้ถูกต้อง (เหตุ-ผล)
  • จะต้องทดสอบผลที่เราคิดขึ้นมาว่าเป็นจริง


ตรรกวิทยา (เหตุคือผล) ทางวิทยาศาสตร์นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) นั่นเอง

หลักกาลามะสูตรในพระพุทธศาสนา คุณสมัครยกคำกล่าวเน้นเรื่องนี้ของคุณสุชีพ บุญญานุภาพ มาเปรียบเทียบในประเด็นหลักสองประเด็นคือ….

  • ความสงสัยในความรู้หรือคำบอกเล่าที่ได้จากผู้อื่น
  • สงสัยแม้ความรู้ที่ตัวเองได้มาโดยตรง


ท่านขยายความอธิบายไว้ในประเด็นแรก โดยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นักคิดส่วนมากมักมีความลำเอียง หรือมีอคติเข้าข้างตัวเองและพรรคพวกตน ดังนั้นปรัชญาจากผู้อื่นอาจ..ยังไม่เป็น “ความรู้หรือปรัชญาสากล” ดังนั้นในประเด็นนี้จึงควรตั้งแง่สงสัยต่อความรู้เหล่านี้..คือ

ความรู้ตกทอด ความเชื่อใดๆ แต่ครั้งโบราณที่ถูกสอนเป็นความรู้ถ่ายทอดกันมา เช่นความรู้ของพวกพราหมณ์ที่มีมาก่อนพุทธปรัชญา หากพระพุทธองค์ไม่สร้างความสงสัยในความรู้นี้ ความรู้ใหม่ในแนวพุทธของพระองค์ย่อมอุบัติขึ้นไม่ได้เลยในเวลานั้น


ความรู้ปัจจุบัน ก็ต้องมีความสงสัยไว้ก่อนในความรู้ของผู้อื่นแม้ว่าจะเป็นความรู้ทันสมัยก็ตาม เพราะอาจระคนกันมาระหว่างชนิดเป็นเท็จและเป็นสัจธรรม ยากที่จะแยกแยะได้ในบางกรณี ท่านอ้างคำกล่าวที่ Lewis Carrol แดกดันว่า สังคมสมัยนี้มักเชื่อว่าอะไรเป็นจริงหรือถูกต้องหรือไม่ ย่อมแล้วแต่ครูอาจารย์สอนไว้ว่าอย่างไร คือทำตัวเป็นเช่น “นักเรียนตลอดกาล” เพราะความรู้ที่ได้มาอาจเกิดจากความรู้ของครูอาจารย์ที่เป็น “การหลอกตัวเอง” ที่เป็นผลมาจาก “ความอยากได้” หรือได้รับการโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อ หรือการได้จากข่าวสารที่โดนกำกับจากนายทุนของสื่อโฆษณานั้นก็ได้ (เหมือนเช่นความหลอกลวงที่ได้รับจากผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นประจำในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา..ยิ่งรัฐบาลที่เป็นเจ้าของสื่อ..ยิ่งต้องสงสัยสื่อนั้นให้มากๆ)


ข่าวหรือความรู้ที่เล่าลือต่อๆกันมา ย่อมตกอยู่ในสภาพที่เชื่อถือไม่ได้ที่สุด เพราะคนถ่ายทอดข่าวหรือความรู้คนแรกอาจตกข่าว เลยแต่งเติมความเท็จเข้าไปด้วย แล้วคนต่อมาก็ขยายเพิ่มความเท็จต่อๆไปอีกด้วย ข่าวหรือความรู้ทำนองนี้มีคุณค่าน้อยมาก แม้ควรรับฟังไว้บ้างก็ตาม
ควรสงสัย ข่าวหรือความรู้ที่แม้คนที่เสนอจะมีเป็นคนที่สมควรเชื่อในฐานะของนักวิชาการนั้นๆ ซึ่งอาจเป็น “คนซื่อ” แต่เสนอ “ข้อเท็จจริง” อันได้มาจากความสำคัญผิด ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเราเร็วๆนี้ ซึ่งได้ทำให้เราตกหลุม “รับเชื่อง่ายๆ” โดยไม่รู้ตัว


แม้แต่ครูอาจารย์ที่สั่งสอนเรามา เราไม่ควรเชื่อถือโดยตลอดทุกกรณีและทุกเวลา เพราะเมื่อเวลาล่วงมาความรู้นั้นอาจไม่ตรงความจริงและพอเพียงกับสถานะการณ์ปัจจุบัน (เช่น ความรู้ทางสถาปัตยกรรมที่ท่านเคยรู้อาจไม่ตรงกับสมัยหรือกับสังคมปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอาจไม่ตรงกับธรรมชาติที่แท้จริงของสังคม-วัฒนธรรมไทย ก็เป็นไปได้)) อีกทั้งความเป็นไปได้ที่ว่า “ความรู้อาจเรียนทันกันหมด” เพราะฉะนั้นการเชื่อท่านตลอดกาลจึงไม่มีผลดีอะไรเลย


การเชื่อตำราอย่างงมงายก็ไม่ควรทำ เพราะเป็นการเชื่อผู้อื่นทำนองเดียวกัน เชื่อตามมติโบราณหรือครูบาอาจารย์นั่นเอง มีคนโดยมากมักอ้างความเชื่อของตนตามตำรา ยิ่งเป็นตำราต่างประเทศยิ่งนิยมอ้างกันมาก หรือเป็นการอ้างตำราที่ตนเองยังไม่ได้ตรวจสอบมาก่อน หากให้ไปค้นหาเอาเอง การอ้างให้สงสัยในตำราไว้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อตำราอย่างเด็ดขาด หากแต่เพื่อทำให้พยายามเสาะหาตำราที่ดีเสนอสัจธรรมได้ใกล้เคียงที่สุดเท่านั้น


พระพุทธองค์ทรงสอนชาวกาลามะรู้สงสัย-ไม่ใช่เพราะไม่ต้องการให้พวกนี้ไม่เชื่ออะไรเลย

หากแต่ต้องการให้ชาวกาลามะสงสัยในสิ่งที่เป็นความเท็จต่างหาก เพื่อให้เกิดการไตร่ตรองจะได้สละความเท็จนั้นทิ้งเสีย แสวงหาเฉพาะสัจธรรม คือความจริงที่พิสูจน์กันได้ด้วยตนเอง เพื่อหลีกให้พ้นความสงสัยสุดโต่ง พระพุทธองค์ก็ยังสอนให้สงสัยในความรู้หรือในมิติของตนเองอีก เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวให้หมดไปด้วย สอนกระทั่งให้คนเรารู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เพื่อให้หลุดพ้น “ความอยากได้” ที่อาจแฝงมาในความรู้ของตนเองนั่นเอง

การเป็นนักสงสัยจนเกินขอบเขต จะไม่มีศรัทธาในอะไรเลย จัดว่าเป็นนักแย้งหรือนักวิมัตินิยม (Sceptics) อาจเป็นการสกัดปัญญาที่อาจพึงเกิดแก่เขาได้ คนควรมีศรัทธาในสิ่งที่เป็นสัจธรรมและไม่ควรขาดความเชื่อถือในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นคนที่เป็นนักสงสัยตลอดกาล มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว สมาคมกับใครอื่นก็ไม่ได้ หรือจนกระทั่งพวกตนเองก็ไม่เชื่อ การสงสัยชนิดเตลิดเปิดเปิงโดยไร้ศรัทธาจึงจัดเป็นความสุดโต่งของพวก อัตนิยม (Solipsism) เพราะในที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่เชื่อเฉพาะความรู้และมติของตนเองเท่านั้น (อ่านตรงนี้ด้วยความระวัง..นึกถึงทางสายกลางของพระพุทธเจ้าเข้าไว้..ซึ่งไม่ใช่การหาค่าเฉลี่ย)

อีกประเด็นของหลักกาลามะสูตรที่คุณสมัครนำมาเน้นไว้คือ ให้มีความสงสัยในมิติหรือความรู้แม้ที่เป็นของตนเองด้วยก็ตาม..ท่านก็อธิบายเหตุผลที่ต้องสงสัยไว้ก่อน….พอจะสรุปได้ว่า

ตัวเองอาจใช้การเดา อาจสร้างมิติหรือวิชาการอะไรขึ้นมาแล้วไม่เคยทดสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ เพราะความสะเพร่าประจำตัวบุคคลหรือเกียจคร้านที่จะไตร่ตรองตรวจสอบ การเดาจึงเป็นการเสี่ยง จึงมีโอกาสเป็นเท็จได้มาก


มักใช้การคาดคะเนหรือเก็งความจริง ก็ไม่ต่างจากการเดาเท่าไรนัก แม้จะเพิ่มหลักเกณฑ์หรือมีเหตุผลบ้าง แต่ถ้าเป็นการแสวงหาความรู้จากเหตุที่ไม่รู้จักมาก่อน การคาดเดาก็อาจไม่ถูกต้อง เช่นเราคาดคะเนว่ามี ก๊าซ หรือ Ether ระหว่างดวงดาวต่างๆ โดยเก็งความจริงไปจากปรากฏการณ์ทางแสงและคลื่นวิทยุ แต่เมื่อมีการวิจัยเกี่ยวกับความเร็วของแสง พบว่าไม่มีก๊าซ การคาดคะเนดังกล่าวจึงใช้ไม่ได้


ผลของการคาดคะเนโดยเกิดจากร่องรอยของบางสิ่งบางอย่าง ก็ไม่ควรทึกทักเอาเองว่าเป็นจริงทั้งหมด หรือกับสิ่งอื่นๆในทำนองเดียว กัน เช่นเมื่อเอาไฟฟ้าผ่านเข้าไปในเส้นลวด เราไม่ควรเชื่อก่อนว่ามันจะร้อนแดง การร้อนแดงไม่เกี่ยวกับชนิดและขนาดขอโลหะเพียงอย่างเดียว ยังเกี่ยวกับความมากน้อยของกระแสไฟฟ้าด้วย หรือจากร่องรอยของซากโบราณ (Fossils) เรายังไม่ควรสร้างพงศาวดารธรณีวิทยา (Historical geology) ดังที่นักธรณีวิทยากระทำกัน ทั้งนี้เพราะยังไม่เห็นความเป็นไปอย่างนั้นโดยตลอด


ตัวเราอาจติดข้องกับศรัทธาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ กล่าวคือมีทั้งอัตนิยมและหลักคิดของชนชั้นเป็นรากฐานความคิด ซึ่งอาจเป็นอย่างผิดๆก็ได้..ในกรณีนี้..ผมอยากขอเสริมตัวอย่างแนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรมชุมชน ที่สถาปนิกให้ความหมายของความเป็น “สลัม” ต่างกับคนในสลัม โดยไปเข้าใจตามรากฐานชนชั้นของตนว่า มีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมทางกายภาพเป็นเหตุ ที่ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านสังคมของคนเหล่านี้ ในประเทศตะวันตกขณะนั้นจึงมีโครงการปรับปรุงชุมชนขนานใหญ่ (Urban Renewal projects) จนแม้กระทั่งการสร้างสภาพแวดล้อมในเรื่องที่อยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ แต่ผลก็ยังปรากฏปัญหาเป็นอยู่อย่างเดิม ซ้ำร้ายทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบใหม่ๆนั้นด้วย เพราะปัญหาสำคัญไม่ใช่สาเหตุที่จะแก้ไขด้วยสภาพแวดล้อมทางกายเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่รูปแบบเดียวกันกับชนชั้นสถาปนิกด้วยกัน ฉะนั้นจึงเห็นด้วยกับคุณสมัครที่ว่า..เราควรสงสัยแม้ในความเชื่อมั่นของตนเอง และพยายามรับความเชื่อเฉพาะแต่สิ่งที่มหาชนเห็นพ้องกับเราเท่านั้น หากทำได้ดังนี้ เราจึงจะได้ความรู้ที่ถ่องแท้


ผมยังเห็นด้วยกับทัศนะคุณสมัครที่ว่า…ผู้ที่ยึดหลักของกาลามะสูตรของพุทธศาสนา ย่อมเป็นผู้ตื่นอยู่โดยแท้และย่อมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ชนชั้นปกครองที่ดี ฯลฯ พอๆกับการเป็นสถาปนิกที่ดีได้ด้วย เพราะกาลามะสูตรสอนให้สงสัย โต้แย้ง ค้าน และถกเถียงเพื่อสัจธรรม ผู้ใดรังเกียจกาลามะสูตร ย่อมเป็นนักประชาธิปไตยที่ดีไม่ได้เลย (เป็นอาจารย์ที่ดีก็ไม่น่าจะได้ด้วย) และเขาจะไม่มีความหลุดพ้นจากศรัทธาผิดๆ แล้วนำพุทธธรรมเข้ามาในตนไม่ได้เลย

ต้นกำเนิดความรู้มนุษย์

นอกเหนือการศึกษาหรือการเรียนรู้เพื่อแสวงหาความรู้แล้ว ยังจำเป็นทราบต้นกำเนิดของความรู้ด้วย คุณสมัคร ยกอ้างพระพุทธองค์ในข้อสันนิษฐานที่ทรงได้ความรู้ทางพุทธปรัชญา มาจากการเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง-หลังจากได้ถอดเอาความเห็นแก่ตัวและความเห็นแก่ตัวของพวกตัวออกเสียก่อนแล้ว ตามชีวประวัติของพระองค์นั้นได้แสดงถึงการได้มาซึ่งความรู้จากการศึกษาอบรมมาก่อน แล้วก็นำไปทดสอบผลความรู้นั้น จนกระทั่งทรงคิดหลักใหม่ได้ คือผลแห่งความหลุดพ้นที่กำลังแสวงหาอยู่..นอกจากความรู้ที่เราได้มาจากการศึกษา คุณสมัครเสนอหนทางอื่นที่ควรพิจารณา..พอสรุปได้ดังนี้

ความรู้อาจได้มาจากสัญชาติญาณ ซึ่งมีจำกัด และอาจคลุมเครือไม่แน่นอนนัก เยี่ยงเช่นสัญชาติญาณของสัตว์ที่ระวังอันตรายของมัน มนุษย์ก็น่าจะได้รับความรู้ลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่เหตุการณ์เกี่ยวกับเพศ อาจทำให้มนุษย์วัยต่างๆกัน มีสำนึกรู้ในเรื่องเพศ ช้าเร็วผิดกันได้


มีการเชื่อว่าความรู้ได้มาจากชาติก่อน และอาจถูกระลึกขึ้นมาได้ในชาตินี้ เคยมีการตรวจสอบการทอดต่อทางจิตใจของคนชาติก่อนกับคนชาตินี้เป็นคนๆเดียวกัน และก็มีการค้นพบว่าบางคนเรียนรู้ในแขนงวิชาบางอย่างได้รวดเร็วกว่าคนอื่นๆด้วย ..ผมเคยอ่านพบว่า ผู้รู้ตะวันตกเคยอ้างความหมายของความรู้ คือ..”สิ่งที่เรารู้จากสิ่งที่เราลืมมันไปแล้ว” …ขณะนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าผมอ่านพบมาจากไหน และผู้รู้นั้นเป็นใคร..ขอโทษด้วยครับ..แต่ถ้าลองถือเอาความเชื่อของชาวพุทธที่ว่า มนุษย์นั้นมีการเวียนว่ายมาหลายชั่วกับป์ชั่วกัลป์ ซึ่งพระท่านบอกว่าถ้าเอากระดูกของคนๆหนึ่งมานับกองรวมกัน จะมีความสูงเท่ายอดเขาหิมาลัย ก็น่ามีเหตุผลพอได้ว่า คนๆหนึ่งน่าจะมีความรู้ที่เคยรู้ทั่วมาแล้วเหลือคณานับ เพราะฉะนั้นการมีความรู้อะไรในชาตินี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เคยรู้มาแล้วในชาติก่อนๆ แต่ดันนึกไม่ออกหรือลืมไปในชาตินี้…ซึ่งข้อสนับสนุนคำกล่าวข้างต้นที่ว่า บางคนเรียนรู้บางแขนงวิชาได้เร็วกว่าคนอื่นบางคน หรือมีความถนัดจัดเจนในเรื่องบางสิ่งโดยเฉพาะซึ่งไม่เหมือนกับคนอื่น…ไม่ทราบว่าเหตุผลอย่างนี้เข้าท่าไหมครับ?


ปราชญ์โบราณอีกเช่นกัน (ตามข้อสันนิษฐานของคุณสมัคร) สอนว่าความรู้เกิดจากการบันดาลในจิตใจมนุษย์โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า พรหม พระผู้เป็นเจ้า หรือแม้แต่ผีห่าซาตาน บ้างก็สอนว่าความรู้มีอยู่โดยตัวของมันเอง และคอยให้มีสิ่งลี้ลับดังกล่าวมาดลใจให้อุบัติขึ้น ..นี่เป็นมิติที่อ่อนทางความจริงที่สุด ที่ความรู้เราเกิดเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์


เชื่อว่ามีความรู้ติดมากับตัวคนเรา เช่นความรู้ในการกำหนดหมายที่คนเรามีร่วมกันอยู่ นักปรัชญา Kant เรียกความรู้นี้ว่า ความรู้ในความเกี่ยวข้องระหว่างสรรพสิ่ง เช่นรู้ว่า “ปลาย” เกี่ยวข้องกับ “ต้น” รู้ว่าชะลอมคือประมวญแห่งไม้ไผ่สานกัน เป็นต้น ความรู้ดั้งเดิม.. A priori knowledge นี้ Kant อ้างว่าคนเรามีกันมาแต่เกิด มิใช่มาจากการศึกษาแต่อย่างไร ..คุณสมัคร แย้งเรื่องนี้ว่า ความรู้ที่ว่าน่าจะได้มาจากความรู้ทางประสาทสัมผัสภายหลัง หาใช่ความรู้ที่ติดมาในจิตใจแต่เดิมทางเดียวไม่ ความรู้ที่ได้จากประสาทสัมผัส น่าจะเป็นความดั้งเดิมมากกว่า จะเข้าใจเรื่องให้แจ่มแจ้งท่านเสนอว่าต้องศึกษาทฤษฎีวิวัฒนาการมนุษย์ประกอบด้วย


ความรู้มนุษย์นั้นย่อมได้จากการสัมผัสโลกภายนอกเป็นปฐม กล่าวคือได้มาทางประสาทสัมผัสนั่นเอง แต่มิใช่จากความคิดล้วนๆ หากเป็นการสะท้อนให้เกิดมโนทัศน์ในสมอง นั่นย่อมเกิดจากอำนาจ “ความทรงจำ” เราทบทวนระลึกถึงข้อเท็จจริงที่เคยรับมาก่อน..จึงเกิดมโนทัศน์ ไม่ใช่มันเกิดขึ้นมาได้เองล้วนๆ เราอาจสามารถประดิษฐ์สิ่งใหม่จากความคิดใหม่ นั่นแท้จริงแล้วเป็นการเกี่ยวข้องกับความคิดเดิมๆ ข้อเท็จจริงเดิมที่ได้รับจากทางประสาทสัมผัสมาก่อนแล้ว แต่เอามาปลูกสร้างรวมกันหรือสังเคราะห์กันใหม่เท่านั้นเอง


ความรู้ได้จากการคิดตามตรรกะ หลายคนเคยสอนว่าประสาทสัมผัสทำให้เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งไม่ได้ แต่เหตุ-ผลจะนำเราไปสู่ความแท้จริงที่ลึกซึ้ง ความเชื่อมั่นนี้ ทำให้เกิดการเก็งความจริงทางปรัชญาด้วยเหตุ-ผลทางตรรกวิทยา ทำให้เกิดวิทยาการ ”สูง” ที่เรียกว่าอภิปรัชญา บางทีก็สร้างความรู้ขึ้นมาจากความคิดล้วนๆ บางคนถึงกล่าวว่า ตรรกวิทยาทางคณิตศาสตร์ถือเป็นวิชาการที่ศักดิ์สิทธ์ ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าใช้สร้างกฎเกณฑ์ของธรรมชาติด้วยวิชานี้ โลกความจริงจะรู้ได้ด้วยปราชญ์คณิตศาสตร์ที่ใช้การกระทำทางคณิตศาสตร์ (เป็นแบบจำลองความจริง) เท่านั้น สำหรับมิตินี้… คุณสมัครแย้งว่าเป็นการหลอกลวงตัวเองอย่างรุนแรง และจะทำให้กลายเป็นนักจิตนิยม ที่ถือเอาความคิดเป็นใหญ่ไป ในที่สุด


บทสรุปเรื่องนี้ในทัศนะของคุณสมัคร ถือตามพุทธปรัชญาเถรวาท ที่ว่าต้นกำเนิดของความรู้ ไม่อาจหาคำตอบตรงได้ แต่น่าจะได้จากการไตร่ตรองทบทวนดูว่า พระพุทธองค์ทรงแสวงหาความรู้เพื่อความหลุดพ้นมาได้อย่างไร? ท่านสรุปว่า เป็นการค้นพบความทุกข์ของประชาชนทางประสาทสัมผัส…น่าจะไม่มีสักครั้งที่ทรงสร้างความคิดขึ้นมาจากความว่างเปล่า ..โดยหลักของกาลามะสูตร แสดงให้เห็นว่าพระองค์ใช้วิธีคิดจากสิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่ง ไปสู่สิ่งที่แน่นอนอีกอย่างหนึ่ง เป็นการคิดจากข้อเท็จจริง-จากสัจธรรมไปสู่สัจธรรม นั่นเอง วิธีการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาของพระองค์ ถูกค้นพบไม่ใช่ถูกคิดขึ้นมา เป็นสิ่งที่ต้องประสบจริง เมื่อมีการปฏิบัติเป็นขั้นๆ (มรรค ๘) ไปแล้ว แต่ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากการนั่งคิดใคร่ครวญเฉยๆ หากพระองค์ไม่ได้เคยศึกษาอะไรเลยมาก่อน ไม่เคยประสบข้อเท็จจริงอะไรมาเลยในชีวิต พระองค์ก็จะค้นพบอะไรไม่ได้เลยจากการนั่งคิดใต้ต้นโพธิ์ และย่อมจะไม่การเกี่ยวกันอะไร ระหว่างต้นโพธิ์กับการตรัสรู้ด้วย

ด้วยประการฉะนี้ ความรู้ในพุทธปรัชญา จึงเป็นความรู้ที่ได้มาจากวิธีการของวิทยาศาสตร์ พุทธธรรมนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ (Human Science) ว่าด้วยความประพฤติและความเป็นไปของมนุษย์เท่านั้นเอง ความรู้ที่ได้มาทางประสาทสัมผัสมีได้หลายทาง แต่ยังไม่ใช่ความรอบรู้ เพราะมันอาจเป็นความรู้เฉพาะในวงแคบที่เรา “ติดข้อง” อยู่ ปัญญาหรือความรอบรู้ คือความรู้ในหลักอันกว้างที่สุดเพื่อประโยชน์แห่งการเข้าใจโลก และเพื่อประโยชน์แห่งการหลุดพ้นไปจากความติดข้อง..ทั้งหลาย ..เป็นความรู้ที่ได้จากข้อเท็จจริงทางประสาทสัมผัส เป็นความรู้ของมหาชนและเป็นสัจธรรมล้วนๆ สามารถทดสอบกันได้ จึงเป็นที่ยอมรับเป็นความรู้ของมหาชนเหมือนกัน …เป็นความรู้ที่สิ้นสุดลงแล้ว เพราะว่า..ขอบเขตของความรู้ทางพุทธศาสนา คือการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวง ดังนั้น เมื่อผู้ใดหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาไปได้ เขาย่อมหมดความสงสัยทุกประการ นั่นย่อมหมายถึงเขามีปัญญาถึงขั้นสูงสุดแล้ว…

นี่เป็นการสรุปของคุณสมัคร ที่อิงกับญาณวิทยาของพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อเปรียบทียบกับญานวิทยาทางคลาสสิครวมทั้งปรัชญาสมัยใหม่ของตะวันตก ก็ทำให้เห็นความเหมือนที่แตกต่างกันอยู่

ในงานแปลและเรียบเรียงของคุณ สมเกียรติ ตั้งนะโม จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ..เรียบเรียงมาจาก Encyclopedia of Aesthetics เกี่ยวกับงานเขียนของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศษ มิเชล ฟูโก (Michel Foucault, 1926-1984)…ซึ่งเชื่อว่า ความจริงเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนาจและด้วยอำนาจ ถือเอาว่าเป็นความจริงเฉพาะ เช่นเดียวกับ หน้าที่, สถาบัน, ปฏิบัติการ, เทคโนโลยี, และสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งระบบของความจริงของมันได้รับการทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และได้รับการธำรงรักษาเอาไว้

คำถามที่สำคัญของฟูโกไม่ใช่ ”อะไรคือความรู้ ?” หรือ “อะไรคือความจริง ?” แต่ “อะไรคือโครงสร้างและขบวนการขั้นตอน ซึ่งตัวความรู้นั้นๆได้ถูกสร้างขึ้นมาและแพร่หลายออกไป?” ฟูโกให้เหตุผลว่า ความจริง ไม่ใช่การค้นพบ แต่ถูกสร้างขึ้นตามขบวนการหรือขั้นตอน ซึ่งกำหนดหรือตัดสินสถานการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์. สิ่งซึ่งน่าจะกล่าวถึงก็คือ, ใครได้อำนาจในการพูด?, อะไรล่ะที่เป็นเป้าหมายอันหนึ่งของการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์?, และความรู้จะต้องได้รับการทดสอบอย่างไร?, มันสะสมเพิ่มพูนขึ้นมาอย่างไร? และมันสูญสลายหายไปอย่างไร? (สิ่งเหล่านี้คือสาระสำคัญที่เขาได้ตั้งคำถาม)

ในการศึกษา ”ระบบของความจริง” ต่างๆ ฟูโกได้พัฒนาความคิดของ Nietzschean (Nietzsche และสานุศิษย์) ที่ว่า ความจริงทั้งหมดได้รับการผลิตขึ้นมาตามเงื่อนไขต่างๆที่กำหนด (ทำนองความจริงอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยทางหลักพระพุทธศาสนา..ไม่ใช่จากเหตุล้วนแต่รวมถึงเงื่อนไขของเหตุนั้นๆด้วย), ความจริงทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งเฉพาะหรือเรื่องเฉพาะทางประวัติศาสตร์ และร้อยรัดกันกับอำนาจและอิทธิพล. (ความจริงไม่ใช่สิ่งสากล…ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต่างจากพระพุทธศาสนาดังที่คุณสมัครอ้างไว้ว่า ความจริงโดยญานวิทยาของพระพุทธเจ้านั้นไม่ร้อยรัดกันกับอำนาจและอิทธิพลหรือสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อกิเลสตัณหาที่เรา “ติดข้อง” มันอยู่..ถ้าจะเป็นอำนาจ ก็เป็นอำนาจเพื่อการพ้นทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น)

โดยผ่านงานเขียนในลักษณะล้มล้างกันเลย ..ฟูโกได้ตั้งคำถามในเชิงยุทธศาสตร์ว่า... เหตุใด ภาพทั่วๆไปของวิทยาศาสตร์ต่างๆเหล่านี้ จึงถูกนำมาเป็นตัววัดหรือมาตรฐาน และทำไมมันจึงได้รับการสร้างขึ้นมา และถูกนำไปบริหารความจริงเหล่านั้น.

โดยการสั่งสมคำถามข้างต้นขึ้นมา เกี่ยวกับแนวความคิดและภาพลักษณ์เหล่านี้ที่ถูกพบ ฟูโกตั้งเป้าที่จะขุดคุ้ยพลังอำนาจกฎระเบียบของระบบอำมาตยาธิปไตยเกี่ยวกับปกติวิสัยทิ้งไป (อำมาตยาธิปไตยในที่นี้หมายถึง การปกครองโดยเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้น ทั้งระบบราชการและเอกชน พวกนี้จะยึดหน้าที่ประจำของตน มีกฎตายตัว ดัดแปลงได้ยาก มีระเบียบที่ล่าช้า ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่ยอมทดลองสิ่งใหม่ๆ) ขณะเดียวกันก็สร้างแนวคิดที่เป็นระบบขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับพื้นฐานความคิดทางด้านญาณวิทยา.

ฟูโกได้หลุดเข้าไปในคำถามที่เป็นความรับผิดชอบหรือข้อผูกพันทางญาณวิทยาคลาสสิคเกี่ยวกับปรัชญาสมัยใหม่: นั่นคือ ความเป็นสากลของความจริง, แก่นเกี่ยวกับความสามารถของความรู้ และความสามารถของเจตจำนง, แนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ในเทอมต่างๆของการเป็นตัวแทน และ การจำลองแบบ. (เหล่านี้คือคำถามในทางปรัชญา..”ญาณวิทยา”)

โดยผ่าน human science (มนุษยศาสตร์ – ที่ศึกษาถึงเรื่องของแรงงาน, ชีวิต, และภาษาของมนุษย์ตามที่เป็นจริง ) แนวความคิดต่างๆทางปรัชญา, มันได้ทำให้บรรลุถึงบรรทัดฐานของสถานภาพอันหนึ่ง และได้รับการแปลไปความเป็นจริงของความเป็นอยู่ของปัจเจกชน. วิทยาศาสตร์ต่างๆ อย่างเช่น เวชศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ชีววิทยา, ฑัณทวิทยา, จิตเวชศาสตร์, และวิทยาศาสตร์ทางเพศ, เช่นเดียวกับภาษาศาสตร์, ได้เตรียมบรรทัดฐานและมาตรฐานต่างๆเอาไว้ พร้อมทั้งสร้างมาตรวัดและการวินิจฉัยขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ได้เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆบนพื้นฐานของหลักการทั่วไปทางสถิติและโครงสร้างต่างๆ และได้สร้างกลไกในการแบ่งแยก ”ความปกติ” ออกจาก ”ความไม่ปกติ” เพื่อที่จะควบคุมแต่ละคนเอาไว้อย่างเหมาะสม

ในช่วงต้นของการประกอบอาชีพของเขา ฟูโกเพ่งรวมความคิดไปที่ศิลปินในฐานะที่เป็นภาพลักษณ์อันโรแมนติค ผู้ซึ่งหนีรอดจากพลังอำนาจของความเป็นปกติ. ความบ้าของบรรดาศิลปินและความแปลกประหลาดในหมู่คนพวกนี้ ได้สร้างคานงัดที่สำคัญอันหนึ่งขึ้นมา เครื่องมือดังกล่าวมันทำหน้าที่งัดง้างพลังความเป็นเนื้อเดียวกันของระบบอำมาตยาธิปไตย และขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันต่างๆ. ในข้อสรุปของงานเขียนเรื่อง Madness and Civilization, ฟูโกได้ให้เหตุผลว่า จากงานเขียนต่างๆทางวรรณกรรมของ the Marquis de Sade และ งานจิตรกรรมของ Francisco Goya “โลกตะวันตกได้ให้การยอมรับความเป็นไปได้เกี่ยวกับความอยู่เหนือเหตุผล ในเรื่องของความรุนแรง และเกี่ยวกับการหวนคืนมาของประสบการณ์เกี่ยวกับความเศร้าโศก ซึ่งพ้นไปจากคำมั่นสัญญาต่างๆของลักษณะวิภาษวิธี (dialectic)

“พวกเราควรยอมรับว่า อำนาจได้สร้างความรู้ และอำนาจและความรู้ มีนัยเป็นอีกอันหนึ่งของกันและกันโดยตรง..มันไม่ได้เป็นกิจกรรมของความรู้ ที่สร้างความรู้ขึ้นมา, แต่อำนาจ-ความรู้ (power-knowledge)...เป็นตัวกำหนดรูปแบบต่างอันเป็นไปได้ของความรู้”.

แม้ว่าฟูโกยังคงหลงใหลต่อไปกับผลงานศิลปะที่สามารถจะหนีรอดไปจากอำนาจแห่งขนบธรรมเนียมและความเป็นปกติวิสัย, แต่เขาก็เห็นว่า มันก็เหมือนๆกับความเป็นภววิสัยอื่นๆทุกอย่างนั่นเอง, กล่าวคือ มันเป็นผลอันหนึ่งของระบบบางอย่างของอำนาจ-ความรู้ (power-knowledge) นั่นเอง….ตรงนี้ผมเห็นว่ายังต่างจากความรู้ในพุทธศาสนาที่ได้ค้นพบความรู้เพื่อละการ “ติดข้อง” ในทุกสรรพสิ่ง..จึงน่าเป็นความรู้หรือความจริงที่สิ้นสุดและสมบูรณ์กว่ามากทีเดียว..แต่สำหรับปรัชญาตะวันตกนั้น ยังคงต้องสืบค้นและแสวงหากันอีกต่อๆไป

ผมอยากจบประเด็นของเรื่องนี้ที่นักวิชาการไทย..นักสังคมศาสตร์..ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกับความรู้ในยุคโลกาภิวัฒน์สำหรับสังคมไทย (ในราวปี ๒๕๓๗) พอสรุปได้ในบางเรื่องเช่น ความรู้จะเป็นอำนาจในตัวของมันเอง มีความอิสระมากขึ้น หรือในความหมายที่ว่าอำนาจ (ของรัฐ) จะต้องรับใช้ความรู้ด้วยการปลดปล่อยให้การแสวงความรู้ป็นไปอย่างอิสระเสรี การเรียนการสอนจะเกิดขึ้นนอกห้องเรียนมากขึ้น มหาวิทยาลัยจะไม่เป็น “ที่สถิตวิทยา” เพียงแห่งเดียวอีกต่อไป วิชาและวิชาการจะเป็นการสร้างองค์ความรู้และมีลักษณะการกระจายศูนย์มากกว่าการรวมศูนย์ จะเป็นสหวิชาการ และสืบต่อพัฒนาไปเป็นบูรณาการของสรรพวิชาและประสบการณ์ เป็นลูกโซ่กันไป ความรู้จะไม่หยุดอยู่เพียงการอธิบาย การวิเคราะห์ และการชี้แนะเท่านั้น แต่ต้องก่อให้เกิดแรงบันดาลใจด้วย บทบาทใหม่ของความรู้จะเปลี่ยนแปลงไปจากการถูกผลักดันให้เคลื่อนไหวเป็นการสร้างแรงบันดาลใจต่อส่วนต่างๆที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงเอง การปฏิรูปจะเป็นแนวโน้มที่สังคมยอมรับให้เป็นวิถีการดำเนินการเปลี่ยนแปลง แทนการผลักดันบังคับให้มีการปฏิรูป การวิจัยและพัฒนาจะได้รับการเอาใจใส่ต่อนักวิชาการมากขึ้น อาจารย์และนักวิจัยจะกลายเป็น”พ่อมดสมัยใหม่” จะถูกประเมินจากประโยชน์เฉพาะด้านที่เขาเหล่านั้นมีต่อส่วนต่างๆของสังคม เปลี่ยนจากบทบาทเดิมเพียงการเป็นนักแปลและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี มาเป็นผู้แสวงหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพราะกระบวนการอันตรสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยและตะวันตก (ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้) จะไม่เป็นความรู้เทียมเพียงการรับเอามาใช้แบบเดิม แต่จะมีการโต้ตอบและสังเคราะห์กันด้วย…..คำกล่าวของนักวิชาการท่านนี้ล่วงเลยเวลามาถึงแปดปีแล้ว ท่านผู้อ่านพอจะมองเห็นเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงตามทัศนะนี้ปรากฏขึ้นในสังคมไทย… แล้วหรือยังครับ?

No comments: