Tuesday, March 20, 2007

บทสรุป

บทท้ายเล่ม

จุดมุ่งหมายของบทสรุปทั่วไป คือนำประเด็นที่พูดหรือที่เขียนไว้มาตอกย้ำอีกที ซึ่งสำหรับความคิดเห็นส่วนตัวนั้น ผมเห็นว่าทำไปทำไมมี ก็ผู้อ่านทุกท่านก็สรุปกันได้เองว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นขยะที่ควรโยนทิ้งไป หรืออะไรที่พอนำมาย่อยสลายผสมผเสกับความรู้ตนเอง เพื่อหาโอกาสบูรณาการต่อไปได้ อ่านอะไรที่ได้ความรู้สึก (making sense) ก็อ่านไปจะเก็บจะจำไปทำอะไรก็แล้วแต่ความประสงค์ การตอกย้ำเตือนของผู้เขียนให้กับผู้อ่าน ผมเดาว่า..อาจเป็นเหมือนสร้างเบ้าหลอมที่ตัวเองคิดและสนใจให้กับคนอื่น หรือไม่ก็ดูถูกดูแคลนสติปัญญาผู้อ่านว่าเป็นคนขี้หลงขี้ลืมจำอะไรไม่ได้ หรือไม่ก็เลินเล่อในสิ่งที่ตนอยากจะกล่าวแต่ไม่กล่าวไว้ เลยกะจะนำมาเสริมอธิบายซ้ำๆซากๆอีกต่อไป
ในความคิดของดีคอนที่ผมสนใจคือ มีหลายสิ่งในวาทกรรมที่เป็นประโยชน์ มักมีส่วนที่ผู้เขียนละเลยไว้ จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจารณ์แบบ ดีคอนที่ต้องค้นหาแล้วเอามาเสริมหรือแย้ง ซึ่งส่วนมากน่าจะเป็นการเสริมมากกว่า เพราะเป็นวิธีประนีประนอมกัน.. อย่างไรก็ตามผมอยากเสริมในสิ่งที่ผมอยากเขียน ขอเอาอย่างคุณปราบดา หยุ่น หรือ William Gass ที่ว่า..เราควรเขียนในสิ่งที่ตัวเราเองอยากอ่าน อย่าเขียนมุ่งเพื่อเอาใจคนอ่าน ทำอย่างนี้ผมว่าเป็นนักเขียนสอพลอมากกว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ยิ่งอ้างเป็นนักวิชาการก็ควรเขียนเพื่อความรู้สำหรับตนเอง ให้ได้รู้ในสิ่งที่ตนเองไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งก็คืออ่านจำที่คนอื่นเข้ารู้หรือที่เขาเขียนไว้เพราะความอยากรู้ของเขา เราเห็นว่าได้ความรู้สึกตรงกันก็รวบรวมและสอดแทรกนำมาเขียนไว้ เมื่อใดแน่ใจว่าเป็น “ความรู้จริง” หรือเป็นที่ยอมรับสำหรับมวลชน(ตามทัศนะคุณสมัคร บุราวาส)ได้แล้ว ก็ค่อยประกาศเขียนใหม่ในเวอร์ชั่นของตนเองให้เป็นเยี่ยงวาทกรรมความรู้บริสุทธ์หรือเพื่อสร้างเป็นทฤษฎีความรู้สำหรับตนเองต่อไป ….แต่ที่ท่านอ่านมาก่อนหน้านั้นไม่ใช่วาทกรรมบริสุทธิ์ของผมเองนะครับ หากแต่เป็นสิ่งที่ผมรวบรวมมาจากข้อเขียนคนอื่น(ดังที่ผมกล่าวอ้างไว้แล้ว) ซึ่งผมได้ความรู้สึกร่วมกับเขาเหล่านั้นด้วย..เท่านั้นเอง

ผมเขียนเอกสารนี้ เพื่อใช้เป็น “เชื้อไฟ” ทางความคิดสำหรับนิสิต(และผมเองด้วย)ในวิชาสัมมนาสถาปัตยกรรม ระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ห้า เป็นเสมือนการทบทวนความคิดเรื่องสถาปัตยกรรมที่ร่ำเรียนกันมา ก่อนจบการศึกษาแล้วไปสร้างความคิดหรือทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นของตนเองในอาชีพต่อไป (ถ้าทำได้..จะดีมากสำหรับสังคมไทย) ..ก่อนอื่น.. สำหรับการเขียนนั้น ผมพบประสบการณ์มาอย่างหนึ่งว่า เป็นการคิดเสียงดัง อุปมาเหมือนการตะโกนพูดกับตัวเอง ซึ่งถ้าไม่อุปมาด้วยการเขียน กระทำโดยการพูดตะโกนคนเดียวจริง สังคมต้องจัดเราไว้ในประเภทคนไม่ปกติ (มิเชล ฟูโก ขยายความว่าเป็น..คนบ้า..ที่บัญญัติตามอำนาจของสังคม) ผมจึงคิดว่าการเขียนมีส่วนที่ระบายความนึกคิดที่เราสะสมไว้จนบางทีก็เป็นความอัดอั้น จนอาจล้นระเบิดหรือละลายลืมทิ้งไปได้ การเขียนจึงเป็นส่วนหนึ่งแทนการพูดเสียงดัง เป็นความโปร่งใสในการสำรอกความนึกคิดออกมาให้ปรากฏสำหรับตนเองและผู้อื่น ..เป็นประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลของความทรงจำและความนึกคิดที่อาจหลงลืมไปก็ได้… ถ้าไม่เขียนเป็นบันทึกเอาไว้บ้าง

การสร้างองค์ความรู้หรือทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม เป็นเรื่องที่น่าใฝ่ฝันที่น่าจะสร้างกันขึ้นได้ของสถาปนิกไทยแต่ละคน และน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในเชิงวิชาการสถาปัตยกรรมสำหรับเมืองไทยด้วย จริงอยู่สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน จะแย้งว่าไม่ใช่สถาปัตยกรรมสำหรับสังคมไทยก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด ครั้นจะว่าเป็นสิ่งแน่นอนสำหรับสังคมของเราก็ไม่น่าจะชัดนัก (ทั้งสถาปัตยกรรมแบบใหม่และแบบโบราณ) มันเป็นลักษณะผสมผสานตามอิทธิพลของสังคมอื่นที่พวกเราพากันยอมรับกันไว้ โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นความรู้สถาปัตยกรรมที่เราต้องพึ่งพาสังคมตะวันตก ไม่เฉพาะแค่ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมเท่านั้น.. ในสาขาวิชาอื่นๆ มีความพยายามที่จะหลีกเร้นความเป็นอาณานิคมทางปัญญา..มีความพยายามที่จะสร้างองค์ความรู้ของสังคมไทยเองอยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจ หลังจากที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตเมื่อเร็วๆนี้ …ผมจึงอยากเสริมเรื่องการสร้างองค์ความรู้ดังกล่าว…เราจะสร้างองค์ความรู้หรือทฤษฎีใหม่ทางสถาปัตยกรรมของแต่ละคนเองได้อย่างไรบ้าง? ผมขอนำข้อเสนอแนะของคุณ ยุค ศรีอาริยะ ที่กล่าวไว้ในบทความ “ผ่าม่านอาณานิคมทางปัญญาจะสร้างทฤษฎีใหม่ได้อย่างไร” ซึ่งรวมอยู่ใน วิถีทรรศน์ ฉบับที่ ๑๙ เรื่อง ทฤษฎีและความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์.. มาเทียบเคียงกับความรู้และทฤษฎีสถาปัตยกรรมไว้ในบทสรุปท้ายเล่มนี้ด้วย

สถาปนิกบางคนสร้างทฤษฎีในความรู้ของสิ่งใด ก็อาจเริ่มจากการอุปมาเปรียบเทียบของสิ่งนั้น เช่นการอุปมาว่าสถาปัตยกรรมเปรียบเหมือนเครื่องจักรกลที่มีชีวิต แนววิธีการออกแบบก็นำคุณลักษณะของความเป็นระบบหรือเครื่องจักรมาใช้เป็นแนวคิดสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม เช่นที่กระทำกันอย่างกว้างขวางในความคิดของยุคทันสมัย ฐานความคิดอาจมาจากการเน้นระบบวิธีวิเคราะห์แยกส่วน ใช้คติเหตุ-ผลนิยม ที่เน้นภาระกิจนิยม (Functionalism) เป็นสิ่งสำคัญ พยายามสืบค้นหาวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อการตรวจสอบผลการออกแบบที่เกิดขึ้น
ทฤษฎีของความรู้เฉพาะใดๆ จำเป็นต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และจำเป็นที่ต้องยึดฐานความคิดมาจากความรู้สากลอันเป็นที่ยอมรับกันในยุคสมัยนั้นๆ เช่นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ ที่เป็นผลผลิตที่ตกทอดมาจากยุคเรเนอซองค์ของยุโรป เมื่อใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของฐานความรู้นั้นเกิดขึ้น ทฤษฎีของความรู้เฉพาะเช่นสถาปัตยกรรมที่อิงอยู่ก็ย่อมต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตามกันไปด้วย
แนวความคิดสถาปัตยกรรม “ทันสมัย” มักติดยึดอยู่กับฟิสิกส์เก่าในแง่ของสิ่งไร้ชีวิต เป็นฐานของธรรมชาติที่แข็งตันประกอบจากหน่วยย่อยรวมกันที่เล็กที่สุดเรียกว่า อะตอม สถาปัตยกรรมจึงเกิดจากการประกอบรวมกันของสิ่งต่างๆ ดุจเดียวกันกับระบบกลไกของเครื่องจักรกล …ธรรมชาติถูกมองว่าดำรงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของมัน การจะเข้าใจธรรมชาติหรือสถาปัตยกรรมก็ต้องค้นหากฎเกณฑ์เหล่านั้นให้พบ หากค้นพบกฎเกณฑ์ใดของธรรมชาติ ก็ย่อมสามารถนำมาใช้ตอบสนองมนุษย์หรือสถาปัตยกรรมเพื่อมนุษย์ได้ด้วย… การค้นพบกฎเกณฑ์ต้องอาศัยการนำเสนอทฤษฎีความรู้ใด ด้วยระบบความคิดเหตุ-ผลและการตรวจสอบพิสูจน์กันทางวิทยาศาสตร์ ผลตรวจสอบที่ได้รับการยอมรับ ทำให้ทฤษฎีนั้นกลายเป็นกฎพื้นฐานที่เป็นจริงและสามารถนำไปใช้ทางการปฏิบัติต่อไปได้ สถาปัตยกรรมที่ตอบสนองทฤษฎีที่เป็นจริงก็ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่คล้อยตามความเป็นจริงนั้นไปด้วย

แต่ทว่า..ในปัจจุบันได้เกิดความรู้ทางฟิสิกส์ใหม่.. ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คำว่าวิทยาศาสตร์และระบบคิดเหตุ-ผลกำลังถูกท้าทายและโต้แย้งกัน ไอน์สไตน์ได้ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ ทำให้สามารถตีความได้ว่าวัตถุและพลังงานเป็นสิ่งเดียวกัน สามารถแปรเปลี่ยนสู่กันได้ วัตถุกลายเป็นการก่อตัวของพลังงานที่ผนึกรวมตัวกัน ฐานความจริงของธรรมชาติน่าจะเป็นพลังงานที่ไม่สามารถมองเห็นและมีตัวตนแน่นอน ไม่ใช่โลกวัตถุที่เข้าใจแต่เดิมว่าเป็นมวลแข็งอีกต่อไป ฟิสิกส์ใหม่เน้นการค้นคว้าพลังที่ก่อตัวอยู่เบื้องหลังของโลกวัตถุ.. การเข้าใจว่าฐานความจริงของธรรมชาติคือ โลกแห่งพลัง ทำให้ตีความต่อไปได้ว่า สถาปัตยกรรมในแง่รูปวัตถุนั้นไม่ใช่ “ทั้งหมด” ระบบโครงสร้างที่ก่อเป็นรูปเป็นร่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ต้องรวมเอาพลังพื้นฐานที่มีขอบเขตอนันต์และเกินกว่าระบบโครงสร้างที่จับต้อง..เห็นและรับรู้ได้

ไอน์สไตน์เป็นผู้เปิดโลกด้วยทฤษฎีที่ว่าด้วย “พลัง” ซึ่งประกอบด้วยพลังพื้นฐานสี่อย่าง..พลังแม่เหล็กไฟฟ้า.. พลังแรงโน้มถ่วง.. พลังนิวเคลียร์ที่รุนแรง.. และพลังนิวเคลียร์อ่อน สำหรับไอน์สไตน์ เวลาและสถานที่ คือสิ่งเดียวกัน โต้แย้งความเชื่อเดิมที่แยกกันระหว่างเวลาและสถานที่ออกจากกัน.. สำหรับ..เวลา..ในความหมายของไอน์สไตน์นั้น มีนัยว่า..ทุกสิ่งที่เคลื่อนตัวในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ หรือในวงจรการเคลื่อนตัวต่างๆนั้น ล้วนแต่มีเวลาเป็นของตัวเอง.. เวลา..คือสิ่งที่ไม่ตายตัว หดได้ หรือทำให้ยาวขึ้นได้ ไอน์สไตน์เสนอว่า “ความจริง” ที่เราพบเห็นนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ที่เห็นอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ไหนและเคลื่อนตัวไปอย่างไร..โลกของความจริงจึงมีเงื่อนไข ..ความจริงของใคร? ในช่วงจังหวะและจุดยืนที่มองปัญหาตรงไหน?

ฟิสิกส์ใหม่…ควอนตัมฟิสิกส์ ศึกษาหน่วยย่อยๆของชีวิตในระดับอะตอม พบว่าอะตอมที่เป็นหน่วยเล็กที่แข็งตันนั้นสามารถแยกพบว่าประกอบด้วยอิเล็กตรอนและโปรตรอนที่ไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นอะไรแน่นอกจากพลังงาน มีคุณสมบัติตรงกันข้ามที่เข้ากันและเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา บางช่วงเวลาหนึ่งมีตำแหน่งแน่นอน แต่อีกช่วงเวลาหนึ่งก็จะเปลี่ยนแปรตรงกันข้ามกลายเป็นคลื่นพลัง ขยายตัวได้ตำแหน่งก็ผันแปรได้ วงจรการเคลื่อนตัวก็พลิกผันได้จากวงจรหนึ่งไปสู่อีกวงจรหนึ่ง ไร้กฎเกณฑ์ที่มีเหตุผลแน่นอนในการอธิบาย ยังเป็นการแย้งกับความเป็นเหตุผลเดิมที่ตรงกันข้ามคือ สิ่งที่มีคุณสมบัติต่างกันกลับเข้ากันได้ แต่สิ่งที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันจะปะทะกัน..

ควอนตัมฟิสิกส์เสนอหน่วยธรรมชาติในลักษณะระบบจักรวาลที่ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ จากเล็กที่มองไม่เห็นจนถึงใหญ่ที่เกินความสามารถจะมองเห็นได้ ถ้าจักรวาลมีความเชื่อมโยงกันจริง ก็ไม่มีใครเลยที่จะเข้าถึง “ความเป็นทั้งหมด” ได้ นอกจากความเข้าใจได้เพียงหน่วยจักรวาลเดียวที่เราดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น หรือนัยหนึ่งคือ เราไม่สามารถเข้าถึงความจริงสมบูรณ์ได้ สิ่งที่ทำได้คือ การเสนอแบบจำลองหรือความเป็นไปได้ขึ้นมาชุดหนึ่งเท่านั้นเอง จากการค้นพบว่าภายในอะตอมมีที่ว่างมหาศาล และประกอบด้วยอนุภาคที่เคลื่อนตัวตลอดเวลา มีนักฟิสิกส์ไม่น้อยหันกลับไปสนใจเรื่องพลังจิต ที่อาจเป็นพลังที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนตัวของทุกสิ่งทุกอย่าง.. บทบาทของจิต หรือความรับรู้ และการไม่สามารถแยกกันได้ระหว่างสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เพราะสิ่งที่ไม่มีชีวิตเดิมที่เป็นวัตถุแข็งตันนั้น ภายในมีอนุภาคที่รวมกันและมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ..นี่เป็นข้อสังเกตที่ควอนตัมฟิสิกส์เสนอเอาไว้

มีความพยายามของฟิสิกส์ใหม่.. ที่จะอธิบายความแปรปรวนของธรรมชาติที่มีความไม่แน่นอน ด้วยอาศัยคณิตศาสตร์ชั้นสูง จึงได้สร้างทฤษฎี Chaos …ในชื่อไทยหลายชื่อเช่น ทฤษฎีอภิโกลาหล.. ทฤษฎีไร้ระเบียบ หรือทฤษฎีอนิจจัง ซึ่งถือเป็นฟิสิกส์ใหม่เสนอแนวคิดไว้ว่า.. ฐานชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตามหลักพุทธเช่นเดียวกับอนิจจังและทุกขังว่าเป็นฐานของชีวิต..
ธรรมชาติมีความหลากหลาย มีระบบการสร้างและทำลายเกิดขึ้นอยู่เสมอ พลังโดยธรรมชาติมีแนวโน้มก่อตัวขึ้นเสมอ หรือจัดระบบขึ้นตลอดเวลา เมื่อพัฒนาระบบไปเรื่อยๆ chaos ก็จะขยายตัวออกไปทำให้เกิด chaos ขนาดใหญ่ทั้งระบบ.. ขณะช่วงที่เกิด ก็จะมีการแตกตัวจัดตั้งระบบใหม่ เป็นระบบใหม่ภายใต้ chaos .. ในช่วง chaos ขนาดใหญ่ ปัจจัยเล็กจะมีบทบาทมากขึ้นและกลายเป็นระบบชี้ขาดได้ เช่นเมื่อคนเราแก่เฒ่า จะเกิดสภาพวิกฤต (Totally Causes) ขึ้นเพราะทุกสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของร่างกายเสื่อมโทรมทุกจุด เวลาล้มป่วยจึงเกิดวิกฤตเสริมวิกฤต..เกิดเอกภาพแห่งวิกฤตทางสุขภาพที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน เมื่อเราตายลง ก็อาจเกิดจากสาเหตุการตายจากโรคเล็กๆ โรคใดโรคหนึ่งที่เราคาดไม่ถึง.. นี่เป็นการท้าทายวิธีคิดเป็นเส้นตรงของตรรกะ (ในเชิงเหตุเท่ากับผล เหตุใหญ่ให้ผลใหญ่ เหตุเล็กให้ผลเล็ก) ที่ปัจจัยเล็กสามารถมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสูงยิ่งได้ ซึ่งเรามักมองข้ามปัจจัยเล็กๆเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญเสมอ ..เราจึงมักได้ยินทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก อันหมายถึง ที่ซึ่งอาจเกิดจากผีเสื้อตัวหนึ่งกระพือปีกที่บ้านหนองกุดชุมในเมืองไทย แล้วส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวที่รัฐแคลิปฟอเนียในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้ หรือดังเช่น..สาเหตุของพิษเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ของเมืองไทยแล้วเกิดผลเสียหายต่อเนื่องกระเทือนต่อเศรษฐกิจของโลกโดยรวมด้วยนั้นเอง

ในเรื่องสถาปัตยกรรม S. Giedion พยายามอ้างถึงเรื่องเวลาและที่ว่าง (สถานที่) ในงานสถาปัตยกรรม ตีความอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมทันสมัยและศิลปะนามธรรมเช่น cubist ของปีคาสโซ เป็นเรื่องเดียวกัน การรวมเอาสถาปัตยกรรม ศิลปะและอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยี เข้าเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น อาจเป็นการดึงเวลาให้เข้าใกล้ชิดกับสถานที่เท่านั้นเอง ส่วนจะเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ Louis I. Kahn สะท้อนเวลาในความหมายทั่วไปของการเน้นแสงธรรมชาติในอาคาร การโต้แย้งโดยการนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ที่ว่างภายพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (แต่เดิมคำนึงถึงการใช้แสงประดิษฐ์ในห้องแสดงภาพเท่านั้น) เพื่อให้รับรู้งานศิลปะที่ต่างกันตามเวลา Peter Eisenman ออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อให้ทุกคนรับรู้ในความรู้สึกของแต่ละคนเองได้อย่างอิสระเสรี Christian Norbert-Schulz มองสถาปัตยกรรมในบริบทของสถานที่ ในแง่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ใช่วัตถุหรือสิ่งที่มีอยู่เพียงแค่นั้น แต่รวมเอาพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ด้วย และยังมีสถาปนิกอีกหลายคนที่ให้ความสำคัญของ ”เหตุการณ์” กับ “ที่ว่าง”ของสถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบอีกด้วย สำหรับทฤษฎีอนิจจัง หรือความไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั้น กลุ่มสถาปนิกเอเซียรวมตัวกัน (ในราวปี 1960s) เรียกชื่อว่า กลุ่มเมตาโบลิส (Metabolist) ที่มี Kenzo Tange และ Hiroshi Kurukawa เป็นผู้นำกลุ่ม นำปรัชญาพุทธนิกายชินโต เรื่องความไม่เที่ยงหรือความเป็นอนิจจัง มาสะท้อนความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมเช่น โดยการกำหนดแยกโครงสร้างเป็นส่วนหลักและส่วนย่อยของอาคาร แล้วยอมให้ส่วนย่อยมีการใส่เข้า (plug-in) และเอาออก (plug-out) ของหน่วยใช้สอยอิสระ ได้ตามความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ ..ตัวอย่างเหล่านี้เป็นความพยายามในการบูรณาการความรู้อื่นโดยเฉพาะฟิสิกส์ใหม่ มาสร้างทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมเช่นกัน

คุณยุค ศรีอาริยะ สรุปไว้ว่าหากจะสร้างทฤษฎีที่ใช้ฐานความคิดของฟิสิกส์ จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีของฟิสิกส์ใหม่ที่มีวิถีการอธิบายพื้นฐานของโลกใหม่.. โลกพื้นฐานที่ค้นพบ (Chaos Theory) นั้นจะใกล้เคียงกับปรัชญาเต๋าและพุทธอย่างมากเช่น.. แนวคิดเรื่องอนิจจังและทุกขังอันเป็นพื้นฐานของชีวิต.. โลกที่เชื่อมต่อกันเป็นจักรวาล จากเล็กไปใหญ่ซ้อนทับกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน ถือเป็นหลักพื้นฐานในการวิเคราะห์เชิงจักรวาลทัศน์..โลกที่มีสภาวะตรงกันข้ามแต่อยู่รวมกันเหมือนหลักหยางกับหยินของเต๋า.. มีความจำกัดในการเข้าถึงความจริงหรือเข้าถึงได้ในแง่ญาณวิถีเท่านั้น…. ในสภาวะวิกฤตที่ใช้ทฤษฎี chaos จะได้พื้นฐานความคิดที่ว่าด้วยสาเหตุการรวมศูนย์, การแตกตัวของศูนย์การนำและการแยกขั้ว, หลักการพัฒนาที่คดเคี้ยวไม่เป็นเส้นตรง, ผีเสื้อน้อยกระพือปีก คือปัจจัยเล็กมีบทบาทสูงได้ใน chaos ขนาดใหญ่ และหลักสุดท้ายคือการจัดตั้งตัวเองในยามเกิดหายนะใหญ่ (รายละเอียดของ chaos theory ควรอ่านเพิ่มเติมเรื่อง.. “ทฤษฎีไร้ระเบียบ” ..กับทางแพร่งของสังคมสยาม..โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์—๒๕๓๗)

การสร้างทฤษฎีความรู้จำเป็นต้องใช้ “ความจริง” เป็นฐานความคิด หรืออาจเป็นมโนทัศน์ของ “ความใกล้เคียงความจริง” เป็นแบบจำลองความจริง ดังที่ Kant อ้างถึง พื้นฐานความจริงของชีวิตอาจไม่จำเป็นต้องผูกขาดอยู่กับวิชาฟิสิกส์เท่านั้น เราสามารถใช้วิชาอื่นเช่น ปรัชญาหรือศาสนวิทยา (โดยเฉพาะศาสนาพุทธ) ก็สามารถเข้าถึงความรู้นั้นได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นความรู้ที่ไม่ “ติดข้อง” อยู่กับตนเองมากแล้ว ความรู้นั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับโดยมวลชนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามทฤษฎีย่อมเชื่อมต่อกับโลกที่เป็นจริง ผู้สร้างทฤษฎีย่อมพร้อมปรับเปลี่ยนความเชื่อและหลักคิดของทฤษฎีเสมอ ทฤษฎีไม่ใช่คำตอบหากแต่เป็นหนทางเพื่อแสวงหาคำตอบเท่านั้น ตัวมันเองก็เป็นอนิจจังและทุกขังเช่นกัน เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เมื่อหมดประโยชน์ก็ไม่ควรไปติดข้องยึดถือต่อไป

การคิดฝันทางสถาปัตยกรรมนั้นต้องมีเป้าหมายในเบื้องหน้า มีฐานความคิดทางทฤษฎีที่มีความจริงหรือมโนทัศน์ที่ใกล้เคียงความจริงเป็นฐาน หลักคิดที่ได้มานั้นต้องสามารถอธิบายและมีบทบาทนำมาเปลี่ยนแปลงโลกและสังคม และผู้คนให้พัฒนาตนขึ้นได้ …ผมเห็นด้วยกับคุณยุค อารียะ ที่ว่า ..การเรียนรู้นั้นก็ต้องมีเป้าหมายเช่นกัน คือต้องมีความเป็นไทและบูรณาการ การศึกษาว่าจะสร้างทฤษฎีอย่างไร ก็ต้องเรียนรู้เพื่อสู่ความเป็นไท มีอิสระและเป็นความสนใจจริงของตนเองเสียก่อน จะสร้างได้ดีแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับฐานของการบูรณาการทางการรับรู้โลกและสังคมของเราเอง ความรู้หรือการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดจะมีการก้าวสู่การบูรณาการยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ…….ถ้าจะเอาฐานคิดของทฤษฎีสัมพันธภาพ ก็ต้องมองสถาปัตยกรรมในแง่องค์รวมของชุมชน, สังคม, ประเทศ และโลกเดียวกันหมด ในความเป็นเรื่องเดียวกันของวัตถุและพลังงาน, สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต, หรือเวลาและที่ว่าง ที่ไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ตามความเป็นจริง…ถ้าใช้ฐานคิดของทฤษฎีควอนตัมของการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง ก็ต้องมองสถาปัตยกรรมในแง่ความเป็นเอกภาพเปิด (open unity) ที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงหรือแปรสภาพได้ตลอดเวลา …และถ้าจะต้องถือเอาทฤษฎีไร้ระเบียบ เพื่อป้องกันหายนะหรือสร้างการจัดการระบบด้วยตนเองให้เกิดขึ้น ก็ต้องย้อนกลับไปมองสถาปัตยกรรมด้วยคุณค่าเดิมของตัวเองที่พออาจจะรื้อฟื้นออกมาใช้กันใหม่ได้ …หรืออาจมองสถาปัตยกรรมเป็นชีวทัศน์กระบวนระบบของชีวิต (systems biology) มีระบบนิเวศวิทยาเป็นฐานคิดที่สำคัญ สามารถตอบสนองสุขภาพแบบองค์รวมของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่นสถาปัตยกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีของมนุษย์ ที่ต้องไม่สร้างมลภาวะที่เป็นพิษทางร่างกายและไม่สร้างความเครียด, ความอยากให้ที่เกิดขึ้นได้ในจิตใจเป็นต้น …ซึ่งเหล่านี้.. บางทีอาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ” ทัศนะแม่บทเพื่อการปฏิวัติวัฒนธรรม(และสถาปัตยกรรม?)แบบใหม่ ที่เคยเขียนเสนอไว้โดย ฟริตจ๊อฟ คาปร้า (ฉบับแปล-๒๕๒๙) ก็ได้ …..
ผม….ก็ต้องการเท่านี้แหละที่อยากเพิ่มเติม..ครับ.

No comments: