Tuesday, March 20, 2007

แนวคิดของ Modernism

อิทธิพลของ Bauhaus และแนวคิดทันสมัย

Sigfried Giedion เขียนหนังสือสถาปัตยกรรม Space, Time and Architecture พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ ปี ค.ศ. 1941 ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ดีเล่มหนึ่งก็ว่าได้ Bauhaus เป็นชื่อ โรงเรียนสอนสถาปัตยกรรม (the school of design) ในเยอรมัน เป็นสถาบันการศึกษาที่รวมสองโรงเรียนเดิม ที่ Weimar คือ โรงเรียนออกแบบ และโรงเรียนศิลปะประยุกต์ เข้าเป็น the Bauhaus โดย สถาปนิก Walter Gropius ในปี ค.ศ. 1919-1930 มีครูศิลปะและสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงหลายคนมารวมกัน เน้นการรวมศิลปะและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน เป็นหลักสูตรของวิชาศิลปะและศิลปะอุตสาหกรรมในชีวิตประจำวัน โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นตัวเชื่อมประสาน มาสิ้นสุดเมื่อพรรคนาซีปกครองเยอรมันและช่วงที่กลุ่มนี้รวมทั้ง Gropius อพยพหนีไปอยู่อเมริกา

ความคิดในทางการออกแบบสถาปัตยกรรม และการศึกษาก็มาขยาย ผลต่อในระบบการศึกษาของอเมริกา แทนระบบการศึกษาสถาปัตยกรรมเดิม คือ Beaux-Arts โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาดนำโดย Walter Gropius และมหาวิทยาลัย IIT (Illinois Institute of Technology) นำโดย Ludwig Mies Van de Rohe เป็นต้น ถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดแบบทันสมัย.. Modernism สำหรับสถาปัตยกรรมจนถึง ยุค late 60's ก็ว่าได้
แล้วระบบการศึกษาของ Bauhaus นี้ก็ข้ามน้ำข้ามทะเลแผ่ขยายมากับท่านอาจารย์เก่าๆของเรามาสิ่งสถิตอยู่คณะนี้ต่อจากที่การศึกษาแบบ Beaux-Arts ที่นำมาโดยท่านอาจารย์นารถ โพธิประสาท ผู้ก่อตั้งคณะนี้ซึ่งโดนดับรัศมีไปตามกาลเวลา
ก็เล่ามาเป็นสังเขป ลองไปตรวจสอบกันเองในหนังสือดังกล่าว ตั้งแต่หน้า 477 แล้วกันนะครับ หรืออ่านหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ตะวันตก ทั้งของท่านอาจารย์ ดร. วิจิตร เจริญภักดิ์ และ ท่านอาจารย์ มล. ประทีป มาลากุล เรียบเรียงเป็นภาษาไทย ก็น่าจะมีกล่าวเรื่องนี้เหมือนกัน
ข้อความข้างต้นนี้..เป็นการพูดคุยกันในเว็บบอร์ดที่นิสิตถามถึง Bauhaus เอากันพอรู้และพอไปสืบค้นกันต่อได้…. แต่ผมเห็นว่ายังไม่จุใจนัก เห็นควรย้อนรำลึกไปถึงแนวคิดสถาปัตยกรรมของยุค “ทันสมัย” ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดเรื่องสถาปัตยกรรมของผมแต่เริ่มแรก และจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยัง “ติดกับ” ทางความคิดนี้อยู่ เช่นเดียวกันกับท่านอื่นที่มีอายุในรุ่นราวคราวเดียวกันกับผม และเชื่อว่ายังคงยึดความคิดนี้อย่างมั่นคงโดยเฉพาะในการเรียนการสอนของคณะฯนี้อย่างไม่ยอมเสื่อมคลาย..ในด้านผลงานทางวิชาชีพที่ปรากฎปัจจุบันก็ยังหลีกเลี่ยงไม่พ้น หรือยังไม่ริเริ่มขยับไปสู่การปฏิเสธและเปลี่ยนแปลงกันเลย ความคิดของยุค “ทันสมัย” นี้ครอบคลุมไปทั่ว ไม่เฉพาะในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปะที่คุ้นเคยกัน แต่ยังแผ่ไปถึงทัศนะคติและความคิดในด้านการเมือง การปกครอง การบริหารจัดการ และที่สำคัญคือในด้านการศึกษา ที่ยังให้ความสำคัญกฎเกณฑ์เดียวที่เคร่งครัดในทุกๆสถาบันที่เกี่ยวข้อง แม้มีลักษณะสาขาวิชาที่แตกต่างกัน แต่ก็ถือเอาความชำนาญการของผู้สอนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าการยอมรับประสบการณ์และความรู้เดิมเฉพาะของผู้เรียน การศึกษาในคณะเราฯยังเป็นลักษณะ “เบ้าหลอม” ให้ผู้เรียน มากกว่าการฝึกฝนเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เกิดได้เองในแต่ละผู้เรียนด้วยตนเอง…นี่ยังเป็นปัญหาในการศึกษาที่ต้องมีการตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความสมดุลป์ในโอกาสต่อๆไป

ภาพปก the first Bauhaus manifesto,1919 โดย L.Feininger

ผังบริเวณของ The Bauhaus building, Dessau,1926 ออกแบบโดย Walter Gropius สะท้อนความคิดของ Bauhaus
จะว่าไปแล้ว Bauhaus ยังถือเป็นก้าวหนึ่งของประวัติศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาสถาปัตยกรรมและทัศนศิลป์ในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะเป็นช่วงหลังสงครามครั้งแรก แนวคิดอิสระและความต้องการประชาธิปไตยได้เริ่มขึ้น ประจวบกับการเริ่มยุคอุตสาหกรรมด้วย ศิลปะแต่เดิมซึ่งไม่สอดคล้องก็จะต้องเปลี่ยนแปลงกันตามยุคสมัย อีกทั้งวิธีการสอนสถาปัตยกรรม ก็เน้นเรื่องการปฏิบัติในด้านทักษะฝีมือ ลักษณะห้องเรียนแบบห้องปฏิบัติการเกิดขึ้นอย่างจริงจัง การปรึกษาพูดคุยระหว่างศิษย์อาจารย์มีความใกล้ชิดมากขึ้น และเน้นเป็นเรื่องสำคัญ อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ แล้วก็หวังว่าเขาเหล่านั้นจะนำไปสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเองต่อไป ไม่เน้นแค่ความรู้ด้านทฤษฎีเท่านั้น หากยังต้องสามารถตอบสนองในทางปฏิบัติด้วย ตามความหมายของ Bauhaus คือ การสร้างบ้าน หรือการก่อสร้างอาคาร วิชาหลักทางสถาปัตยกรรม ก็คือการออกแบบและการก่อสร้าง ซึ่งคล้ายๆกับหลักสูตรที่เราเรียนกันในคณะฯนี้… ส่วนในเรื่องวิธีการและเจตนารมณ์เพื่อการบรรลุจุดมุ่งหมายแท้จริงของ Bauhaus ได้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาทบทวนกันเอาเอง

P. Mondrian, Composition in Blue, 1917

A Private House, 1920 by T.Van Doesburg






กระนั้นก็ตาม..ต้องยอมรับว่า ท่าน Walter Gropius เป็นนักปฏิรูปการศึกษาสถาปัตยกรรมที่สำคัญคนหนึ่งแห่งยุคทันสมัย โดยเฉพาะการเน้นให้นิสิตเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นทางรูปทรงทางศิลปะและอาคารใหม่ๆ ให้ความคิดที่อิสระต่อนักเรียน โดยมีอาจารย์คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด มุ่งความก้าวหน้าและการพัฒนาทางด้านธุระกิจและสังคม โดยไม่ติดยึดกับขนบประเพณีที่เคร่งครัดจนเกินไป สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องการศึกษาที่หมายรวมทัศนะศิลป์อื่น เช่นจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์หรืองานกราพฟิกเข้าด้วยกันของ สาขาสถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ และศิลปะอุตสาหกรรม จะรวมกันอยู่ในสถาบันเดียวกัน แม้ว่า Bauhaus จะถูกปิดตัวเองในเยอรมันอย่างเด็ดขาดโดยพรรคนาซีในราว 1933 แต่บทเรียนและวิธีการสอนได้ขยายอิทธิพลต่อโรงเรียนสถาปัตยกรรมทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เช่นที่มหาวิทยาลับฮาร์วาร์ด ในเมืองบอสตัน และที่มหาวิทยาลัยไอไอที ในเมืองชิกาโก ฯลฯ และสำคัญที่สุดคือที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมของเมืองไทยทั้งหลายในปัจจุบัน
สำหรับหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมทันสมัย… เช่น History of Modern arfchitecture..vol.2 .. The modern movement เขียนโดย Leonardo Benevolo ในปี 1977 รวมทั้งเรื่อง Moderne Architecture ของ J. Joedicke เขียนในปี 1969 (มีในห้องสมุดคณะฯเราเช่นกัน) ฯลฯ ก็ได้กล่าวถึงอิทธิพลทางความคิดของ Bauhaus ด้วย และสะท้อนแนวคิดสถาปัตยกรรมทันสมัยได้อย่างชัดเจน

แนวความคิด “ทันสมัย” -Modernism
หนังสือดังกล่าวข้างต้นนี้ ถือเป็นคัมภีร์ร่วมสมัยแห่งยุค “ทันสมัยนิยม”…Modern Architecture ตรงกับยุคแห่งความก้าวหน้าแห่งอุตสาหกรรม แนะนำการออกแบบด้วยระบบก่อสร้างสำเร็จรูป การเน้นความสำคัญของกระจกและเหล็กอันเป็นวัสดุก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม เน้นความประหยัดตรงไปตรงมาในเรื่องการใช้สอย ตัดความฟุ่มเฟือยหรูหราทางอารมณ์หรือการเอาใจใส่ในรายละเอียดปลีกย่อยของสถาปัตยกรรมทิ้งไป คิดกันตามยุคสมัยของ Machine Age คิดเป็นเหตุเป็นผล คิดเป็นเชิงเส้นตรงทางคณิตศาสตร์ เช่น สองบวกสองต้องเป็นสี่ สถาปนิกถือเป็นผู้รู้ ผู้นำทางความคิดทางสถาปัตยกรรม กลุ่มสถาปนิก Bauhaus ถือเป็นผู้นำทางวิชาการหนึ่งของสถาปัตยกรรม สร้างอิทธิพล

The Aubette dance hall in Strasbourg,1926 by T. Van Doesburg and J. Arp

Composiion with planes of light color&grey lines,1919 by P. Mondrian





ทางด้านการศึกษาสถาปัตยกรรมแพร่หลายไปทุกประเทศ ทฤษฎีทางจิตวิทยา Gestalt เป็นบริบทสำคัญในการเรียนรู้ด้าน Visual art หรือศิลปะนิยมเบื้องต้นของโรงเรียนสถาปัตยกรรมรวมทั้งในเมืองไทย ศิลปะแบบนามธรรม เน้นความรู้สึกทางเส้นตั้ง เส้นนอน เส้นทะแยง และสีสรรค์ที่สื่อความหมายง่ายๆทางอารมณ์ความรูสึก อาคารสถาปัตยกรรมส่อไปทางศิลปะแบบนามธรรมตามความเข้าใจเฉพาะของกลุ่มวิชาชีพสถาปนิกและศิลปินนำสมัย หลายงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากผู้ใช้ในกาลต่อมา ที่แสดงความจริงที่ล้มเหลวสำหรับบุคคลทั่วไป เช่นเดียวกับกระบวนความคิดได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค “หลังทันสมัย” ต่อมา…ผมเคยโดนตอกย้ำให้มีความคิดออกแบบที่ตามยุคทันสมัย ตั้งต้นกันตั้งแต่การจัดผังบริเวณ หรือแผนผังของอาคารต้องกระทำเสมือนภาพศิลปะนามธรรมที่มีสัดส่วน และเป็นโครงร่างของการจัดเรียงเป็นองค์ประกอบรวม … composition ที่สวยงามเหมือนเช่นงานออกแบบของท่าน Walter Gropius ในสมัยนั้น..คือสนองกันให้เห็นแม้กระทั่งนกที่บินผ่าน ว่าศิลปะแบบนามธรรมนั้นสำคัญไฉน ศาสตร์แห่งศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคนั้นจะรับรู้กันได้ดีต้องฝึกฝนกัน หลายคนวิจารณ์กันว่า คุณค่าของรสนิยมทางศิลปะและสถาปัตยกรรมถูกผูกขาดโดยกลุ่มคนประเภท elite group หรือ Architect People เท่านั้น และสถาปนิกปูชนียบุคคล ที่เหล่าสถาปนิกทันสมัยเคารพในความคิด และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการศึกษาสถาปัตยกรรมในเมืองไทย ก็ได้แก่สี่ท่านนี้ (อย่างน้อย) คือ Walter Gropius, Mies van de Rohe, Le Corbusier และท่าน Frank Lloyd Wright เฉพาะสามท่านแรก ถือเป็นผู้นำและมีอิทธิพลทางความคิดของสถาปัตยกรรมยุคทันสมัย แต่ท่านหลังนี้ผลงานและความคิดร่วมสมัยของท่านไม่สู้จะละม้ายไปกับท่านอื่นๆ หากค่อนไปทาง Oriental ทางด้านเอเซีย และรูปทรงอาคารก็ค่อนข้างหลากหลายรสสุนทรีย์ และยังมีตำแหน่งพอวางลงไว้ในยุคไฮเท็คปัจจุบันได้เพราะมีอาคารบางหลัง เช่น
The Marin County Government Center ซึ่งท่านนี้ออกแบบให้ปรากฎไว้นานแล้ว ก็ยังมีนักสร้างภาพยนต์แนวล้ำยุคปัจจุบัน เคยถูกเอาไปทำเป็นฉากสถานที่ของภาพยนต์เรื่องนั้น (Gattaca) โดยไม่เป็นที่เคอะเขินของผู้ชมอย่างผมได้เลย



The Bauhaus Building,1926 by Walter Gropius

รูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมทันสมัยตามความคิดของ Bauhaus สะท้อนได้ชัดเจนคืองานออกแบบของ Gropius คืออาคารของ Bauhaus นั่นเอง เช่น การใช้ผิวปูนฉาบเรียบสีขาว เน้นความสัมพันธ์ทางรูปทรงทางเรขาคณิต โดยมีวัสดุอื่นเป็นส่วนรอง ที่ทั้งหมดตระหนักถึงการดูแลรักษาเป็นสำคัญ ลวดลายของผืนผิวรอบนอกอาคาร ไม่เน้นเครื่องตกแต่งอื่น นอกจากการจัดช่องว่างหน้าต่างและช่องปิดของกำแพงส่วนยื่นและส่วนเว้าต่างๆ ให้เป็นโครงร่างดังงานทัศนศิลป์สมัยใหม่ เช่น Mondrianในขณะนั้น คุณค่าสถาปัตยกรรมไม่เพียงแค่อาคารเท่านั้นยังรวมไปถึงความต้องการทางสังคม คุณค่าการมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วย ไม่พึ่งพาเพียงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับธรรมชาติเท่านั้น หากยังเสริมสร้างโดยเพิ่มเอกภาพแบบใหม่ระหว่างศิลปะและเรื่องของวิทยาการใหม่ๆด้วย

Houses for Bauhaus teachers, Dessau

A room in Gropius’ house, Weissenhof, 1927
ในบริบทของชุมชนเมือง แนวคิดทันสมัยเน้นความซ้ำซากของอาคารวางเรียงกันเป็นแถวเป็นแนว หรือไม่ก็เว้นระยะห่างระหว่างอาคารไว้มากมายพอเป็นที่รองรับการจอดหรือแล่นของรถยนต์ ซึ่งเป็นผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่เด่นชัดของยุค Corbusier ถึงกับนำจินตนาการของเมืองน่าอยู่ในอนาคต…the Plan Voisin มาเรียบเรียงเป็นหนังสือทั้งสองเล่ม ชื่อ Vers une architecture (Towards a New Architecture) และ Urbanisme (The City of Tomorrow) สะท้อนโดยผลงานออกแบบเมืองหลวงใหม่จันดีกราห์ ที่หลงเหลือไว้ในประเทศอินเดียปัจจุบัน พอๆกับสิ่งทันสมัยอื่นของเทคโนโลยีของการก่อสร้างและผลิตวัสดุเป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูป วัสดุกระจกและเหล็ก อันถือเป็นสดมป์หลักที่กำหนดรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและระบบการก่อสร้างในยุคทันสมัยทีเดียว นักสังคมวิทยา เช่น Robert Gutman วิจารณ์คุณค่าของชีวิตในชุมชนที่ขาดหายไปอย่างรุนแรง โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะหลังหลังสงคราม หนังสือที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางใน

Views of the Plan Voisin by Le Corbusier,1925
ปัญหาชุมชนและเมืองที่เกิดขึ้นต่อมา คือ The Death and Life of Great American Cities โดย Jan Jacob สำหรับในเมืองไทย คุณค่าของความมีชีวิตของชุมชนเมือง ยังพอเห็นได้ส่วนมากในชนบท หรือในย่านชุมชนแออัดของเมืองใหญ่ ที่ไม่ได้รับอิทธพลของการออกแบบและจัดการโดยสถาปนิกยุคทันสมัยเท่านั้น สภาพแวดล้อมชุมชนดังกล่าวนี้ Christopher Alexander ได้อ้างยกเป็นตัวอย่างไว้ ในบทความบรรยายที่เน้นคุณค่าของชุมชน..social contact ในรูปการออกแบบที่เขาเรียกว่าเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ..การออกแบบที่ไร้สำนึก..Un-conscious Design ซึ่งพบเห็นได้ตามเมืองหรือชุมชนโบราณในอดีตทั่วโลก… ตรงกันข้าม สำหรับในย่านทันสมัยที่ได้รับการออกแบบทั้งหลาย ก็จะพบเห็นคุณค่าในลักษณะดังกล่าวนั้นน้อยมาก..กิจกรรมทางสังคมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในที่ว่างภายนอก หรือชีวิตที่เกิดขึ้นในบริเวณระหว่างอาคารหรือกลุ่มบ้านอยู่อาศัย …มีพบเห็นไม่มากนัก
แต่ทว่า…ในช่วงเวลานั้น ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปการศึกษาสถาปัตยกรรม และการออกแบบของ Gropius จัดเป็นพวกหัวก้าวหน้า ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นในทุกขนาดของสภาพแวดล้อม และในทุกขนาดของการผลิตทางอุสาหกรรม ในระบบความคิดใหม่ของรูปลักษณ์ที่สนองตอบตามสภาพความเป็นจริงขณะนั้น วัตถุประสงค์แม้ไม่ปรับเปลี่ยนในทางวัฒนธรรมมากนัก แต่ทว่ามีการปรับเปลี่ยนบางส่วนสำหรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องวิธีการ การให้คำตอบไม่เป็นแบบสำเร็จรูป แก้ปัญหาอย่างมีขั้นมีตอน นำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างต่อเนื่องของสิ่งเกี่ยวข้องในแต่ละสถานะการณ์มาร่วมเป็นสาระในการพิจารณาในการแก้ปัญหาด้วย

สำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องการวางผังเมืองและออกแบบสถาปัตยกรรม ในแนวคิดของ Bauhaus พอสรุปได้ คือ…

การวางผังเมืองไม่ใช่เรื่องกระทำกันง่าย ด้วยมโนทัศน์ของจังหวะและขนาดตามลำพังอีกต่อไป แต่จะรวมกับกระบวนกิจกรรม ที่เกิดขึ้นในปรากฎการณ์ที่เป็นจริง ดังนั้นจึงขยายผลไปได้หลากหลายขนาดและหลากหลายในแต่ละช่วงเวลา ความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง และการตกแต่งภายใน อาจจะกำหนดภาระกิจแยกได้ชัดเจนขึ้น

การทดลองการวางผัง ไม่ขึ้นอยู่กับความอิสระของคนๆเดียวแต่กับกลุ่มนักวางผังที่รวมตัวกันอย่างถาวร แก้ปัญหาเฉพาะตามความถนัดของแต่ละคนในกลุ่ม ทั้งในลักษณะทางรูปธรรมและทางนามธรรม ก็ต้องถูกนำมาเปิดเผยเพื่อการตรวจสอบก่อนการตัดสินใจร่วมกัน การทำงานกันเป็นทีมและมีระบบขั้นตอนของ Bauhaus ไม่ถือว่าเป็นอีกรูปแบบ แต่ทว่าถือเป็นการสวนทางกับรูปแบบหรือการกระทำเดิมๆ

สถาปัตยกรรมไม่ได้ถูกพิจารณาเป็นแค่เพียงเป็นกระจกสะท้อนสังคม หรือสิ่งลี้ลับในการขับเคลื่อนสังคมด้วยตัวมันเอง หากแต่เป็นสิ่งบริการที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตร่วมกัน ความสมบูรณ์ของสังคมจะขึ้นอยู่กับสถาปนิกที่ต้องทำให้มันสมบูรณ์ด้วย ในทางกลับกันสถาปัตยกรรมไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะซ่อมแซมหรือแก้ไขสังคมได้ทั้งหมด เพราะสถาปนิกไม่ได้แยกตัวเองจากสังคมเด็ดขาดแต่รวมอยู่ในสังคม การกระทำจึงต้องขึ้นอยู่กับคุณลักษณะและความโน้มเอียงของสังคมนั้นด้วย..อาจมีการอะลุ้มอล่วย ไม่เหมือนยุคสมัยก่อนของโรมานติกที่สถาปนิกทำงานภายใต้ศรัทธาและอำนาจเต็มที่

สิ่งเกี่ยวข้องของสถาปัตยกรรมไม่ใช่พียงเรื่องคุณภาพแต่ต้องขึ้นกับเรื่องปริมาณด้วย สถาปนิกเป็นตัวกลางประสานในสองสิ่งนี้ ความสุนทรียภาพทางศิลปะแบบทันสมัยจึงจำเป็นเมื่อไปสอดรับกับการออกแบบในเชิงปริมาณด้วยวิทยาการทันสมัยทางอุตสาหกรรม ศิลปะที่เกิดจากการประดับประดาจึงตอบสนองเทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่ได้ยาก จำเป็นต้องถูกละเลยไปสู่ความเรียบง่ายธรรมดา เป็นศิลปะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบทั้งหลายในตัวอาคารเอง

ความคิดเชิงเหตุผล…Rationality ถือเป็นหลักประกันให้เกิดจุดร่วมของคุณค่าทั้งหลายที่ถาวร ที่แนวคิดทันสมัยเลือกเป็นการปกป้องการล่มสลายของประเพณีนิยมและป้องกันให้คงความบริสุทธืไว้ด้วย Rationality ยังถูกบ่งความหมายของความเป็นมนุษย์ ยึดถือตามที่พวก Aristotelian จำกัดความคำว่ามนุษย์ คือสัตว์ที่มีเหตุผลนั่นเอง

ถ้านับเอาการรวมแนวคิดของ Bauhaus (Gropius & Mies) และอิทธิพลที่มีไปทั่วโลกเป็นแนวคิดทันสมัย ประสบการณ์ส่วนตนของ Le Corbusier ก็อดกล่าวอ้างไม่ได้ว่า เป็นตัวเสริมยุคทันสมัยที่สำคัญยิ่งทีเดียว เป็นสถาปนิกที่เชื่อมต่อกลางระหว่างจารีตนิยมของฝรั่งเศษ และนำเสนอวัฒนธรรมนานาชาติที่ยังคงคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเดิม สำหรับเมืองไทยอิทธิพลในผลงานออกแบบ หนังสือ คำกล่าว และบทความ ที่มีผู้นำมากล่าวอ้างมากมายไว้นั้น ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อความคิดของสถาปนิกและรูปแบบสถาปัตยกรรม ยิ่งในทางการศึกษาต้องนับว่ามีอิทธิพลในด้านวิชาการมากกว่าคนอื่นๆตราบจนถึงปัจจุบัน งานออกแบบของ Corbusier มีรูปแบบที่เป็นการสะท้อนความเป็นบุคคลิกส่วนตัวของเขา มากกว่าลมหายใจของวิธีการ คุณค่าส่วนตัวนี้ถือเป็นจุดของการมาถึงมากกว่าการจากไป เพราะเป็นสิ่งที่ชักชวนให้สถาปนิกทั้งหลายเกิดความติดยึดและตรึงตราไว้ได้ง่ายดายเมื่อพบเห็น

Sketch of four types of detached houses

A Private House at Vaucresson, 1922





Interior of Ozenfant’s studio

Sketch of an artist’s studio,1922


All are works of Le Corbusier


Le Corbusier มีประวัติโดยย่อ… เกิดที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมือง la Chaux de Fond ชื่อเดิมว่า Charles E. Jeanneret เลิกเรียนในโรงเรียนสถาปัตยกรรมกลางคัน แต่ไปฝึกและทำงานกับ Perret & Behren ในราวปี 1908 แล้วเดินทางไปทั่วยุโรปและตะวันออก เป็นศิลปินวาดภาพด้วย เคยก่อตั้งชมรม Purist movement กับ Ozenfant ในปี 1919 งานของเขาจึงสะท้อนแนวคิดของ Purism คือกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ใช้รูปแบบที่ง่าย ยอมรับกระบวนการทางศิลปะและธรรมชาติเป็นเรื่องเดียวกัน รวมเอาภาพวาด ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือน Gropius ในแง่ที่มุ่งหมายเอาชนะความขัดแย้งระหว่างขบวนการทางเทคนิคก้าวหน้าและพัฒนาการทางศิลปะในขณะเดียวกัน ระหว่างผลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพราะตามประเพณีของฝรั่งเศษ เทคนิคและศิลปะมีคุณค่าเป็นลักษณะคู่ขนานกัน… คือว่า วิศวกรนั้นถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ข้อบังคับของเศรษฐศาสตร์ และถูกนำความคิดโดยการคำนวณ ทำให้เรายอมรับในกฎเกณฑ์ของจักรวาล ขณะที่สถาปนิกนั้น สร้างสรรค์รูปทรง กำหนดระเบียบซึ่งเกิดจากจิตวิญญาณให้เป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่บริสุทธิ์

The house at Garches, view of the main gate

Facade of the house at Garches by Corbusier
Corbusier เขียนไว้ใน Vers une architecture ว่า มวลที่ง่าย -ผืนผิว เป็นตัวกำหนดในความหมายของเส้นสายและทิศทางของมวล –แปลนคือหลักของการกำเนิดรูปทรง เป็นสามสิ่งที่สถาปนิกพึงตระหนักไว้…สถาปัตยกรรมต้องถูกบังคับโดยระเบียบของเส้นเชิงเรขาคณิต..องค์ประกอบสำหรับสถาปัตยกรรมใหม่ต้องสะท้อนให้เห็นผลผลิตทางอุตสาหกรรม เหมือนเช่น เรือเดินทะเล เครื่องบิน รถยนต์ ….วิถีทางสำหรับสถาปัตยกรรมใหม่คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเสริมค่าของวัตถุดิบ ลักษณะด้านนอกมีผลของการสะท้อนจากด้านใน รูปโครงร่างโดยรวม เกิดจากการสร้างสรรค์ทางจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์…บ้านอยู่อาศัยต้องเป็นสิ่งของสำเร็จรูป เหมือนเครื่องจักรกลที่มีชีวิต….หลักฐานของการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและวิทยาการบ่งบอกความจำเป็นในการปฏิวัติทางสถาปัตยกรรม

Main facade 0f the house at Garches, 1927

แสดงสัดส่วนตามทฤษฎี Modular ของ Corbusier
แนวความคิดของ Corbusier ชัดเจนเป็นรูปธรรมตามคำกล่าวที่ประกาศไว้ คือ ๕ ข้อสำหรับลักษณะของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่…
Pilotis..การออกแบบอาคารที่มีพื้นล่างโล่ง เห็นเสาลอยทั่วไป เว้นไว้เป็นบริเวณที่ว่าง เพื่อการระบายอากาศและป้องกันความชื้นจากดิน ซึ่งต่างจากรูปแบบเดิมที่มีห้องมืดๆติดดินและสัมผัสความชื้นตลอดเวลา บ้านจึงลอยในอากาศ…(เหมือนเรือนไทยเดิมของเรา)
Roof terrace..เปลี่ยนจากบ้านหลังคาเอียงเดิมเป็นหลังคาแบนสำหรับใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนได้ เพราะไม่จำเป็นต้องป้องกันการละลายตัวของหิมะที่ขังอีกต่อไป เนื่องจากมีวิทยาการที่ให้ความร้อนภายในบ้านได้ทั่วถึงกว่าเดิมที่อาศัยเตาผิงตรงกลางเพียงอย่างเดียว อีกทั้งหลังคาคอนกรีตยังช่วยสะสมความร้อนให้คงอยู่ได้ถึงเวลากลางคืน แทนที่จะใช้หลังระบายน้ำฝนออกไปทางด้านนอก กลับให้ระบายลงสู่ส่วนภายในบ้านเพื่อเก็บไว้ใช้ได้ต่อไป หลังคาป้องกันการขยายตัวของคอนกรีตและการรั่วซึมของน้ำโดยกรวดทรายและพื้นแผ่นหนาคอนกรีต แบ่งส่วนด้วยการเชื่อมต่อป้องกันการขยายตัวของคอนกรีตเมื่อได้รับความร้อน ทรายและรากพืชสวนช่วยย่นเวลาการดูดซึมน้ำของคอนกรีตด้วย
The free plan…โดยโครงสร้างใหม่ของ Skeleton system หรือคานพาดเสาเป็นช่วงๆ ช่วยให้การจัดที่ว่างได้อิสระกว่าระบบก่อสร้างชนิดใช้ผนังรับน้ำหนัก (Wall-Bearing system) แบบเดิม ยังสามารถเจาะช่องกว้างที่พื้นให้ทะลุโล่งถึงกันได้ ไม่จำเป็นต้องมีการซ้อนทับเหมือนหรือตรงกันทุกชั้น และทำให้พื้นที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยขนาดของบ้านเล็กลงซึ่งมีผลต่อความประหยัดทางเศรษฐกิจ
The “fenetre en longueur…การทำช่องหน้าต่างได้กว้างตลอดความกว้างของผืนหน้าอาคาร มีอิสระการกำหนดช่องแสงได้มากกว่าเดิม และเพราะช่องหน้าต่างถือเป็นองค์ประกอบหลักและมาตรฐานของบ้าน ยังแสดงเป็นเครื่องแสดงสถานะภาพของบ้านและอาคารพักอาศัยสำหรับคนทำงานด้วย
The free facade..เช่นเดียวกับหน้าต่าง โดยการยื่นพื้นคอนกรีตเลยออกนอกแนวเสา ช่องปิดและช่องเปิดเกิดขึ้นด้านนอกเสาอิสระ สามารถกำหนดได้ต่อเนื่องกันจากผืนหน้าหนึ่งไปสู่อีกผืนหน้าหนึ่งรอบอาคาร..ซึ่งคุ้นชื่อกันในคำว่า..brisole’ หรือที่เราชินกันว่า “แผงกันแดด”
จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะห้าประการของอาคารหรือบ้านที่กำหนดโดย Corbusier ถึงสถาปัตยกรรมทันสมัย ส่วนมากมีความสะดวกใช้และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทยมาก (ยกเว้นหลังคาแบน) จึงเป็นที่ยอมรับและสนับสนุนความคิดในการออกแบบลักษณะนี้ ซึ่งเมื่อได้รับรู้มาแล้วก็ยากที่จะลืมเลือน เราจึงเห็นอิทธิพลของ Corbusier ปรากฎในงานออกแบบของสถาปนิกไทยในสมัยนั้นและคงเส้นคงวาอยู่มาได้ถึงสมัยปัจจุบัน เพราะมีเรื่องความเหมาะสมของการออกแบบที่ประหยัดและสนองตอบประโยชน์ใช้สอยนิยมได้ครบถ้วน อีกทั้งเทคนิคการก่อสร้างยังคงถือวัสดุคอนกรีตเป็นหลักและเหมาะสมอยู่สำหรับเมืองไทยในปัจจุบัน…สำหรับผมแล้ว Le Corbusier เป็นสถาปนิกที่สร้างคุณประโยชน์ทางความคิดให้กับงานสถาปัตยกรรมมากผู้หนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้รับผลการฝึกฝนทางความคิดมาจากสถานศึกษาสถาปัตยกรรมใด แต่กลับเป็นผู้ที่ให้ความคิดที่มีอิทธิพลทางการศึกษามากทีเดียว ถือเป็นสถาปนิกโดยอาชีพและนักวิชาการสถาปัตยกรรมที่มีผลงานเด่นๆให้เหลือไว้ศึกษาและไว้เพื่อการโต้แย้งสำหรับสถาปนิกรุ่นหลังๆต่อมา
บริบทที่สำคัญทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองมีอิทธิพลที่อย่างยิ่งต่อแนวความคิดในการออกแบบรูปทรงและที่ว่างทางสถาปัตยกรรม ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการปลี่ยนแปลงสู่แนวคิดยุคทันสมัยทางสถาปัตยกรรม มีดังนี้
ปัจจัยของสงคราม ทำให้เกิดความเร่งรีบในหลายสิ่ง เช่นการเตรียมการเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งก่อน ระหว่างและหลังสงคราม ความขวนขวายเรื่องเทคโนโลยีจึงมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องของทรัพยากรและเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่เกิดจากภัยสงคราม ทำให้รูปแบบการฟื้นฟูต้องการความเร่งรีบในเชิงปริมาณ ระบบการคิดซ้ำๆ มาตรฐานเดียวกัน แบบสำเร็จรูป และประหยัดจึงเกิดขึ้นในงานสถาปัตยกรรม
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังสงคราม เป็นปัจจัยให้มีการจัดระเบียบและวิธีการใหม่ ส่งผลการคิดค้นเรื่องเทคโนโลยีต่อเนื่อง จากอาวุธยุทโธปกรณ์เดิมมาส่งเสริมในแง่อุตสาหกรรมด้วย เพื่อการเพิ่มผลผลิตฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
ปัจจัยของจำนวนประชากร ที่มีการโยกย้ายกันเข้าสู่เมืองใหญ่และการเพิ่มจำนวนครอบครัวมากขึ้นในสภาวะหลังสงคราม จึงต้องมีการจัดระเบียบของชุมชนใหม่ สร้างสาธารณูปโภคทดแทนและรองรับยวดยานพาหะนะสมัยใหม่ เช่นรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน ฯลฯ งานออกแบบสถาปัตยกรรมต้องสอดคล้องและสนองตอบกับปัญหารีบด่วนที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้ทันกาลและรวดเร็ว
ปัจจัยทางมติสังคมที่ยอมรับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สนองมวลชน ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นหลังสงคราม เกิดเป็นความนิยม และกำหนดเป็นมาตรฐานทางระบบที่ชัดเจน รวมทั้งที่เกิดกับวงการอุสาหกรรมของวัสดุและการก่อสร้างทางสถาปัตกรรมด้วย
ปัจจัยทางการเมืองและการปกครองส่งเสริมเสรีภาพและความเสมอภาค ให้ความอิสระและประชาธิปไตยสำหรับปัจเจกชนมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับจารีตนิยมเดิมๆอย่างเคร่งครัดต่อไป อำนาจหรือการตัดสินใจถูกผ่องถ่ายจากกลุ่มศักดินาไปสู่กลุ่มตัวแทนของชนชั้นกลางทั่วไป ความกระตือรื้อร้นในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งความคิดและการกระทำในแนวทางใหม่จึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย
ลองหันมามองทัศนะของแนวคิดทันสมัยในมุมมองอื่นหรือที่ปรากฎในแขนงวิชาอื่น ที่นอกเหนือจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมบ้าง (โดย คุณสมเกียรติ ตั้งนะโม จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.geocities.com/midnightuniv/) เรียบเรียงเรื่องนี้ จาก http://www.uta.edu/huma/pomo_theory/index.html (ซึ่งเป็นบางส่วนของหนังสือ "ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น" โดย STEVEN BEST & DOUGLAS KELLNER) พอนำมาสรุปเพิ่มความเข้าใจไว้ได้..ดังนี้…
ความเป็นทันสมัย หรือสมัยใหม่ (modernity) ถูกกำหนดให้เป็นทฤษฎีสังคมและการเมืองขึ้นมาโดย Comte, Weber, Marx, และคนอื่นๆ, เป็นศัพท์ที่เกี่ยวกับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอ้างอิงถึงยุคสมัยที่ต่อมาจาก "ยุคกลาง" (Middle Ages) หรือลัทธิศักดินา (feudalism). สำหรับบางคน ความเป็นสมัยใหม่ถูกทำให้ตรงข้ามกับสังคมตามจารีตประเพณีเดิมๆ และถูกสร้างอัตลักษณ์ของตัวมันขึ้นมาโดยสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมใหม่, ความแปลก, และความเป็นพลวัตร
วาทกรรมต่างๆในทางทฤษฎีของความเป็นสมัยใหม่นับจาก Descartes จนมาถึง the Enlightenment (ยุคสว่างหรือยุคแห่งพุทธิปัญญา) ที่ให้การสนับสนุนเรื่องราวของเหตุผลนั้น ต่างถือว่า "เหตุผล" เป็นต้นตอของ "ความก้าวหน้า" ในด้านความรู้และความเจริญของสังคม เช่นเดียวกับการถือสิทธิสร้างความรู้เป็นเสมือน “ความจริง” (truth) โดยรากฐานของวิธีการที่เป็นระบบ
"เหตุผล" ถูกทำให้เชื่อว่า ตัวมันเองมีความสามารถที่จะค้นพบบรรทัดฐานทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างเพียงพอ ซึ่งระบบคิดและการกระทำสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้ และสังคมสามารถได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน. โครงการต่างแห่งยุคสว่างหรือยุคแห่งพุทธิปัญญานี้ ถูกนำไปปฏิบัติและมีอิทธิพลในอเมริกา, ฝรั่งเศษ, และประเทศที่มีการปฏิวัติประชาธิปไตยอื่นๆด้วย มีการปฏิเสธโลกแห่งศักดินา โดยพยายามสร้างระเบียบสังคมที่ยุติธรรมและความเสมอภาคขึ้นมาแทนที่ด้วยวิธีการของเหตุผล จึงทำให้ความก้าวหน้าของสังคมเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ความเป็นสมัยใหม่ในทางสุนทรียะ ปรากฎตัวขึ้นมาในความเคลื่อนไหวของพวกขบวนการทางศิลปะหัวก้าวหน้าหรือโมเดิร์นนิสท์ และบรรดาพวกรองต่างๆ (behemian subcultures..ที่ไม่ยึดถือตามขนบจารีต..แต่กบฎต่อแง่มุมที่แปลกแยกของความเป็นอุตสาหกรรมและความเป็นเหตุเป็นผล) พยายามแสวงหาการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและค้นหาความสามารถของตนเองในเชิงสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ในทางศิลปะ
ความเป็นสมัยใหม่ได้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันด้วยการส่งเสริมของศิลปะสมัยใหม่ ทำให้เกิดผลผลิตต่างๆของสังคมบริโภค เทคโนโลยี และลักษณะหรือวิธีการเกี่ยวกับการขนส่งและการสื่อสาร. พลวัตรต่างๆและความเป็นสมัยใหม่ได้สร้างโลกอุตสาหกรรมและอาณานิคมใหม่ขึ้นมา ซึ่งได้รับการอธิบายในฐานะที่เป็น "การทำให้เป็นสมัยใหม่" (modernization) ….สำหรับศัพท์คำว่า modernization เป็นศัพท์ที่แสดงถึงกระบวนการของ การทำให้เป็นปัจเจก, การทำให้เป็นเรื่องทางโลก (ทางวัตถุ), การทำให้เป็นอุตสาหกรรม (เชิงปริมาณ), ความแตกต่างทางวัฒนธรรม (แปลกแยก), การทำให้เป็นสินค้า (เกินความจำเป็น), การทำให้มีความเป็นเมือง (รวมศูนย์กลาง), การทำให้เป็นระบบราชการ (ด้วยอำนาจเด็ดขาด), และการทำให้เป็นเหตุผล (ด้วยกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด) ซึ่งรวมเข้าด้วยกัน ได้ก่อให้เกิดโลกสมัยใหม่ หรือ modern world ขึ้นมา……ความเป็นสมัยใหม่ยังได้สร้างสถาบันทั้งหลายให้เกี่ยวข้องกับระเบียบวินัย วิธีการปฏิบัติและวาทกรรม ในลักษณะที่เป็นการครอบงำและบังคับควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กระนั้นก็ตาม การสร้างความเป็นสมัยใหม่ ได้ส่งผลกระทบในเวลาต่อมา คือผลิตความทุกข์ยากและความเจ็บปวดที่ไม่ได้มีการเปิดเผยหรือไม่คาดคิดเอาไว้เกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของมัน ซึ่งไล่เลียงได้นับจาก ชาวไร่, ชาวนา, กรรมกร, และช่างฝีมือทั้งหลายที่ถูกกดขี่โดยการทำให้เป็นอุตสาหกรรมของนายทุน จนกระทั่งถึงการกีดกันผู้หญิงออกไปจากปริมณฑลสาธารณะ และไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกี่ยวกับการทำให้เป็นอาณานิคมของนักจักรวรรดิ์นิยมทั้งหลาย
ภายใต้วาทกรรมนี้ "ลัทธิสมัยใหม่" อาจถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงขบวนการทางศิลปะของยุคโมเดิร์น (เช่น impressionism, Purism, expression, surrealism, และขบวนการก้าวหน้าอื่นๆ) ขณะที่..ต่อมาเกิด "ลัทธิหลังสมัยใหม่" พยายามอธิบายถึงรูปแบบและปฏิบัติการต่างๆทางสุนทรีย์ที่หลากหลายซึ่งตามมาทีหลัง และแตกหักกับลัทธิสมัยใหม่. รูปแบบเหล่านี้รวมเอาสถาปัตยกรรมของ Robert Venturi และ Philip Johnson, การทดลองทางด้านดนตรีของ John Cage, ผลงานศิลปะของ Warhol และ Rauschenberg, นวนิยายต่างๆของ Pynchon และ Ballard, และงานภาพยนตร์อย่างเช่นเรื่อง Blade Runner หรือ Blue Velvet. ที่บ่งบอกถึงความเคลือบแคลงที่ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ข้อแตกต่างทางแนวคิดระหว่างลัทธิสมัยใหม่และลัทธิหลังสมัยใหม่ และลักษณะที่ดีและข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับสองแนวคิดนี้
บรรดานักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น..หลังสมัยต่อมา อ้างว่า.. ในสังคมร่วมสมัยที่มีความไฮเทคทางด้านสื่อ, กระบวนการต่างๆที่เร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการแปรผัน สิ่งเหล่านี้กำลังผลิตสังคมโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งขึ้นมา และผู้ที่ให้การสนับสนุนมันทั้งหลายอ้างว่า ยุคของความเป็นโพสท์โมเดิร์นได้ก่อให้เกิดภาวะทางประวัติศาสตร์ที่แปลกใหม่อันหนึ่ง และการก่อตัวขึ้นมาของสังคมวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งต้องการแนวความคิดและทฤษฎีใหม่ๆมารองรับ…ที่ต่างจากแนวคิดทันสมัยเดิม
ยังมีบทความอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบความแย้งกัน ระหว่างแนวคิดทันสมัยและแนวคิดหลังทันสมัยต่อมา ซึ่งจะยกไปไว้อ้างกับเรื่องราวที่กล่าวถึงแนวคิดหลังสมัยทางสถาปัตยกรรมต่อไป
จากข้อความเรียงที่ยกมาข้างต้น น่าจะทำให้เราได้รับรู้ต้นตอความคิดนี้ที่ได้รับการวิพากวิจารณ์ในแขนงวิชาอื่น นอกเหนือจากที่เราได้รับรู้ในด้านแขนงวิชาทางสถาปัตยกรรม…ผมคิดว่าเราน่าจะได้มุมมองของความคิดทันสมัยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งบทบาทด้านทัศนะคติของการบริหารจัดการ และพฤติกรรมที่เป็นขนบจารีตในสถาบันศึกษาสถาปัตยกรรมปัจจุบันด้วย

No comments: