Tuesday, March 20, 2007

Architecture as Place

สถาปัตยกรรมในแง่ปรากฏการณ์ของสถานที่
(Architecture as a Phenomenon of Places)

สถาปัตยกรรมในลักษณะขององค์รวม..Synergetic ที่เกิดจากส่วนย่อยรวมกันในลักษณะเป็นทวีคูณ..synergy หรืออีกนัยหนึ่ง คือกำหนดแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมในแง่สถานที่ …Architecture as Place

มองกันในแง่คุณค่าทางสังคมวิทยา ความใส่ใจต่อเพื่อนบ้านและชุมชนโดยรวมนั้น ผมรู้สึกว่าการออกแบบของพวกเราเอาใจใส่เรื่องนี้กันไม่เต็มที่นัก นับวันยิ่งแทบ ไม่สนใจใยดีเอาเลยก็ว่าได้ จนการพูดคุยในห้องเรียนดูจะเป็นเรื่องประหลาดเอาเลยขณะนี้ น่าจะเป็นอีกเรื่องเดียวกันกับความเห็นแก่ตัวของผม ที่เบื่อหน่ายกับการปรึกษาแบบในสตูดิโอก็ได้ ลองการทดสอบกันง่ายๆ คือ ……ถามนิสิตให้ลองเล่าความประทับใจอะไรกับเพื่อนบ้านในชีวิตประจำวัน หรือความมีคุณภาพของการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านหรือสังคมก่อนจะส่งแบบมาปรึกษากัน ซึ่งแทบไม่ได้ยินคำตอบ ที่จริงผมว่าส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีเพื่อนบ้านเป็นตัวตนอยู่เคียงกันหรือเปล่า? ..ปรากฏความเงียบเกิดขึ้นตลอดเมื่อเอ่ยถามถึงเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเลิกพูดเลิกวิจารณ์แบบในปัญหาทางสังคมวิทยา ..social contact กันโดยปริยาย เพราะพูดไปก็คอแห้งกันเปล่าๆ

View from the castle at Etruria



Vault. S. Cataldo, Palermo

Classical architecture,The arcropolis, Athens

Old house in Omdurman, courtyard

เรื่องของขั้นตอนการวิเคราะห์ที่ตั้ง ถ้ามีการคำนึงเรื่องนี้กันเราก็จะได้เรียนรู้อะไรกันสนุกสนานในทุกที่ตั้งโครงการฯ ทำให้ได้เรียนรู้สภาพสังคมเมือง ชุมชน และประเทศของเราโดยรวมอย่างทะลุปรุโปร่ง อาชีพสถาปนิกก็จะเกิดประโยชน์กับสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่วิเคราะห์ที่ตั้งแค่ทราบพระอาทิตย์ขึ้นตกกันทางไหน หรืออะไรอื่นอีกที่เราพอจะเอาเปรียบจากชุมชนมาเป็นส่วนตนได้ บำเรอความสะดวกให้กับอาคารเราได้บ้าง เช่นการพยายามเจาะหาทางเข้าออกที่ถนนหลักกันอุตหลุด โดยไม่คำนึงถึงการเพิ่มปัญหาการจราจรอีกเท่าไร ฯลฯ

ผมเลยสรุปสาเหตุกันแบบห้วนๆว่า การเรียนรู้การออกแบบมันถึงไม่สนุก สตูดิโอกลายเป็นห้องร้าง ถ้าอาจารย์ไม่ใส่หมวกผู้คุมคุกมา ก็จะไม่มีใครอยากเอาแบบมาคุย อ้ายที่คุยกันอย่างเฝื่อนๆ ก็เกี่ยวกับว่าฉันจะเอาอย่างโน้นอย่างนี้ ให้มันดูคล้ายกันตามรูปในหนังสือ เอาเหมือนๆในสไลด์ที่อาจารย์ผู้นั้นเคยฉายกันให้ดูจนแทบจะขึ้นรา จนดูไม่ค่อยจะชัดเสียแล้ว ลอกเลียนกันมาอย่างผิวเผิน.....ซ.ต.พ.
หวังว่าคงเข้าใจ ทำไมผมจึงไม่ค่อยสนุกและมีอารมณ์กับโครงการออกแบบ (..โครงการ city hotel) มากนัก..ก็เพราะอยากให้เล่นกันเรื่องนี้ แต่ไม่มีนิสิตเล่นด้วย เล่นอยู่คนเดียวก็เพี้ยน เล่นกันแบบเดิมๆก็เลี่ยน อ่านหนังสืออะไรที่ตรงใจตัวเอง ก็เกิดอารมณ์ “อิน” กับคนเขียน เลยบ่นมา..ครับ
มีหนังสือที่โปรดปราณของผมสองเล่ม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในแง่องค์รวมของสถานที่ คือ Genus of Loci:Towards A Phenomenology of Architecture และ A Psychology of Places เล่มแรกเขียนโดยสถาปนิกชื่อ Christian Norberg-Schulz พิมพ์ในปี 1980 เล่มหลังเขียนโดยนักจิตวิทยาสภาพแวดล้อม ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนชื่อ David Canter พิมพ์ในปี1977 โดยสำนักพิมพ์ Architectural Press, London (คิดว่าน่าจะมีในห้องสมุดคณะเรา) แต่เล่มแรกอยากแนะนำ และผมเคยทำสำเนาไว้ในห้องสมุดคณะเราเหมือนกัน เนื้อหาที่สำคัญกล่าวพรรณาถึง Genus of Loci ซึ่งแปลว่า Spirit of Place และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมอย่างแยกกันไม่ได้เลย แนวคิดในการมองสถาปัตยกรรมเป็นองค์รวมของชุมชน และปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ เป็นสิ่งที่นักคิด “หลังทันสมัย” ให้ความสำคัญอย่างมากต่องานสถาปัตยกรรม และผมเห็นด้วย โดยคาดเดาว่าจะเป็นบริบทที่สำคัญสำหรับการสร้างชุมชนน่าอยู่และเมืองยั่งยืน อันตรงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ สำหรับเมืองไทยปัจจุบัน
ถ้า..สถาปัตยกรรมจัดอยู่ในลักษณะของ “สิ่งที่มี” ในแง่คิดทางปรัชญา ตามข้อเขียนของ คุณ สมัคร บุราวาส…ท่านหมายถึงสิ่งที่ปรากฏแก่เราทางประสาททั้งห้า

คือหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ มีลักษณะ ๓ ประการ คือ รูปธรรม อันได้แก่สิ่งที่มีรูปสัมผัสได้โดยตรงทางประสาทสัมผัสทั้งห้า
การเคลื่อนไหว การดำเนินไปหรือการเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม อันเรียกว่า ปรากฏการณ์..และ นามธรรม คือความสัมพันธ์ระหว่างรูปธรรม (๑) และระหว่างปรากฏการณ์ (๒) อันเป็นนามธรรมของ “สิ่งที่มี” ล้วนๆ……
ตัวอย่าง… แมว เป็นรูปธรรม การเติบโตและเคลื่อนไหวของมัน เป็นปรากฏการณ์ และทางนามธรรม มันถูกจัดไว้ในสัตว์ตระกูล Felis
ในทำนองเดียวกัน สถาปัตยกรรม, สถานที่, หรือสภาพแวดล้อมนั้นเป็นนามธรรม อาคาร สิ่งปลูกสร้างอื่น ต้นไม้ ฯลฯ เป็นรูปธรรม ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือความสัมพันธ์กับ “สิ่งที่มี” อื่นโดยรอบคือ ปรากฏการณ์ การแยกสภาพแวดล้อมออกมาเป็นส่วนย่อยเป็นแห่งๆ ในความหมายของนามธรรมแต่ละแห่ง คือ สถานที่ ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์เสมอกันและกัน รวมทั้งสิ่งปรากฏของสถาปัตยกรรมนั้นเสมอ ซึ่งมีความหมาย คือปรากฏการณ์ นั่นเอง…ไม่มี “สิ่งที่มี” ใดๆ ในโลกที่ตั้งอยู่เป็นเอกเทศ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และสัมพันธ์ต่อกันและกัน และกับ “สิ่งที่มี” อื่นๆเสมอ ดำรงลักษณะทั้งสามประการตลอดเวลา คือ รูปธรรม ปรากฏการณ์ และนามธรรม…ทั้งนั้น
ความประจักษ์ของรูปธรรม คือ “ลักษณะภายนอก” หรือ “อาการปรากฏภายนอก” เช่น สีสัน รูปร่าง ขนาด น้ำหนัก อุณหภูมิ ฯลฯ แต่เราไม่เห็นอะไรที่อยู่เบื้องหลังลักษณะภายนอก ที่เป็นผลและปัจจัยหรือต้นเหตุของมันเสมอ เป็น “ตัวของสิ่งนั้นเอง”…เป็นรูปธรรมและปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน รวมเป็น “สิ่งโดยตัวเอง” ปรัชญาทางพุทธเถรวาท ไม่เชื่อว่าทุกๆสิ่งเป็นลักษณะตายตัวชั่วนิรันดร (เหมือนความเชื่อของคานท์และเพลโต้ที่แย้งว่า เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งนั้นคงที่เป็นนิรันดรอยู่เสมอ..เพราะด้วยอำนาจศักดิ์สิทธ์..ในความหมายของพระเจ้า) หากเชื่อในสิ่งที่มีอยู่อย่างเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ไม่เชื่อเรื่องความเป็นเอก-โดดเดี่ยวของสรรพสิ่ง แต่เชื่อความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ควบคุมไม้ได้..จึงมักนิยามกันว่า “ความว่าง” ไม่มีตัวตน หรือเป็น “อนัตตา” สิ่งโดยตัวเองนั้นจึงถูกแปลงเป็น “สิ่งที่อยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง” หากอยู่ได้ด้วยการพึงพากับสิ่งอื่น ทั้งมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะฉนั้น สถาปัตยกรรมในบริบทของสถานที่ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
คำว่า “สถานที่” Christian Norberg-Schulz เจาะจงถึง “ที่ว่าง” ที่สิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นในโลกใบนี้ ดำรงชีพอยู่มากกว่าเป็นแค่ที่พำนักพักพิง หากรวมกันเป็นหน่วยของสิ่งที่มีชีวิต… เป็นที่ว่างที่มีลักษณะที่หลากหลายในความแตกต่างกัน จิตวิญญานของสถานที่เป็นผลรวมของจิตใจมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งมวลในชีวิตประจำวัน สถาปัตยกรรมไม่เพียงแค่เป็นที่พำนักพักพิง แต่ต้องรวมเป็นทั้งจิตวิญญานของสถานที่ ที่ซึ่งช่วยสนับสนุนการดำรงชีวิตมนุษย์ ในลักษณะของ “สิ่งที่มี” ซึ่ง Heidegger นิยามในความหมาย “การร่วมกัน” Le Corbusier กล่าวไว้ในหนังสือ Ver une architecture ว่า “จุดมุ่งหมายของสถาปัตยกรรม เพื่อการเคลื่อนไหวของเรา ให้การรับรู้ทางอารมณ์เกิดขึ้นกับเรา ภายใต้กฏเกณฑ์ของจักรวาลที่ต้องเคารพเชื่อฟัง” ในขณะที่ Louis I. Kahn เสนอคำถามที่สำคัญเพื่อการครุ่นคิดว่า.. อะไรเป็นสิ่งที่อาคารต้องการเป็น..(สิ่งที่มี).. ?”
ปรากฏการณ์ของ..สถานที่ รวมเรื่องราวของความสัมพันธ์ในหลายสิ่งหลายอย่างที่ซับซ้อน ยากที่จะแยกแยะจากกันได้ เช่น ความรู้สึกทั้งหลาย “อาการภายนอก” ที่ตอบสนองมัน ประกอบกันเป็นเนื้อหาของ “สิ่งโดยตัวเอง” ที่ปรากฏของเรา ในความเป็นนามธรรมทั้งหลายแห่งบัญญัติที่ว่า.. ที่นี่ บ้าน สะพาน น้ำตก ประตู เหยือก ผลไม้ ต้นไม้ หน้าต่าง ฯลฯ รวมถึงอื่นๆ เช่น อะตอม โมเลกุล จำนวน ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเราในสภาพแวดล้อมที่เจาะจงว่า ..สถานที่ ที่ซึ่งการกระทำทั้งหลายเกิดขึ้น และจะไร้ความหมายหากไม่อ้างถึงแหล่งที่เกิดของการกระทำนั้นๆว่าเป็นสถานที่ใด สถานที่จึงเป็นที่เป็นองค์รวมของการอุบัติการณ์ในทุกสรรพสิ่งในโลกนี้
ปรากฏการณ์ศาสตร์ เป็นเรื่องของการย้อนรำลึกถึง ที่เราเคยรับรู้มาก่อนในแง่การสัมผัสทั้งหลายของประสาททั้งห้า เช่น เห็นแมว รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตจำพวกหนึ่ง ที่ต้อง กิน นอน เคลื่อนไหว ฯลฯ ทั้งที่การกระทำยังไม่ได้เกิดขึ้นขณะนั้นก็ตาม นักปรากฏการณ์ศาสตร์ มักสนใจการศึกษาในด้านศาสนาวิทยา จิตวิทยา และจริยศาสตร์ (รายละเอียดอ่าน..วศิน อินทสระ.. “จริยศาสตร์” …ศาสตร์ที่ว่าด้วยคุณความดีและศิลปะในการตัดสินใจ, ๒๕๑๘) บางคนขยายไปถึงสุนทรียศาสตร์ แต่..มีน้อยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของปรากฏการณ์ของชีวิตประจำวันกับสิ่งแวดล้อม หรือสถาปัตยกรรมโดยตรง…Christian Norberg-Schulz ได้พรรณาไว้มากมายใน Genus of Loci.. Towards A Phenomenology of Architecture ในความหมายที่ผมเข้าใจเองว่า...สถาปัตยกรรมในอีกความหมายคือ ปรากฏการณ์ของสถานที่ นั่นเอง
กล่าวโดยอีกนัยหนึ่ง… ปรากฏการณ์ศาสตร์ เน้นว่าโลกของชุมชนหรือสังคมนั้น สามารถสร้างความเข้าใจโดยการค้นหาว่า แต่ละคนเข้าใจกิจกรรมของตนและในเรื่องความหมายของมันอย่างไรบ้าง ในแง่ขบวนการออกแบบ (Design Process) ถือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่สถาปนิกพึงมีกับลูกค้าอย่างไรด้วย ไม่ใช่แค่เพียงคำนึงถึงทฤษฎีการออกแบบเพียงลำพังของสถาปนิกเองเท่านั้น แต่จะต้องเกี่ยวข้องกับคุณค่า ความเชื่อ การตีความ สิ่งเร้า และสำนึกส่วนตัว ของลูกค้าหรือผู้ใช้อาคารด้วย แม้สิ่งดังกล่าวจะเป็นเรื่องเชิงนามธรรมก็ตาม แต่เป็นการป้องกันอคติที่อาจเกิดกับสถาปนิกเองได้ ปรากฏการณ์ศาสตร์ จึงเป็นแขนงวิชาศึกษาที่ดึงคุณค่าของมนุษย์กลับมาสู่วิทยาศาสตร์สังคม เป็นอีกวิธีการออกแบบในเชิงความคิดของงานสถาปัตยกรรม

ยังมีงานศึกษาอื่นมากมายที่เน้นถึงคุณค่ารวมของอาคาร เกี่ยวกับที่ว่างระหว่างอาคาร หรือที่ว่างภายนอก ในแง่ความเป็นเรื่อง ปรากฏการณ์ของสถานที่ นอกจากหนังสือสองเล่มที่กล่าวมาแล้ว เช่น งานศึกษาของ Jan Gehl ในหนังสือเรื่อง Life Between Building: Using Public Space (มีในห้องสมุดคณะฯเราด้วย)

การศึกษาของเขาเป็นการสำรวจที่เน้นเรื่องปรากฏการณ์ของกิจกรรมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แยกหัวข้อศึกษา ๕ ลักษณะซึ่งเกี่ยวข้องกันและกัน คือ -ถนนและทางเดินเท้า (a street scene) -กิจกรรมนอกบ้านที่เกิดขึ้นในที่ว่างอื่น (ที่ว่างสาธารณะภายนอก) ใน ๓ ลักษณะ คือ กิจกรรมที่จำเป็น (necessary activities) กิจกรรมทางเลือก (optional activities) และกิจกรรมทางสังคม (social activities) และ -คุณภาพทางกายภาพของที่ว่างภายนอกที่มีผลกระทบกับกิจกรรมมนุษย์เหล่านี้

Contact at a modest level






Information about the social environment

กิจกรรมจำเป็น เป็นสิ่งบังคับที่ต้องเกิดขึ้นเป็นส่วนมาก เช่นภาระกิจที่ต้องเดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียน หรือไปจ่ายตลาด เป็นต้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นทั้งใช้การเดินทางด้วยรถยนต์และเดินเท้าไปตามถนน เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นเดือนเป็นปี แม้การสำรวจพบว่าอิทธิพลทางกายภาพของสภาพแวดล้อมไม่มีผลมากน้อยก็ตาม กิจกรรมนี้ก็ต้องเกิดขึ้น เพราะไม่มีทางเลือกอื่น
กิจกรรมทางเลือก จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเวลาและสถานที่สนับสนุนอย่างเพียงพอ เช่นการออกไปเดินเล่นเพื่อผ่อนคลาย หรือไปรับประทานอาหารกลางวันระหว่างพักเที่ยงวัน นั่งพักผ่อนตามที่ว่างสาธารณะภายนอกอาคาร เป็นต้น กิจกรรมเหล่าเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งอำนวย เช่น ขณะอากาศแจ่มใส สถานที่มีผลทางกายภาพเป็นที่รื่นรมและพึงพอใจของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยเฉพาะคุณลักษณะของที่ว่างนั้น มีการออกแบบได้อย่างเหมาะสมสูงสุดกับพฤติกรรมมนุษย์ในแต่ละลักษณะนั่นเอง กิจกรรมชนิดนี้มีผลโดยตรงและอย่างมากกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพภายนอก
Walking routes:Acepptable waliking distance
Something happens cz’ something happens


กิจกรรมทางสังคม หรือกิจกรรมที่เกิดความเกี่ยวข้องกับผู้อื่นโดยไม่ได้คาดหวังไว้ล่วงหน้า เช่น การได้พบเพื่อนใหม่ พูดคุยกับคนแปลกหน้า การเล่นด้วยกันของเด็กๆ การออกกำลังกายด้วยกัน หรือกิจกรรมสังคมโดยทางอ้อม เช่น ได้พบเห็นคนอื่น ได้ยินคนอื่นคุยกัน และอื่นๆ เป็นต้น กิจกรรมทางสังคมแต่ละชนิดจะเกิดขึ้นในสถานที่แต่ละแห่งที่มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันไป กิจกรรมทางสังคมนี้อาจถือว่าเป็นผลของกิจกรรมที่ตามมา (resultant activities) หรืออาจเกิดต่อเนื่องจากกิจกรรมทั้งสองดังกล่าวแล้วข้างต้น กิจกรรมทางสังคมเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยทางอ้อมในขณะที่แต่ละคนดำเนินชีวิตขณะนั้นในที่ว่างเดียวกัน ลักษณะของกิจกรรมทางสังคมที่ต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันด้วย เช่น ในถนนของหมู่บ้านพักอาศัย สถานที่ใกล้โรงเรียน หรือใกล้ที่ทำงาน กิจกรรมทางสังคมจะขึ้นอยู่กับจำนวนที่จำกัดของผู้คนอื่นที่มาเกี่ยวข้องกัน และที่มีความสนใจและมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ยกเว้นในที่สาธารณะกลางอื่น เช่น บนถนนธุระกิจในเมือง สถานที่ในลานเมือง ในสวนสาธารณะ ณ ที่นี้ กิจกรรมทางสังคมที่หลากหลายย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากมาย ซึ่งแน่นอนก็ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยของสถานที่นั้น จะมีคุณภาพทางกายภาพมากน้อยเพียงไรด้วย กิจกรรมทางสังคมย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกโอกาสเมื่อมีการดำนินชีวิตประจำวันภายนอกเคหะสถานของแต่ละคนเกิดขึ้น

Quality improvement in the city of Copenhagen
After improvement: Increasing no. of activities

ที่ว่างภายนอก และความคำนึงถึงความเป็นชุมชนโดยรวม หรือนัยของสถาปัตยกรรมที่เป็นองค์รวมของสถานที่ ไม่ใช่อาคารเดียวโดดๆ (ซึ่งไม่มีในปรากฏการณ์จริง) จึงเป็นสิ่งที่สถาปนิกหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะไม่คำนึงถึงบริบทของสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพทางกายภาพและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ที่ย่อมเกิดขึ้นและมีความผูกพันกันอยู่เสมอ คุณภาพของสถาปัตยกรรมในแง่สถานที่ จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพในการออกแบบของสถาปนิกว่าจะเอาใจใส่หรือไม่? โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคม หรือกิจกรรมทางเลือกอื่น นอกเหนือกิจกรรมที่จำเป็น ให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงไร? คุณภาพของความเป็นมนุษย์นั้นส่วนหนึ่งย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้….คือ คุณภาพของสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนต่อกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ในที่ว่างภายนอก ไม่เฉพาะแต่ที่ว่างภายในอาคารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

จากการสำรวจในสถานที่หลายแห่ง Gehl เสนอข้อสันนิษฐานหลายอย่างในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อโอกาสการเกิดกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคม บทสำคัญในรายงานศึกษาของเขา คือ กิจกรรมภายนอกอาคารและคุณภาพของสภาพแวดล้อม Gehl ตั้งข้อสังเกตว่าในสองประเด็นใหญ่คือ เมืองหรือชุมชนที่ประกอบด้วยกลุ่มอาคารสูง ที่มีที่จอดรถใต้อาคารมากมาย เน้นการสัญจรโดยรถยนต์เป็นสำคัญ และมีระยะห่างระหว่างแต่ละอาคารมากๆ เมืองหรือชุมชนลักษณะนี้ เกิดจากอิทธิพลทางความคิดในการออกแบบแนว “ทันสมัย” เป็นส่วนมาก...

ลองหันมาพิจารณาชุมชนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็อาจนับได้ว่าเป็นชุมชนที่สะท้อนความคิดในทำนองนี้ ที่ว่างภายนอกเน้นหนักไปที่ทางสัญจรสำหรับรถยนต์ ปริมาณและบริเวณทางเท้ามีน้อย พื้นที่ว่างทั่วไปเป็นสนามหญ้า กลุ่มพืชไม้ดอก ต้นไม้ เพื่อผลการตกแต่งอาคาร เราจึงมองเห็นผู้คนสัญจรไปมาเพื่อกิจกรรมจำเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมทางเลือกและกิจกรรมทางสังคมอื่นที่เกิดขึ้นมีจำนวนน้อยมาก อาจเพียงเกิดขึ้นตามปริมาณที่ว่างที่ออกแบบสนองตอบแบบอื่น เช่น ลานที่วางม้านั่ง หรือลานเล่นกีฬาขนาดย่อมๆ เป็นต้น หากมีการปรับปรุง ให้คุณลักษณะของที่ว่างระหว่างอาคารแตกต่างไปจากที่ว่างเพื่อการตกแต่งพียงอย่างเดียวแล้ว แน่นอนว่ากิจกรรมภายนอกอื่นที่หลากหลาย ก็ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นเป็นทางเลือกได้อีกมากมาย ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างนิสิตต่างคณะฯ ก็ย่อมมีปริมาณมากขึ้นด้วย มิฉนั้นนิสิตจะเก็บตัวอยู่กันในอาคารของตน ไม่มีการกระตุ้นให้ใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมภายนอก นั่นหมายความว่าที่ว่างภายนอกจะว่างเปล่า มีเฉพาะการสัญจรเพื่อกิจกรรมที่จำเป็นเท่านั้น
ในอีกประเด็นที่ต่างกันสำหรับเมืองหรือชุมชนที่มีระยะห่างของอาคารแคบลง เน้นทางสัญจรทางเท้าเป็นสำคัญ ปริมาณและพื้นที่ทางเท้ามากขึ้น เคียงข้างอาคารด้วยที่ว่างของลานที่สร้างโอกาสของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งแต่ละที่ว่างเกี่ยวข้องโดยตรงหรือต่อเนื่องกันในแต่ละอาคาร โอกาสที่ผู้คนจะออกมาใช้บริเวณเหล่านี้ ก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เมืองหรือชุมชนที่มีลักษณะนี้ก็จะเป็นชุมชนที่มีชีวิตชีวา เป็นสถานที่แห่งความทรงจำและพึงพอใจสำหรับผู้คนได้มากทีเดียว ส่งผลด้านบวกให้กับที่ว่างภายในอาคารด้วยในเวลาเดียวกัน ความต่อเนื่องและแปรเปลี่ยนของกิจกรรมในแต่ละบุคลก็ดำเนินไปโดยธรรมชาติของความปรารถนาในแต่ละบุคคลด้วย
เราอาจพบเห็นกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นหลากหลายในบางสถานที่ของเมืองไทย ในบางชุมชน หรือบริเวณเมืองที่มีทางเท้ากว้างขวาง เช่นบนถนนสีลม ที่อาคารวางเรียงรายใกล้เคียงกัน หรือมีความหนาแน่นสูง ยิ่งในบางเทศกาลที่ลดปริมาณความหนาแน่นของรถยนต์ให้น้อย หรือบางวันหยุดที่มีการปิดถนนสำหรับการสัญจรทางรถยนต์ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ และเป็นที่พึงพอใจของผู้คนมากขึ้น ตรงข้ามในบางสถานที่ๆสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่างไป ความว่างเปล่าของผู้คนก็จะเกิดขึ้นแทนที่ กิจกรรมต่างๆไปรวมตัวภายในอาคาร แยกการขาดความสัมพันธ์ในอาคารแต่ละหลัง หรือแม้แต่ที่ว่างภายในอาคารเองของแต่ละอาคารก็เป็นเช่นเดียวกัน กรณีตัวอย่างของใจกลางเมืองโคเปนเฮเก็นที่ Gehl ยกมาอ้างว่าเมื่อมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เหมาะสมเกิดขึ้น ก็พบว่าบนทางเดินเท้าหลายแห่ง เกิดกิจกรรมต่างๆของผู้คนในเมือง เพิ่มมากถึงสามเท่าจากปริมาณก่อนมีการปรับปรุงเสียอีก และก็ป็นที่พึงพอใจของชาวเมืองปัจจุบันอย่างมาก สาระที่จะงดกล่าวแย้งไม่ได้ คือว่า ความล้มเหลวของความคิด “ทันสมัย” ที่การเน้นการสัญจรโดยรถยนต์ในเมืองและชุมชน เพราะเป็นเท็คโนโลยีที่ทำให้มนุษย์เพิ่มการเคลื่อนไหวที่เร็วขึ้นนั้น มีผลกระทบที่เน้นกิจกรรมจำเป็นอย่างสถานเดียว กิจกรรมทางเลือก และทางสังคมจึงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในชุมชนเมือง การค้นพบที่แน่นอนก็คือ คุณภาพของกิจกรรมต่างๆของมนุษย์จะเป็นปฏิภาคส่วนกลับกันกับความหนาแน่นของการสัญจรโดยรถยนต์ นั่นคือ ชุมชนใดมีการสัญจรของรถยนต์หนาแน่น กิจกรรมทางเลือกและกิจกรรมทางสังคมจะมีโอกาสและปริมาณเกิดขึ้นน้อย …ยังมีกรณีของชุมชนอื่นอีกมากที่ Gehl นำมาเป็นบันทึกเปรียบเทียบสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้….
Compare with degrees of traffic in the street

Frequency of outdoor occurrence in City
ข้อสังเกตหนึ่ง เมื่อมองย้อนกลับไปในเรื่องการออกแบบอาคารหรือเมืองในอดีต การออกแบบเป็นเรื่องของการบรูณาการในเชิงความสัมพันธ์กัน คือ ผ่านการลองผิดลองถูกสืบเนื่องกันมานานตลอดช่วงเวลา เป็นการออกแบบเชิงประจักษ์และสัมผัสกันที่สถานที่จริง ไม่ใช่การออกแบบกันในกระดาษแล้วจึงนำไปปฏิบัติในภายหลัง ดังเช่นวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ดำเนินกันในปัจจุบัน จินตนาการและความนึกคิดเชิงนามธรรมเปรียบเทียบ ย่อมมีโอกาสสร้างความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง (โดยเฉพาะเรื่องปรากฏการณ์ของสถานที่) ได้ง่ายดาย..ต้องไม่ลืมว่าอิทธิพลทางความคิดและการศึกษาของยุคทันสมัย หรือสถาบันเบาวเฮาส์มีผลการครอบงำความคิดอย่างยิ่งในคณะฯศึกษาสถาปัตยกรรมในเมืองไทยของเรา และยังดำรงอยู่จนถึงขณะนี้ ยังยอมรับแนวคิดแบบนามธรรมทางศิลปะที่สะท้อนในรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไม่เสื่อมคลาย การให้ความสำคัญกับบริบททางสภาพแวดล้อมของสถานที่ของยุค "“หลังทันสมัย" ก็ยังมีการตอบสนองไม่เข็มแข็งเท่าที่ควร แม้ว่าความคิดเดิมในเรื่องการออกแบบเมืองใหม่ของสถาปนิกตามลำพัง จะไม่เป็นที่ยอมรับกันอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งในวงการศึกษาการวางผังเมืองและผังภาค ที่กลับมาเน้นความเป็นสหวิชาการ--ศึกษาร่วมกันในหลากหลายสาขาวิชาขณะนี้
ข้อวิจารณ์ของ Jan Jacob ในหนังสือเรื่อง The Death and Life of Great American Cities ในปี 1961 สะท้อนให้เห็นแนวคิดการออกแบบ อาคาร ชุมชนหรือเมือง ตามแนวคิด “ทันสมัย” ประสบความล้มเหลวเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะในแง่คุณภาพของความเป็นมนุษย์ที่ถูกกีดกันและแบ่งแยก การเน้นประโยชน์ใช้สอยนิยมที่เคร่งครัด ไม่ตรงธรรมชาติแท้จริงในความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสถาปนิกนั่นเอง ความชำนาญการและเอกสิทธ์ในการตัดสินใจของสถาปนิกกำลังถูกทัดทานและทบทวนกัน รวมทั้งผลิตผลการออกแบบของยุคทันสมัย ที่เริ่มกันตั้งแต่ราวปี 1930 กำลังส่งผลกระทบอย่างแท้จริงออกมาแล้ว ปัญหาเด่นชัดของลักษณะสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่จำเป็นต้องตรวจสอบกันใหม่ ในเรื่องการสร้างสรรค์โอกาสเพื่อตอบสนองกิจกรรมทางเลือกหรือทางสังคม ต้องมีการทบทวนและหาทางปรับปรุงกัน เช่นการแบ่งแยกอาคารจนมีระยะห่างเกินไป ไม่มีการควบคุมและลดทอนปริมาณการเคลื่อนที่ของรถยนต์ การวางอาคารเรียงขนานแนวเดียวกันเพื่อเน้นการรับอากาศและแสงสว่าง เน้นประโยชน์นิยมในแง่มาตรฐานของสาธารณะสุขเชิงอุตสาหกรรม (medical knowledge or hygienic standard) ไม่อ้างถึงหลักจิตวิทยาและความเป็นสังคมของมนุษย์โดยรวม ไม่คำนึงถึงที่ว่างและความพึงพอใจของชีวิตที่เกิดขึ้นระหว่างอาคาร ลักษณะซ้ำๆซากที่ไม่สร้างความหลากลายชนิดของที่ว่างภายนอก การเน้นย้ำของการใช้ที่ว่างตามกิจกรรมจำเป็นภายในอาคารอย่างเดียวเป็นเอกเทศ จึงไม่น่าพอเพียงสำหรับแนวคิดของสถาปนิก ที่มักละเลยคุณภาพชีวิตอย่างอื่นๆของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคมในที่ว่างภายนอก การรวมตัวของชีวิตกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างอาคาร ซึ่งจะแยกออกจากการดำเนินชีวิตประจำวันในทุกชีวิตแทบไม่ได้เลย
ฉะนั้น สถาปัตยกรรมในแง่คิดเพียงอาคารอย่างเอกเทศ โดยไม่คำนึงถึงกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในบริเวณโดยรอบ หรือการไม่คำนึงถึงอาคารข้างเคียง ก็ไม่น่าทำให้บริบทของชุมชนน่าอยู่ ยั่งยืน หรือ “สวยงาม” มากขึ้นได้ การคำนึงเพียงแค่ความสอดคล้องกันของกิจกรรมและที่ว่างภายในอาคารลำพังอย่างเดียวนั้นไม่น่าพอเพียง ความสุนทรีย์ภายนอกเชิง “ความแปลกใหม่” หรือทันสมัยเพียงอาคารเดียว (ซึ่งแปลกแยกจากความเรียบง่ายและกลมกลืนกันแบบยุคสมัยเดิมๆ อีกทั้งยังด้อยคุณภาพของที่ว่างภายนอกกว่าสภาพแวดล้อมเดิมของชุมชนโบราณ) ไม่น่าเป็นความสุนทรีย์ทางสถาปัตยกรรมที่แท้จริงนัก ในแง่ทางกระบวนระบบของชีวิต…Systems Biology ถ้าเปรียบอาคารเป็น “หน่วยหนึ่งของชีวิต” ก็จะยืนยงดำรงอยู่ด้วยตัวมันเองไม่ได้ หากไม่มีความสัมพันธ์กับ “จักรวาล” ที่ห่อหุ้มและหลอมรวมชีวิตหน่วยนั้นไว้ Emmanuel Kant นักปรัชญาชาวเยอรมัน เสนอว่าเราไม่อาจรับรู้ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง แต่เราสามารถเข้าใกล้ความจริงด้วยมโนภาพในใจที่เข้ากันได้กับสิ่งที่มันเป็น …คำว่า “ปรากฏการณ์” มาจาก Kant (ในแง่หนึ่ง) หมายถึง สาระสำคัญของ “การใกล้ชิดกับความเป็นจริง”
ในเรื่องภววิทยา (Ontology) ว่าด้วยสิ่งที่มีอยู่ (Existence) เสนอว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีการเคลื่อนไหว ความเกี่ยวข้องและพึ่งพากันและกันและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง เพราะเป็นหลักที่ได้จากการสังเกต (ทางวิทยาศาสตร์) ไม่ใช่จากหลักเพียงการคิดของ Kant ที่ยังลังเลกับเรื่องนี้... ด้วยเหตุสสารมีการเคลื่อนไหวทั้งภายนอกและภายในด้วย จึงมีความเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง การเคลื่อนไหวภายในของสสารคือการเปลี่ยนแปลง (Change) ในขณะที่เปลี่ยนจึงเป็นทั้งของตัวเองและไม่ใช่ของตัวเอง จึงมีการพัฒนา มีการขัดแย้งภายในเกิดขึ้น คือมีการเป็นอย่างเดียวกับตัวเองและแย้งกับการไม่เป็นอย่างเดียวกับตัวเอง ซึ่งจากเหตุนี้ทำให้เกิดผลเป็นอย่างอื่น …การคิดไปเป็นการอย่างเดียว (Self Identity) จึงเป็นตรรกวิทยาที่ผิด การคิดเรื่องสถาปัตยกรรมหรืออาคารให้เป็นเอกเทศ โดดเดี่ยว เป็นอิสระจึงเป็นเรื่องของสิ่งไม่มี (Non-Existence) ไม่เป็นจริงตามหลักภววิทยาและวิทยาศาสตร์ของสสาร ..ฉะนั้นในการศึกษาสิ่งใดเพื่อความมีจริง ต้องศึกษามันเป็นฐานที่เกี่ยวพันกับสิ่งอื่นหรือสิ่งแวดล้อม เราไม่อาจศึกษาสถาปัตยกรรมเป็นตัวตนแท้ของมันได้เลย เพราะมันไม่มี จะมีตัวตนก็ในความเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นเท่านั้น

No comments: